July 27,2019
“ตะกอง” สัญลักษณ์ความสมบูรณ์ของลำตะคอง
“สัตว์ป่า” หลายคนอาจจะคิดว่า ดูน่ากลัว แต่แท้จริงแล้ว สัตว์ป่าส่วนใหญ่รักความสงบ มีวิถีชีวิตเป็นของตัวเอง แต่มนุษย์บางกลุ่มก็จ้องที่จะล่า เพื่อนำชิ้นส่วนอวัยวะของสัตว์มาทำเป็นสิ่งของหรือของใช้ต่างๆ จนสัตว์ป่าบางชนิดเริ่มลดน้อยถอยลง และบางชนิดถึงขั้นสูญพันธุ์ไปแล้วก็มี โดยเฉพาะ “ตัวตะกอง” ที่ทุกวันนี้จะเรียกว่า “วิกฤต” ก็เป็นได้
“ครูวิชชุ ชุปวา” ครูฝายชะลอน้ำ และนักอนุรักษ์ธรรมชาติ วัย ๗๐ ปี เจ้าของฉายา “ลุงตะกอง” ที่ตัดสินใจทิ้งอาชีพประจำ แล้วหันหน้าเข้าป่า เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติอย่างเต็มตัว โดยมีจุดอนุรักษ์อยู่แถวเขาใหญ่ (อำเภอปากช่อง) และลำตะคอง หน้าที่หลักๆ ของ “ลุงตะกอง” คือ การเป็นครูฝายชะลอน้ำ วันไหนว่างๆ ก็ชอบพาเด็กๆ ในชุมชนละแวกใกล้เคียงมานั่งฟังเรื่องการอนุรักษ์ป่าและน้ำที่วัดป่าอำนวยผล อำเภอปากช่อง
นอกจากจะเป็นครูสอนวิชาธรรมชาติแล้ว “ลุงตะกอง” ยังถือเป็นคนแรกในประเทศไทย ที่หันมาอนุรักษ์เจ้า “ตะกอง” หรือกิ้งก่ายักษ์ ส่วนฉายาที่ได้มาเป็นเพราะว่า “วันหนึ่งครูพาเด็กๆ ในหมู่บ้านมานั่งฟังเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ และก็พาดูไดโนเสาร์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ตัวตะกองนี่แหละ เด็กๆ ก็ชอบกันใหญ่เลย กลับบ้านไปวันรุ่งขึ้นก็พาเพื่อนมาอีก บอกจะพากันมาดูไดโนเสาร์ จากนั้นมาพวกเขาก็เรียกครูว่า ‘ลุงตะกอง’ คนต่างถิ่นมาก็เอาไปเรียกเช่นกัน ทุกวันนี้ก็เลยเป็นที่รู้จักในชื่อนี้ไปซะแล้ว”
ส่วนเจ้า “ตะกอง” เนี้ย...ตัวใหญ่มากๆ หน้าตาคล้ายๆ กิ้งก่า แต่ตัวจะใหญ่มาก จนถูกเรียกว่า “กิ้งก่ายักษ์” แม้จะเรียกว่ายักษ์ แต่ก็ยังเป็นสัตว์ป่าชนิดหนึ่ง “หลายคนอาจจะมองว่าน่ากลัว แต่ที่จริงน่ารักมากนะจะบอกให้” พื้นเพน้องจะอาศัยอยู่แถบคาบสมุทรอินโด-จีน นอกจากแถบนี้ในโลกก็หาไม่ได้อีกแล้ว ส่วนในประเทศไทยจะพบมากที่ผืนป่าดงพญาเย็น หรือเขาใหญ่ โดยเฉพาะเส้นทางที่เป็นทางไหลของลำตะคอง
“ครูเคยเดินสำรวจลงมาจากเขาใหญ่ จนถึงที่วัดป่าอำนวยผลพบตะกองมากสุดถึง ๓๗ ตัว”…โอ้โห!!!
