28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

August 07,2019

‘มอเตอร์เวย์’ต้องเสร็จตามแผน ศักดิ์สยาม’ขีดเส้น ๑ เดือน ‘ทุบ-ไม่ทุบ’สะพานสีมาธานี

         ประชุมรายงานความคืบหน้าระบบจราจร รถไฟความเร็วสูงโคราช-หนองคาย เริ่มออกแบบแล้ว รมว.คมนาคม ตรวจมอเตอร์เวย์ คืบหน้าแล้ว ๗๖% ล่าช้ากว่าแผน ๑๓% คาดเสร็จกลางปี ๖๓ จี้ให้ทันตามแผน สั่งผู้ว่าฯ หาข้อสรุป “ทุบ-ไม่ทุบสะพานสีมาธานี” ภายใน ๑ เดือน

         เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา (อจร.นม.) โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

         นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “การประชุมในครั้งนี้ เพื่อเป็นการติดตามความคืบหน้าผลการประชุมฯ ในครั้งที่ผ่านมา และความคืบหน้าโครงการต่างๆ ภายในจังหวัดนครราชสีมา สำหรับผู้ที่เข้าร่วมในการประชุม สามารถถาม-ตอบข้อสงสัยได้ตลอดเวลา เพื่อจะได้ช่วยกันติดตามเรื่องที่ไม่ได้นำมาพูดในที่ประชุมด้วย”

รถไฟเร็วสูงโคราช-นค.เริ่มออกแบบ

         ในระเบียบวาระการประชุมที่ ๔.๒ ตัวแทนการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวสรุปความคืบหน้าว่า “โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมานั้น ขณะนี้ได้ทำการประกวดราคาไปแล้ว ๗ สัญญา จากทั้งหมด ๑๔ สัญญา ระยะทางรวม ๒๕๓ กม. มีทั้งหมด ๖ สถานี ได้แก่ บางซื่อ, ดอนเมือง, อยุธยา, สระบุรี, ปากช่อง และนครราชสีมา ใช้ขบวนรถรุ่น CR400AF “ฟู่ซิงห้าว” ผลิตโดยซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิล มีความเร็วสูงสุดที่ ๓๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้บริการในประเทศไทย ๒๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตัวรถเป็นรถปรับอากาศขนาดกว้าง ๒.๘-๓.๗ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สูงประมาณ ๓.๗ เมตร ความจุ ๖๐๐ คนต่อขบวน ต่อพวงได้ ๓-๑๐ คันต่อขบวน สามารถรองรับผู้โดยสารได้ ๕๐,๐๐๐ คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ใช้เวลาเดินทาง ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที (กรุงเทพฯ-โคราช) กำหนดค่าโดยสารเบื้องต้นที่ ๘๐ บาท บวก ๑.๘ บาท ต่อกิโลเมตร จากอัตราดังกล่าว จะทำให้เส้นทางกรุงเทพฯ-ปากช่อง อยู่ที่ ๓๙๓ บาท และ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ๕๓๕ บาท คาดว่าจะเปิดให้บริการ ในปี ๒๕๖๗” 

         “ส่วนช่วงที่ ๒ นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง ๓๕๕ กม. มีมูลค่าโครงการรวม ๒๔๐,๐๐๐ ล้านบาท ขณะนี้เข้าสู่กระบวนการการศึกษาออกแบบ โดยใช้งบประมาณ ๗๕๑.๖๒ ล้านบาท มีระยะเวลาศึกษาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๖๒ ถึงเดือนมกราคม ๒๕๖๔ รวมระยะเวลา ๑๙ เดือน โดยคาดว่าจะเปิดทำการประมูลได้เร็วๆ นี้”

คืบหน้ารถไฟทางคู่

         จากนั้น ตัวแทนการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวรายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางจิระ-ขอนแก่น, ช่วงชุมทางจิระ-อุบลราชธานี และช่วงมาบกะเบา-ชุมทางจิระ ว่า “หลายสถานีรถไฟมีการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการเก็บรายละเอียดก่อนที่จะเริ่มทยอยเปิดให้ประชาชนใช้บริการอย่างเป็นทางการ แต่ยังมีบางสถานีและช่วงจุดตัดทางรถไฟที่ยังต้องมีการปรับแบบแก้ไข โดยเฉพาะที่อำเภอบัวใหญ่มีปัญหาทั้งในส่วนตัวสถานีที่ระหว่างชานชาลาผู้ใช้บริการต้องเดินข้ามสะพานลอยที่มีความสูงและชัน รวมถึงผลกระทบทางลอดใต้ทางรถไฟ ๓ แห่ง ได้แก่ ทางแยกมอชูมิตร ชุมชนดอนขุนสนิท และจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๐๒ ที่ประชาชนในเขตอำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ส่งหนังสือร้องเรียนมายังการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อขอปรับแบบแก้ไขให้ประชาชนในพื้นที่สามารถใช้งานได้

