6thDecember

6thDecember

6thDecember

 

October 16,2019

วิศวกรจิตอาสายกคณะบุกอุบลฯ แนะนำซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วม

วิศวกรจิตอาสาจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ลงพื้นที่อุบลฯ ตรวจสอบบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างที่เสียหายจากน้ำท่วม ส่วนการเกิดดินสไลด์มีสาเหตุจากน้ำลดลงเร็ว ทำให้ดินขาดน้ำ แนะวิธีสังเกตก่อนเกิดดินสไลด์ในทุกพื้นที่

ตามที่เกิดน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี และขณะนี้แม่น้ำมูลได้ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วจากที่เคยล้นตลิ่งเกือบ ๓ เมตร ปัจจุบันระดับแม่น้ำมูลที่สถานีวัดน้ำ M7สะพานเสรีประชาธิปไตยวันนี้ น้ำลดลงเหลือเพียง ๒.๗๙ เมตร ซึ่งต่ำกว่าตลิ่งถึง ๔.๒๑ เมตร ทำให้เกิดดินสไลด์ตัวในหลายพื้นที่ของจังหวัด ซึ่งนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เข้าตรวจสอบดินสไลด์เพิ่มเติมในพื้นที่ชุมชนหาดคูเดื่อ ต.แจระแม อ.เมืองอุบลราชธานี ซึ่งตั้งคนละฝั่งแม่น้ำกับชุมชนคูสว่าง ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ ซึ่งเกิดดินสไลด์เมื่อวาน พบบริเวณที่เกิดดินสไลด์เป็นร้านจำหน่ายอาหารริมแม่น้ำมูล ซึ่งที่ผ่านมาถูกน้ำท่วมสูง เมื่อน้ำลดลงก็เกิดดินสไลด์ จึงสั่งการให้โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ทำการรวบรวมข้อมูลจุดเกิดเหตุ เพื่อทำการเยียวยาพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือของทางราชการ และทำการซ่อมแซมจุดที่เกิดดินสไลด์ โดยเบื้องต้นส่งกำลังทหารเข้าทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างจุดที่เกิดดินสไลด์ที่อาจพังลงมาด้วย

น้ำลด ดินสไลด์

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จากการตรวจสอบจุดที่เกิดดินสไลด์บางจุดเป็นโพรง ทำให้สิ่งก่อสร้างไม่มีดินรับน้ำหนัก ขณะนี้สั่งห้ามเข้าไปในจุดที่เกิดดินสไลด์ เพื่อป้องกันอันตรายกับประชาชน และเจ้าหน้าที่จะเข้าไปทำการเคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากจุดอันตรายสร้างขึ้นใหม่ และต้องมีการตอกเสาเข็มทำผนังกันตลิ่งพังให้แข็งแรงขึ้นอีก

นอกจากนี้ ยังพบดินสไลด์ที่ริมแม่น้ำโขง ในบ้านกุ่ม ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม โดยดินได้สไลด์และยุบตัวออกจากผนังกั้นน้ำที่ศาลาชมวิวริมแม่น้ำ และยาวไปถึงบริเวณวัดบ้านกุ่มเป็นระยะทางประมาณ ๓๐ เมตร โดยดินได้ไหลไปทับเรือหาปลาของชาวบ้านที่จอดอยู่บริเวณท่าน้ำจมหายไป ๒ ลำ และพื้นทางเดินที่เป็นกระเบื้องได้โก่งตัวขึ้นมาแตกเสียหาย และบางส่วนหลุดลงไปกองอยู่กับดิน หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบพบว่า ตรงจุดที่เป็นผนังกั้นน้ำที่เป็นปูนและสร้างขึ้นเมื่อ ๒ ปีก่อน ยังจับตัวกันอยู่ แต่ดินด้านในของผนังกั้นน้ำได้ยุบตัวลงมา ซึ่งจะได้แจ้งให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองที่เป็นเจ้าของโครงการเข้ามาตรวจสอบและทำการแก้ไขให้เป็นปกติต่อไป

สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี ขณะนี้ พบจุดดินสไลด์แล้วจำนวน ๗ จุด คือ บริเวณเขื่อนป้องกันตลิ่งริมห้วยขยุง บ้านห้วยขยุงเหนือ ต.ห้วยขยุง อ.วารินชำราบ เขื่อนป้องกันตลิ่งริมลำเซบายบ้านท่าวารี ต.หัวดอน อ.เขื่องใน เขื่อนป้องกันริมแม่น้ำชี บ้านท่าศาลา ต.ชีทวน อ.เขื่องใน เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำมูลบ้านกุดชมพู ต.กุดชมพู อ.พิบูลมังสาหาร เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขงบ้านกุ่ม ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม และบริเวณแม่น้ำมูลที่บ้านด่านเก่า ต.โขงเจียม และเขื่อนป้องกันตลิ่งบ้านท่ากกแห่ ต.แจระแม อ.เมืองอุบลราชธานี รวมมีตลิ่งทรุดในพื้นที่ทั้งสิ้นขณะนี้ ๔ ลำน้ำของจังหวัด

วิศวกรจิตอาสาลุยพื้นที่

เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๒ ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นำวิศวกรจิตอาสาลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อตรวจสอบอาคารบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างสาธารณะ พร้อมให้คำแนะนำวิธีการซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมช่วงหลังน้ำลด เพื่อให้สิ่งปลูกสร้างต่างๆ สามารถกลับมาใช้งานได้อย่างปลอดภัย โดยวันนี้มีการแบ่งกลุ่มจิตอาสาออกเป็น ๑๔ กลุ่ม เพื่อเข้าตรวจสอบสิ่งก่อสร้างทุกชนิดที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมใน ๑๔ ชุมชนของเทศบาลเมืองวารินชำราบ รวมทั้งได้เข้าตรวจสอบการสไลด์ของดินที่วัดบ้านท่ากกแห่ ต.แจระแม อ.เมืองอุบลราชธานี และในชุมชนบ้านคูสว่าง ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ ซึ่งพบว่าทั้ง ๒ จุดการสไลด์ของหน้าดินเกิดจากก่อนหน้านี้ มีน้ำท่วมสูงและน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำที่เคยอยู่ใต้ดินลดตามลงไปด้วย โดยการลดของน้ำแบบแนวดิ่ง ทำให้เกิดการพังทลายของหน้าดิน และไม่ใช่จะเกิดเฉพาะในแม่น้ำมูล แต่สามารถเกิดได้ทุกแม่น้ำลำคลองที่น้ำมีการลดระดับลงอย่างรวดเร็วแบบนี้ จึงแนะนำให้ประชาชนที่ปลูกบ้านเรือนอยู่ใกล้ตามตลิ่งแม่น้ำ ต้องสังเกตดูการเปลี่ยนแปลงของสภาพดิน หากพบมีรอยร้าวเป็นทางยาว โดยไม่จำเป็นต้องเป็นรอยร้าวที่ลึกมาก ก็แสดงว่าพื้นที่ดังกล่าว มีโอกาสที่เกิดดินสไลด์ตัวได้ในเร็วๆ นี้ หากมีสิ่งปลูกสร้างใกล้จุดที่เกิดรอยร้าวของดิน จึงไม่ควรเข้าไปอยู่ในสิ่งปลูกสร้างที่มีรอยร้าวรอยแยกดังกล่าว

