28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

August 02,2019

ตั้งเวทีถกอายุเมืองโคราช ด่วนสรุป ๕๕๑ ปีน้อยไป วางกรอบชำระประวัติศาสตร์

 

          หลังผู้ว่าฯ ถูกค้านกรณีลดอายุเมืองโคราชเหลือ ๓๔๕ ปี แล้วจัดสร้างพระขาย วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา จึงจัดเวทีชำระประวัติศาสตร์เมือง ยึดปรากฏในกฎมณเทียรบาล วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๐๑๑ เป็นวันสถาปนาจังหวัด อ้างเมืองโคราชมีอายุ ๕๕๑ ปี ด้าน ‘ดร.เมตต์’ แย้งมีมา ๑,๑๕๖ ปี แนะควรวางกรอบหรือจัดระบบในการศึกษาให้ชัดเจน ก่อนสรุปการชำระประวัติศาสตร์จะมีขึ้นให้เป็นที่เชื่อถือได้

          ตามที่จังหวัดนครราชสีมาประกาศว่า จัดสร้างพระชัยเมืองนครราชสีมา ณ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๒ โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานพิธีเททองหล่อพระชัยเมืองนครราชสีมา รุ่นฉลองเมืองนครราชสีมา ครบ ๓๔๕ ปี ทั้งนี้ “โคราชคนอีสาน” ได้นำเสนอข่าว “ผู้ว่าฯ ลดอายุโคราช สร้าง‘พระชัย’ไม่ฟังท้วง มูลนิธิชำระประวัติศาสตร์” ลงในหนังสือพิมพ์โคราชคนอีสาน ฉบับที่ ๒๕๗๙ วันศุกร์ที่ ๒๑-วันอังคารที่ ๒๕ เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๒ โดยได้มีการท้วงติง ถึงอายุเมืองโคราชว่า ไม่ถูกต้อง และควรมีการชำระประวัติศาสตร์เมืองโคราช เพื่อหาข้อยุติจะได้ไม่เป็นข้อถกเถียงให้อับอาย

          ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมาจัดประชุมเสวนาทางวิชาการ “ประวัติศาสตร์และโบราณคดี การสร้างเมืองนครราชสีมา” กิจกรรมย่อยโครงการใต้ร่มพระบารมี ๓๖๐ ปี นครราชสีมา ภายใต้โครงการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพ คุณภาพชีวิต ทุกช่วงวัย โดยมีว่าที่ร้อยตรี นิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน พร้อมด้วยนายไชยนันท์ แสงทอง วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา, รศ.ดร.สุธานันธ์ โพธิ์ชาธาร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และผศ.ดร.ธวัช ตราชู รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ เป็นผู้กล่าวต้อนรับผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งมีนายธีระ แก้วประจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และจารีตประเพณี ผู้แทนสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ผศ.พิทักษ์ชัย จัตุชัย อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, นายสมเดช ลีลามโนธรรม หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย และดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี ร่วมเป็นวิทยากร ที่ห้องประชุมสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ๒ อาคาร ๓๑ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

          นายไชยนันท์ แสงทอง วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เนื่องจากจังหวัดนครราชสีมา มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์มาถึงปัจจุบัน มีความโดดเด่นด้านศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีที่อยู่คู่กับวิถีชุมชนมาตั้งแต่โบราณ จากหลักฐานที่เหลืออยู่และสืบทอดกันมา ผนวกกับจุดเด่นของวิถีวัฒนธรรมไทยโคราช ไทยอีสาน เทศกาลประเพณี การแสดงศิลปวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ งานหัตถกรรมในทุกสาขา คือ สิ่งที่มีคุณค่าบอกเล่าเรื่องราววิถีชุมชนที่ผูกพันกับวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย สิ่งเหล่านี้ล้วนสามารถถ่ายทอดออกมาได้หลากหลายรูปแบบ โดยข้าราชการ พ่อค้าประชาชน และลูกหลานชาวนครราชสีมาทุกคน ต้องการให้มีการจัดงานสถาปนาเมืองนครราชสีมา การจัดเสวนาในครั้งนี้เพื่อร่วมกันสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี การสร้างเมืองนครราชสีมา ตลอดทั้งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการตั้งเมืองนครราชสีมา เพื่อร่วมกันรำลึกถึงประวัติศาสตร์ของจังหวัด และก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในเมืองนครราชสีมา

