22ndDecember

22ndDecember

22ndDecember

 

August 27,2019

ของบขุดลอก‘อ่างห้วยยาง’ เก็บน้ำเพิ่มและท่องเที่ยว ๖๒ ปียังไม่มีการพัฒนา

        เสนอของบขุดลอก “อ่างห้วยยาง” คาดหากมีงบ ๔๐-๕๐ ล้าน สามารถบูรณะได้ทั้งระบบอ่าง เพื่อเพิ่มศักยภาพกักเก็บน้ำให้เพียงพอต่อประชาชน พร้อมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และพักผ่อนของคนโคราช ด้าน ‘นายกฯสมยศ’ เผย รอกรมโยธาธิการฯ จัดสรรงบปรับภูมิทัศน์โดยรอบ ขณะที่ชลประทานฯ ร่วมกับทหารเร่งขุดเปิดทางน้ำไหลเข้า

        เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งจังหวัดนครราชสีมาได้คุกคามหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำในจังหวัดนครราชสีมา ทั้งอ่างขนาดใหญ่ กลางและเล็ก ได้ลดระดับลงอย่างต่อเนื่องบางแห่งแห้งขอดไม่สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้เพื่อการผลิตประปา และเพื่อการเกษตรได้ โดยเฉพาะที่อ่างเก็บน้ำห้วยยาง บ้านยาง หมู่ ๑๑ ตำบลโคกกรวด อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตประปาที่สำคัญ ของเทศบาลตำบลสุรนารี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) รวมถึงท้องถิ่นใกล้เคียงอีกหลายแห่ง ซึ่งน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยยางปีนี้มีปริมาณน้ำน้อยและแห้งอย่างรวดเร็วจนเห็นสันดอนโผล่ เนื่องจากฝนทิ้งช่วงและแดดที่ร้อนจัด

        โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๔.๐๐ น. นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา พร้อมด้วยนายสุคนธ์ เต็มยศยิ่ง หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม และนายวีระศักดิ์ ปลายงาม หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ ๑ ลงพื้นที่ตรวจติดตามงานขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง ร่วมกับกองพันทหารช่างที่ ๒๐๒ กรมทหารช่างที่ ๒ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร ณ ตำบลโคกกรวด อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และเป็นแหล่งน้ำสำรองของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยเร่งรัดการขุดลอกทางน้ำเข้า-ออก และอ่างเก็บน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำและระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ ให้ทันการรับน้ำหากมีฝนตกในช่วงเวลาที่เหลือของฤดูฝนนี้

        นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ให้สัมภาษณ์ “โคราชคนอีสาน” เพิ่มเติมว่า เป็นการลงพื้นที่เพื่อขุดลอกลำน้ำ, ต้นลำน้ำ และจากท้ายลำน้ำขุดไปถึงลำตะคอง บริเวณที่เหลือจะขุดในบริเวณอ่างเก็บน้ำ และนำดินไปบทตัดทำทางสัญจรชั่วคราว และจะปูเป็นทางถาวรอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งใช้งบประมาณ ๒๐ ล้านบาท เป็นงบภัยแล้งที่ขอจากกรมชลประทาน และมอบหมายให้ทหารจากกองพันทหารช่างที่ ๒๐๒ กรมทหารช่างที่ ๒ เข้าไปดำเนินการขุดลอก ในส่วนของด้านความลึกในการขุดไม่สามารถแจ้งชัดเจนได้ เนื่องจากระดับดินที่ขุดบางส่วนมีระดับไม่เท่ากัน อาจเกิดความสับสนได้ แต่การขุดจะขุดให้ก้นอ่างอยู่ในระนาบที่เท่ากัน

