18thSeptember

18thSeptember

18thSeptember

 

September 11,2019

‘สุรวุฒิ’ย่องกล่อมเถ้าแก่ ต้องทุบ ๒ สะพานทิ้ง อ้างช่วยฟื้นเศรษฐกิจ

“สุรวุฒิ” เข้าพบกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนโคราช ชี้แจงข้อดีทุบสะพานสีมาธานี-สะพานหัวทะเล อ้างหากทุบจะทำให้พัฒนาโคราชได้ในอนาคต ที่ประชุมเห็นด้วย เตรียมหนุนเสนอผู้ว่าฯ ตัดสินใจ ด้าน “อนันต์ บูรณะบัญญัติ” ลั่นไม่ต้องการโคราชเมืองอกแตก ฟันธงคนไทยเชื้อสายจีนต้องการให้ทุบทิ้งทั้ง ๒ สะพาน

ตามที่ รัฐบาลได้อนุมัติให้มีการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง ๑๓๕ กิโลเมตร รวมทั้งสิ้น ๓ สัญญา ในสัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทาง ถนนจิระ (โคราช) ระยะทาง ๖๙ กิโลเมตร โดยเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๐ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมา ครม.สัญจรที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งในขณะนั้นนายกรัฐมนตรีได้มีมติให้ยกระดับรถไฟทางคู่ผ่านเมืองนครราชสีมา เป็นระยะทาง ๕.๑ กิโลเมตร ส่งผลให้ต้องทุบสะพานสีมาธานีออก

ต่อมา โครงการรถไฟความเร็วสูง ได้ปรับแบบการก่อสร้างสถานีรถไฟนครราชสีมา ซึ่งขยับออกทางด้านสถานีรถไฟชุมทางจิระ ๑๖๐ เมตร ทำให้บริษัทที่ปรึกษารถไฟทางคู่ปรับรูปแบบการก่อสร้างรถไฟทางคู่ให้ยกระดับผ่านเมืองนครราชสีมา โดยไม่จำเป็นต้องทุบสะพานสีมาธานี เนื่องจากรถไฟทางคู่สามารถลอดใต้สะพานสีมาธานี แล้วค่อยไต่ระดับขึ้นไปยังสถานีได้ ส่งผลให้เกิดการคัดค้านจากประชาชนส่วนหนึ่ง ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่อยมา

จากนั้นเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๒ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางมาตรวจเยี่ยมโครงการถนนมอเตอร์เวย์ พร้อมกับสั่งการให้ นายวิเชียร จันทร โณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เร่งสรุปว่า “คนโคราชต้องการให้ทุบหรือไม่ทุบสะพานสีมาธานี” โดยในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๒ จังหวัดนครราชสีมา ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาเสนอแนะรูปแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรในจังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ เพื่อหาข้อสรุปในกรณีดังกล่าว ซึ่งในขณะนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอรูปแบบการทุบสะพานสีมาธานีออกแล้วเปลี่ยนเป็นทางลอด เพื่อให้เป็นไปตามที่มีผู้คัดค้านก่อนหน้านี้ แต่ในที่ประชุมมีมติว่า จะต้องมีการประชุมกลุ่มย่อยอีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปว่า จะทุบหรือไม่ทุบสะพานสีมาธานี โดยมีการนัดประชุมกลุ่มย่อยในวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๒ แต่มีเหตุจำเป็นทำให้ต้องมีการเลื่อนการประชุมออกไปอย่างไม่มีกำหนด กระทั่งปัจจุบันยังไม่มีการประชุมเกิดขึ้น

วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ ห้องประชุมมูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง (สว่างเมตตาธรรมสถาน) ถนนโยธา เขตเทศบาลนครนครราชสีมา นายอนันต์ บูรณะบัญญัติ ประธานมูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ้ง เป็นประธานประชุมงานเทศกาลถือศีลกินเจ ประจำปี ๒๕๖๒ โดยมีสมาคม องค์กร ตระกูลแซ่คนไทยเชื้อสายจีน เข้าร่วมกว่า ๒๐ คน พร้อมกันนี้ นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ซึ่งเข้าร่วมประชุมอยู่ด้วย ยังถือโอกาสเปิดเวทีชี้แจงปัญหารถไฟทางคู่ช่วงผ่านเมืองนครราชสีมา โดยชี้แจงว่า หากทุบสะพานสีมาธานีและสะพานหัวทะเลแล้ว จะส่งผลดีอย่างไร ซึ่งในที่ประชุมต่างเห็นด้วยกับนายสุรวุฒิ เชิดชัย และสนับสนุนให้ทุบสะพานสีมาธานีและสะพานหัวทะเลเท่านั้น

