27thDecember

27thDecember

27thDecember

 

October 09,2019

โคราชฝันอีก ๑๐ ปี จัด‘พืชสวนโลก’ พลิกที่นา‘อ.คง’ ๒,๕๐๐ ไร่

จังหวัดนครราชสีมา ลุยสำรวจพื้นที่อำเภอคงกว่า ๒,๕๐๐ ไร่ เพื่อพิจารณาพื้นที่รองรับการเป็นเจ้าภาพจัดงาน “พืชสวนโลก” ที่จังหวัดเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในปี ๒๕๗๒ เชื่อมั่นโคราชมีศักยภาพเพียงพอ หวังกระจายการพัฒนา และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ส่งรองผู้ว่าฯ บินดูงานที่จีน 

สืบเนื่องจากที่ ‘โคราชคนอีสาน’ ได้เคยเสนอข่าวว่าจังหวัดนครราชสีมาเสนอตัวเป็นเจ้าภาพพื้นสวนโลก ปี ๒๕๗๒ โดยเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๒ จังหวัดได้เสนอโดยยื่นหนังสือไปยัง ครม. เพื่อเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลก ซึ่งจังหวัดนครราชนั้นได้จองเป็นเจ้าภาพช่วงปี ค.ศ.๒๐๒๙ (พ.ศ.๒๕๗๒) โดยคาดว่าจะเสนอให้ผ่านมติ ครม. ภายในช่วงเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๓

ต่อมา เมื่อวันที่ ๗-๑๑ กันยายน ๒๕๖๒ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน. หรือ TCEB) กำหนดจัดกิจกรรมสร้างความเชื่อมั่นเพื่อนำเสนอประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้จัดงานมหกรรมพืชสวนโลก โดยนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มอบหมายให้นายอภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนางสาวอสิตรา รัตตะมณี ผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

สำหรับกิจกรรมสร้างความเชื่อมั่นเพื่อนำเสนอประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและนำเสนอประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก พ.ศ.๒๕๖๙ ซึ่งจังหวัดอุดรธานีเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ และ พ.ศ.๒๕๗๒ จังหวัดนครราชสีมาเสนอเป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้เพื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุม The 71st AIPH Annual Congress 2019 และรับฟังการเสนอความคืบหน้าการจัดงานของประเทศต่างๆ ทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้จัดงานพืชสวนโลก พร้อมทั้งเข้าชมงานในส่วนต่างๆ ของงาน Expo 2019 Beijing CHINA

จากนั้น ในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๔.๓๐ น. หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครราชสีมามอบหมายให้ผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพิจารณาพื้นที่รองรับการเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลก ปี พ.ศ.๒๕๗๒ (ค.ศ.๒๐๒๙) ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอคง โดยมีเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน และเจ้าพนักงานที่ดินสาขาอำเภอคง เป็นเลขานุการ

โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาที่ดินสาธารณประโยชน์ในพื้นที่อำเภอคง จำนวน ๒ แปลง (ติดถนนมิตรภาพ) และเลือกแปลงด้านซ้ายของถนนมิตรภาพซึ่งมีพื้นที่ประมาณ ๒,๔๘๓ ไร่ (พื้นที่มากกว่าที่ดินแปลงด้านขวาของถนนมิตรภาพ) เนื่องจากมีพื้นที่จำนวนมากกว่าและมีผู้บุกรุกจำนวนน้อยกว่า (เมื่อกันพื้นที่บุกรุกแล้วคาดว่าจะเหลือพื้นที่จัดงานประมาณ ๑,๘๐๐ ไร่) โดยฝ่ายเลขานุการ จะจัดทำข้อมูลที่ดินแปลงดังกล่าว พร้อมด้วยข้อมูลโครงสร้างพื้นฐาน ถนน แหล่งน้ำ การเดินทาง แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ นำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาภายในวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๒  ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ได้เดินทางไปดูพื้นที่แปลงดังกล่าว ซึ่งอยู่ติดกับ อบต.เทพาลัย และวัดป่าเทพาลัย โดยมีสภาพเป็นป่าละเมาะและที่นา มีถนนดินบดอัดและถนนลูกรัง พร้อมคูน้ำเป็นแนวเขตโดยรอบ

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๒ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า ขณะนี้ไปดูพื้นที่มาแล้ว จะนำพื้นที่นี้เสนอต่อ TCEB ในวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ ซึ่งอาจจะมีการให้คำแนะนำในเรื่องของการเตรียมพื้นที่ เอกสารการออกแบบเพื่อนำเสนอต่อ ครม. 

ในส่วนของพื้นที่ที่เลือกเป็นอำเภอคง นายวิเชียร กล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่โซน ๘ อำเภอ มีการเรียกร้องมาว่า ยังไม่ค่อยมีการพัฒนา จึงต้องการจะให้มีการพัฒนาพื้นที่ในตรงนี้เพิ่มเติม เพราะในพื้นที่ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ หรือแหล่งโบราณสถานค่อนข้างน้อย จึงเห็นว่าควรมีโครงการใหญ่ๆ ไปลงในพื้นที่ จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ และสถานที่จัดงานนี้จะอยู่กับเราตลอดไป เหมือนกับหอคำหลวงที่จังหวัดเชียงใหม่