แหล่งอารยธรรมที่ราบสูงโคราช

          การเสวนาช่วงเช้าเป็นการเสวนาหัวข้อ “ประวัติศาสตร์และโบราณคดี การสร้างเมืองนครราชสีมา” โดยดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี กล่าวว่า ที่ราบสูงโคราชเป็นแหล่งอารยธรรมที่มีความเป็นมายาวนาน   มาก จังหวัดของเราตั้งอยู่บนที่ราบสูงโคราช และเป็นจุดรวมของหลายๆ อารยธรรมมารวมกัน ซึ่งมีการขุดค้นและมีการสำรวจหลายแห่ง เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด ช่วงที่เข้าสู่สมัยทวารวดี เรามีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญที่สุดคือที่เมืองเสมา เรามีพระนอนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างด้วยหิน และมีอายุเก่าที่สุด ทั้งนี้ ยังเป็นพระนอนองค์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้รับความสนใจที่จะเข้าไปศึกษาข้อมูลอย่างจริงจัง ความยิ่งใหญ่ของพระนอน เป็นการแสดงความยิ่งใหญ่ของชุมชนในอดีตถึงจะสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้ เมื่อเข้าสู่ในช่วง  สมัยกรุงศรีอยุธยา ก็เริ่มมีปัญหาของเมืองโคราช ซึ่งเป็นเมืองสำคัญที่สุดในที่ราบสูงโคราช และเป็นเมืองหน้าด่าน จึงเกิดเป็นข้อวิพากษ์กันว่า เมืองนครราชสีมาสร้างขึ้นเมื่อไหร่ และอยู่ที่ไหน อย่างไร

เมืองนครราชสีมาในกฎมณเทียรบาล

          นายธีระ แก้วประจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และจารีตประเพณี ผู้แทนสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กล่าวว่า ตนอยากให้ล้มเลิกความคิดว่าเมืองนครราชสีมาสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ เนื่องจากหลายๆ ท่านเห็นว่า สมเด็จพระนารายณ์ทำอะไรบ้างในช่วงสมัยนั้น เช่น การสร้างกำแพงเมือง จึงทำให้เกิดความคิดว่า เมืองนครราชสีมาเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งตนเชื่อว่า ความจริงแล้วเมืองนครราชสีมาเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพระบรมไตรโลกนาถ (๑๙๙๑-๒๐๓๑) โดยอ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ซึ่งมีชื่อ “เมืองนครราชสีมา” ตามกฎมณเทียรบาลที่มีในกฎหมายตรา ๓ ดวง ซึ่งในช่วงที่ครองราชย์อาจยังไม่แน่ชัดว่าประกาศแต่งตั้งเมืองช่วง พ.ศ.ใด  แต่จากหลักฐานแสดงให้เห็นว่าเมืองนครราชสีมามีอายุมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ ปี

หรือมีมาก่อนยุคประวัติศาสตร์?

          นายสมเดช ลีลามโนธรรม หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย กล่าวว่า จากข้อมูลเมื่อ ๑๐ ปีก่อน เป็นที่ตั้งของสำนักงานสิ่งแวดล้อมเดิม มีการตั้งในแนวกำแพงเมืองทางทิศตะวันออก มีการขุดพบหลุมฝังศพมนุษย์โบราณ เชื่อว่าเป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคเหล็ก (๒๕๐๐-๑๕๐๐) โดย ดูจากภาชนะที่พบร่วม ภาชนะมีลักษณะที่เรียกว่าพิมายนำ มีผิวสีดำ ขัดเป็นมันลายเส้น พบครั้งแรกที่พิมาย จึงตั้งชื่อว่าพิมายนำให้สอดคล้อง แต่ในแง่ของวัฒนธรรม ภาชนะเหล่านี้เป็นภาชนะที่ชุมชน  ยุคเหล็กนิยมใช้ จริงที่ว่าจังหวัดนครราชสีมาสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา แต่จากที่ขุดพบเป็นหลักฐานที่เก่ากว่านั้น โดยข้อมูลตรงนี้ทำให้เราเห็นว่า บริเวณที่ตั้งเมืองนครราชสีมาในปัจจุบันมีคนตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์

