29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

September 25,2019

สีคิ้วจี้เอาผิดโรงไฟฟ้าชีวมวล ปล่อยควันพิษทำปชช.ป่วย นายทุนโอดเสียหายพันล้าน

        จี้เอาผิดโรงไฟฟ้าชีวมวล ประชุมหาทางออกร่วมกัน ผู้ประกอบการรับปล่อยควันจริง อ้างทุกกระบวนผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ย้ำทำถูกต้องตามกฎหมาย ด้านประชาชนเดือด ชี้ผ่านเกณฑ์ก็อันตราย หลังพบชาวบ้านเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้น ด้าน “วิเชียร” ปิดการประชุม พร้อมสั่ง กอ.รมน.ตรวจสอบด่วน หวังให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

 

        ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เสนอข่าว กรณีที่บริษัท ยูนิพาวเวอร์เทค จำกัด ลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล มูลค่าโรงงาน ๖๐๐ เมื่อปี ๒๕๕๙ บนที่ดินกรรมสิทธิ์ประมาณ ๒๐๐ ไร่ มูลค่า ๔๐๐ ล้านบาท กำลังการผลิตขนาด ๙.๙ เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองรี หมู่ ๓ กิโลเมตร ที่ ๒ อยู่ในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลสีคิ้ว (อบต.สีคิ้ว) อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตลาดสดและแหล่งชุมชนประมาณ ๒ กิโลเมตร ซึ่งกลุ่มชาวสีคิ้วคัดค้านไม่เอาโรงไฟฟ้า นำโดยนางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล หรือทนายอ๋อย ได้คัดค้านการก่อสร้างมาตลอดนั้น ศาลปกครองนครราชสีมา มีคำพิพากษาเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๖๐ ให้เพิกถอนใบอนุญาตทั้ง ๒ ฉบับ ที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างจาก อบต.สีคิ้ว และใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้เหตุผลว่า ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไม่ให้ข้อมูลที่ครบถ้วน และไม่มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นกับประชาชน จากนั้นจำเลยยื่นอุทธรณ์กับศาลปกครองสูงสุด และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ผู้ประกอบการสามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่อไป

        ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. นางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล พร้อมด้วย นายไพรัตน์ แซ่อือ และประชาชนกลุ่มเรารักษ์สีคิ้ว เดินทางมายื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมที่ศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมา (คดีที่ ๒ ฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าชีวมวล ตำบลสีคิ้ว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา จากนั้นได้เดินทางต่อไปที่สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดนครราชสีมา เพื่อยื่นเอกสารติดตามผลการร้องทุกข์กล่าวโทษในกรณีดังกล่าว

ประชุมเดือดนาน ๓ ชม.

        ต่อมา ในเวลา ๑๓.๓๐ น. ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประจำเขต ๖ นครราชสีมา รวมทั้งตัวแทนสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ตัวแทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และพ.อ.ปรีชา พะยอมใหม่ เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (กอ.รมน.) ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้ากรณีการดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวล ของ บริษัท ยูนิพาวเวอร์เทค จำกัด ใช้เศษไม้ เปลือกไม้ และรากมันสำปะหลัง รวมทั้งวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าขนาดกำลัง ๙.๙ เมกะวัตต์ ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยมีนายจำนง ชมพูพล ที่ปรึกษา พร้อมด้วยกลุ่มตัวแทนฝ่ายกฎหมายและสิ่งแวดล้อม บริษัท ยูนิพาวเวอร์เทค จำกัด เข้าร่วมรับฟังและชี้แจง กรณีที่นางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล, นายไพรัตน์ แซ่อือ และประชาชนกลุ่มเรารักษ์สีคิ้ว ยื่นหนังสือร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา ระบุการออกใบอนุญาตให้โรงไฟฟ้า ดำเนินกิจการไม่ชอบด้วยกฎหมายและส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาวะอนามัยของชาวบ้านที่มีที่ทำกินและบ้านพักอาศัยในละแวกที่ตั้งโรงไฟฟ้า รัศมี ๑-๒ กิโลเมตร การประชุมครั้งนี้ใช้เวลากว่า ๓ ชั่วโมง บรรยากาศค่อนข้างเคร่งเครียด ซึ่งฝ่ายตัวแทนบริษัท ยูนิพาวเวอร์เทค จำกัด และฝ่ายประชาชน ได้อ้างข้อมูลที่ตรงข้ามกัน