         “หากโครงการนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ จะใช้ระบบเหมือนรถไฟความเร็วสูง แต่มีความเร็วลดลงมาอยู่ที่ประมาณ ๑๐๐-๑๒๐ กม./ชม. ซึ่งถือว่าเร็วกว่าแบบเดิมจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น จาก ๓ ชั่วโมง เหลือ ๑ ชั่วโมง ๒๐ นาที และช่วยลดเวลาการขนส่งสินค้าจากเดิม ๖ ชั่วโมง เหลือเพียง ๒ ชั่วโมง ๓๐ นาที และสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก ๒ ล้านคนต่อปี เป็น ๑๐ ล้านคนต่อปี”

รถไฟฟ้ารางเบาโคราช

         สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว ในช่วงที่ ๑ รฟม. (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) ได้ศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ออกแบบ จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการไปแล้ว จากนั้นจะเป็นการจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาเพื่อคัดเลือกผู้รับจ้างงานก่อสร้างโครงการ และเอกสารประกวดข้อเสนอเพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนงานโยธา งานระบบไฟฟ้า งานบำรุงรักษา และงานให้บริการการเดินรถ พร้อมทำหน้าที่ที่ปรึกษาตามที่ พ.ร.บ.กำหนดไว้ โดยในห้วงถัดไป รฟม.จะสำรวจและวิเคราะห์ประมาณการจำนวนผู้โดยสาร สำรวจและจัดทำแผนที่แสดงภูมิประเทศ ซึ่งในอนาคตจะมีการเจาะสำรวจและทดสอบวัสดุดินตามแนวเส้นทางโครงการ พร้อมกับแนะนำโครงการ หารือและขอข้อมูลจากหน่วยงานราชการในพื้นที่ โดยจะจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ ๑ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว ในวันพุธที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๘.๓๐-๑๒.๐๐ น. ที่โรงแรมสีมาธานี

ท่าเรือบกโคราช

         ในส่วนของความคืบหน้าโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของถูมิภาค จะเริ่มดำเนินการที่ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นแห่งแรก เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC คาดว่าจะเปิดประมูลปลายปี ๒๕๖๒ เริ่มสร้างปี ๒๕๖๓ เปิดบริการในปี ๒๕๖๗ ส่วนที่โคราชและขอนแก่นจะดำเนินการเป็นอันดับต่อไป แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า จังหวัดไหนจะได้เริ่มก่อสร้างก่อนกัน ซึ่งในขณะนี้จังหวัดนครราชสีมากำลังเร่งทำการศึกษาและจัดทำ TOR เสนอของบประมาณ ๓๘ ล้านบาท ภายในปี ๒๕๖๓ ก่อนประกาศหาผู้ร่วมทุน และเริ่มดำเนินการก่อสร้าง ๒๕๖๕ และเปิดให้บริการปี ๒๕๖๘ โดยจังหวัดนครราชสีมาได้กําหนดพื้นที่ไว้เบื้องต้น ๑,๘๐๐ ไร่ ที่บริเวณฝั่งทิศตะวันตกของเมือง คือตําบลกุดจิก อําเภอสูงเนิน ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้กับบริเวณถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา และใกล้กับแนวเส้นทางระบบรถไฟทางคู่ ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่ท่าเรือแหลมฉบังได้โดยสะดวก และอีกที่บริเวณหนึ่งคือ ตำบลหนองน้ำขุน อำเภอสีคิ้ว สำหรับจังหวัดนครสวรรค์คาดว่า จะเปิดดำเนินการในปี ๒๕๗๐ เป็นที่สุดท้าย