          ผศ.พิทักษ์ชัย จัตุชัย อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า หากย้อนกลับไปดูข้อมูลที่เมืองเสมา เราจะเห็นว่า ภาพของความเป็นชุมชนแรกเริ่มยุคประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นในภาคอีสาน แรกๆ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งต้องยอมรับว่าในบริเวณพื้นที่โบราณคดีของจังหวัดนครราชสีมาทั้งหมดมีร่องรอยยุคก่อนประวัติศาสตร์ทั้งนั้น แต่เมื่อเราเข้าสู่สมัยยุคประวัติศาสตร์ เรารับอิทธิพลมาจากภาคกลาง โดยเฉพาะด้านพุทธศาสนา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดบ้านเมืองขึ้น ตนเข้าใจว่าเมืองนครราชสีมาเป็นเหมือนเมืองแรกเริ่มของภาคอีสานที่รับอิทธิพลจากภาคกลางเข้ามา และส่งต่อไปเมืองอื่นๆ ซึ่งปฏิเสธ ไม่ได้ว่าเมืองเสมานั้น เป็นเมืองหลักเมืองหนึ่ง และมีร่องรอยหลักฐานที่ชัดเจนอย่างมาก ในขณะเดียวกันที่เราเรียกว่า ตำบลโคราช แม้ว่าจะเป็นเมืองโคราชเก่า แต่หลักฐานยังไม่แน่ชัดว่าเป็นชุมชนที่เป็นเมือง หรือเป็นในรูปของกำแพงเมืองหรือไม่ เพราะเราเจอปราสาทหลายหลังจริง แต่เราไม่เห็นความเป็นเมือง

          ผศ.พิทักษ์ชัย กล่าวอีกว่า เมืองโคราชเป็นเมืองชายแดนตั้งแต่ในอดีต ไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลวัฒนธรรมเขมร (ขอม)  และอาจไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลวัฒนธรรมของภาคกลาง ลักษณะเป็นเหมือนเมืองรัฐอิสระ เพราฉะนั้นความสำคัญตรงนี้สะท้อนความเป็นเมืองชายแดนที่เรารับอิทธิพลมาจากทั้งสองฝั่ง ตัวเมืองสูงเนินค่อนข้างจะมีหลักฐานที่ค่อนข้างร่วมสมัยกัน ซึ่งเมืองนครราชสีมาเป็นเมืองชายแดนมาอย่างยาวนาน

ที่ตั้งเมืองนครราชสีมา

          ผศ.พิทักษ์ชัย  ตั้งข้อสังเกตว่า เมืองเสมาเป็นเมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ต่อมาอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ผู้คนย้ายมาอยู่ที่เมืองนครราชสีมาในปัจจุบัน ซึ่งตนเห็นว่า จริงๆ แล้วอาจจะมีชุมชนโบราณตั้งอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ค่อนข้างหนาแน่นพอสมควร หากตั้งตามหลักทฤษฎีการย้ายเมืองแล้ว เราจะต้องโยกย้ายเมืองไปในที่ๆ เจริญกว่า และพื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่มากกว่า ทั้งนี้มีหลักฐานหนึ่งที่น่าสนใจ คือพระราชพงศาวดาร ฉบับไมเคิล วิคเคอรี (๒/ก๑๒๕) ฉบับนี้บอกไว้ว่า สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ตั้งใจยกกองทัพไปปราบเมืองพิมาย และเมืองพนมรุ้ง แต่เมืองสองเมืองนี้ยอมอ่อนน้อมก่อน จึงได้เมืองสองเมืองนี้มา แต่ไม่ได้ยกให้เป็นเมืองสำคัญ กลับมีการสร้างเมืองใหม่ขึ้นมา ซึ่งเข้าใจว่าอาจจะเป็นการเริ่มต้นสร้างเมืองนครราชสีมา แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าเรียกเป็นเมืองนครราชสีมาหรือไม่ ซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่า เวลาที่เราเรียกกันว่า เมืองนครราชสีมา ยังอยู่ที่สูงเนิน เมืองเสมา หรือที่เราเรียกกันว่าเมืองนครราชสีมาในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ อยู่ในพื้นที่เมืองนครราชสีมาปัจจุบัน

นครราชสีมา ๕๕๑ ปี?