ฟ้องโรงไฟฟ้าชีวมวล

        นางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล แกนนำกลุ่มเรารักษ์สีคิ้ว กล่าวชี้แจงว่า “เรายื่นฟ้องไปวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๒ ได้เอกสารอีกครั้งหนึ่งช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ถามว่าระหว่างนั้นเราทำอะไร เราอยู่ไม่ได้ เราได้ข้อมูลมาว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานออกใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าให้กับบริษัทฯ เมื่อประมาณกลางเดือนเมษายน ๒๕๖๑ ซึ่งเราทราบเมื่อช่วง ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เมื่อรู้แล้วก็ต้องฟ้องคดีภายใน ๙๐ วัน ซึ่งได้ฟ้องไปเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ในประเด็นที่ บริษัทฯ ยื่นขอใบอนุญาต เมื่อได้แล้วก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (CoP) และทางเราทราบว่า บริษัทไม่ได้จัดทำ CoP เพราะเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ในหน้าสุดท้ายของคำให้การ มีการสอบถามว่า ในวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ยังไม่ได้จัดทำ CoP เพราะถูกยื่นฟ้องก่อน จึงมีการสั่งระงับการดำเนินการทั้งหมด โดยคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้บริษัททำอะไร จึงยังไม่ได้ทำ CoP และหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุด กลับคำสั่งของศาลปกครองนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๑ ให้ใบอนุญาตดำเนินการต่อได้จนกว่าศาลจะมีคำสั่งพิพากษาใหม่ ในขณะนั้นวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐ บริษัทก็ยังไม่จัดทำ CoP แล้วในช่วงปี ๒๕๖๑ หลังจากฟังคำพิพากษา หลังวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๐ ไม่นานโรงไฟฟ้าก็ไปยื่นขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าทันที ดังนั้น ในเมื่อยังไม่ได้ทำ CoP ทำไมถึงไปยื่นคำร้องขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าได้ มีการทำ CoP ช่วงไหน หากจะบอกว่าใช้การรับฟังความคิดเห็นประชาชนช่วงปี ๒๕๕๙ มาเป็นส่วนหนึ่งในการทำ CoP ถือว่า เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากบริษัทยื่นขอใบอนุญาตปี ๒๕๖๑ ดังนั้น ต้องเป็นการทำ CoP ตามกฎหมายของช่วงปี ๒๕๖๑ ซึ่งมีข้อบังคับอยู่แล้วว่า ต้องทำตามขั้นตอนอย่างไรบ้าง มีมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เราทราบว่า โรงงานใช้การสำรวจรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ ไปเป็นการรับฟังความเห็นของประชาชน ซึ่งในความคิดเห็นปี ๒๕๕๙ นี้ เราฟ้องไปตั้งแต่คดีแรกว่า ไม่ถูกต้อง ไม่ดำเนินการตามระเบียบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี

ออกใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า

        นางสาวสุรีรัตน์ กล่าวอีกว่า “เราได้รายงานการประชุมเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๑ มีผู้เข้าร่วม ๖ คน มีการระบุไว้ในรายงานการประชุมถึงเรื่องการร้องเรียน และการดำเนินการของ กกพ. ซึ่งมีการออกใบอนุญาตว่า ต้องใช้กฎหมายใดในการพิจารณาบ้าง ซึ่งในการประชุมมีกรรมการท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า ยังไม่ควรออกใบอนุญาตให้แก่บริษัท เนื่องจากยังมีคดีฟ้องร้องกันอยู่ แต่ทำไมกรรมการท่านอื่นถึงยังอนุมัติออกใบอนุญาต พวกท่านไม่ได้มาอยู่ใกล้โรงงานแบบชาวบ้าน และไม่คิดถึงผล    กระทบด้านสุขภาพของประชาชน และเราจะฟ้องศาลปกครองสูงสุด ในกรณีที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน”