มอเตอร์เวย์คืบร้อยละ ๗๖

         ในระเบียบวาระที่ ๔.๒.๖ นายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ รายงานความคืบหน้าก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข ๖ (มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา) ว่า “โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา มีระยะทางรวมประมาณ ๑๙๖ กิโลเมตร วงเงินลงทุน ๘๔,๖๐๐ ล้านบาท ในส่วนความรับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาระยะทางประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร การทำงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เรื่องของงานโยธามีความคืบหน้าร้อยละ ๗๖ ขณะนี้กรมทางหลวงอยู่ระหว่างการหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา คาดว่าน่าจะได้บทสรุปภายในปี ๒๕๖๓ ส่วนพื้นผิวถนนบริเวณเขื่อนลำตะคองที่มีการทำเป็นทางยกระดับระยะทาง ๑๘ กิโลเมตร ทางกรมทางหลวงจะเริ่มดำเนินการแก้ไขและซ่อมแซ่มพื้นผิวถนนให้กลับสู่สภาพปกติ ประมาณเดือนมกราคมปี ๒๕๖๓ ส่วนการเปิดให้บริการถ้าไม่มีอะไรคลาดเคลื่อนจะอยู่ประมาณปลายปี ๒๕๖๔ ถึงต้นปี ๒๕๖๕ โดยกำหนดความเร็วไม่เกิน ๑๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรืออาจจะมีบางจุดที่มีการกำหนดความเร็วจำกัดไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด คาดว่าหากมีการเปิดให้บริการจะสามารถรองรับปริมาณรถได้ ๔๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ คันต่อวันในปีแรก จุดประสงค์หลักคือการเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง และแก้ปัญหาการจราจรหนาแน่นในช่วงเทศกาลหยุดยาว”

         ทั้งนี้ผู้แทนกรมทางหลวง กล่าวเสริมว่า “สำหรับข้อเสนอแนะให้กรมทางหลวงพิจารณาว่า สามารถเปิดใช้มอเตอร์เวย์ในส่วนที่แล้วเสร็จได้หรือไม่นั้น ในขณะนี้ขอยืนยันว่ายังไม่สามารถเปิดให้ใช้ได้ เพราะระบบไฟส่องสว่างบนถนนยังไม่แล้วเสร็จ หากเปิดให้ประชาชนทดลองใช้คาดว่าจะเกิดอันตรายขึ้นได้ แต่กรมทางหลวงก็จะนำข้อเสนอนี้ไปปรึกษากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และหากมีความคืบหน้า กรมทางหลวงจะมาประชุมร่วมกับจังหวัดนครราชสีมาอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางการเปิดใช้ในช่วงเทศกาลที่จะมาถึงนี้”

ทางลอดประโดก

         ผู้แทนกรมทางหลวง กล่าวรายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางแยกประโดกว่า “สำหรับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางแยกประโดก ค่าก่อสร้างประมาณ ๑,๕๐๐ ล้านบาท เริ่มต้นที่ กม.๑๔๙+๔๕๐ ถึง กม.๑๕๑+๒๐๐ ระยะทางประมาณ ๑.๗๕๐ กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอของบประมาณปี ๒๕๖๒-๒๕๖๕ ซึ่งในปีงบประมาณ ๒๕๖๑ ได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยบริษัท เทสโก้ จำกัด และบริษัท ธารา ไลน์ จำกัด ส่วนทางแยกบิ๊กซีขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา หากมีความคืบหน้าจะนำมารายงานต่อไป”

         ผู้แทนกรมทางหลวง กล่าวต่อว่า “ในส่วนของถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ขณะนี้ใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงถนนทิศใต้ตอนที่ ๔ จุดเริ่มต้น กม.๑๖๘+๖๘๘ ถนนมิตรภาพ อ.โนนสูง ถึง กม.๑๖+๔๕๐ ถนนหมายเลข ๒๒๖ อ.เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งปัจจุบันออกแบบเสร็จแล้ว มีระยะทางประมาณ ๑๒ กิโลเมตร โดยใช้งบประมาณปี ๒๕๖๓ จำนวน ๑,๕๗๐ ล้านบาท”