          ในการเสวนาช่วงบ่าย เป็นการเสวนาเพื่อหาข้อสรุปว่า เมืองนครราชสีมามีอายุกี่ปี และวันใดเป็นวันสถาปนาเมืองนครราชสีมา โดยนายธีระ แก้วประจันทร์ และดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ มีความเห็นจากการอ้างอิงหลักฐานในกฎหมายตรา ๓ ดวง ที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ประทับตราไว้ว่า นามเมือง “นครราชสีมา” ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในกฎมณเทียรบาลซึ่งตราขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีฐานะเป็นหนึ่งในเมืองพระยามหานคร ๘ เมือง ซึ่งต้องถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เมืองนครราชสีมาเป็นเมืองพระยามหานครชั้นโท เจ้าเมืองถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ ขึ้นต่อสมุหนายกผู้ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ มีพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมืองว่า “ออกญากำแหงสงครามรามภักดีพิริยะภาหะ” ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม จุลศักราช ๘๓๐ หรือ พ.ศ.๒๐๑๑ จึงเห็นควรว่าวันสถาปนาเมืองนครราชสีมาควรเป็นวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๐๑๑

          ด้านผศ.พิทักษ์ชัย จัตุชัย กล่าวว่า การสถาปนาคือการสร้างเมือง ซึ่งเราอาจยังไม่ทราบได้อย่างแน่ชัดว่าการสร้างเมืองนั้นเป็นวันใด แต่หากเป็นการยกเป็นเมืองสำคัญ หรือยกฐานะเมือง ตนเห็นว่าควรให้เป็นวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๐๑๑ เป็นวันสถาปนาเมืองนครราชสีมา โดยอ้างอิงหลักฐานเช่นเดียวกับนายธีระ แก้วประจันทร์ และดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ จากหลักฐานที่ค้นพบครั้งนี้สามารถอ้างอิงอายุของนครราชสีมาได้ว่า มีอายุ ๕๕๑ ปี

          นายไชยนันท์ แสงทอง วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวสรุปว่า จากการจัดเสวนาในครั้งนี้ทำให้เราทราบว่า อายุเมืองนครราชสีมามีอายุ ๕๕๑ ปี ซึ่งสามารถนำไปตอบคำถามผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้แล้ว เนื่องจากผู้ว่าฯ เคยตั้งคำถามกับตนไว้ว่า จังหวัดนครราชสีมามีอายุเท่าไหร่ จึงทำให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมาจัดเสวนาในครั้งนี้ขึ้น และหลังจากนี้ทางวัฒนาธรรมจังหวัดจะมีการจัดงานวันสถาปนาจังหวัดนครราชสีมาในอนาคตอย่างแน่นอน เพื่อเป็นการสร้างความรับรู้ ให้แก่คนโคราชต่อไป

ดร.เมตต์’แย้งอายุเมือง

          ทางด้านดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต ผู้เขียนหนังสือ ย้อนเรื่องเมืองโคราช: โคราชในความทรงจำ และประธานชมรมอนุรักษ์ภาษา และวัฒนธรรม พื้นบ้านโคราช จิตอาสาราชประชาสมาสัย มีความเห็น แย้งกับนักวิชาการทั้ง ๓ คน ถึงกรณีที่ยึดหลักฐานจาก กฎมณเทียรบาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยดร.เมตต์ เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า ในวันนี้โคราชเรามีคำถามและถวิลหาคำตอบว่า “โคราชสร้างมากี่ปีแล้ว.... โคราชมีอายุเท่าไร” ดูเหมือนว่าจะได้คำตอบลงตัวเมื่อจังหวัดนครราชสีมาจัดระดมนักประวัติศาสตร์จากกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยมาทำการศึกษา เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒  ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา และได้ข้อสรุปว่าเมืองนครราชสีมามีอายุ ๕๕๑ ปี แต่หลังจากข่าวนี้เผยแพร่ในสื่อโซเชียลก็มีบางท่านเห็นว่าเร็วไปที่จะสรุปเช่นนั้น เพราะยังมีผู้ที่เห็นต่างไปจากที่คณะของจังหวัดเสวนาศึกษา จึงกลายเป็นประเด็นหนึ่งที่จะต้องช่วยกันค้นหาคำตอบ

