19thApril

19thApril

19thApril

 

August 10,2019

ผู้ว่าฯนม.ให้เป็นอธิบดีก็ไม่รับ ‘วิเชียร’ปิดปากต่ออายุ คนดีได้อยู่ไม่เกินปี

            ครม.เห็นชอบต่อเวลาให้ “วิเชียร จันทรโณทัย” นั่งเก้าอี้พ่อเมืองโคราชอีก ๑ ปี ทั้งที่บริหารครบวาระ ๔ ปีแล้ว รวมเวลา ๕ ปี ระเบียบก.พ.ระบุชัดห้ามเกิน ๔ ปี แต่หากจำเป็นต้องให้ครม.อนุมัติได้ ๑ ปีแต่ไม่เกิน ๒ ครั้ง กระแสโซเชียลระงม อยู่นานแต่ผลงานไม่ชัดเจน ด้านเจ้าตัวบอก “ไม่เอาไม่พูด” วิเคราะห์เส้นทางผู้ว่าฯ โคราช การ เมืองแทรกแซง ร่วม ๒๐ ปีแล้ว คนดีมีฝีมืออยู่ได้ไม่เกินหนึ่งปี แต่แล้วก็เกษียณในตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย และรองปลัดกระทรวง

            ตามที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ห้องประชุม ๕๐๑ ตึกบัญชาการ ๑ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญหลายประการ รวมทั้งการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง และข้าราชการกระทรวงต่างๆ รวมทั้งการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง กระทรวงมหาดไทย (รองปลัดกระทรวง อธิบดี         ผู้ตรวจราชการ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง และผู้ว่าราชการจังหวัด) จำนวน ๓๑ ราย ตามที่ประกาศ

ครม.เห็นชอบต่อเวลา‘วิเชียร’

            นอกจากนี้ ในที่ประชุมครม.นี้ ยังมีการพิจารณาในวาระที่ ๒๐ เรื่อง การขอความเห็นชอบการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ ๑ ด้วย โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอให้นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดนครราชสีมา สำนักงานปลัดกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่ ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาต่อไปอีก เป็นเวลา ๑ ปี ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๓ จึงเท่ากับว่า นายวิเชียรจะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเป็นเวลา ๕ ปี โดยรอบแรกตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๒ และรอบสองวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๓ 
วิเชียร’ไม่พูด

            ทั้งนี้ หลังจากประชุมเสร็จสิ้น มีสื่อมวลชนทุกแขนงเสนอข่าวการแต่งตั้งโยกย้ายนี้ออกไป รวมทั้ง “โคราชคนอีสาน” ได้เสนอข่าวผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก Koratdaily ถึงกรณีการให้นายวิเชียร จันทรโณทัย ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ไปอีก ๑ ปีนั้น มีผู้ใช้เฟซบุ๊กต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก มีทั้งแสดงความยินดีด้วย เช่น เป็นคนติดดินและพัฒนาโคราชหลายด้าน, และไม่เห็นด้วยกับมติของ ครม. ต้องการให้เป็นไปตามวาระคือ ๔ ปีไม่ควรต่ออายุให้, ๔ ปีที่เป็นผู้ว่าฯ บ้านเมืองยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาและพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น เป็นต้น 

            ล่าสุดเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ “โคราชคนอีสาน” ติดต่อขอสัมภาษณ์นายวิเชียร จันทรโณทัย ทางโทรศัพท์ โดยนายวิเชียรบอกว่าติดประชุมอยู่ที่กรุงเทพฯ และบอกให้คุยกับคนอื่นแทนได้หรือไม่ แต่ “โคราชคนอีสาน” แจ้งว่า “ไม่ได้ เพราะขอสัมภาษณ์เรื่องครม.เห็นชอบต่อเวลาการปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาอีก ๑ ปี” นายวิเชียรจึงกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะอารมณ์ดีว่า “ไม่เอา ไม่พูด” 

ประวัติชีวิต-รับราชการ

            สำหรับนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เกิดวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๐๕ เป็นชาวอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา สมรสกับนางณัฏฐินีภรณ์  จันทรโณทัย บุตรีนายประภา-นางทัศนา ยุวานนท์ (นายประภาเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น/หนองบัวลำภู ส่วนทางทัศนาปัจจุบันได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.) 

