September 25,2019
“ใต้ร่มพระบารมี นครราชสีมา” เทิดพระเกียรติ ร.๑๐
จัดใหญ่ “ใต้ร่มพระบารมี นครราช สีมา” ตระการตารำเทิดพระเกียรติ ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ จากสตรีชาวโคราชกว่า ๑,๘๐๐ คน พิเศษสุดแสงสีเสียง บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาเมืองโคราช เพลินกับตลาดวัฒนธรรมวิถีชุมชน พร้อมบริการรถสามล้อชมเมือง วันที่ ๒๕-๒๗ กันยายน ชมฟรี
เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๒ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลโคราช ว่าที่ร้อยตรีนิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา, นายไชยนันท์ แสงทอง วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา และนายเฉลิมชัย รุจิวรารัตน์ รองผู้อํานวยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สํานักงานนครราชสีมา ร่วมแถลงข่าวและพูดคุยถึงกําหนดการจัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี นครราชสีมา” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๒๕-๒๗ กันยายน ๒๕๖๒ ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็นการร่วมน้อมรำลึกการสถาปนาเมืองนครราชสีมาให้ทุกคนได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ รากเหง้า ความเป็นมา และเรื่องราวอันทรงคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณี
ว่าที่ร้อยตรีนิรันดร์ ดุจจานุ ทัศน์ กล่าวว่า “จังหวัดนครราชสีมามีประวัติศาสตร์ ความเป็นมาที่ยาวนานนับพันปี ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้คนอาศัยสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ราว ๓,๐๐๐ ปี ก่อน หรือนานกว่านั้น ดังที่มีการขุดค้นพบแหล่งโบราณคดีต่างๆ ที่เราทราบกันดี เช่น บ้านปราสาทและที่บ้านโนนวัด อําเภอโนนสูง เป็นต้น ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ เราก็รับวัฒนธรรมทวารวดีเข้ามา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมขอม ช่วงนี้เองที่ปรากฏชื่อเมืองสําคัญขึ้นมาสองเมือง คือ เมืองพิมายและเมืองเสมา โดยเมืองพิมายเป็นชุมชนที่ยอมรับนับถือพุทธศาสนาแบบมหายาน ส่วนเมืองเสมาปัจจุบันคือพื้นที่ ในเขตอําเภอสูงเนิน เป็นชุมชนที่ยอมรับนับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาท จะปรากฏหลักฐานโบราณวัตถุอะไรต่างๆ มากมายที่สื่อสะท้อนถึงความเชื่อและวิถีของชาวเมืองในยุคนั้นๆ เช่น พระนอนหินทราย อายุกว่า ๑,๓๐๐ ปี ที่วัดธรรมจักรเสมาราม ตําบลเสมา อําเภอสูงเนิน เมื่อวัฒนธรรมทวารวดีร่วงโรยไป อิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมขอมจากเมืองพระนครกัมพูชา ได้แผ่ขยายเข้ามาแทนที่ช่วงนี้ มีการสร้างปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมวันปราสาทหินต่างๆ อโรคยาศาล อะไรต่างๆ มากมาย โดยเรามีเมืองพิมายเป็นเมืองใหญ่ที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูมาก ในยุคนั้น และปราสาทหินพิมายก็เป็นต้นแบบในการก่อสร้างปราสาทนครวัดที่ใหญ่โตในยุคต่อมาด้วย”
ว่าที่ร้อยตรีนิรันดร์ กล่าวอีกว่า “บ้านเมืองเราวิวัฒน์พัฒนาเรื่อยมา โดยที่คนโคราชก็มีความร่มเย็นผาสุกใต้ร่มพระบารมีของพระมหากษัตริย์ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดําเนินเยือนนครราชสีมาหลายครั้ง สืบเนื่องมาถึง รัชกาลที่ ๑๐ พระองค์ทรงสืบสานพระราชปณิธานการทรงงานเพื่อประชาชน เป็นการสะท้อนภาพรวมของนครราชสีมาที่ค่อยๆ ก้าวหน้า มีศักยภาพพร้อมรองรับการเติบโตในด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การศึกษา โคราชมีทรัพยากร มีศิลปวัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญาที่มีคุณค่า ซึ่งสามารถรังสรรค์เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดได้หลากหลายและน่าสนใจ จึงเกิดเป็นความคิดที่จะสื่อแสดงความรุ่งเรือง ความเป็นมาเก่าๆ ของเมืองนครราชสีมา ออกมาให้ประชาชนได้เห็น ได้สัมผัสรับรู้ เป็นการบอกเล่าเรื่องราวแง่มุมต่างๆ ของเมือง เมื่อรู้ความเป็นมาแล้วก็จะเกิดการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น นําไปสู่การกระจายรายได้และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในจังหวัด”