         “มีการพูดคุยกันหลายหน่วยงาน และเป็นที่สนใจสำหรับผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ได้มีการพูดคุยกับ ส.ส.วัชรพล โตมรศักดิ์ และ ส.ส.เกษม ศุภรานนท์ ด้วยว่า จะมีการพัฒนาอย่างอย่างไร เพราะน้ำตรงนี้ใช้ประโยชน์หน่วยงานท้องถิ่นทั้ง เทศบาลตำบลโคกกรวด เทศบาลตำบลสุรนารี รวมทั้ง มทส. และโรงพยาบาลต่างๆ ที่จะมีการขยายตัวเพิ่ม เราจึงต้องพยายามหาน้ำให้เข้ามากที่สุด เนื่องจากบริเวณด้านบนมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่พอสมควร จากที่เคยไหลลงมาสะดวก แต่เมื่อมีบ้าน ชุมชนมากขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างน้อยลงกว่าเดิม เราไม่ได้แก้เฉพาะการขุดลอกอย่างเดียว แต่ความสำคัญคือเราต้องนำน้ำจากที่เคยไหลเข้า ให้ไหลเข้ามาได้ตามปกติ ซึ่งมีการขุดเหนือลำน้ำขึ้นไปใกล้บริเวณประตู ทางเข้า มทส. ประมาณ ๔ กิโลเมตร ถ้าได้น้ำมาแล้วเราต้องมองว่า น้ำปริมาณนี้จะเพียงพอหรือไม่ ในช่วงน้ำน้อยเราต้องสูบน้ำจากลำตะคอง มาเก็บไว้ ทั้งนี้ทาง มทส. และทางเทศบาลฯ ก็อยู่ในช่วงขอสูบน้ำ ซึ่งเราจะมีเงื่อนไขให้สูบเฉพาะช่วงที่มีน้ำหลากในลำตะคอง ไม่ให้แย่งน้ำที่ปล่อยจากอ่าง และน้ำที่เราสูบเก็บไว้ในอ่างห้วยยางจะเป็นน้ำที่ใช้สำรองในช่วงฤดูแล้ง ทั้งนี้ในส่วนของอาคารที่มีการขวางทางน้ำ อาจจะต้องมีการปรับปรุงบริหารอาคารเพิ่มเติมต่อไป” นายกิติกุล กล่าว

        ต่อข้อซักถามที่ว่า หากต้องบูรณะทั้งระบบอ่าง ต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ นายกิติกุล เผยว่า ส่วนนี้ยังตอบได้ยาก เนื่องจากหลายอย่างยังไม่ตกผลึก ยกตัวอย่างที่หน่วยงานบางหน่วยต้องการทำให้เป็นที่ท่องเที่ยวด้วย เราต้องมาดูว่าเหมาะสมอย่างไรกับพื้นที่ หรือมีบางหน่วยงานขอทำถนนรอบอ่าง แต่หากทำปัญหาที่เกิดตามมาคือ จะมีหมู่บ้านเกิดขึ้น และเรารับได้หรือไม่ ทั้งเรื่องน้ำเสีย หรือปัญหาอื่นๆ หรือหากทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวต้องดูว่าจุดไหนที่เหมาะสม เป็นท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศน์ หรือเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งหากถามว่าโครงการทั้งหมดใช้งบประมาณเท่าไหร่ เนื่องจากขณะนี้การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นยังไม่ชัดเจน จึงยังไม่สามารถระบุได้

        ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๒ นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส.เขต ๒ จังหวัดนครราชสีมา ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “เมื่อวานนี้ วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๒ ผมวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส. จ.นครราชสีมา เขต ๒ พรรคชาติพัฒนา ได้หารือเรื่องปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนกับท่านประธานสภา ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๕ ปีที่ ๑ ครั้งที่ ๑๘ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ ๑) ณ ห้องจันทรา อาคารรัฐสภา เพื่อขอฝากดำเนินเรื่องประสานไปยังกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งทำแผนและของบประมาณเพื่อบูรณะปรับปรุงขุดลอกอ่างห้วยยาง บ้านหนองขอน หมู่ ๑๑ และบ้านหนองรังกา หมู่ ๑๒ ต.โคกกรวด อ.เมือง จ.นครราชสีมา อย่างเต็มระบบโดยด่วน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการกักเก็บน้ำให้เพียงพอต่อการใช้อุปโภคบริโภคสำหรับพ่อแม่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ ต.โคกกรวด และรวมถึง ต.สุรนารี โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี  สุรนารี ซึ่งกำลังมีโครงการจะเปิดให้บริการอาคารโรงพยาบาลขนาด ๗๐๐ เตียง และจะมีความต้องการในการใช้น้ำในปริมาณมาก”

