August 22,2019
ส่อ‘ทุบ’สะพานสีมาธานี ทำ‘ทางลอด’๑,๗๐๐ ล. คาดอีกนานจะได้ลงมือ
การรถไฟฯ มาใหม่อีกแล้วว่า อาจต้องทุบสะพานสีมาธานี อ้างประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย พร้อมสร้างทางลอด มูลค่า ๑,๗๐๐ ล้าน ผู้แทน สนข.ขอให้คนโคราชคิดดีๆ ด้านประชาชนอ้างไม่ต้องจัดประชุมแบบคนเยอะๆ เสนอรวมตัวเฉพาะตัวแทนภาครัฐ-เอกชน ตัดสินใจทุบ-ไม่ทุบ ส่ง รัฐมนตรีคมนาคม ด้าน “สุรวุฒิ” พอใจไม่ออกความเห็น “ส.ส.โต” เชื่อทุบสะพาน ไม่ถึง ๓๐ เดือน
ตามที่ รัฐบาลได้อนุมัติให้มีการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง ๑๓๕ กิโลเมตร รวมทั้งสิ้น ๓ สัญญา ในสัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทาง ถนนจิระ (โคราช) ระยะทาง ๖๙ กิโลเมตร บริษัทที่ปรึกษาได้ปรับรูปแบบการก่อสร้างรถไฟทางคู่ยกระดับผ่านเมืองนครราชสีมา โดยไม่จำเป็นต้องทุบสะพานสีมาธานี ส่งผลให้เกิดการคัดค้านจากประชาชนส่วนหนึ่ง ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่อยมา ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีข้อยุติที่ชัดเจน
โดยเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๑ บริษัทที่ปรึกษาฯ ได้ประชุมร่วมกับจังหวัดนครราชสีมาเป็นครั้งแรก เสนอข้อมูลและแนวทางว่า ไม่จำเป็นต้องมีการรื้อสะพานบริเวณโรงแรมสีมาธานี ซึ่งจะทำให้ไม่มีปัญหาดังนี้ ๑.ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณในการรื้อถอนสะพานจำนวน ๑,๓๓๖ ล้านบาท ๒.การจราจรติดขัดเป็นเวลา ๓๐ เดือน ๓.ตลอดการก่อสร้างต้องติดตั้งสัญญาณไฟจราจร และ ๔.ต้องออกแบบสะพานกลับรถเพิ่ม ๒ แห่ง ซึ่งในครั้งนี้ นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา และประกอบธุรกิจอู่ต่อรถโดยสารเชิดชัย ที่เข้าร่วมการประชุมอยู่ด้วย กล่าวถึงข้อดีกรณีทุบสะพานข้ามแยกสีมาธานีว่า ๑.ทำให้เศรษฐกิจบริเวณ ๔.แยกอัมพวันกลับมาคึกคักอีกครั้ง ๒.การทุบสะพานออกและยกระดับทางรถไฟ จะทำให้สามารถพัฒนาพื้นที่ใต้สะพานเป็นพื้นที่สาธารณะได้ ๓.อ้างว่าเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมตลอดทางรถไฟได้ ๔.ทำให้รถดับเพลิงไม่ต้องอ้อมกลับรถในเวลาฉุกเฉิน และ ๕.เกิดสี่แยกอัมพวันเช่นในอดีต ประชาชนไปมาหาสู่ได้สะดวกสบายมากขึ้น
ต้องสรุปภายใน ๑ เดือน
ต่อมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นจังหวัดนครราชสีมา เพื่อตรวจความคืบหน้าของถนนมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ในวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๒ และมีข้อสั่งการให้นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เร่งหาข้อสรุปของกรณีทุบ-ไม่ทุบสะพานสีมาธานีภายใน ๑ เดือนนั้น
ประชุมหาข้อสรุปใหม่
เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานประชุมคณะกรรมการพิจารณาเสนอแนะรูปแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรในจังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ โดยมีนายสรยุทธ มาลัย วิศวกรอำนวยการศูนย์โครงการก่อสร้าง ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นวิทยากรในการอภิปราย โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ นายออน กาจกระโทก ส.ว.จังหวัดนครราชสีมา นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ นายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีนนครราชสีมา นายกิติพงศ์ พงศ์สุรเวท อดีตผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และส.ส.ในจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.เขต ๑ นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส.เขต ๒ นายโกศล ปัทมะ ส.ส.เขต ๕ นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.เขต ๑๔ และมีผู้เข้าร่วมกว่า ๑๐๐ คน