          “หากจะใช้หลักฐานกฎมณเทียรบาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งพระองค์ได้ตราไว้ในกฎหมายตราสามดวง และประกาศเมื่อศักราช ๗๒๐ วันเสาเดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำ ชวดนักสัตวศก ซึ่งบันทึกไว้เพียงว่า “พญามหานครแต่ได้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ๘ เมือง คือเมืองพิษณุโลก เมืองสัชนาไล เมืองศุโขไท เมืองกำแพงเพชร เมืองนครศรีธรรมราช เมืองนครราชสีมา เมืองตนาวศรี เมืองทวาย” การที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถประกาศให้เมืองทั้ง ๘ เป็นเมืองพระยามหานครที่ต้องถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ซึ่งรวมถึงเมืองนครราชสีมาที่เคยเป็นเมืองกึ่งอิสระจากระบบศักดินาของอยุธยาที่เคยให้ปกครองกันเองนั้น เป็นการปรับเปลี่ยนมาใช้ระเบียบแบบแผนและกฎหมายของราชธานี (กรุงศรีอยุธยา) และต้องอยู่ในความควบคุมของราชธานีอย่างใกล้ชิด ดังนั้นหากพิจารณาจากหลักฐานนี้ก็จะเห็นว่า ศักราช ๗๒๐ วันเสาเดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำ ชวดนักสัตวศก เป็นวันที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถประกาศใช้กฎมณเทียรบาล ไม่ใช่วันที่สร้างเมืองหรือวันก่อตั้งเมืองโคราชแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนกลับไปพิจารณาแล้วจะพบว่าเมืองนครราชสีมานั้นมีมาก่อนที่จะประกาศกฎมณเทียรบาลฉบับนี้ ดังนั้นหากจะทึกทักเอาศักราช ๗๒๐ วันเสาเดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำ ชวดนักสัตวศก หรือวันที่ ๑๘ เดือนมีนาคม จุลศักราช ๘๓๐ หรือ พ.ศ. ๒๐๑๑ เป็นวันสถาปนาเมืองโคราช โดยนับถึงปัจจุบันเมืองโคราชจะมีอายุ ๕๕๑ ปี ซึ่งดูจะ ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่เมืองโคราชมีมาก่อนประกาศ กฎมณเทียรบาลนี้แล้ว ประเด็นเรื่องนี้นับว่ามีความสำคัญยิ่งควรที่จะตระหนักและมีการระดมสรรพกำลังอย่างกว้างขวาง เพื่อสืบค้นหาหลักฐานให้ปรากฏแน่ชัดก่อนที่จะลงความเห็นใดๆ” 

          ดร.เมตต์ กล่าวอีกว่า “อย่างไรก็ตาม ในส่วนตัวผมเห็นว่า ควรจะมีการสืบค้นที่ตั้งของเมืองนครราชสีมาให้แน่ชัดเสียก่อนว่า ที่จริงแล้วในสมัยนั้นตั้งอยู่ ณ ที่จุดใด เพราะเมืองนครราชสีมาที่กล่าวในกฎมณเทียรบาลไม่ใช่เมืองที่ตั้งอยู่ในที่ปัจจุบันตามที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้สร้างอย่างแน่นอน เมื่อได้ข้อยุติจุดที่ตั้งเมืองแล้วจากนั้นจึงค่อยสืบค้นปี พ.ศ.ที่ตั้งเมือง พูดง่ายๆ คือจะต้องมีการวางกรอบหรือจัดระบบในการศึกษาให้ชัดเจนเสียก่อน มิฉะนั้นจะหลงประเด็นหรืออาจเบี่ยงเบนไปจากประเด็นที่ศึกษาได้”

