16thApril

16thApril

16thApril

 

August 27,2019

ภาคเอกชนโคราชงัดหมัดเด็ด โชวห่วยต้องปรับตัวสู่อีคอมเมิร์ซ

สัมมนา ‘หมัดเด็ดการแข่งขัน’ เสริมเขี้ยวสร้างความเข้าใจกฎหมายแข่งขันทางการค้า และนำ E-Commerce มาปรับใช้ให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพแข่งขันทางการค้าในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๘.๓๐ น. ที่โรงแรมฟอร์จูน ราชพฤกษ์ ว่าที่ร้อยตรี อภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานงานสัมมนา หมัดเด็ดการแข่งขัน ที่ผู้ประกอบการต้องรู้ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของสำนักคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ( สขค.) หรือ OTCC ร่วมกับสภาหอการค้าไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน ๓ สถาบัน (กกร.) โดยมีศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า, นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา, นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา, นายชัยปิติ ม่วงกูล กรรมการกฎหมาย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, นางอร่ามศรี รุพันธ์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และ นายนันทวัฒน์ เปรมชัยพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีบีดับเบิ้ลยู (ไทยแลนด์) จำกัด ร่วมเป็นวิทยากร 

สำหรับการจัดงานสัมมนา หมัดเด็ดการแข่งขัน ที่ผู้ประกอบการต้องรู้ มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการแข่งขันทางการค้าให้ผู้ประกอบธุรกิจในส่วนภูมิภาคได้ระมัดระวังพฤติกรรมการประกอบธุรกิจที่อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.๒๕๖๐ บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าและสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า รวมถึงการนำ E-Commerce มาปรับใช้และเป็นแนวทางในการประกอบธุรกิจ เพื่อขยายศักยภาพการแข่งขันให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการแข่งขันทางการค้าในปัจจุบัน

ทั้งนี้ กิจกรรมสำคัญของงานสัมมนาได้แก่ การเสวนาในหัวข้อ “กฎหมายการแข่งขันทางการค้า : เครื่องมือป้องปราม ทางการค้าและประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ” กล่าวถึงพฤติกรรมหลักที่อาจเข้าข่าย เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.๒๕๖๐ ได้แก่ การกระทำต้องห้ามของผู้มีอำนาจเหนือตลาด การตกลงร่วมกัน การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น

นางอร่ามศรี รุพันธ์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า ในกฎหมายการแข่งขันทางการค้าจะมีอยู่ ๔ เสาหลัก ที่เข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ. คือ ๑.ผู้มีอำนาจเหนือตลาด คือผู้ที่มีส่วนแบ่งการตลาด ๕๐% และมียอดขาย ๑,๐๐๐ ล้านบาทขึ้นไป ส่วนพฤติกรรมไม่เป็นธรรมทางการที่ถือเป็นความผิดสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดนั้น มีทั้งการกำหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือราคาขายสินค้าหรือค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม เช่น การตั้งราคาในระดับต่ำมากเพื่อให้คู่แข่งออกจากตลาด การตั้งราคาต่ำกว่าต้นทุน เป็นต้น ๒.กรณีของการฮั้วกัน ก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ๓.การควบรวมกิจการ และ ๔.แม้ว่าไม่ได้เป็นผู้ประกอบการ หรือผู้มีอำนาจเหนือตลาด แต่หากมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายก็ถือว่าผิดเช่นเดียวกัน

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมาถือเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญในการพัฒนาระดับภูมิภาค เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน และมีค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ๒.๗ แสนล้าน รายได้ต่อหัว เราอาจเป็นรองขอนแก่น แต่รายได้ GDP ของเรามากกว่าที่ขอนแก่น นอกจากนี้กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์เป็นกลุ่มที่ภาคอุตสาหกรรมการส่งออกกว่า ๔๐% การพัฒนาต่างๆ จึงเริ่มพัฒนาที่จังหวัดนครราชสีมา เพราะเป็นจังหวัดที่เปรียบเหมือนประตูสู่อีสาน พร้อมทั้งมีสาธารณูปโภค ทั้งมอเตอร์เวย์, รถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาขนส่งสินค้าและคนสะดวกมากขึ้น อีกทั้งยังมีการลงทุนของห้างใหญ่ๆ ที่เข้ามาลงทุนในจังหวัดนครราชสีมา และยังมีห้างท้องถิ่น สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เกิดการแข่งขัน และผู้บริโภคจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุด และในอนาคตเมื่อมีการทำออนไลน์มากขึ้น ก็ต้องมีการปรับตัว ผู้ประกอบการเองจะต้องรู้ว่าควรมีการปรับตัวอย่างไร

“กรณีห้างสรรพสินค้าเข้ามาลงทุนในพื้นที่ แน่นอนว่าผู้ลงทุนรายใหญ่ๆ ต้องได้เปรียบอยู่แล้ว ร้านค้าโชวห่วย หรือห้างเดิมในท้องถิ่นอาจได้รับผลกระทบ แต่ก็จะทำให้เกิดผลดีต่อผู้บริโภค แต่เราก็ต้องมาดูว่าการทำการตลาดของผู้ค้ารายใหญ่กระทำเกินไปไหม เข้าข่ายการผิด พ.ร.บ.หรือไม่อย่างไร” นายหัสดิน กล่าว