            ในด้านการศึกษา นายวิเชียจบปริญญาตรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สิงห์แดง) จบปริญญาโท สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) รวมทั้งจบหลักสูตรการฝึกอบรม หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ ๕๓, หลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) รุ่นที่ ๔๔ และหลักสูตรนายอำเภอ (นอ.) รุ่นที่ ๔๑

            นายวิเชียร จันทรโณทัย เริ่มรับราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอนาแห้ว จ.เลย (จพง.ปค.๓) เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๒๗ จากนั้นผ่านไปเพียง ๓ วัน คือในวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๒๗ จึงย้ายไปเป็นปลัดอำเภอเมืองเลย จ.เลย (จพง.ปค.๓) ต่อมาในระหว่างวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๒๘ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๐ ได้ลาศึกษาต่อในระดับปริญญาโท จากนั้นในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๐ กลับมาปฏิบัติราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอนาแห้ว จ.เลย (จพง.ปค.๔), วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๓๑ เป็นผู้ช่วยจ่าจังหวัดเลย (จพง.ปค.๔), วันที่ ๑ ธันวาคม  ๒๕๓๒ ผู้ช่วยจ่าจังหวัดเลย (จพง.ปค.๕), วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ เป็นเจ้าพนักงานปกครอง (ซี ๕) กองปกครองท้องที่ กรมการปกครอง, วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ ช่วยราชการสำนักงานเลขานุการนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย, วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ ผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอ อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี (จพง.ปค. ๖), วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ ประจำกองปกครองท้องที่ กรมการปกครอง, วันที่ ๓ มกราคม ๒๕๓๗ ปลัดอำเภอ (จพง.ปค. ๖) อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู (๕ มกราคม ๒๕๓๗ ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการ ผวจ.), วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๓๗ ป้องกันจังหวัดหนองบัวลำภู (จพง.ปค.๖), วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๓๗ ประจำจังหวัดมหาสารคามและปฏิบัติหน้าที่เลขานุการ ผวจ.มหาสารคาม, วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๓๗ ป้องกันจังหวัดจ.มหาสารคาม, วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๓๘ จพง.ปค.๖ จ.ขอนแก่น (๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการ ผวจ.ขอนแก่น (โดยในระหว่างการรับราชการที่จังหวัดหนองบัวลำภู มหาสารคาม และขอนแก่น ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขานุการของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมีนายประภา ยุวานนท์ พ่อตาเป็นผู้ว่าฯ) วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๓๙ ปลัดอำเภอภูผาม่าน จ.ขอนแก่น (จพง.ปค.๗) (ประจำจังหวัดขอนแก่น), วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๔๐ ผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่น (จพง.ปค.๗) จ.นครราชสีมา

            จากนั้นเริ่มขยับสู่ตำแหน่งนายอำเภอ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๕ ก.พ. ๒๕๔๔ รักษาการในตำแหน่ง นายอำเภอท่าคันโท (จพง.ปค. ๗) จ.กาฬสินธุ์, วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๕ นายอำเภอท่าคันโท (จพง.ปค.๘) จ.กาฬสินธุ์, วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๕ นายอำเภอสีคิ้ว จ.นครราชสีมา, วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๔๗ นายอำเภอเกาะสีชัง จ.ชลบุรี (รกน.จพง.ปค.๘ ว กองวิชาการและแผนงาน ช่วยราชการสำนักรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย), วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗ โอนมาสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานจังหวัดชลบุรี (จ.วค.๘), วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ผู้อำนวยการกองตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ สป.(จ.วค.๘), วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๙ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด สป., วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๙ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครปฐม (จ.วค.๙), วันที่ ๓ พฤศจิกายน-๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๑ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน (นปค.๙), วันที่ ๑๑ ธันวาคม๒๕๕๑-๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๒ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน (นปค.ต้น) ตำแหน่งประเภทบริหาร, วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๒-๓๐ กันยายน ๒๕๕๖ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ (นปค.ต้น) ตำแหน่งประเภทบริหาร

            ต่อมาในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ นายวิเชียร จันทรโณทัย ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ จากนั้นวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ ย้ายมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ จนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๘ และในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๘ ย้ายมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา
ผลงานผู้ว่าฯ โคราชในอดีต

            ทั้งนี้ การดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เริ่มมีการเมืองเข้ามาแทรกแซงตั้งแต่หลังเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ ในสมัยนายประมูล ศรัทธาทิพย์ ซึ่งโด่งดังจากคดีฆ่า อส. ๘ ศพที่จังหวัดร้อยเอ็ด แต่เป็นคนสนิทของผู้มีอำนาจ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๖ กอปรกับระหว่างที่อยู่ในตำแหน่งผู้ว่าฯ อยู่ในช่วงที่มีการเดินขบวนของเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ จึงทำให้มีคำสั่งย้ายไปจังหวัดอื่น เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๖ นับเป็นผวจ.นครราชสีมา ที่อยู่โคราชสั้นที่สุด 

            นายจำรูญ ปิยัมปุตระ ซึ่งมีคำสั่งย้ายให้มาดำรงตำแหน่ง ผวจ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๐ ได้รับการชื่นชมจากชาวนครราชสีมาว่าเป็นผู้ว่าฯ ที่ดี มีผลงาน แต่ก็ดำรงตำแหน่งได้เพียง ๘ เดือน (๑ มกราคม-๓๐ กันยายน ๒๕๒๐) ก็มีคำสั่งย้ายและเกษียณในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย

            แต่ผวจ.นครราชสีมาที่ถือเป็นต้นแบบและดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการยาวนานที่สุดคือ นายสมบูรณ์ ไทยวัชรามาศ ซึ่งย้ายมารับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๔ และอยู่ในตำแหน่งกว่า ๘ ปี เนื่องจากมีผลงานชัดเจนจำนวนมาก เป็นที่ยอมรับของประชาชน รวมทั้งยังสร้างผลงานเข้าตานายพิศาล มูลศาสตร์สาทร ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่สำคัญยังเป็นที่โปรดปรานของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อีกด้วย จึงได้รับการต่อเวลาให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาถึง ๔ ครั้งเป็นเวลา ๗.๕ ปีกระทั่งเกษียณอายุราชการ (๑ เมษายน ๒๕๒๐-๓๐ กันยายน ๒๕๓๑) 

            ทางด้านนายประวิทย์ สีห์โสภณ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๙ นับว่าเป็นผู้ว่าฯ โคราชอีกคนหนึ่งทำงานอย่างจริงจัง มีผลงานเด่นชัด ไม่หวั่นไหวกับความไม่ถูกต้องและอิทธิพลต่างๆ แต่ก็มีผู้เคลื่อนไหวโค่นล้มเพื่อให้ย้ายไปที่อื่นท้ายสุดจึงถูกย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๐ จึงเป็นผู้ว่าฯ โคราชเพียง ๑ ปี แต่ก็พิสูจน์ผลงานได้ชัดเจน จึงทำให้อยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ไม่นาน และมีคำสั่งแต่งตั้งไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในเวลาต่อมา จากนั้นขยับเป็นอธิบดีกรมที่ดิน และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย 

            นอกจากนี้ ยังมีนายพงษ์โพยม วาศภูติ ที่ได้รับการแต่งตั้งมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๗ ซึ่งได้สร้างผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับทั้งจากประชาชน คหบดี พ่อค้า รวมทั้งภาครัฐเอกชนต่างๆ แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน โดยทำงานวันสุดท้ายในตำแหน่งผู้ว่าฯ โคราชในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๐ พ่อค้าประชาชนต่างขอจัดงานเลี้ยงส่ง นายพงษ์โพยมได้รับการโยกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย และขยับไปเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย

            ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา คนที่ ๔๖ นายประจักษ์ สุวรรณภักดี ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ เพราะได้รับการสนับสนุนจากนายเนวิน ชิดชอบ พรรคำทยรักไทย ซึ่งโด่งดังเรื่องกล้ายางจากภาคใต้ แต่หลังจากอยู่ได้ ๑ ปีก็มีข่าวว่า เป็นที่ทราบในวงในว่า จะถูกย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครองส่วน  ท้องถิ่น แต่นายประจักษ์ขอดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาต่อ เพื่อต้องการเกษียณอายุราชการในจังหวัดนครราชสีมา ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยจึงมีคำสั่งให้นายมานิต วัฒนเสน ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่นแทน ส่วนนายประจักษ์ ดำรงตำแหน่งผวจ.นครราชสีมาตามต้องการ กระทั่งเกษียณอายุราชการในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๓ 

            ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา คนที่ ๔๙ นายธงชัย ลืออดุลย์ ย้ายมาดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๗ ซึ่งก่อนนี้ปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาหลายตำแหน่งเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี เช่น ป้องกันจังหวัดนครราชสีมา นายอำเภอวังน้ำเขียว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา แม้จะมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดฯ แค่ ๑๖ เดือน แต่ก็สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ โดยจัดการกับผู้บุกรุกมอปลาย่างบริเวณริมเขื่อนลำตะคองที่ยืดเยื้อเรื้อรังมากว่า ๔๐ ปีได้อย่างเบ็ดเสร็จ นอกจากนี้ ยังสร้างอาคารภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ ๕ มูลค่า ๖๐ ล้านบาท ได้สำเร็จอีกด้วย และเกษียณอย่างภาคภูมิใจในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๘

ก.พ.ห้ามนั่งเกิน ๔ ปี

            ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการสับเปลี่ยนหน้าที่ ย้าย หรือโอนข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งระดับ ๑๐ ซึ่งมีตำแหน่งที่มีลักษณะบริหาร (ผู้ว่าราชการจังหวัด) ระบุว่า ให้ดำรงตำแหน่งวาระละ ๔ ปี หากครบ ๔ ปีให้ให้ปลัดกระทรวงผู้บังคับบัญชาเป็นผู้เสนอรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ส่วนในการปฏิบัติขอต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งนักบริหาร ๑๐ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ความเห็นชอบ โดยขอต่อเวลาได้ครั้งละไม่เกิน ๑ ปี และไม่เกิน ๒ ครั้ง

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๘ วันอาทิตย์ที่ ๑๑- วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

835 1369