        “โคราชคนอีสาน” จึงสัมภาษณ์นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ถึงรายละเอียดในเรื่องนี้ ซึ่งได้รับการเปิดเผยว่า อ่างห้วยยางถึงแม้จะอยู่ในช่วงฤดูฝน แต่ก็ยังมีปัญหาในเรื่องของน้ำที่ไม่เพียงพอ เพราะอ่างห้วยยางมีการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๐ ซึ่งผ่านมา ๖๒ ปีมาแล้ว ในขณะนั้นปัญหาเรื่องทางนำยังไม่มีปัญหา เนื่องจากบ้านคนยังไม่เยอะ แต่เมื่อมีบ้านและประชาชนเพิ่มขึ้น มีการถมดิน และบางครั้งทางน้ำเข้าแคบลง ปริมาณน้ำที่จะมาถึงที่นี่ค่อนข้างยาก นอกจากนี้บ้านเมืองเจริญขึ้น เฉพาะพี่น้องในตำบลโคกกรวดก็กว่า ๓๐,๐๐๐ คนแล้ว รวมทั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้แบ่งน้ำส่วนนี้ไปใช้ จึงทำให้ทุกปีพบปัญหาน้ำขาดแคลน และตนได้รับการร้องเรียน พร้อมกับเป็นผู้แทนเขต จึงมีการเสนอเข้าในการประชุมรัฐสภาที่ผ่านมา

        “ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมา รัฐบาล คสช.มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนา ๒๐ ล้าน ซึ่งงบประมาณที่ได้มา นำไปทำทางน้ำเข้า และมีการทำท้ายอ่าง และขุดลอกตัวอ่าง แต่งบที่ได้มาไม่เพียงพอต่อการพัฒนาพื้นที่กว่า ๑,๕๐๐ ไร่ ฉะนั้นเราเห็นว่า พื้นที่ตรงนี้ ควรจะมีการดำเนินการขุดลอกลงไปอีก เนื่องจากหากไปดูพื้นที่ในปัจจุบัน น้ำจะแห้ง และจะเห็นสันดินโผล่เป็นจุดๆ ซึ่งตนคิดว่า น่าจะขุดลงไปได้ลึกกว่านี้ นอกจากนี้ตัวสันเขื่อนเดิมที่รถใช้สัญจรไปมาก็อันตราย เพราะมีการก่อสร้างมานานแล้ว อาจทำให้มีปัญหาได้ จึงคิดว่าน่าจะมีการทำถนนเบี่ยงไปเส้นอื่น พร้อมกับมีการทำขุดลอกลงไป และนอกจากที่เราจะมีน้ำไว้ช่วยเหลือประชาชนแล้ว ยังเป็นแหล่งพักผ่อนท่องเที่ยวด้วย”