“ไดโนเสาร์ที่ยังมีชีวิต” โดยดูจากชื่อวิทยาศาสตร์ที่ว่า Physignathus cocincinus “ครูมีความเชื่อว่าตะกองคือไดโนเสาร์ เพราะตามชื่อเรียกทางวิทยาศาตร์ จะเห็นว่าชื่อมันถูกเรียกเหมือนสัตว์จำพวกไดโนเสาร์ และมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ยืนยันว่า นี่คือไดโนเสาร์จริงๆ และถ้าศึกษาด้านประวัติศาสตร์แล้ว จะพบว่า ตะกองอยู่ในตำนานปรัมปรามากมาย ที่คนแต่งมักนิยามเป็นมังกรนั่นแหละ”
โดย “ตะกอง” มีขนาดเมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ ๙๐-๑๒๐ เซนติเมตร ตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ราว ๑๐-๓๐ เซนติเมตร และจะมีหัวป้อมกว่า สีของลำตัวเข้มกว่า หางมีแถบสีดำเป็นปล้องๆ “ตะกองจะมีสีเขียวเข้ม และมันจะเปลี่ยนสีตัวไม่ได้เหมือนกิ้งก่าทั่วไป” ในขณะที่เป็นวัยอ่อนบางตัวใต้คางและส่วนหัวจะมีสีม่วงหรือสีฟ้าแลดูสวยงาม และเมื่อโตขึ้นมาตัวผู้ส่วนหัวด้านบนจะโหนกนูนขึ้นเห็นชัดเจน ส่วนตัวเมียจะมีความนูนน้อยกว่า และพวกมันอาจมีอายุถึง ๓๐ ปีเลยทีเดียว
“ลุงตะกอง” เป็นคนที่คอยปกป้องเจ้า “ตะกอง” ให้รอดพ้นจากความเจริญของบ้านเมือง “ทุกวันนี้ เขาใหญ่เปลี่ยนไปมาก ตลอดทางไหลของลำตะคอง นายทุนก็มาซื้อที่ดินไปทำธุรกิจ ตะกองก็เริ่มลดน้อยลงไป ครูจึงต้องหันมาปกป้องพวกมัน หาที่ให้พวกมันได้อยู่อย่างสงบก่อนที่จะสูญพันธุ์ไป” ซึ่งสถานที่ที่ “ลุงตะกอง” สร้างเพื่ออนุรักษ์ตะกองคือ “ฝายมีชีวิต” โดยจะมีอยู่เป็นระยะๆ ตลอดทางน้ำลำตะคอง
“ฝายมีชีวิต” ณ วัดป่าอำนวยผล อำเภอปากช่อง เป็นฝายที่มีตะกองอาศัยอยู่มากที่สุด นอกจากฝายแห่งนี้จะช่วยในเรื่องของการจัดการน้ำแล้ว ตะกองยังได้รับประโยชน์จากฝายด้วย “บริเวณฝายมีชีวิต ตะกองมักจะมาอยู่กันเยอะ เพราะเป็นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ใกล้ๆ กันครูก็ทำที่วางไข่ไว้ให้ด้วย บ่ายๆ เย็นๆ อากาศดีๆ มันก็จะลงมาหากินตามพื้นดิน ถ้าโชคดีก็คงได้เจอตัวเป็นๆ”
“ตะกอง มันเป็นสัตว์ที่รักสงบ ใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ไม่เป็นอันตรายกับคน แต่คนเรามักเข้าใจผิดว่ามันคืออีกัวน่า ที่พบในแอฟริกา ทั้ง ๒ ตัวจะมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งรูปร่างและลักษณะสี
“อีกัวน่าเป็นสัตว์ที่มีการจำหน่ายกันอย่างกว้างขวาง แต่ตะกองจะเลี้ยงหรือล่าไม่ได้ เพราะปัจจุบันตะกองเป็นสัตว์คุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕”
ตะกองมีความสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศ เพราะมันเป็นเสมือน “เครื่องวัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ที่แห่งไหนมีตะกองก็เท่ากับที่นั่นมีระบบนิเวศที่ดี”