ด้านนายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า นักธุรกิจหลายๆ ท่านมองว่าเป็นโอกาสที่ดีในการมาลงทุนที่จังหวัดนครราชสีมา แต่เรื่องของการพัฒนาตนคิดว่า ด้านสาธารณูปโภคต่างๆ หากจะเสร็จสมบูรณ์จริงๆ คาดว่าต้องใช้เวลาอีกประมาณ ๕ ปี ดังนั้นการเติบโตต่างๆ ทำให้นักลงทุนเริ่มเข้ามาลงทุน อย่างเช่น ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ ซึ่งต้องยอมรับว่าในจังหวัดนครราชสีมามีห้างเกิดขึ้นมากมาย แต่เชื่อว่าในการแข่งขัน ไม่มีการฮั้วกันแน่นอน เพราะแต่ละห้างจะต้องมีการวางกลยุทธ์ของตัวเอง เพื่อให้ได้ส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้น

“นอกจากห้างสรรพสินค้าแล้ว ยังมีการลงทุนในรูปแบบธุรกิจอื่นๆ เช่น การสร้างโรงเรียนนานาชาติ หรือโรงพยาบาล ซึ่งการเติบโตในยุคปัจจุบันปัญหาที่เห็นได้ชัดคือ  ผู้ประกอบการร้านโชวห่วย ซึ่งพบปัญหาได้สักระยะ ดังนั้นอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ เปลี่ยนแปลงการตลาดใหม่ เนื่องจากห้างสรรพสินค้าที่เข้ามาล้วนมีการตลาดเพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้า ดังนั้น ร้านค้าโชวห่วยจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัว” นายชัชวาล กล่าว

นายนันทวัฒน์ เปรมชัยพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีบีดับเบิ้ลยู (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ในปัจจุบันทุกอย่างกำลังเริ่มเปลี่ยนแปลง และเข้าสู่ความเป็น Smart City ในหลายๆ จังหวัด ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิด เพราะทุกอย่างกำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัล ปัจจุบัน E-Commerce เรียกว่าเป็นพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การทำธุรกรรมต่างๆ เริ่มทำกันในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น ต้องยอมรับว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทุกคนจะอยู่กับโทรศัพท์มากกว่าอยู่หน้าจอโทรทัศน์ ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงแนวคิด เราต้องคิดว่า จะทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นผลิตภัณฑ์ที่คนอยากซื้อ การเปลี่ยนสถานะ การสร้างความสะดวกสบาย และการทำให้ผู้บริโภคเป็นสาวก ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในปัจจุบัน

นายนันทวัฒน์ กล่าวอีกว่า เนื่องจากเส้นทางและพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ดังนั้นเราต้องมีความเข้าใจลูกค้า และการปรับตัวเอง โดยเริ่มต้นจาก ๑.สร้างการรับรู้ เราสามารถสร้างเพจเฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์ขึ้นมา เพื่อให้ผู้บริโภครู้จักและเลือกซื้อสินค้า และเพื่อให้เขาตัดสินใจในแบรนด์นั้นๆ หากเราไม่มีแบรนด์ดังๆ เราจำเป็นที่จะต้องสร้างเอกลักษณ์ขึ้นมา สร้างความแตกต่างเพื่อให้เป็นที่จดจำ ๒.ช่องทางการซื้อ เราต้องเลือกช่องทางที่เหมาะสม เนื่องจากแต่ละแพลตฟอร์มจะแตกต่างกันไป หากเน้นด้านโฆษณา  ต้องเลือกใช้เฟซบุ๊ก เนื่องจากเฟซบุ๊กเป็นสื่อโซเชียลสำหรับพื้นที่การโฆษณาที่ดีที่สุด เพราะมีประชากรใช้งานค่อนข้างเยอะในประเทศไทย และเมื่อเกิดการซื้อขาย คุณต้องคิดหาวิธีให้เกิดการซื้อซ้ำ และบอกต่อ และ ๓.การเปิดร้านค้า หรือโชวห่วย เป็นเหมือนการให้ผู้บริโภคเข้ามา และเห็นสินค้าจริงๆ และหากเราทำเพจ หรือเว็บไซต์ขึ้นมาเพิ่ม ผู้บริโภคพอใจก็จะเกิดการซื้อซ้ำ และบอกต่อจะหมุนเวียนไปเรื่อยๆ

“มุมมองง่ายๆ ในการทำการตลาดคือ ต้องดูว่าเรามีจุดเด่นอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นตัวสินค้า หรือตัวผู้ประกอบการเอง เราต้องดึงจุดเด่นออกมาใช้ นอกจากนี้ต้องดูคู่แข่ง คุณจะต้องมีการพัฒนาสินค้าของคุณอยู่เสมอแม้ว่าคุณจะทำสำเร็จแล้วก็ตาม เพราะปัจจุบันการแข่งขัน E-Commerce เป็นตลาดโลก ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องหาช่องทางการส่งออกเพิ่มด้วย และสุดท้ายต้องดูกลุ่มลูกค้า เราต้องรู้ว่าลูกค้าเป็นใคร การที่เราจัดทำเพจ เว็บไซต์ต่างๆ บางครั้งตรงนี้จะเป็นฐานข้อมูลให้เรารับรู้ว่าผู้บริโภคแต่ละราย เราจะสามารถเข้าถึงได้อย่างไร เพราะการสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคถือเป็นส่วนสำคัญ และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องรับรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย” นายนันทวัฒน์ กล่าว

อนึ่ง จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดลำดับที่ ๕ ของกลุ่มจังหวัดเป้าหมายในการจัดสัมมนาจำนวน ๑๐ จังหวัด โดยการสัมมนาครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๒ ณ โรงแรม ๔๒ ซี เดอะชิค โฮเทล จังหวัดนครสวรรค์ และวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๒ ณ โรงแรมลพบุรี เรสซิเด้นซ์ จังหวัดลพบุรี สำหรับผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานสัมมนาได้ที่ www.otcc.or.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๒๑๙๙ ๕๔๑๑ และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ advocacy@otcc.or.th

 

 

 

 ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๑ วันจันทร์ที่ ๒๖ - วันเสาร์ที่ ๓๑ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

799 1358