         “ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างทางเชื่อมผืนป่าและขยายทางหลวงแผ่นดินสาย ๓๐๔ (ช่วงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา-จังหวัดปราจีนบุรี) ขณะนี้ใกล้แล้วเสร็จครบ ๑๐๐% แล้ว เหลือเพียงจุดเดียวเท่านั้นที่ผู้รับเหมาทิ้งงานไป แต่ในขณะนี้กรมทางหลวงได้ผู้รับเหมาใหม่มาแล้ว คาดว่าจะเริ่มลงงานในเดือนหน้านี้”

ถนนสาย ง.๑, ง.๒ ล่าช้า 

         ผู้แทนจากสำนักงานทางหลวงชนบทที่ ๕ กล่าวว่า จากการศึกษาถนนสาย ง.๑ และ ง.๒ จุดเริ่มต้นโครงการฯ บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) กม.๑๔๖+๐๐๐ บรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) กม.๑๕๓+๔๕๐ สิ้นสุดถนนสาย ง๑ และเป็นจุดเริ่มต้นถนนสาย ง๒ จากนั้นแนวถนนโครงการ ตัดผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๐๕ ข้ามทางรถไฟสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สิ้นสุดถนนสาย ง๒ และเป็นจุดสิ้นสุดโครงการฯ บริเวณถนน นม.๑๑๑๑ รวมระยะทางโดยประมาณ ๑๒ กิโลเมตร (จุดเริ่มต้นโครงการอยู่ตรงข้ามโชว์รูมโตโยต้าไทยเย็น (ก่อนถึงทางเข้าโรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา) จากนั้นจะตัดเข้าไปหาถนนสุรนารี ๒ ผ่านเขตพื้นที่ตำบลหนองกระทุ่ม ตำบลหมื่นไวย ตำบลบ้านเกาะ ตัดผ่านถนนหมายเลข ๒ (มิตรภาพ) ถนนสุรนารายณ์ ผ่านพื้นที่เขตตำบลตลาด และมีจุดสิ้นสุดที่ถนนสาย ฉ) ในขณะนี้อยู่ระหว่างการขอรับสนับสนุนงบประมาณในการออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะขอรับประมาณในปี ๒๕๖๔ 

         ระหว่างนี้นายภานุ เล็กสุนทร ได้สอบถามว่า ถนนทั้งสองสายนี้จะใช้ตามแนวเส้นทางใด เพราะว่านักธุรกิจและนักลงทุนจะได้มองอนาคตของถนนและที่ดินบริเวณนั้นได้ ซึ่งอยากให้รีบทำให้เสร็จ เมื่อทำเสร็จแล้วถนนสายนี้จะเป็นอีกเส้นที่ทำให้เมืองโคราชเติบโตได้ โดยปัจจุบันเหมือนโคราชยังอยู่กับที่ อีกอย่าง เทศบาลฯ จะได้วางแผนการเชื่อมต่อถนนได้ด้วยว่า จะทำถนนเข้าซอยตรงไหนบ้าง ตรงนี้อยากให้ทางหลวงชนบทมีความชัดเจน

         จากนั้น ผู้แทนจากสำนักงานทางหลวงชนบทที่ ๕ ชี้แจงว่า “การศึกษาทั้งถนนแนวตามผังเมืองเดิม และแนวเสนอแนะ ซึ่งผลการศึกษาพบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวเสนอแนะถึงร้อยละ ๖๐ แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดมองว่ายังมีคนเห็นด้วยไม่มากพอ การไปต่อของโครงการจึงล่าช้ากว่าปกติ หากจะให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการนี้หรือโครงการอื่นๆ ของภาครัฐ ประชาชนต้องทำหนังสือ เขียนถึงความต้อง การว่า ต้องการโครงการนั้นๆ อย่างไร แล้วนำมาส่งให้กับผู้ใหญ่ในกรม เมื่อถึงมือผู้ใหญ่ในกรมการดำเนินงานต่างๆ ก็จะรวดเร็วขึ้นด้วย”

         นอกจากนี้ นายภานุ เล็กสุนทร ได้กล่าวในตอนท้ายว่า “อยากเสนอให้รองผู้ว่าราชการจังหวัด เชิญรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกระทรวงคมนาคม มาประชุมร่วมกับจังหวัดนครราชสีมาและประชาชน เพื่อตัดสินใจในโครงการต่างๆ หากทำได้โครงการหลายโครงการที่ล่าช้าก็จะรวดเร็วขึ้น รัฐมนตรีทั้ง ๒ คน เป็นคนอีสาน คนหนึ่งเป็นคนโคราชด้วย ท่านคงจะเข้าใจหัวอกคนอีสานและคนโคราชเป็นอย่างดี นอกจากนี้ เรายังจะมีอธิบดีกรมคนใหม่ที่เป็นคนโคราชอีกด้วย ผมว่าในอนาคตโคราชจะต้องมีอะไรดีเพิ่มขึ้นแน่นอน”