นายรังสรรค์ อินทรชาธร รองประธานมูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง และที่ปรึกษานายกเทศมนตรีฯ กล่าวว่า “ผมไปคุยกับใครที่ไหน เขาก็บอกว่า คนโคราชทำไมคุยไม่จบสักที เรื่องทุบ-ไม่ทุบสะพานสีมาธานี เขาถามว่า ทำไมคนโคราชไม่ฟันธงสักที ซึ่งในวันนี้กลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนได้มารวมตัวกัน เป็นกลุ่มคนที่คอยดูแลเศรษฐกิจโคราช ถ้ามีปัญหาขึ้นมา ผลของเศรษฐกิจก็จะกระทบพวกเราโดยตรง ถึงเราจะไม่มีที่ดินติดกับทางรถไฟ แต่ก็ต้องได้รับผลกระทบ อย่างทางรถไฟตรงบริเวณตำบลหัวทะเล ตอนที่พวกเรายังหนุ่มๆ แถวนั้นคนเยอะมาก ตึกแถวบริเวณนั้นราคาสูง แต่ปัจจุบันแถวนั้นเงียบสนิท”

นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวชี้แจงว่า “จากที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าไปที่กระทรวงคมนาคม ได้พูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการฯ และปลัดกระทรวงอยู่หลายครั้ง เมื่อครั้งที่ผมเริ่มนำเสนอเรื่องนี้ใหม่ๆ ได้สอบถามคนบัวใหญ่ว่า รถไฟทางคู่ไม่ยกระดับมีผลกระทบหรือไม่ เขาก็ตอบว่า ไม่มีปัญหา ไม่ยกก็ไม่เดือดร้อน เพราะเขาเชื่อมั่นว่า รัฐบาลได้ออกแบบมาดีแล้ว และที่เขาคิดแบบนั้นก็เพราะว่าเขาไม่ได้ไปร่วมฟังข้อมูล แต่ขณะนี้การรถไฟสร้างตรงอำเภอบัวใหญ่เสร็จแล้ว เขาก็กลับมาถามผมว่า จะมีวิธีแก้ไหม เรื่องปัญหาทางลอดทางรถไฟ ผมเชื่อว่าการรถไฟฯ ไม่มีประสบการณ์ในการออกแบบ ซึ่งผมก็ได้ทำโมเดลทางลอดไปนำเสนอ หากเขาขยายทางลอดให้กว้างและยาวเพียงพอ มีการป้องกันน้ำท่วมที่ดี คงเพียงพอที่จะอยู่ในต่างอำเภอแล้ว และการทำเกือกม้า รถยนต์ ๕ หมื่นคันที่จะต้องใช้เกือกม้า ถ้าลองคำนวณระยะทางที่เพิ่มขึ้นต่อวันคือ ๔๘,๐๐๐ กิโลเมตรต่อวัน นี่เป็นสิ่งที่ผมได้นำเสนอต่อรัฐบาล เมื่อเขาได้รับฟัง จึงเป็นที่มาที่ไปว่า ทำไมรถไฟทางคู่ถึงต้องยกระดับผ่านตัวเมืองโคราช แต่เมื่อมีการพูดกันรอบที่ ๒ ปรากฏว่า ไม่ต้องยกระดับแล้ว แต่ขอลอดใต้สะพานสีมาธานีแทน”

สะพานสีมาธานีไม่มีประโยชน์

“หากในวันที่มีการสร้างสะพานสีมาธานี และผมอยู่ในตำแหน่งนายกเทศมนตรี ผมคงไม่ให้สร้าง ตั้งแต่เด็กจนโตผมไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมคนแถวมุขมนตรีต้องถูกทำร้าย ทุกวันนี้ถ้าออกมาจากวัดกองพระทราย แล้วจะไปวัดใหม่อัมพวัน ก็จะต้องไปกลับรถที่หน้าโลตัส จะต้องใช้ระยะทางกี่กิโลเมตร ผมไม่มีเจตนาอะไรเลย ถือว่าวันนี้เราโชคดีแล้ว ที่รถไฟทางคู่จะยกระดับ และมีโอกาสทำอุโมงค์ หากยกระดับได้แยกนี้ก็จะไม่ต้องไปอ้อมไกล ถนนก็จะเป็นรูปแบบตรงไปตรงมา หากไม่ทุบเราก็ต้องไปกลับรถเช่นเดิม แล้วถ้าวันไหนเดอะมอลล์มีงาน เราจะต้องรถติดกี่ชั่วโมง และเมื่อวันที่รัฐมนตรีคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ มาโคราช ถามว่า หากทุบแล้วจะเป็นอย่างไร ซึ่งอธิบดีกรมทางหลวงบอกว่า ถ้าทุบแล้วรถจะติด ผมก็บอกว่า ถ้าทุบแล้วเราก็ยังมีถนนเส้นอื่นให้สัญจร และเมื่อไม่มีรางรถไฟบนพื้น ถนนสืบสิริก็จะสามารถขยายเป็น ๖ เลนได้ ท่านรัฐมนตรีจึงบอกว่า เข้าใจแล้ว อย่างนั้นให้ไปคุยกันในจังหวัดว่าจะเอาอย่างไร”