นอกจากฝายมีชีวิตแห่งนี้จะช่วยให้ตะกองได้อยู่อย่างสงบแล้ว ประโยชน์ของฝายก็มีอีกไม่น้อยเช่นกัน “หน้าที่หลักๆ ของฝายคือ การกักน้ำ แต่ก่อนช่วงหน้าแล้ง บริเวณนี้ชาวบ้านเดินข้ามได้สบายๆ แต่พอสร้างฝายขึ้นมาก็ช่วยให้น้ำเพิ่มมากขึ้นทันตาเลย ช่วงหลังฝายเป็นต้นไป น้ำขึ้นสูงกว่า ๕ เมตร ชาวบ้านมีน้ำใช้ เด็กๆ ก็ชอบมาเล่นน้ำ”
“ครูทำฝายแห่งนี้ตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่พระองค์ตรัสไว้ว่า ‘น้ำคือชีวิต’ คนเราขาดไฟ ขาดไฟฟ้ายังอยู่ได้ แต่หากขาดน้ำอยู่ไม่ได้” ฝายมีชีวิตวัดป่าอำนวยผล เกิดขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในชุมชน ร่วมกับ “กลุ่มอนุรักษ์ลำตะคอง” โดยมี “ลุงตะกอง” เป็นผู้ที่คอยให้ความรู้และออกแบบฝายขึ้นมา โดยฝายแห่งนี้สร้างเมื่อปลายปี ๒๕๖๐ แล้วเสร็จเมื่อกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ใช้ระยะเวลาสร้างประมาณ ๓ เดือน และใช้งบไปกว่า ๑ ล้านบาท
ในอนาคต “ครูวิชชุ” หรือ “ลุงตะกอง” ตั้งใจว่า “อยากจะทำให้ฝายมีชีวิตแห่งนี้ เป็นสถานที่เรียนรู้ป่าและน้ำ ต้องการให้ผู้คนตระหนักถึงคุณค่าของธรรมชาติ เราต้องอยู่ร่วมกับสัตว์ป่าให้ได้ และที่สำคัญคนไทยยังไม่รู้จักตะกองสักเท่าไหร่ เวลาเห็นมันก็จะนึกว่าเป็นกิ้งก่า ครูอยากให้มีการประชาสัมพันธ์หรือเปิดการเรียนรู้ตัวตะกองให้มากกว่านี้ เพราะที่เขาใหญ่จะพูดว่า เป็นตะกองกลุ่มสุดท้ายก็คงไม่ผิด”
สำหรับคนโคราชอาจจะไม่คุ้นกับ “ตะกอง” นัก ว่า แท้จริงมันคือตัวอะไร ถ้าลองนึกดูดีๆ จะมีชื่อ ที่คล้ายๆ เจ้ากิ้งก่าตัวนี้อยู่ คือ “ลำตะคอง” ใช่แล้ว...ลำน้ำที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตคนโคราชแห่งนี้ มีที่มาของชื่อมาจากเจ้ากิ้งก่ายักษ์ ‘ตะกอง’ นี่แหละ และเมื่อไม่นานมานี้ “ลุงตะกอง” ได้ออกแบบรูปหล่อตะกองยักษ์ เพื่อตั้งเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอปากช่องและเมืองโคราชอีกด้วย
ในปัจจุบัน...หากเรายังปล่อยให้ธรรมชาติถูกกลั่นแกล้งอย่างนี้ต่อไป ก็ย่อมแน่ใจได้เลยว่า ป่าไม้และสัตว์ป่าที่อยู่ในประเทศไทยจะต้องค่อยๆ หมดไป ถึงเวลาแล้ว...ที่คนโคราชจะต้องให้ความสำคัญและช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อให้ลูกหลานได้มีอนาคตที่ดี “อย่าปล่อยให้การดูแลธรรมชาติ...เป็นเพียงหน้าที่ของใครคนเดียว” โดยเฉพาะคนที่ชื่อว่า “ลุงตะกอง” หรือ “ครูวิชชุ ชุปวา” ครูฝายชะลอน้ำ และนักอนุรักษ์ธรรมชาติ วัย ๗๐ ปี ที่เชื่อว่า “เกิดมาต้องทดแทนคุณแผ่นดิน” ตามคำกล่าวของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ.
ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๕ วันศุกร์ที่ ๒๖ - วันพุธที่ ๓๑ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
205 2,230