รมว.คมนาคมตรวจมอเตอร์เวย์

         จากนั้น เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๑.๐๐ น. ที่สำนักงานโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา ตอนที่ ๔๐ บริเวณทางหลวงหมายเลข ๒๐๔ กิโลเมตรที่ ๒-๓ ตำบลปรุใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะได้เดินทางมาตรวจพื้นที่ก่อสร้างโครงการถนนมอเตอร์เวย์ โดยมีนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายสมชัย ชูณรงค์ ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ ๑๐ นายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ พร้อมด้วยนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ

         นายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ กล่าวรายงานว่า ภาพรวมของการดำเนินโครงการฯ รวมระยะทางทั้งสิ้น ๑๙๖ กิโลเมตร มีจำนวนทั้งสิ้น ๔๐ สัญญา ด้านโยธามีความก้าวหน้าประมาณ ๗๖% ล่าช้ากว่าแผนประมาณ ๑๓% คาดจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี ๒๕๖๓ ขณะนี้ขั้นตอนสำคัญอยู่ระหว่างกรมทางหลวงดำเนินการหาเอกชนร่วมลงทุนในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษา ในรูปแบบ PPP Gross Cost หรือการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โดยเอกชนจะเป็นผู้ออกแบบและลงทุนก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง งานบำรุงรักษาของโครงการทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนลงทุนทั้งหมด รวมถึงเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง โดยเอกชนจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินค่าก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้องค่าบำรุงรักษาและค่าบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมรวมทั้งงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามขอบเขตและเงื่อนไขที่กำหนด ภายในกรอบวงเงินที่เป็นมูลค่าปัจจุบันไม่เกิน ๓๓,๒๕๘ ล้านบาท จะสามารถลงนามในสัญญาได้ในช่วงต้นปี ๒๕๖๓ นอกจากนี้ที่จุดตัดของถนนมอเตอร์เวย์ ช่วงลอดใต้ถนนมิตรภาพ หลักกิโลเมตรที่ ๖๕ จะมีการประดับหน้าเสาเป็นรูปหินทรายแกะสลักที่สื่อถึงเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของดีของจังหวัดนครราชสีมา โดยสร้างให้เป็นเอกลักษณ์ผู้ใช้รถใช้ทางพบเห็นก่อนเข้าพื้นที่นครราชสีมา

จี้มอเตอร์เวย์ต้องเสร็จตามแผน

         ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้รับฟังบรรยายสรุปโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ตอนที่ ๓๔ (คลองไผ่) และตอนที่ ๔๐ โดยมอบแนวทางให้กรมทางหลวงร่วมกับกรมทางหลวงชนบท จังหวัดนครราชสีมา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา พิจารณาแนวทางการเชื่อมต่อระหว่างมอเตอร์เวย์ ตอน ๔๐ กับทางหลวงชนบท นม.๑๑๒๐ (สามแยกปักธงชัย) ซึ่งห่างกันประมาณ ๓๐๐ เมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อเป็นทางเลี่ยงเข้าสู่ตัวเมืองนครราชสีมา เพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนตามนโยบายกระทรวงคมนาคมก่อนเสนอของบประมาณประจำปี ๒๕๖๔ ต่อไป

         “โครงการมีความล่าช้ากว่าแผนถึง ๑๓% โดยการก่อสร้างคืบหน้าเพียง ๗๖% เท่านั้น ดังนั้น จึงได้กำชับให้อธิบดีกรมทางหลวงและนายช่างคุมงบเร่งรัดการดำเนินงาน เพื่อให้แล้วเสร็จและเปิดให้บริการ ตามแผนปี ๒๕๖๖” นายศักดิ์สยาม กล่าว

สั่งหาข้อสรุป ‘สะพานสีมาธานี’

         นอกจากนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังให้สัมภาษณ์ว่า ภารกิจครั้งนี้เป็นการมาตรวจความก้าวหน้าการก่อสร้างมอเตอร์เวย์และถนนของกรมทางหลวงชนบท เพื่อบูรณาการแก้ไขผลกระทบในระหว่างก่อสร้าง ซึ่งมีปัญหาการจราจรติดขัดและความไม่สะดวกในการสัญจร รวมทั้งได้พูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และรับฟังการชี้แจงผลกระทบการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา ซึ่งต้องยกระดับชั้น ๓ ในระหว่างก่อสร้างอาจส่งผลกระทบต่อการจราจรผิวดินหรือช่องทางปกติที่ต้องมาสะดุด โดยเฉพาะช่วงยกระดับรถไฟทางคู่ตรงสะพานโรงแรมสีมาธานี ซึ่งนายกเทศมนตรีฯ ได้ขอให้พิจารณาก่อสร้างอุโมงค์หรือทางลอดผ่านบริเวณดังกล่าว จึงมอบหมายให้ผู้ว่าฯ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน โดยมีกรมทางหลวง ทางหลวงชนบท ผู้นำท้องถิ่นและ ส.ส.ในพื้นที่ประชุมหาข้อสรุปส่งให้กระทรวงคมนาคม กำหนดเวลา ๑ เดือนและทำความเข้าใจกับประชาชน

         ล่าสุดเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “สืบเนื่องจากท่านรัฐมนตรีฯ ต้องการมาแก้ไขปัญหาการคมนาคมในจังหวัดนครราช สีมา ผมจึงได้เสนอความคิดเห็นไป ๒ เรื่อง คือ ๑.จุดทางเชื่อมถนนทางหลวงพิเศษหมายเลข ๖ (มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช) กับถนนเส้นหน้าโรงเรียนสุรนารีวิทยา ๒ ซึ่งจุดลงของมอเตอร์เวย์กับจุดเริ่มต้นของถนนหน้าสุรนารีวิทยา ๒ มีระยะห่างกันเพียง ๓๐๐ เมตร แต่ไม่มีการทำถนนเชื่อมกัน ซึ่งจะทำให้รถที่ต้องการเข้าไปที่ตัวเมืองโคราชจะต้องไปกลับรถ ตรงนี้จะส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดขึ้นได้และก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน และ ๒.ได้เสนอไปว่า ถนนทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ จากหัวทะเลไปจนถึงบุรีรัมย์ ทำเป็น ๔ ช่องจราจรเกือบทั้งหมดแล้ว ซึ่งเหลือเพียง ๕ ช่วงที่ยังเป็น ๒ ช่องจราจร รวมกว่า ๓๐ กิโลเมตร ซึ่งส่งผลให้การสัญจรติดขัด”

ผวจ.ชวนร่วมแสดงความเห็น

         ต่อข้อถามว่า “กรณีของสะพานข้ามแยกสีมาธานี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีข้อสั่งการอย่างไร?” นายวิเชียร เปิดเผยว่า “จากกรณีรถไฟทางคู่บริเวณสะพานสีมาธานี ได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องนี้ว่า ทุบหรือไม่ทุบ ซึ่งในการพูดคุยกับท่านรัฐมนตรีคมนาคม คนของการรถไฟฯ ไม่ได้มาพูดคุยด้วย แต่ก็มีการเสนอทั้งข้อดีและข้อเสีย หากทุบจะทำให้เกิดปัญหาการจราจรตามมา หากไม่ทุบจะมีผลกระทบอย่างไร ซึ่งท่านรัฐมนตรีคมนาคมได้สั่งการว่า ให้คนโคราชพูดคุยกัน แล้วเร่งส่งข้อสรุปไปที่กระทรวงฯ ภายใน ๑ เดือน คาดว่าหลังจากวันที่ ๑๒ สิงหาคมนี้ จังหวัดก็จะเร่งรวบรวมทุกภาคส่วน จัดให้มีการประชุมพูดคุยกันว่า จะทุบหรือไม่ทุบสะพานสีมาธานี จึงเชิญชวนประชาชนที่มีความคิดเห็น มีข้อเสนอที่ดีมาร่วมประชุม ส่วนวันและเวลาจะต้องดูอีกครั้งว่า ทุกภาคส่วนจะพร้อมกันได้ในวันใด”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๗ วันอังคารที่ ๖ - วันเสาร์ที่ ๑๐ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒


788 1434