28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

September 04,2019

อุดรฯเตรียมปลูกกัญชา ๔ อำเภอเพื่อการแพทย์

“อุดรธานี” ขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ ล่าสุด “หมอแหยง” ลงพื้นที่รพ.สต.เชียงพิณ พื้นที่ขอปลูกกัญชา ๑ ใน ๕ แหล่งใน ๔ อำเภอ เผยอยากให้เป็นสายพันธุ์ของไทย เนื่องจากมีหลายแห่งพันธุ์ดี แต่ต่างประเทศราคาแพง

 

ตามที่เมื่อเวลา ๑๑.๐๐ น.วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๒ ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงพิณ อ.เมือง จ.อุดรธานี นพ.สำเริง แหยงกระโทก (หมอแหยง) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สวัสดิ์ อภิวัจนีวงศ์ สาธารณสุขนิเทศเขตสุขภาพที่ ๘ นพ.ปรเมศร์ กิ่งโก้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี นพ.อิสระ เจียวิริยะบุญญา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี นพ.วิเชียร รุ่งนิติธรรม รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลอุดรธานี รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตสกลนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ตัวแทนจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอำเภอเมือง อำเภอบ้านดุง อำเภอหนองวัวซอ อำเภอกุมภวาปี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการใช้กัญชาทางการแพทย์จังหวัดอุดรธานี อาทิ ข้อกำหนดด้านการจัดเตรียมสถานที่ การเก็บรักษาและควบคุมการใช้สำหรับผู้ขออนุญาตปลูก

โดยขณะนี้ จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ที่แจ้งความจำนงขอปลูกกัญชาในพื้นที่ ๔ อำเภอ จำนวน ๕ แหล่งปลูก ได้แก่ ๑.เขตอำเภอเมือง สถานที่คือ  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงพิณ ๒.อำเภอหนองวัวซอ สถานที่ปลูกมี ๒ แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลหนองวัวซอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแซง ๓.อำเภอบ้านดุง สถานที่ปลูกคือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชบ้านดุง ๔.ตำบลห้วยเกิ้ง อำเภอกุมภวาปี สถานที่ปลูกคือ โรงพยาบาลห้วยเกิ้ง ทั้งนี้อยู่ในระหว่าง ดำเนินการขออนุญาตเพื่อปลูกกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

นพ.สำเริง แหยงกระโทก เปิดเผยว่า กัญชาที่ปลูกจะเป็นสายพันธุ์กระรอก จริงๆ อยากให้เป็นสายพันธุ์ของไทย อะไรก็ได้ เพราะมหาวิทยาลัยสามารถปรับสายพันธุ์หรือผสมสายพันธุ์ได้ เพราะฉะนั้นขอให้ปลูกครั้งแรกก่อน แต่ขอให้เป็นของคนไทยเท่านั้นเอง ซึ่งของจังหวัดอุดรธานีขณะนี้ยังไม่มีปลูก แต่ที่จังหวัดสกลนครมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร ปลูกและผลิตกัญชาสด ให้โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้นอาจาโร ตอนนี้ประมาณ ๔,๐๐๐ ต้น เนื่องจากเห็นว่า อุดรธานีและสกลนครอยู่ใกล้กัน น่าจะขยายสู่ระดับอำเภอ หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพราะเข้าเกณฑ์กับกฎหมายเก่าว่าจะปลูกได้นั้น หน่วยมหาวิทยาลัยหรือโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วย  ร่วมมือกับวิสาหกิจ สามารถปลูกได้ เพราะจึงมีความคิดริเริ่มที่อุดรธานี ที่ห้วยเกิ้ง กับรพ.สต.อีก ๓ แห่ง และที่ รพ.สต.เชียงพิณแห่งนี้ก็เป็นอีกแห่งที่จะปลูก 

“ปกติการปลูกประมาณ ๓-๔ เดือนก็จะสามารถเอาใบ ดอก หรือต้น ไปสกัดทำยาได้ การสกัดมีหลายแห่งก็ส่งไปที่แพทย์แผนไทยได้ กระทรวงสาธารณสุข อย.ก็ได้ อภัยภูเบศร์ก็ได้  หรือแม้แต่อุดรเองก็ที่โรงพยาบาลห้วยเกิ้ง ที่สามารถแปรรูปได้ในการใช้ยา และการขออนุญาตนั้นจึงเป็นสิ่งที่ยากมาก บางแห่งขอมา ๒ ปี จึงมีการออกระเบียบที่รัดกุม เช่นการปลูกนั้นจะต้องมีรั้ว ๒ ชั้น ป้องกันอันตรายที่คนจะเข้าไป และคนที่จะเข้าไปจะต้องจดชื่อ หรือมีกล้องส่องจับดูตลอดเวลา และจะมียามเฝ้าด้วยซ้ำไป เพื่อไม่ให้ที่จะเอากัญชาออกไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ให้ใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้เท่านั้นเอง บางประเทศของติดจีพีเอสหมายเลขประจำต้นไว้เลย ไม่สามารถเอาไปไหนได้ เพราะฉะนั้นการควบคุมจะต้องรัดกุม เข้มงวด ในการที่จะให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” 

นพ.สำเริง แหยงกระโทก กล่าวท้ายสุดว่า สำหรับเมล็ดพันธุ์ก่อนหน้านี้ที่องค์การเภสัชกรรมนำมาปลูกจากต่างประเทศ แพงมาก ทั้งๆ ที่ในไทย ที่ภูพานหรือที่ปากช่อง ดงพญาเย็น เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดี เพราะฉะนั้นการเอามามีหลายรูปแบบในขณะนี้ เดิมเราจดทะเบียนใครมีครอบครองไม่ผิดกฎหมาย หรือการขอจาก ปปส. ซึ่งมีเมล็ดพันธุ์อยู่ สามารถบริจาคเพื่อทางการแพทย์ได้ หรือหลังจากที่เราได้ปลูกในระยะหนึ่ง เราสามารถมีเมล็ดพันธุ์ ของเราเองตามต้นตอที่ปลูก รายงาน อย.ไปว่า เราจะเอามาใช้ประโยชน์ต่อไปก็สามารถหาเมล็ดพันธุ์ได้

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๒ วันพุธที่ ๔ - วันอังคารที่ ๑๐ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


787 1444