สำหรับเรื่องงบประมาณ นายวิเชียร เผยว่า ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละแผนงานของแต่ละประเทศ ในปัจจุบัน ประเทศที่ใช้งบประมาณค่อนข้างมากที่สุดคือ ประเทศจีน ซึ่งใช้หลายพันล้าน สำหรับประเทศไทยคาดว่าจะไม่เป็นแบบนั้น เราจะต้องมีการปรับโครงสร้างพื้นที่ของเรา แต่เรื่องที่จะมาต้องรอเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งคิดว่าอาจมีงบสนับสนุนแต่ละประเทศไม่เพียงพอ อาจจะต้องให้แต่ละประเทศออกงบประมาณเพิ่มเติมเอง ซึ่งงบในการจัดก็จะเป็นงบส่วนกลางของทางรัฐบาล

“เราอาจจะต้องทำงานหนักในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพราะงานพืชสวนโลกจำเป็นจะต้องใช้น้ำ แต่เรายังมีเวลาอีก ๑๐ ปี ผมคิดว่าถ้าเราออกแบบ และรัฐบาลรับให้เราเป็นเจ้าภาพ แน่นอนว่าเขาจะต้องมีการพัฒนาหมด ทั้งเรื่องของน้ำ หรือถนนหนทางต่างๆ อีกทั้งคาดว่าช่วงนั้นมอเตอร์เวย์น่าจะเสร็จแล้ว ทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น คาดว่าจะสามารถปลุกให้เศรษฐกิจในพื้นที่บริเวณนั้น มีความเจริญขึ้น” นายวิเชียร กล่าว

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า เนื่องจากบางพื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมาอาจมีข้อจำกัดในเรื่องของข้อกฎหมายด้วย ซึ่งตนไม่อยากให้กระทบพื้นที่ แต่ในพื้นที่สาธารณะเราคิดว่า สามารถทำให้ถูกกฎหมายได้ ทั้งนี้ ตนเป็นกังวลว่า รัฐบาลจะเลือกพื้นที่ที่มีความเจริญอยู่แล้ว เช่น เขาใหญ่ หรือวังน้ำเขียว ซึ่งตนไม่เห็นด้วย เพราะอยากจะกระจายความเจริญไปยังอำเภออื่นๆ ในจังหวัดฯ ด้วย

“ขณะนี้เราพยายามเร่งที่จะให้จังหวัดนครราชสีมาเป็น MICE City ซึ่งมีการเสนอเปปเปอร์สุดท้ายไปแล้ว คือการขอรับการประเมินเป็น MICE City หากวันหนึ่งมีการจัดงาน จะเกิดคำถามว่า จังหวัดนครราชสีมามีสถานที่ประชุม และมีห้องพักที่ได้มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการรับรอง MICE City ซึ่งวันที่ ๙ ตุลาคมนี้ จะมีการพูดคุยกับ TCEB ทั้งสองกรณี คือ พืชสวนโลก และ MICE City” นายวิเชียร กล่าว

อนึ่ง เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๒ ทางจังหวัดได้เสนอยื่นหนังสือไปยัง ครม. ซึ่งเป็นการนำเสนอถึงศักยภาพของจังหวัดนครราชสีมา ในการเตรียมพร้อมเสนอรับเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลก ๒๕๗๒ ด้วยจังหวัดนครราชสีมา มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ อันดับ ๙ ของประเทศ เป็นประตูสู่ภาคอีสาน มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่หลากหลาย มีพื้นที่มรดกของยูเนสโก แล้ว ๒ อย่าง คือ มรดกโลกป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (World Heritage) และพื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช (Biosphere Reserve Area) ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาอยู่ระหว่างเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี ในการเสนออุทยานธรณีโคราชเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) ให้สำเร็จในปี ๒๕๖๒ เพื่อให้จังหวัดนครราชสีมาและประเทศไทย เป็นประเทศที่ ๓ ในแผนที่โลก ที่มี “ดินแดนแห่ง ๓ มงกุฎของยูเนสโก” หรือ “The UNESCO Triple Crown” และในปี พ.ศ.๒๕๖๒ ยังได้รับความเห็นชอบในการจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ “ทรัพยากรไทย : ชาวบ้านไทยได้ประโยชน์” ตามโครงการ อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานมหกรรมศิลปะนานาชาติ Thailand Biennale Korat 2020 ระหว่างเดือนธันวาคม ๒๕๖๓-มีนาคม ๒๕๖๔ ซึ่งแสดงถึงศักยภาพและความพร้อมของจังหวัดนครราชสีมา ในการจัดงานระดับประเทศและระดับสากล นอกจากนี้ จังหวัดนครราชสีมายังได้เตรียมความพร้อมในการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานด้านต่างๆ เช่น การคมนาคมขนส่งเพื่อเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค สถานที่ในการจัดประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ รวมถึงบริการด้านที่พักที่ได้มาตรฐาน เพื่อยกระดับเมืองมุ่งสู่ Korat Smart City, Korat MICE City และรองรับการจัดตั้ง Dry Port (ท่าเรือบก) เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา ในระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๗๔) และวิสัยทัศน์การพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา ระยะ ๕ ปี (พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๖๕) “โคราชเมืองน่าอยู่ มุ่งสู่ ๓ มรดกโลกยูเนสโก นวัตกรรม เกษตร อุตสาหกรรม สังคมปลอดภัย” กำหนดให้มีประเด็นยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนา ซึ่งจะส่งเสริมให้จังหวัดนครราชสีมามุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม ให้เป็นศูนย์กลางและผู้นำของภูมิภาค

 

Cr.ภาพ : อุทยานหลวงราชพฤกษ์

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๗ วันพุธที่ ๙ - วันอังคารที่ ๑๕ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 

 


912 1,780