ย้อนเมืองโคราชตามพระนิพนธ์

          ดร.เมตต์ กล่าวอีกว่า ต้องการจะให้พิจารณาพระนิพนธ์ เรื่องเที่ยวตามทางรถไฟ ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งถือว่าเป็นพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย  ที่กล่าวว่า ในท้องที่อำเภอสูงเนิน มีเมืองอยู่ ๒ เมือง คือ เมืองเสมาร้างและเมืองโคราช (เมืองเก่า) สันนิษฐานว่า เดิมชื่อ “เมืองโคราชบุรี” ตามชื่อเมืองในอินเดียคือโคราฆะปุระ เมืองนี้เป็นเมืองโคราชเดิม พิจารณาดูได้จากแผนที่จะเห็นว่าเป็นเมืองด่าน สอดคล้องกับหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศงานวิจัยของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ พ.ศ.๒๕๑๗ และการสำรวจภาคพื้นดินของนักโบราณคดี พบร่องรอยเมืองโบราณคือเมืองเสมา แต่เมืองโคราชไม่พบร่องรอยของเมืองโบราณจากภาพถ่ายทางอากาศและการสำรวจภาคพื้นดินของนักโบราณคดี แต่พบโบราณสถาน เช่น ปราสาทเมืองแขก ปราสาทโนนกู่ ปราสาทหินเมืองเก่า เป็นต้น 

          ในพระนิพนธ์กล่าวว่า เมื่อกรุงสุโขทัยอ่อนกำลังลงและในปี พ.ศ.๑๘๙๓ กรุงศรีอยุธยาตั้งตนเป็นอิสระ พระเจ้าอู่ทองได้ทำการสู้รบกับพวกขอม ได้แผ่นดินที่ขอมครอบครองทางแผ่นดินสูงคือมณฑลนครราชสีมา การที่ไทยปกครองหัวเมืองตอนแผ่นดินสูงในสมัยนั้น เมืองโคราชเก่า (ที่ตำบลสูงเนิน) นับว่ามีความสำคัญที่จะต้องรักษาไว้ แต่ในพงศาวดารไม่มีเรื่องราวกล่าวถึงเมืองนครราชสีมา มาจนถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้มีการสร้างเมืองสำคัญใกล้ชายแดนเป็นป้อมปราการสำหรับป้องกันพระราชอาณาเขตหลายเมือง คือเมืองนครศรีธรรมราช เมืองพิษณุโลก เมืองเพชรบูรณ์ เมืองตะนาวศรี ในครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.๒๑๙๙-๒๒๓๑) ให้ย้ายเมืองโคราชจากเดิมซึ่งอยู่ชายดง ไปสร้างเป็นป้อมปราการขึ้นใหม่ในที่เมืองปัจจุบันนี้ แล้วเอานามเมืองเดิมทั้งสองคือ เมืองโคราชกับเมืองเสมา มาผูกเป็นนามเมืองใหม่ว่า “เมืองนครราชสีมา” แต่บางหลักฐานกล่าวว่า เมืองนครราชสีมายังไม่ปรากฏชื่อเมืองในทำเนียบเมืองขึ้น ๑๖ เมือง สันนิษฐานว่ากรุงศรีอยุธยายังไม่สามารถรวบรวมเมืองนครราชสีมาไว้ในครอบครองได้ แต่เมื่อกรุงศรีอยุธยาตีเขมรได้และได้ครอบครองเมืองนครราชสีมา จึงปรากฏชื่อเมืองนครราชสีมาในกฎมณเทียรบาลในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในเวลาต่อมา

          “จากหลักฐานเบื้องต้นนี้ บ่งบอกว่าก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจะมาสร้างเมืองนครราชสีมาที่อยู่ปัจจุบันนี้ เมืองโคราชมีอยู่ก่อนตั้งแต่สมัยขอมแล้วและตั้งอยู่ที่อำเภอสูงเนินมา แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นปี พ.ศ.ใด ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาตั้งตนเป็นอิสระ เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๓ พระเจ้าอู่ทองได้ทำการสู้รบกับพวกขอม และได้ครอบครองมณฑลนครราชสีมาแทนขอม ก็ไม่ปรากฏหลักฐานอีกเช่นกันว่าเข้าครอบครองในปี พ.ศ.ใด อีกประการหากจะพิจารณาจากพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพแล้ว จะเห็นว่าได้มีการกล่าวเมืองนครราชสีมาในสมัยพระเจ้าอู่ทองว่ามีมาก่อนสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ดังนั้นหากจะนับอายุเมืองโคราชตั้งแต่ปี พ.ศ. ๑๘๙๓ ถึงปัจจุบัน เมืองโคราชจะมีอายุประมาณ ๖๖๙ ปี นับว่าใกล้เคียงกับเมืองเชียงใหม่ที่สร้างมาประมาณ ๗๒๓ ปี ซึ่งในข้อเท็จจริงเมืองโคราชกับเมืองเชียงใหม่ต่างก็เป็นเมืองเก่าแก่ซึ่งน่าจะสร้างในเวลาใกล้เคียงกัน” ดร.เมตต์ กล่าว