        “อ่างห้วยยางกักเก็บน้ำได้เพียง ๖.๕๓ ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ผมมองว่า น่าจะเพิ่มประสิทธิภาพความจุได้ถึง ๑๕ ล้าน ลบ.ม. และเราต้องยอมรับความจริงว่า ปัจจุบันภัยแล้งนั้นวิกฤตมาโดยตลอด เนื่องจากบริเวณนี้เวลาน้ำเยอะเราไม่มีพื้นที่กักเก็บน้ำ และปล่อยให้น้ำไหลไป ดังนั้นปัญหาที่เรื้อรังมานานควรแก้ไข เรามีเงินไปทำมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ หรือโครงการอื่นๆ ได้ ก็ควรจะมาพัฒนาตรงนี้ และผมมองว่า น้ำนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต จึงนำเรื่องนี้เสนอในรัฐสภา และเราอย่าลืมว่า ปลายปีนี้ มทส.จะมีการขยายเป็นโรงพยาบาลขนาด ๗๐๐ เตียง อีกทั้ง มทส.มีความต้องการน้ำวันละ ๓,๕๐๐ ลบ.ม. จึงทำให้ปริมาณน้ำต่างๆ ไม่เพียงพอ ถึงแม้ผมจะอภิปรายให้การประปาภูมิภาค (กปภ.) มีการซัพพอร์ตน้ำเข้าไปช่วยเหลือ แต่ก็ต้องรองบประมาณ แต่หากเราทำควบขนานกันไป และเมื่อน้ำมีมากขึ้น เราก็ไม่ต้องวิตก และพี่น้องประชาชนในละแวกนั้นจะได้ไม่เดือดร้อน เนื่องจากทุกวันนี้ ประชาชนตำบลสุรนารี แถวบ้านหนองบง หมู่ที่ ๕ หรือแม้กระทั่งบริเวณรอบๆ ตำบลโคกกรวด ต้องเสียเงินเพื่อซื้อน้ำ คันละ ๗๐๐-๘๐๐ บาท ซึ่งถือเป็นความเดือดร้อนของประชาชนอย่างมาก” นายวัชรพล กล่าว

        ต่อข้อซักถามในเรื่องการพัฒนาอ่างห้วยยางเป็นแหล่งท่องเที่ยว นายวัชรพล กล่าวว่า พื้นที่อ่างห้วยยางสามารถจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ และเห็นได้จากที่ผ่านมาทางเทศบาลตำบลสรุนารี โดยนายสมยศ รัตนปริยานุช นายกเทศมนตรีตำบลสุรนารี ร่วมกับพลโทสนธยา ศรีเจริญ แม่ทัพน้อยที่ ๒ (ขณะนั้น) มีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นแหล่งพักผ่อน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สำคัญที่สุด พี่น้องประชาชนจะได้นำสินค้าที่มีอยู่เข้าไปค้าขาย ทำให้เกิดรายได้ และยังได้ข่าวมาว่า ขณะนี้ทางกรมโยธาธิการฯ จะจัดสรรงบเพื่อจะปรับปรุงภูมิทัศน์รอบบริเวณอ่างเก็บน้ำ ซึ่งถ้าเราดำเนินการตรงนี้ ควบคู่กัน และเรามีน้ำโดยตลอด ตนมองว่าจะเป็นจุดขายของคนโคราช และเป็นจุดพักผ่อน ซึ่งจะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่เป็นประโยชน์สูงสุด

        นายวัชรพล กล่าวอีกว่า “ผมพยายามที่จะนำปัญหาตรงนี้มาพูดในสภา เพราะเป็นช่องทางเดียวที่เราทำได้ และเมื่อประธานสภาทราบเรื่อง ก็จะให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้โครงการชลประทานนครราชสีมาได้มาดำเนินการ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการสอบถามไปทางชลประทานว่าเ ห็นด้วยหรือไม่ก่อนที่ผมจะนำไปอภิปราย ทางกรมชลประทานก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง และขอให้เราได้ช่วยอีกแรง เพราะต้องยอมรับว่า งบประมาณมีเพียงก้อนหนึ่ง และต้องถูกจัดสรรไปทุกจังหวัด แต่พื้นที่ตรงนี้ ๖๐ กว่าปีแล้วที่ไม่มีการพัฒนา และทุกๆ ปีเวลาที่ขับรถผ่านผมก็ตกใจว่า ทำไมน้ำไม่มี แล้วจะสร้างอ่างมาทำไม ผมจะนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับ ส.ส.โคราชทั้ง ๑๔ คน และรัฐมนตรีคนโคราช ๓ ท่าน  นี่จะไม่ใช่ประโยชน์เฉพาะคนโคราช แต่จะเป็นประโยชน์ของคนไทยด้วย และเชื่อมั่นว่า หากมีงบประมาณสัก ๔๐-๕๐ ล้าน ก็สามารถที่จะบูรณะได้ทั้งระบบอ่าง” 