บริษัททำถูกกฎหมาย

        จากนั้น ตัวแทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ชี้แจงว่า “การที่ผู้ประกอบการจะดำเนินการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าได้นั้น จะต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานปกครองท้องถิ่น และขณะนี้ กกพ.ได้ออกใบอนุญาตชั่วคราว เพื่อให้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ โดยเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ แล้ว” ซึ่งนายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวเสริมว่า “ดังนั้นในส่วนของการอนุญาตทั้งการก่อสร้างและการดำเนินการผลิตไฟฟ้านั้น ถือว่าผ่านไปแล้ว ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการตัดสินของศาลต่อไป”

        นายจำนง ชมพูพล ที่ปรึกษาบริษัท ยูนิพาวเวอร์เทค จำกัด พร้อมพวก ซึ่งเป็นกลุ่มฝ่ายกฎหมายและสิ่งแวดล้อม ได้ชี้แจงข้อมูลวิชาการว่า “โรงไฟฟ้าได้ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมและมีใบอนุญาตให้ดำเนินกิจการได้อย่างถูกต้อง ผลการตรวจสอบก็ผ่านเกณฑ์ และได้รับการรับรองจาก กกพ.ด้วย ยืนยันว่าทุกอย่างที่ดำเนินการไปนั้นถูกต้องตามกฎหมาย”

ผลกระทบด้านมลพิษ

        นางสาวสุรีรัตน์ ด่านกุล แกนนำเรารักษ์สีคิ้ว กล่าวยกตัวอย่างว่า มีชาวบ้านได้รับผล กระทบหลายคน ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ และการจราจรในหมู่บ้านคับคั่ง เนื่องจากตลอดทั้งวันมีรถบรรทุกวัตถุดิบมาส่งโรงไฟฟ้า ซึ่งในเรื่องนี้นายไพรัตน์ แซ่อือ กล่าวเสริมว่า “การที่โรงไฟฟ้าชีวมวลมาตั้งอยู่ใกล้กับชุมชน มีผลการวิจัยที่ผมได้ศึกษาเป็นอย่างดีมาแล้วว่า อย่างไรก็เป็นอันตรายต่อประชาชน โดยในงานวิจัยนั้นระบุไว้ชัดเจนว่า ทุกโรงงานที่ใช้เป็นตัวอย่างนั้น มีการรับรองค่ามลพิษที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ต้องย้ำตรงนั้นให้ชัดว่า ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อย่างไรแล้วประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าก็จะคงได้รับมลพิษอยู่ดี ตาม พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๔๗ ระบุไว้ชัดเจนว่า การประกอบกิจการพลังงานไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ประเภทและอายุ ใบอนุญาตให้คำนึงถึงผล กระทบต่อประชาชน”

        นายไพรัตน์ แซ่อือ กล่าวพร้อมแสดงภาพประกอบว่า “ในวันนี้ขอพูดในฐานะคนเป็นพ่อ เพราะลูกชายมีโรคประจำตัวอยู่แล้วคือโรคภูมิแพ้ ต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ ซึ่งที่พักอาศัยของครอบครัวผมอยู่ไม่ห่างจากโรงไฟฟ้าชีวมวลไม่เกิน ๒.๕ กิโลเมตร หากดูตามรายงานผลการวิจัย ลูกผมอยู่ในข่ายที่ได้รับผล กระทบ ผมจึงต้องการฝากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน พวกนั้นคือพวกบัดซบ”