ผู้ว่าฯ ห่วงคมนาคมโคราช
นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ รัฐมนตรีคมนาคม มาตรวจราชการที่จังหวัดนครราชสีมาเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ที่ผ่านมา ทางรัฐมนตรีได้มารับทราบปัญหาการพัฒนาคมนาคมในจังหวัดนครราชสีมา จุดเชื่อมต่อระหว่างถนนมอเตอร์เวย์ ซึ่งลงบริเวณบายพาสของโคราช เราอยากให้จุดลงของมอเตอร์เวย์เชื่อมกับถนนสาย ๒๑๒๐ คือของทางหลวงชนบท หรือเราเรียกว่า สุระ ๒ ซึ่งห่างกันประมาณ ๓๐๐ เมตร ทาง รัฐมนตรีก็ให้มาดูรูปแบบว่าควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งทางหลวงชนบทได้ออกแบบแล้ว เราก็จะมาดูกัน
จุดที่ ๒ ที่รัฐมนตรีรับทราบปัญหาคือจุดรถไฟทางคู่ที่จะข้ามหรือไม่ข้ามสะพานสีมาธานี หรือว่าต้องทุบ ต้องให้รีบมีการพูดคุยกัน เนื่องจากก่อนหน้านั้นมีการพูดคุยกันว่าหากทุบแล้ว จะมีการพัฒนาอย่างไร พอวันรุ่งขึ้นประชาชนจังหวัดนครราชสีมา เห็นว่า ไม่น่าทุบสะพานสีมา เห็นควรว่าน่าจะมีทางอื่นเพื่อลดปัญหาการจราจร วันนี้จึงมาพูดคุย ต้องการให้ได้ข้อสรุป และจะนำทั้งแบบทางเชื่อมระหว่างมอเตอร์เวย์กับถนนสาย ๒๑๒๐ และบริเวณสะพานสีมาธานีไปแจ้งกับรัฐมนตรีว่า ชาวนครราชสีมามีความคิดเห็นอย่างไร
นายวิเชียร กล่าวอีกว่า เสนอรัฐมนตรีศักดิ์สยามเพิ่มเติมว่า การขยายถนน ๔ เลน เส้น ๒๒๖ ระหว่างหัวทะเลไปลำปลายมาศซึ่งมีอีก ๕ ตอน ระยะทางประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ซึ่งยังมีเป็นช่วงๆ ที่ยังไม่เป็นถนน ๔ เลน ทำให้เกิดปัญหาในการเดินทางระหว่างนครราชสีมา และบุรีรัมย์ ซึ่งรัฐมนตรีก็รับปากว่าจะเร่งรัดเรื่องนี้ อีกจุดหนึ่งคือที่ คลองไผ่ เนื่องจากบริเวณขึ้นเนินจากบ้านเลิศสวัสดิ์ ขึ้นเนินคลองไผ่ รถชะลอตัวและติดมาก โดยเฉพาะวันอาทิตย์และช่วงเทศกาล รัฐมนตรีจึงสั่งการเรื่องขยายผิวถนนเพิ่มขึ้น และให้ตำรวจจัดกำลังคอยดูแลเรื่องจราจร แต่ทางจังหวัดเคยได้รับการร้องขอจากพี่น้องชาวคลองไผ่ว่า เมื่อมีมอเตอร์เวย์ขึ้นมาจะทำให้ตัดบริเวณบริเวณฝั่งเขายายเที่ยงกับฝั่งของคลองไผ่ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน การข้ามไปมาหาสู่กันค่อนข้างยาก โดยเฉพาะการใช้รถยนต์ที่จะไปกลับรถค่อนข้างอันตราย เพราะรถจะวิ่งเร็ว ดังนั้นช่วงบริเวณก่อนที่จะถึงเรือนจำคลองไผ่จะขอให้มีการสร้างเกือกม้า และในขณะเดียวกันจะขอให้บริเวณทางเดินเท้าที่ข้ามไปข้ามมาระหว่างฝั่งเขายายเที่ยงกับทัณฑสถานหญิงตรงหน้าเรือนจำคลองไผ่ ขอให้เพิ่มเลนสำหรับจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นมาด้วย ซึ่งตรงนี้เป็นข้อเสนอที่เพิ่มขึ้น แต่หลักใหญ่ของวันนี้ที่เราต้องการคือ ข้อคิดเห็นของชาวโคราชเรื่องสร้างรถไฟทางคู่ แถวบริเวณสะพานสีมาธานีว่าทำอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์กับพวกเรามากที่สุด
เตรียมเข้าพบ รมว.คมนาคม