เมืองโคราชอายุกว่าพันปี

          นอกจากนี้ ดร.เมตต์ ยังระบุอีกว่า จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์อีกชิ้นหนึ่ง พบว่าในหมู่บ้านบ่ออีกา เขตเมืองเสมา พบ “ศิลาจารึกที่ ๑๑๘ บ่ออีกา” หรือรู้จักกันทั่วไปว่า “จารึกบ่ออีกา” (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย) เป็นหลักศิลาสี่เหลี่ยมประเภทหินทรายสีแดง ขนาดกว้าง ๑๑๐ ซม. สูง ๕๖ ซม.  หนา ๒๕ ซม. จารึกเป็นตัวอักษรขอมโบราณ (ภาษาสันสกฤตและเขมร) ศาสตราจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล กับ ศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ ได้ร่วมกันแปลข้อเขียนและตรวจสอบคำอ่านคำแปลของศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ นักวิชการชาวฝรั่งเศสออกเป็นภาษาไทย และนำไปตีพิมพ์เป็นบทความในวารสารโบราณคดี ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ ปี ๒๕๑๐ ข้อความในจารึกระบุว่า จารึกขึ้นเมื่อ ศักราช ๗๙๐ ตรงกับ พ.ศ.๑๔๑๑ (พุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖) กล่าวถึงกษัตริย์แห่งแคว้นศรีจนาศะว่า ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า ศรีจนาศะตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำมูลคือ เมืองเสมาและโคราช สอดคล้องกับเมื่อกรมศิลปากรได้ขุดค้นเมืองเสมาพบร่องรอยของชุมชนในวัฒนธรรมทราวดี และสันนิษฐานว่า เมืองเสมาก็คือเมืองศรีจนาศะ ดังนั้นในกรณีนี้หากจะถือว่าชุมชนเมืองโคราชซึ่งประกอบด้วยเมืองเสมาและเมืองโคราชมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๑๔๑๑ เมื่อนับถึงปัจจุบัน เมืองนครราชสีมาจะมีอายุถึง ๑,๑๕๖ ปี

          ดร.เมตต์ กล่าวอีกว่า สำหรับการศึกษา ตนใช้วิธีศึกษาจากปัจจุบันไปหาอดีต โดยเริ่มจากจุดที่สังคมสนใจว่าเมืองนครราชสีมาตั้งเมื่อไร มีอายุกี่ปี คือ เริ่มจากเมืองนครราชสีมาปัจจุบัน และก่อนเมืองนครราชสีมาในปัจจุบันสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดให้ย้ายเมืองเสมาและเมืองโคราชหรือโคราฆะปุระที่อำเภอสูงเนินมาอยู่ที่ปัจจุบัน ก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงประกาศกฎมณเทียรบาลให้เมืองนครราชสีมาเป็น ๑ ใน ๘ เมืองเป็นเมืองพระยามหานครที่ต้องถือน้ำพิพัฒน์สัตยา และก่อนสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระเจ้าอู่ทองได้เข้าครอบครองเมืองนครราชสีมาแทนพวกขอม แสดงว่า เมืองนครราชสีมามีก่อนที่จะตั้งเมืองในปัจจุบัน เปรียบได้กับการขุดค้นทางโบราณคดีที่ก่อนจะขุดจะเริ่มจากการสำรวจหน้าดิน และเมื่อขุดลงไปแต่ละชั้นดินเราพบอะไร ได้หลักฐานอะไร อยู่ในช่วงสมัยใด เรื่อยไปจนได้รับคำตอบ

          “ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผมเท่านั้น และเชื่อว่าหลายท่านต่างมีมุมมองแตกต่างกันไปในมิติต่างๆ ส่วนจะได้ข้อสรุปว่าเมืองนครราชสีมามีอายุที่แท้จริงเท่าไรนั้น เป็นเรื่องที่ทางราชการจะได้หาข้อสรุปประกาศอย่างเป็นทางการและเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป” ดร.เมตต์ กล่าวท้ายที่สุด

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๖ วันพฤหัสบดีที่ ๑ - วันจันทร์ที่ ๕ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

876 1551