โรงไฟฟ้าปล่อยควันจริง

        นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้สอบถามตัวแทนบริษัท ยูนิพาวเวอร์เทค จำกัด ว่า “โรงไฟฟ้าชีวมวลได้มีการปล่อยควันจริงหรือไม่?” ระหว่างนั้น ประชาชนกลุ่มเรารักษ์สีคิ้ว ได้พูดกันว่า “มีการปล่อยควันจริง โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน เห็นควันออกมาจำนวนมาก” ซึ่งตัวแทนบริษัท ยูนิพาวเวอร์เทค จำกัด จึงชี้แจงว่า “ในกระบวนการการผลิตไฟฟ้านั้น จำเป็นต้องมีการปล่อยควันออกมา”

        หลังจากทั้งสองฝ่ายได้ชี้แจงข้อมูลเสร็จสิ้นแล้ว ในที่ประชุมได้พาดพิงความขัดแย้งระหว่างนามสกุลจันทรรวงทองและด่านกุลว่า เคยต่อสู้ในสนามการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ โดยนางสาวจุรีรัตน์ ด่านกุล อ้างว่า “ไม่เกี่ยวกัน ที่ออกมาต่อสู้เนื่องจากตนเป็นชาวสีคิ้วและเป็นทนายความ ชาวบ้านมาขออาสาให้ช่วยเหลือก็ต้องช่วย”

        หลังจบการประชุม นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า ได้พิจารณาการตั้งโรงไฟฟ้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขั้นตอนล่าสุดศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับคดีของศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมา โรงไฟฟ้าสามารถดำเนินกิจการได้ชั่วคราวจนกว่าตุลาการจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด และผลกระทบจากมลพิษเกิดจากการดำเนินกิจการ ทางผู้บริหารโรงไฟฟ้ายืนยันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสุ่มเก็บตัวอย่างและอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด แต่ชาวบ้านอ้างว่า ได้เกิดอาการเจ็บป่วยซึ่งค่อนข้างยากแก่การพิสูจน์ จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงและติดตามผลการเจ็บป่วยของชาวบ้านในรัศมีที่ตั้งโรงไฟฟ้า เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นธรรมและเป็นข้อยุติร่วมกันรวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้านด้วย

๑ ล้านใครจะรับผิดชอบ

        นายจำนง ชมพูพล ที่ปรึกษาบริษัท ยูนิพาวเวอร์เทค จำกัด ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัดและจัดกิจกรรม CSR มาตั้งแต่เริ่มสร้างโรงไฟฟ้า หากกรณีเกิดอาการเจ็บป่วยและมีผลยืนยันว่า สาเหตุเกิดจากมลพิษของโรงงาน เรายินดีรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล อย่างไรก็ตามขอความเป็นธรรมให้กับเราด้วย หากไม่สามารถดำเนินกิจการได้ต่อไป จะมีมูลค่าความเสียหายซึ่งเป็นเงินกู้สถาบันการเงินรวมมูลค่าประมาณ ๑ พันล้านบาท หากในที่สุดแล้วศาลปกครองตัดสินให้เรายกเลิกกิจการไป ใครจะรับผิดชอบ เพราะคนที่อนุญาตเราก็เป็นหน่วยงานของรัฐทั้งนั้น

        ทั้งนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้สั่งยุติการประชุมก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะมีการโต้เถียงกันไปมากกว่านี้ พร้อมกับมอบหมายให้ พ.อ.ปรีชา พยอมใหม่ เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.จ.นครราชสีมา ดำเนินการประสานแต่งตั้งคณะทำงานที่เป็นกลางขึ้นมา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยจะมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง, ตัวแทนประชาชน, ตัวแทนบริษัทฯ และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมในการนำอุปกรณ์ดำเนินการตรวจสอบ

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๕ วันพุธที่ ๒๕ กันยายน - วันอังคารที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


818 1496