“ผมอยากให้สรุปให้ได้ภายในวันนี้ เพราะหากยิ่งช้าไป จะไม่เกิดประโยชน์กับคนโคราช ผมคิดว่าทางการรถไฟน่าจะมีแบบอยู่แล้ว หากเราไม่ตัดสินใจ หรือไม่มีข้อเสนอที่ชัดเจนเขาก็ต้องทำตามแบบ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าแบบนั้นเป็นอย่างไร การมาพูดคุยวันนี้อาจไม่สามารถใช้วิธีการโหวตได้ แต่ต้องเป็นการทำความเข้าใจ และท้ายที่สุดด้วยเหตุและผลถึงแม้ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ๑๐๐% แต่ผมคิดว่า อะไรที่ในที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยก็น่าจะใช้เป็นแนวทาง ทั้งนี้การเสนอความคิดเห็นต้องเร็วที่สุด เพราะหากเราช้า ทางการรถไฟก็ต้องดำเนินการตามสัญญา เราจะไม่สามารถแก้ไขหรือไปเสนออะไรได้ ซึ่งข้อสรุปเราในวันนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ทางกระทรวงคมนาคมจะทำตามเรา ๑๐๐% แต่จะเป็นข้อเสนอที่ผมอยากจะนำตัวแทนคนโคราชสัก ๔-๕ คนไปพบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่า เราอยากได้แบบใด อธิบายเหตุผลและความจำเป็นต่อรัฐมนตรีโดยตรง” นายวิเชียร กล่าว
นายวิเชียร กล่าวอีกว่า ทางจังหวัดไม่มีกรอบเรื่องงบประมาณ ซึ่งจังหวัดอยากให้เกิดผลประโยชน์ที่สุดกับประชาชน และพิจารณาความเป็นไปได้ในทางเทคนิคของรถไฟ เนื่องจากมีข้อจำกัดว่าตัวสถานีต้องอยู่ตรงไหน ถ้าตัวสถานีอยู่ที่เดิม การยกระดับจะกระทบหรือไม่ เมื่อยกแล้วจำเป็นต้องย้ายสถานีหรือไม่ ตนอยากให้เกิดประโยชน์สูงสุด ใจจริงอยากให้ยกมาโดยตลอด แต่อยู่ที่ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งเรามีหน้าที่เสนอและไปต่อรองสิ่งที่ดีที่สุดของเราต่อการรถไฟและกระทรวงคมนาคม อาจจะไม่ได้ทั้งหมด แต่เราต้องเสนอสิ่งที่เราต้องการ และทางนั้นก็ต้องพิจารณาเงื่อนไขทางด้านเทคนิค และงบประมาณ แต่สำหรับเรื่องนี้ตนคิดว่าถ้ามีเหตุผลและความจำเป็นก็เชื่อว่า รัฐบาลต้องฟังคนโคราช ไม่ใช่ว่าเอาเรื่องงบประมาณมาเป็นหลักอย่างเดียว หากเอาเรื่องงบประมาณเป็นตัวหลักก็คงไม่ต้องทำอะไรเลย
ทุบสะพานสีมาธานีเหมาะสม
นายสรยุทธ มาลัย วิศวกรอำนวยการศูนย์ โครงการก่อสร้างฯ กล่าวว่า หลังจากที่กลับไปออกแบบใหม่จากเมื่อ ๑ ปีครึ่งที่ผ่านมา ได้มีการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งนายกเทศมนตรีหลายครั้ง โดยได้นำเสนอในรูปแบบต่างๆ กระทั่งเราคิดว่ารูปแบบที่มีความเป็นไปได้ และเหมาะสมในระดับหนึ่งและเร็วที่สุดเพื่อให้สถานีรถไฟทางคู่ผ่านในช่วงนี้ไปได้เร็วที่สุด และไปต่อเชื่อมกับโครงการทางคู่จิระหลังจากที่การดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว คือแนวทางยกระดับประมาณ ๕ กิโลเมตร ซึ่งมีการนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อครั้งที่มี ครม.สัญจรที่จังหวัดนครราชสีมา และนำไปสู่การออกแบบ โดยทำการออกแบบมา ๒ ตัวเลือก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า จะทุบ หรือไม่ทุบสะพานสีมาธานี แต่อย่างไรก็ตามหลังจากที่การรถไฟได้พิจารณาทั้ง ๒ ตัวเลือก และได้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมผู้บริหารการรถไฟ ซึ่งที่ประชุมผู้บริหารการรถไฟ อนุคณะกรรมการรถไฟ และคณะกรรมการการรถไฟล่าสุดก็พิจารณาแนวทางที่อาจจะต้องทุบสะพานสีมาธานี น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด
ปัจจุบันการรถไฟนำเรื่องไปกระทรวงคมนาคมแล้ว โดยเรื่องข้อกังวลที่หลายๆ คนทราบคือ อาจจะต้องหารือกับทางกรมทางหลวงในเรื่องของการจัดการการจราจรในช่วงระหว่างการก่อสร้างอาจจะกินระยะเวลาประมาณสักปี ซึ่งบริเวณนั้นเมื่อมีการทุบสะพานสีมาธานี อาจจะเกิดการจราจรติดขัด โดยรูปแบบที่จะแก้ไขปัญหาการจราจรในบริเวณนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งเป็นหน้าที่ของการรถไฟ กับกรมทางแล้ว และอาจจะมีโอกาสได้เข้าหารือกับทางจังหวัดนครราชสีมาด้วย ซึ่งความคืบหน้าล่าสุด คณะกรรมการการรถไฟพิจารณาแล้วคือ โดยจะลอดใต้สะพานสามแยกปักธงชัย และยกระดับ ๕ กิโลเมตร และต้องทุบสะพานสีมาธานี
เสีย ๑,๗๐๐ ล้านทำทางลอดแทน
โดยข้อมูลที่เราศึกษาและเสนอกับคณะกรรมการการรถไฟ เริ่มแรกมี ๒ รูปแบบ หากเราไม่ทุบสะพานสีมาธานี เราก็จะลอดสะพานสีมาธานีไป จากนั้นยกระดับและไปลงที่สถานีรถไฟจิระ ส่วนกรณีทุบสะพานสีมาธานีคือ เราจะลอดใต้สะพานตรงสามแยกปักธงชัย และยกระดับขึ้นเลย ระดับของทางรถไฟจะอยู่ระดับเดียวกับระดับของสะพานข้ามถนนมิตรภาพบริเวณโรงแรมสีมาธานีพอดี ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องทุบสะพาน แต่ตัวเลือกนี้เป็นตัวเลือกที่เราศึกษาแล้วว่า เราต้องสร้างอุโมงค์ทางลอดทดแทนไปด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณนั้น ถ้าไม่ทำการจราจรบริเวณนั้นค่อนข้างจะติดขัดพอสมควร ซึ่งตรงนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ ๑,๗๐๐ ล้านบาท ทั้งนี้หากไม่ทุบสะพานสีมาธานี การจราจรและวิถีชีวิตพื้นที่นั้นยังเหมือนเดิม หากทุบปัญหาจราจรติดขัด แต่วิถีชีวิตคนแถวนั้นจะดีขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางที่การรถไฟเสนอต่อบอร์ดการรถไฟพิจารณา ทั้งนี้บอร์ดการรถไฟพิจารณาแล้วว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็เลือกให้การรถไฟเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณากรณีที่เป็นรื้อถอนสะพานสีมาธานี เพื่อให้สอดคล้องกับที่ประชาพิจารณ์และมีความเห็นด้านนี้มากกว่า ทั้งนี้ หากทุบสะพานสีมาธานี อาจจะต้องจัดการกับเรื่องจราจรประมาณ ๓๖ เดือน
นายสรยุทธ กล่าวอีกว่า กรณีรื้อสะพานและก่อสร้างอุโมงค์มีขั้นตอนดังนี้ ๑.สร้างทางข้ามรถไฟเสมอระดับชั่วคราว ๒.จัดการจราจรเลี้ยวซ้ายเข้า-ออกทางสายรอง ๓.เปิดเกาะกลางห่างจากจุดตัดประมาณ ๕๐๐ เมตร บนถนนมิตรภาพ ๔.ทุบสะพานรถยนต์ข้ามแยกทั้งหมด และ ๕.เจาะอุโมงค์และสร้างฐานทางรถไฟ
ห่วงทางรถไฟแยกเมือง
นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เสนอความคิดเห็นว่า การรถไฟกรุณาออกแบบลักษณะนี้จะโดนใจคนโคราชหรือไม่ อาจจะต้องนั่งคุยกันอีกรอบหนึ่ง ทั้งนี้กรณีการทำคันดินขึ้นมา จะเป็นการแบ่งแยกเมืองสองข้าง และช่องลอดทุกแห่งที่สร้าง ทำไมไม่ออกแบบเป็นเสาลอยทั้งหมด เพราะจะทำให้พื้นที่ด้านล่างของทางรถไฟ สามารถใช้ประโยชน์ เป็นสถานที่พักผ่อน เป็นสถานที่จะทำให้คนโคราชได้ใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง เมืองจะไม่ถูกตัดออกเป็นสองข้าง ทั้งนี้เรามองว่าหากเป็นเสา ทั้งรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ให้ยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะเกิดการขยายตัวของเมืองที่สามารถขยายไปได้ วันนี้คนโคราชมองว่าเมืองจะมีการขยายตัวในอนาคต ถ้าการรถไฟทำคันดินตั้งยาวตั้งแต่สามแยกปักถึงสี่แยกสีมาธานีประมาณกิโลเมตรกว่าๆ จะทำให้เมืองที่เคยไปมาหาสู่กันสองฝั่ง เกิดการแยกออกมา แม้จะมีช่องลอดที่ออกแบบเพียงแค่ ๓ เมตร ความจริงแล้วความสูงระดับนี้รถใหญ่ไม่สามารถผ่านได้ และจากการที่บอกว่าทำที่ขอนแก่นแล้วมีปัญหา แต่คาดว่าที่โคราชจะไม่มีปัญหา เราไม่ต้องการให้เป็นการทดลอง แต่ต้องการให้เป็นการออกแบบที่เบ็ดเสร็จ และสามารถที่จะแก้ปัญหาให้กับเมืองได้