“ในปีนี้เป็นปีสําคัญของคนไทย เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ จังหวัดต้องการที่จะแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี เพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน จึงเกิดเป็นการจัดกิจกรรมที่สื่อสะท้อนให้เห็นถึงความงดงาม ความรุ่งเรือง ของเมืองที่สืบเนื่องยาวนานใต้ร่มพระบารมี และในการนําเสนอเรื่องราวต่างๆ นี้ จะเป็นการร่วมน้อมรําลึกการสถาปนาเมืองนครราชสีมา ให้ทุกคนได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ รากเหง้า ความเป็นมา และเรื่องราวอันทรงคุณค่า วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต เพื่อปลูกฝังความรักในแผ่นดินถิ่นเกิด และสืบเนื่องต่อการธํารงรักษาและพัฒนาบ้านเมืองของเราสืบไป” รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าว
นายไชยนันท์ แสงทอง วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ภายในงานจะมีกิจกรรมหลากหลายตลอดระยะเวลา ๓ วัน ซึ่งในที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๒ ตั้งแต่เวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. เป็นต้นไปพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ โดยนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มีการแสดงรําน้อมรําลึกใต้ร่มพระบารมี ของสตรีชาวโคราช นับพันคน นําโดยนายกเหล่ากาชาด แล้วยังมีขบวนแห่เฉลิมพระเกียรติที่จะบอกเล่าความอัศจรรย์และความงดงามของเมืองในแต่ละช่วงเวลา ทั้งช่วงอารยธรรมขอม กรุงศรีอยุธยา และความรุ่งเรืองในสมัยรัตนโกสินทร์ นําขบวนโดยหลานสาวย่าโม ประจําปี ๒๕๖๒ กิจกรรมบนเวทีในแต่ละวันเป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่จะมาสร้างสีสันตลอดการจัดงาน ไฮไลต์เป็นการแสดงแสงเสียง มินิไลท์ แอนด์ซาวด์ “ใต้ร่มพระบารมี นครราชสีมา” สุดตระการตา ที่จะบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของเมืองนครราชสีมา นับจากอดีตสืบปัจจุบัน โดยจะจัดขึ้นทุกคืนในเวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๐๐ น. นอกจากนั้นยังมีนิทรรศการให้ความรู้ “บอกเล่าเรื่องราวเมืองนครราชสีมา” การออกร้าน ตลาดวัฒนธรรมวิถีชุมชนที่รวบรวมอาหารท้องถิ่น ของที่ระลึกและ ของใช้ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของเมืองโคราชมากกว่า ๕๐ ร้านค้า พร้อมทั้งมีบริการรถสามล้อชมวิวเมืองโคราช ท่องเที่ยววัดเก่าแก่ในคูเมืองที่มีขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา ไหว้พระเสริมสิริมงคล สามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในงานได้ฟรี ๒๕-๒๗ กันยายนนี้ เวลา ๑๕.๐๐-๑๙.๐๐ น. ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา”
นางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “สําหรับในส่วนของการรำน้อมรําลึกใต้ร่มพระบารมี นครราชสีมา ของสตรีโคราชนั้น จะรํากันในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นวันแรกของการจัดงาน ในเวลา ๑๘.๐๐-๑๘.๓๐ น. ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัด เป็นการรําครั้งยิ่งใหญ่ เพราะมีนางรํามากถึง ๑,๘๐๐ คน เป็นสตรีโคราชทั้งหมด จากอําเภอและหน่วยงานสังกัดสถานศึกษาต่างๆ ทั้งจังหวัด ส่วนใหญ่ก็จะมาจากวิทยาลัยนาฏศิลป์นครราชสีมามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมาและกิ่งกาชาดในอําเภอต่างๆ การฝึกซ้อมรําอยู่ภายใต้การดูแลของ อาจารย์พงศกร ทิพยสุขศรี ผู้อํานวยการวิทยาลัยนาฏศิลป์นครราชสีมา และอาจารย์ทางด้านนาฏศิลป์จากหน่วยงานต่างๆ อีกหลายท่าน ซึ่งได้ร่วมแรงร่วมใจกันในงานครั้งนี้ เพราะเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ และเราทุกคนก็ตั้งใจรํากันอย่างสุดความสามารถ เพื่อเป็นการร่วมกันเทิดพระเกียรติ ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ร่วมน้อมรําลึกถึงบูรพกษัตริย์ ที่ได้ทรงสร้างเมืองนครราชสีมา และทรงสถาปนาเมืองนครราชสีมาจนเป็นปึกแผ่นมั่นคง เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีของชาวนครราชสีมาและยังเป็นการร่วมส่งเสริม สืบสานการแสดงศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนครราชสีมาไว้”
ทั้งนี้ งานกำหนดจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๒๕-๒๗ กันยายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๕.๐๐-๒๐.๐๐ น. ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัด นครราชสีมา ชมฟรีตลอดงาน และเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมแต่งกายผ้าไทย ผ้าพื้นเมืองเข้าร่วมงานเพื่อร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยที่สวยงาม
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๕ วันพุธที่ ๒๕ กันยายน - วันอังคารที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
883 1,560