August 07,2019
๙ ครอบครัวได้เยียวยา ๑๓ ล. สร้างอ่างเก็บน้ำเมื่อ ๒๐ ปีก่อน
ราษฎร ๙ รายที่ถูกน้ำท่วมถาวรจากการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยฝั่งแดง ในพื้นที่อำเภอน้ำขุ่นและน้ำยืน จ.อุบลราชธานี เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว ได้รับค่าเยียวยาจากมติ ครม.พลเอกประยุทธ์ กว่า ๑๓ ล้านบาท และรอการจัดสรรที่ดินไว้ทำกินอีกกว่า ๑๖๓ ไร่
เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ ที่ห้องปกครองชั้น ๓ อาคารศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี จ.ส.อ.เกริกชัย ผ่องแผ้ว ปลัดจังหวัดอุบลราชธานี จัดประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยฝั่งแดง ระหว่างภาครัฐกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลตาเกา อ.น้ำขุ่น และตำบลเก่าขาม อ.น้ำยืน เมื่อปี ๒๕๔๐ ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาการชดเชยเยียวยาสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติ ครม.เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ให้จ่ายค่าชดเชยการสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ๖๓,๐๐๐ บาท/ไร่ เป็นเงิน ๑๐ ล้านบาทเศษ ค่าชดเชยการสูญเสียการทำประโยชน์ในที่ดินหลังฤดูการเก็บเกี่ยวหลังหักถัวเฉลี่ย ๑,๑๑๓ บาท จำนวนเนื้อที่ ๑๖๓ ไร่ ๒ งาน ๒๓ ตารางวา อีก ๓.๖ ล้านบาทเศษ รวมทั้ง ๒ กรณี ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทั้ง ๙ ราย ในระยะเวลา ๒๐ ปี คือ ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๔๐-๒๕๖๐ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน ๑๓,๙๓๓,๑๒๒.๕๐ บาท โดยวันนี้มีการประชุมร่วมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและได้ทำพิธีมอบเงินชดเชยให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทั้ง ๙ รายดังกล่าว
ด้านนางมะไล เจียงเพ็ง ชาวบ้าน ๑ ใน ๙ ราย กล่าวว่า ชาวบ้านได้เริ่มต่อสู้เรียกร้องขอความเป็นธรรมที่ที่ทำกินต้องถูกน้ำท่วมถาวรจากการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยฝั่งแดงมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ แต่ไม่เคยได้รับการสนใจ กระทั่งถึงสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้านได้รับการบรรจุเข้าหารือกับขบวนการพีมูฟ แต่เรื่องก็ได้ยืดเยื้อต่อเนื่องมาอีกหลายปี กระทั่งปี ๒๕๖๐ สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาผลกระทบที่เกิดกับชาวบ้าน และมีมติให้จ่ายเงินค่าชดเชยให้กับชาวบ้านทั้ง ๙ ราย เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคมที่ผ่านมา
“แม้การชดเชยเยียวยาอาจไม่ได้ทำชีวิตให้ดีกว่าก่อน เพราะอดีตชาวบ้านก็อยู่ดีกินดี แม้ไม่ร่ำรวยแต่ก็มีความสุข แต่เมื่อมีอ่างเก็บน้ำห้วยฝั่งแดง ชาวบ้านก็ได้รับความเดือดร้อนสาหัส เมื่อได้รับการแก้ไขก็ขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยเหลือ ชีวิตอาจไม่ดีเท่าเดิม แต่ก็เชื่อว่าดีกว่าที่ไม่ได้รับการดูแลเหมือนที่ผ่านมาเลย และต้องการได้ที่ดินไว้ทำกิน เพราะจะเป็นชีวิตที่หยั่งยืนไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน และในวันที่ ๑๙ สิงหาคมนี้ ชาวบ้านจะไปรวมกับพีมูฟที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือการตั้งคณะกรรมการพิจารณาการจัดหาที่ดินทำกินให้ชาวบ้านที่สูญเสียที่ดินจากถูกน้ำท่วมจำนวนเนื้อที่ ๑๖๓ ไร่ ๒ งาน ๒๓ ตารางวาต่อไปด้วย” ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ กล่าว
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๗ วันอังคารที่ ๖ - วันเสาร์ที่ ๑๐ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
866 1,507