        “งบประมาณตัวใหม่กำลังจะเข้าในเดือนตุลาคม ผมไม่ทราบว่าเราจะเสนอเพิ่มแผนไปได้หรือไม่ หากไม่ติดขัดในการเสนอแผนไปก่อน ผมก็เชื่อมั่นว่าปี ๒๕๖๓ ก็สามารถดำเนินการได้ แต่หากติดขัดในเรื่องแผนปี ๒๕๖๓ ไม่ทัน ก็เห็นว่าควรจะมีแผนนำไปบรรจุไว้ก่อน เผื่ออย่างน้อยรัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วน และมีงบเพิ่มเติมเข้ามา และนี่จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และเกิดประโยชน์ในอนาคต” นายวัชรพล กล่าว

        นอกจากนี้ “โคราชคนอีสาน” ยังสัมภาษณ์นายสมยศ รัตนปริยานุช นายกเทศมนตรีตำบลสุรนารี ในประเด็นนี้ โดยเปิดเผยว่า “ต้องขอบคุณ ส.ส.วัชรพล โตมรศักดิ์ ที่เสนอเรื่องการพัฒนาขุดลอกอ่างห้วยยางเข้าที่ประชุมรัฐสภา ทั้งนี้ ได้มีการเสนอของบประมาณไปยังทางกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ จะใช้เวลานานเท่าไหร่ไม่สามารถแจ้งได้ เนื่องจากกรมโยธาธิการฯ เป็นเจ้าของงบประมาณ แต่เบื้องต้นทางกรมโยธาธิการฯ มีการลงพื้นที่ และมีการเสนอแผนเข้าสู่กรมโยธาธิการและผังเมืองแล้ว แต่จะจัดสรรอย่างไร คง        ต้องรอ”

        “เนื่องจากอ่างห้วยยางเป็นพื้นที่ของทางกรมชลประทาน ปัจจุบันเทศบาลตำบลสุรนารีดูแลในส่วนของเรื่องภูมิทัศน์ และการสัญจร หากได้งบประมาณก็จะดำเนินการขุดลอกอ่าง และพัฒนาพื้นที่รอบอ่างให้เป็นถนนพื้นที่สัญจรสำหรับประชาชน ในเรื่องการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวจะอยู่ที่งบประมาณอีกตัวหนึ่ง แต่อย่างไรแล้วเบื้องต้น อยากให้มีงบประมาณเพื่อการขุดลอกอ่าง และปรับภูมิทัศน์พื้นที่รอบอ่างให้มีการสัญจรบริเวณรอบอ่างได้ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก ส่วนการจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างไร ก็จะมาพูดกันอีกครั้ง” นายสมยศ กล่าว

        อนึ่ง เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๑ พลโทสนธยา ศรีเจริญ แม่ทัพน้อยที่ ๒ (ขณะนั้น) โดยกองทัพภาคที่ ๒ และเทศบาลตำบลสุรนารี ใช้งบประมาณที่นำมาจากส่วนกลางกว่า ๓๐ ล้านบาท พร้อมนำเจ้าหน้าที่ทหาร ประชาชนจิตอาสา และหน่วยงานราชการ ลงพื้นที่ปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ่างห้วยยาง ภายใต้แนวคิด “บางแสนเมืองโคราช” โดยปรับภูมิทัศน์ให้เหมือนทะเลน้ำจืดขนาดใหญ่ พื้นที่ริมอ่างมีหาดทรายขนาดใหญ่ มีต้นไม้ร่มรื่น มีจุดสำหรับเล่นน้ำ นั่งพักผ่อน และร้านอาหาร โดยการซื้อทรายมาถม เพื่อให้เกิดเป็นชายหาด จึงมีประชาชนให้การตอบรับเป็นอย่างดีในช่วงเทศกาล และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แต่ปัจจุบันทรายถูกซัดหายไปหมด

 

 ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๑ วันจันทร์ที่ ๒๖ - วันเสาร์ที่ ๓๑ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


935 1,644