ทุบสะพานหัวทะเลด้วย

“ส่วนสะพานหัวทะเล หากทุบออกเราก็จะไม่ต้องไปกลับรถไกลเช่นกัน และยังสามารถทำถนนเพื่อเลี้ยวไปจักราชได้ หากทำได้ทิศเหนือและทิศใต้ของเมืองก็จะเชื่อมกัน และหลายคนเชื่อว่า ที่น้ำท่วมก็เพราะเราแบ่งเหนือ-ใต้ หากยกระดับทางรถไฟเส้นนี้ ก็จะทำหน้าที่คือ ๑.ทำให้เมืองโคราชกลับมามีเศรษฐกิจดี ๒.ทำให้เทศบาลในอนาคตสามารถขยายถนนได้ทุกเส้น ๓.ถ้าคิดว่าถนนเส้นไหนมีประโยชน์ก็สามารถข้ามใต้ทางรถไฟได้เลย เช่นถนนหลังวัดหนองบัวรอง ที่ทุกวันนี้ผ่านได้แค่จักรยานยนต์ ที่ผมต้องการพูดในเวทีแห่งนี้ก็เพราะว่า ทุกท่านเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในเมือง มองเศรษฐกิจโคราชออก ผมยืนยันว่า การที่เราไปต่อสู้จากความเป็นไปไม่ได้เลยของรถไฟทางคู่ยกระดับ กระทั่งวันนี้เราสามารถดำเนินการได้ อย่างที่หลายคนเขาพูดว่า ทำไมขอนแก่นเขายอมตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งที่ขอนแก่นทางรถไฟสั้นกว่า ไม่มีศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่ในเมือง และเขาไม่เข้าใจว่าเราเข้าใจว่าเขาทำอะไร ทุกสิ่งที่ผมพูด ที่ผมนำเสนอ ผมได้ทำโมเดลออกมาทุกมิติ” นายกเทศมนตรีนครราชสีมา กล่าว

เมื่อนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครราชสีมา ชี้แจงรายละเอียดเสร็จ ในที่ประชุมได้มีการพูดคุยกัน โดยท้ายที่สุดแล้วตกลงว่า ตัวแทนคนไทยเชื้อสายจีนแต่ละองค์กร รวมไปถึงตระกูลแซ่ต่างๆ จะทำหนังสือสนับสนุนการทุบสะพานสีมาธานีให้แก่นายสุรวุฒิ เชิดชัย เพื่อใช้นำเสนอต่อนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ว่า มีผู้เห็นด้วยกับการทุบสะพานสีมาธานีและสะพานหัวทะเล

นายอนันต์ บูรณะบัญญัติ ประธานมูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ้ง กล่าวว่า “ในเรื่องของการทุบ-ไม่ทุบ พวกเราจะต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน และต้องทุบเท่านั้น จะมาถามว่าทุบหรือไม่ทุบไม่ได้ ผมขอฟันธงเลยว่า ต้องทุบ เราไม่อยากจะเป็นเมืองอกแตก หากเราทุบ การไปมาหาสู่และความเจริญของเมืองจะได้ไม่มีอะไรมาปิดกั้น ความเจริญที่ถูกหยิบยื่นมาแล้ว แต่ทำไมการรถไฟถึงเอาปัญหาใหญ่มาให้คนโคราช ปัญหาตรงนี้ถ้าทำไปแล้ว ลูกหลานเราจะเป็นคนรับกรรม ดังนั้นผมบอกได้เลยว่า ต้องทุบ”

จากนั้น นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า “วันนี้ได้ชี้แจงข้อมูลเรื่องรถไฟทางคู่ยกระดับ ในกรณีทุบสะพานสีมาธานีและสะพานหัวทะเล ซึ่งเป็นกังวลว่า จะมีการดำเนินการไม่ทุบสะพานหัวทะเล เพราะจะทำแบบให้ลอดใต้สะพานแล้วมายกระดับตรงบริเวณโรงแรมปัญจดารา จึงได้มาพูดคุยว่า ๑.หากทุบสะพานสีมาธานีและสะพานหัวทะเล แล้วยกระดับตลอดเส้นทางผ่านเมือง จะทำให้เชื่อมเมืองทิศเหนือ-ใต้ได้ ๒.จะสามารถขยายถนนในเขตเมืองได้ ๓.ทำให้วางระบบระบายน้ำได้ดีขึ้น และเมื่อทราบข้อมูลแบบก่อสร้างที่ชัดเจน จะช่วยให้สามารถออกแบบผังเมือง มีถนนโครงข่ายเชื่อมต่อกันในลักษณะเส้นทางลัด ลดระยะเวลาเดินทางรองรับสภาพจราจรที่คับคั่ง รองรับปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการบริหารจัดการระหว่างรื้อถอนสะพานสีมาธานี ได้จัดการจราจรใช้เส้นทางถนนสืบสิริ โดยเตรียมเพิ่มช่องทางจราจรจากเดิม ๔ เลน เป็น ๖ เลน ส่วนการเดินทางจากกรุงเทพฯ ก็ยังมีถนนอีกหลายสายให้เลือกใช้เช่นกัน”