“นอกจากนั้น หากทางการรถไฟออกแบบอย่างนี้ สถานีรถไฟทางคู่ และสถานีรถไฟความเร็วสูงจะยังคงเป็นสถานีเดียวกันใช่หรือไม่ แล้วในตอนที่กดลงเพื่อลอดสะพานที่หัวทะเลจะเป็นลักษณะอย่างไร และในเรื่องการออกแบบ หากเป็นไปได้ เราอยากให้เป็นการยกระดับจริงๆ ไม่ใช่เป็นคันดินมากั้นเหมือนเดิม และในอนาคตรถไฟความเร็วสูงมีเสาลอย ก็อยากให้ทำเสา เพื่อตอบโจทย์ให้คนโคราช” นายหัสดิน กล่าว
นายสรยุทธ ชี้แจงว่า ในเรื่องคันดิน ปัจจุบันทราบว่าการทำคันดินค่อนข้างจะมีปัญหา ปกติแล้วในลักษณะที่เป็นบริเวณช่องลอดที่เคยเห็นบ่อยๆ ปัจจุบันเราได้รับนโยบายให้เปลี่ยนแปลงเป็นลักษณะของสะพานแทน สะพานจะยาวประมาณ ๑๐ เมตร มีถนนสองเลน ทั้งนี้ตนอาจจะยังไม่แน่ใจว่าให้ข้อมูลถูกต้องหรือไม่ในเรื่องการออกแบบลักษณะจริงที่เป็นช่องลอด ที่ผ่านมาการรถไฟมีความผิดพลาดจริงๆ ที่ออกแบบเป็นช่องลอดมา ทั้งนี้เรามีนโยบายสองส่วนคือต้องการให้รถยนต์แยกกับรถไฟ เพราะไม่ต้องการให้เกิดอุบัติเหตุบนทางรถไฟ เช่นเดียวกับหลายๆ จุดในปัจจุบัน และนอกจากรถยนต์ที่เป็นจุดตัดรอบแล้ว เราก็ไม่อยากให้คนหรือสัตว์เดินเข้ามาในช่วงเส้นทางรถไฟ เพราะอาจจะเป็นอุบัติเหตุได้อีก จึงทำรั้วขึ้นมา ก่อนหน้านี้ทางหน่วยงานท้องถิ่นที่ขออนุญาตทางรถไฟในการก่อสร้าง อาจจะไม่ได้ทำตัวทางเดินเท้าไว้ หรือทางเดินรถอื่นไว้ เนื่องจากคิดว่ารถไฟก็สามารถสัญจรด้านบนสะพานความเร็วสูง นโยบายสองอย่างนี้มาขนกันทำให้เราลืมนึกไปว่า หากเรากั้นรั้วประชาชนจะสัญจรได้ลำบากขึ้น ดังนั้นในโครงการต่างๆ ก็จะไม่มีลักษณะที่เป็นเหมือนบล็อก แต่จะเป็นลักษณะของสะพานรถไฟ
นายวัชพล โตมรศักดิ์ ส.ส.เขต ๒ นครราชสีมา กล่าวว่า ตนได้นำปัญหาตรงนี้พูดคุยในที่ประชุมสภาตอนแถลงนโยบายในฐานะที่เป็นคนโคราช เราไม่ได้คิดอะไรมาก นอกจากเราเป็นห่วงว่าจะเป็นเหมือนสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ ปัญหาที่ตามมาคือ การออกแบบหรือแม้กระทั่งการที่เราไปไว้ใจใครคนใดคนหนึ่ง ปัญหาวันนี้คือรถจะติด แทนที่เราจะไปสร้างข้างนอก มันจะทำให้เมืองเจริญ จากการที่การรถไฟคิดมา ตนไม่โทษใคร แต่อาจจะด้วยความที่ทางรัฐบาลเร่งในการออกแบบมาเพื่อให้รีบทำ ในตอนแรกก็ตกใจเพราะการออกแบบแรกอยู่กับพื้นหมด โคราชอาจจะแตกออกเป็น ๒ ส่วน ท่านทำเสร็จ แต่คนโคราชต้องอยู่กับความระทมทุกข์ และปัญหาเมืองจะขาดความงดงามไปหมดทุกอย่าง เราไปต่างประเทศในเมืองที่เจริญแล้วเขาจะคิดการใหญ่ และตอนนี้สิ่งที่ตนอยากรู้มากที่สุดคือ สถานีหลักเราอยู่ไหน ออกแบบอย่างไร รู้อย่างเดียวว่ายก ๕ กิโลเมตรเศษ
เชื่อทุบไม่ถึง ๓๐ เดือน
“และทราบมาว่ารถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่แยกกันออกแบบ ทำไมเราไม่ใช้โครงสร้างเดียวกัน และในขณะเดียวกันไม่ได้ห่วงเรื่องสะพานสีมาธานี มั่นใจว่ากรมทางหลวงคงไม่ทำถึง ๓๐ เดือน เทียบกับห้างเทอร์มินอล ๒๑ หากให้ทางราชการทำอาจจะ ๓-๔ ปี แต่เมื่อเอกชนลงมือทำเพียงแค่ปีเดียวก็สร้างเสร็จ เพราะฉะนั้นวันนี้ต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ เรื่องการออกแบบ การดำเนินการ เรามีงบประมาณ มีช่องทางที่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด จึงอยากให้ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้ไหม คนโคราชไม่สามารถรู้ได้หมดว่าหากยกหรือไม่ยก จะได้ประโยชน์อะไร แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือ เราจะทำอย่างไรให้เมืองอยู่ได้คู่กับสังคม และเกิดประโยชน์ที่สุด และขอให้ท่านทบทวนเพราะนี่คือเมืองหน้าด่านของอีสาน และในอนาคตรถไฟทางคู่จะไปเชื่อมกับลาวและจีน เราจะกลายเป็นเมืองส่งออก และใช้ประโยชน์จากรถไฟจำนวนมหาศาล ถ้าจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณด้วยเหตุจำเป็น เพื่อไม่ให้โคราชเกิดปัญหาในอนาคต ตนเชื่อว่า ส.ส. ๑๔ คน และ ส.ว. ๒ คน และเรามีรัฐมนตรี ๓ คนที่เป็นคนโคราช เราจะช่วยกัน แต่ไม่ต้องการให้เกิดปัญหา ต้องการให้ทบทวน เพราะท่านรัฐมนตรีก็ได้พูดกับตนว่า ขอให้คนโคราชตัดสินใจ และเราไม่ได้มีปัญหาที่จะมาโจมตี หรือต่อว่าอย่างไร แต่ทบทวนได้ไหมรถไฟที่ประกอบกันระหว่างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง ยกระดับให้เป็นเนื้อเดียวกัน ออกแบบให้สวยงาม ให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว” นายวัชพล โตมรศักดิ์ กล่าว
นายจักริน เชิดฉาย ผู้จะลงสมัครนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวว่า เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ได้ร่วมประชุมในหลายภาคส่วน ร่วมกับตัวแทนภาคประชาชน มีความเห็นตรงกันให้ยกระดับข้ามทั้ง ๓ สะพาน คือสามแยกปักธงชัย สีมาธานี(แยกอัมพวัน) และหัวทะเล เนื่องจากต้องการให้เสร็จเร็วที่สุด อีกทั้งสะพานสีมาธานีเป็นเส้นหลักในการเข้าสู่ตัเมืองโคราช จากที่การรถไฟเสนอทุบสะพานสีมาธานี ใช้เวลานานถึง ๓๖ เดือน อาจจะทำให้เกิดปัญหาการจราจรสะสม คนข้ามไปมาสองฝั่งใช้เวลานาน กระทบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจขึ้นได้
การประชุมไร้ข้อสรุป
นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ นายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีนนครราชสีมา กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่จะนำไปเสนอกับทางรัฐมนตรี อยากทราบว่าจะนำบันทึกอะไรไปนำเสนอ เนื่องจากการประชุมก็เป็นแบบเดิม หากนำไปเสนอก็เป็นเหมือนเดิมแบบที่ผ่านมา คนที่ค้านก็ค้านแบบเดิม ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะข้อมูลไม่ตรงกัน วันนี้มีการก้าวหน้ามากที่สุดก็คือจากทางเทศบาล เพราะเทศบาลมีการประชุมกับท่าน ท่ามกลางความครหาของประชาชนว่ามีฮั้วกันเกิดขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ยังมีเวลา จึงอยากให้มีการประชุมย่อย นำผู้นำองค์กรต่างๆ ที่เขามีข้อสงสัยมาร่วมประชุม เพื่อให้มีข้อชัดเจนที่ตรงกัน
ทั้งนี้ ผู้แทนสํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า การทุบสะพานสีมาธานีแล้วทำทางลอดแทน ต้องคิดให้ดีเพราะที่ขอนแก่นก็มีตัวอย่างแล้ว ซึ่งทางลอดตรงบริเวณเซ็นทรัลขอนแก่น ตอนนี้มีปัญหาตามมาหลายเรื่อง ขณะนี้คนขอนแก่นต้องการสะพานข้ามแทนทางลอด ตรงนี้อยากให้คนโคราชคิดดีๆ
ประชุมนอกรอบ
สำหรับนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนคราชสีมา ตลอดการประชุมไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆ
หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ นายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีนนครราชสีมา พร้อมด้วยนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายวัชรพล โตมรศักดิ์ นายจักริน เชิดฉาย นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ รวมตัวพูดคุยกับนายสรยุทธ มาลัย วิศวกรฯ การรถไฟแห่งประเทศไทย และตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ที่ร้านเจริญภัณฑ์เบเกอรี่ สาขาถนนมหาดไทย
ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๒ ที่เฟซบุ๊ก นายวัชพล โตมรศักดิ์ โพสต์ข้อความว่า “เมื่อวานนี้ วันศุกร์ที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๒ หลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการพิจารณาเสนอแนะรูปแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรในจังหวัดนครราชสีมา ผมวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส. จ.นครราชสีมา เขต ๒ พรรคชาติพัฒนา ได้มีโอกาสหารือนอกรอบอย่างไม่เป็นทางการในช่วงบ่ายกับคณะผู้แทนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่เดินทางมาจาก กทม. โดยมีประเด็นสนทนาที่พ่อแม่พี่น้องประชาชนเมืองโคราชให้ความสนใจในตอนนี้ คือเรื่องจะ “ทุบหรือไม่ทุบ” สะพานยกระดับข้ามทางรถไฟตามแนวถนนมิตรภาพบริเวณโรงแรมสีมาธานี เพื่อรองรับการก่อสร้างระบบรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงในอนาคตอันใกล้นี้
ทั้งนี้ ยังจะต้องมีการพิจารณาหารือ การแก้ไขปรับรูปแบบจุดตัดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ (สัญญาที่ ๒ คลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ) และการพิจารณาเสนอรูปแบบแนวทางการก่อสร้างทางลอดบริเวณถนนสืบศิริ (บริเวณโรงแรมสีมาธานี) ซึ่งผมจะได้นำความคืบหน้ามาแจ้งให้พ่อแม่พี่น้องทุกท่านได้ทราบในโอกาสต่อไปครับ”
ที่ปรึกษาออกแบบใหม่
ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ “โคราชคนอีสาน” สอบถาม นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ถึงความคืบหน้า มีการประชุมนอกรอบกลุ่มย่อย โดยมี นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส.เขต ๒ นครราชสีมา นายสรยุทธ มาลัย ตัวแทนทางการรถไฟ พร้อมด้วยตัวแทนจากบริษัทที่ปรึกษา บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือ
นายหัสดิน กล่าวว่า ทางเราได้เสนอไปว่า ในทางเทคนิคสามารถที่ทำยกระดับแบบลอยฟ้าได้ทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งบริษัทที่ปรึกษากับการรถไฟบอกว่าสามารถทำได้ เพียงแต่จะติดข้อจำกัดบางอย่าง ซึ่งอาจจะต้องแก้ปัญหาต่อ อย่างไรก็ตามในวันนั้น ข้อเสนอสรุปว่า ให้เป็นทางยกระดับ และยกยาวมา จากเดิมที่ทำคันดิน ๓ เมตร และทำอุโมงค์ ซึ่งการที่รถจะผ่านเข้าออกจะลำบาก จึงขอให้ทำตอม่อให้มาก และยาวที่สุด มีคันดินเฉพาะช่วงที่กำลังยกระดับขึ้น และให้เป็นเสาตอม่อ ซึ่งผู้แทนการรถไฟก็รับปากว่า จะกลับไปออกแบบให้ระหว่างสองข้างของทางรถไฟไปมาได้สะดวก และให้มีข้อจำกัดน้อยลง
“นอกจากนี้ให้บริษัทที่ปรึกษาไปศึกษาว่า จากการที่การรถไฟเสนอให้ทุบสะพานสีมาธานี และจะใช้เวลา ๓๖ เดือนซึ่งค่อนข้างนาน ดังนั้นต้องการให้บริษัทที่ปรึกษาหาเทคโนโลยีที่จะร่นระยะเวลาการก่อสร้างลงมา และในระหว่างการก่อสร้างต้องมีการออกแบบและศึกษาผลกระทบด้านการจราจรน้อยที่สุด โดยเสนอว่าต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ โดยนายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริก็รับปากว่างบประมาณที่ใช้เพิ่มขึ้น จะคุยกับรัฐมนตรีเรื่องการของบประมาณเพิ่มขึ้นในส่วนที่จะดำเนินการแก้ปัญหาจราจร และร่นระยะเวลาก่อสร้าง หลังจากนั้นบริษัทที่ปรึกษาก็ต้องมาให้คำตอบกับคนโคราชว่าทำได้ไหม ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น และลดระยะเวลาก่อสร้างได้เท่าไหร่” นายหัสดิน กล่าว
ต่อข้อซักถามที่ว่า มีกระแสว่าจะประชุมย่อยอีกครั้งในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๒ นายหัสดิน กล่าวว่า ตรงนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะทันหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับบริษัทที่ปรึกษาว่าส่งผลการศึกษาเพิ่มเติมให้ได้เมื่อไหร่ และเราจะมาดูอีกครั้งว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ประชุมกลุ่มย่อยอีกรอบหนึ่ง เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วจะนำเรียนกับทางผู้ว่าราชการจังหวัด ในกรณีที่ต้องเพิ่มงบประมาณ ทางผู้ว่าราชการจังหวัด และตัวแทนอาจจะต้องไปคุยกับ รัฐมนตรีคมนาคมต่อไป และต้องหาข้อสรุปนี้ให้ได้ภายใน ๑ เดือนตามที่ รัฐมนตรีคมนาคมสั่งการมา
รอรถไฟความเร็วสูงเสร็จก่อน
จากนั้น “โคราชคนอีสาน” ติดต่อสอบถามไปยังนายบุญพา สืบสินสัจจวงศ์ วิศวกรบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ซึ่งเป็นบริษัทเอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด ถึงกรณีที่ได้รับมอบหมายให้ทำการศึกษาเพื่อหาเทคโนโลยีที่จะร่นระยะเวาลาการก่อสร้างเพื่อเสนออีกครั้ง โดยนายบุญพา เปิดเผยว่า จากการที่ประชุมที่ผ่านมา ทางจังหวัดสอบถามว่า หากทุบสะพานต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ซึ่งทางการรถไฟได้มอบโจทย์ให้ทางที่ปรึกษาพิจารณาดูว่า ในการดำเนินการการรื้อ การก่อสร้าง และสร้างอุโมงค์ขึ้นมาด้วยจะใช้เวลาเท่าไหร่ ซึ่งขณะนี้ในทีมของบริษัทที่ปรึกษากำลังพิจารณากันอยู่ เพราะจะต้องดูระบบการทำงานทั้งหมดให้สอดคล้องกัน
“การรื้อสะพานเราอาจจะไม่ได้รื้อตั้งแต่วันแรกที่มีการเซ็นสัญญาก่อสร้างทางรถไฟ เพราะติดด้วยเรื่องสถานีนครราชสีมา ซึ่งสถานีนครราชสีมา จะก่อสร้างโดยรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นอีกโครงการหนึ่ง ต้องให้สร้างโครงการนี้เสร็จก่อน เราจึงจะสามารถดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้ ต้องให้โครงการรถไฟความเร็วสูงดำเนินการไปก่อนไปเราจึงจะสามารถเข้าไปใช้งาน เราจึงจะเริ่มพิจารณาตรงนี้ให้ เพราะเราเองก็กังวล และสำหรับการประชุมในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ยังไม่ได้รับจดหมายเชิญ จึงยังไม่สามารถตอบได้ และยังไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า จะทุบ หรือไม่ทุบสะพานสีมาธานี เพราะยังมีการหารือกันต่อไปอีก หากจำเป็นต้องทุบ เราต้องไปหารือกับกรมทางหลวงที่เป็นเจ้าของสะพานอีกที และต้องดูว่าเจ้าของสะพานตัวจริงเห็นด้วยหรือไม่ แต่ว่าโดยนโยบายเท่าที่ทราบจากการหารือกับกระทรวงคมนาคมแล้ว ทางกระทรวงก็ให้พิจารณาว่า หากต้องทุบจะดำเนินการอย่างไร และตนเป็นเพียงบริษัทที่ปรึกษา จึงไม่สามารถพูดได้เต็มปาก ต้องให้การรถไฟดำเนินการ” นายบุญพา กล่าว
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๐ วันพุธที่ ๒๑ - วันอาทิตย์ที่ ๒๕ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
971 1,751