นายรังสรรค์ อินทรชาธร รองประธานมูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง ให้สัมภาษณ์ว่า “ในวันนี้ที่นายกเทศมนตรีฯ มาพูดคุยเรื่องทุบ-ไม่ทุบสะพานสีมาธานี ซึ่งก็พอทราบว่า ปัญหาเกิดขึ้นอย่างไร และมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร สมาคมต่างๆ มีความพอใจและมีความเห็นว่า ต้องทุบสะพานสีมาธานีและสะพานหัวทะเลเท่านั้น”

เศรษฐกิจซบเซาเพราะสะพาน

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่บริเวณอาคารพาณิชย์ใต้สะพานหัวทะเล เขตเทศบาลนครนครราชสีมา นายสุวกฤต รังสิโรจน์ พร้อมพวกได้จับกลุ่มพูดคุย เพื่อหารือการเคลื่อนไหวและรวบรวมรายชื่อเสนอต่อจังหวัดนครราชสีมา กรณีได้รับผลกระทบจากสะพานหัวทะเล จากนั้นได้นำป้าย ซึ่งมีข้อความ “พวกเราเดือดร้อนมานานแล้ว” “ทุบสะพานอย่างเดียว ฟื้นคืนเศรษฐกิจ” ไปติดตั้งรอบสะพานดังกล่าว

นายสุวกฤต รังสิโรจน์ เปิดเผยว่า ปัญหาสะพานหัวทะเลได้บดบังภูมิทัศน์เรื้อรังนานกว่า ๓๐ ปี ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเดินทางเข้าเมือง หากรื้อถอนสะพานออกไปได้จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในละแวกนี้ให้กลับมาคึกคักอย่างแน่นอน 

นายเจษฎา พรพิมานแมน เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด (ห.จ.ก.) ธนาสติกเกอร์ กล่าวว่า เดิมบริเวณนี้เคยมีความเจริญรุ่งเรือง หลังสะพานเปิดใช้งานต้องประสบปัญหาทุกมิติ ส่งผลให้การค้าขาย ธุรกิจต่างๆ ทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง พวกเราต้องการให้ถนนราชสีมา-โชคชัย ช่วงหลักกิโลเมตรที่ ๑ เป็นถนนระดับพื้นราบเหมือนเดิม และรื้อถอนสะพานออกไป เพื่อยกระดับรถไฟทางคู่

นายเกษม ตังอนุสรณ์สุข เจ้าของโรงแรมเฮอร์มิเทจโคราช กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กิจการโรงแรมที่พักคึกคักมาก แต่อยู่ได้เพียง ๒ ปี มีการสร้างสะพานกีดขวางทางเข้าออกส่งผลให้การเดินทางไม่สะดวก การจัดกิจกรรมมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ดังนั้น เพื่อความเจริญเติบโตของเมืองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตนขอสนับสนุนให้รื้อถอนสะพาน หัวทะเลออกไป

เตรียมประชุมครั้งสุดท้าย

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ตนจะเชิญกลุ่มที่เห็นต่างมาร่วมประชุมย่อย โดยมีวิศวกรการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.) ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทเอกชนและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ส.ส.ในพื้นที่มาเป็นคนกลาง โดยเป็นการชี้แจงข้อมูลความเหมาะสมด้านกายภาพ การใช้ประโยชน์ของพื้นที่สอดคล้องความต้องการของทุกภาคส่วน ปัญหาอุปสรรคในการก่อสร้างและความเป็นไปได้ในเชิงวิศวกรรม เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกมิติ รวมทั้งเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น เสนอแนะ และซักถามข้อสงสัย หากได้ข้อสรุปเป็นทางเดียวกัน ก็จะจัดประชุมใหญ่เชิญทุกภาคส่วนมารับฟังการชี้แจงข้อมูลผลการศึกษา คาดจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๓ วันพุธที่ ๑๑ - วันอังคารที่ ๑๗ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


887 1,567