ส่วนตลิ่งผนังกั้นน้ำที่พังลงในเวลานี้ สอบตรวจดินได้อยู่ตัวแล้ว จะไม่มีการทรุดตัวเพิ่มอีก เว้นแต่มีฝนตกหนักหรือมีน้ำท่วมใหม่ ก็จะทำให้ดินเกิดการสไลด์ตัวเพิ่มได้อีก จึงได้เตือนประชาชนในชุมชนคูสว่างที่บ้านเรือนอยู่ในจุดที่ดินสไลด์ตัวไม่ควรเข้าไปพักอาศัยในช่วงนี้ จนกว่าจะได้รับการซ่อมแซมแก้ไขบดอัดดิน หรือตอกเสาเข็มตรงจุดดังกล่าวให้ดีก่อน

สำหรับการลงพื้นที่ของวิศวกรจิตอาสาที่เข้ามาช่วยดูแลบ้านเรือนและแนะนำวิธีซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ จะดำเนินการตรวจสอบและแจ้งผลให้เจ้าของบ้านทราบ โดยการประเมินผลจะแทนค่าด้วยสี แบ่งเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ สีเขียว หมายถึง สภาพอาคารบ้านเรือนที่ปลอดภัย สีเหลืองต้องมีการซ่อมแซม และสีแดง หมายถึงเสี่ยงอันตราย ห้ามเข้าอยู่อาศัย หรือใช้พื้นที่อาคารนั้น ไปถึงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๒

ตรวจสอบอาคารเรียน

ต่อมาในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ ที่โรงเรียนบ้านกุดปลาขาว ชุมชนกุดปลาขาว เทศบาลเมืองวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้นำคณะวิศวกรจิตอาสาเข้าตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของตัวอาคารเรียนที่ถูกน้ำท่วมเป็นเวลานานเกือบ ๑ เดือน ก่อนที่โรงเรียนจะเปิดให้ครูและนักเรียนเข้ามาใช้ตัวอาคารตามปกติ ซึ่งจากการตรวจสอบเสาค้ำยันตัวอาคารโรงเรียนแห่งนี้ เดิมเสาเป็นสนิมอยู่แล้ว เมื่อเกิดน้ำท่วม ก็ทำให้เกิดเป็นแผลใหญ่และกว้างขึ้น จึงแนะนำให้โรงเรียนต้องทำการซ่อมแซมอาคารเรียนก่อนเข้าไปใช้งาน และหลังการซ่อมเสาเสร็จแล้ว ต้องให้วิศวกรเข้าตรวจสอบเชิงลึกของการรับน้ำหนักบรรทุกแบบสุ่มตัวอย่างของอาคารเรียน
โดยในวันนี้ วิศวกรจิตอาสาจะเน้นเข้าตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของตัวอาคารเรียนที่ถูกน้ำท่วมในจุดต่างๆ เพื่อความปลอดภัยก่อนกลับเข้าไปใช้งาน และทำการซ่อมแซมอุปกรณ์ใช้ไฟฟ้าให้กับโรงเรียนที่ถูกน้ำท่วมสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยด้วย

ดร.ธเนศ วีระศิริ กล่าวถึงการเข้าตรวจสอบจุดที่มีน้ำท่วมเมื่อวานที่ผ่านมา กลุ่มวิศวกรจิตอาสาได้เข้าตรวจสอบบ้านเรือน ทางเดินตามริมตลิ่งที่มีการเลื่อนไหลของดิน พร้อมให้คำแนะนำในการซ่อมแซมแก้ไขด้วยวิธีการบดอัดดิน ตอกเสาเข็มใช้ค้ำยัน ซึ่งการเลื่อนไหลของดินที่เกิดขึ้น มาจากเดิมมีน้ำเข้ามาอยู่ในดิน ทำให้ดินชุ่มน้ำ เมื่อน้ำลดลงจนเกิดความต่างของระดับ โดยไม่มีอะไรยันตัวผนังไว้

“เมื่อดินมีความชุ่มชื่นของน้ำมาก่อน ก็ทำให้เกิดการเลื่อนไหล โดยการเลื่อนไหลของดิน แต่ละจุดมีความแตกต่างกัน จึงแนะนำให้ใช้วิธีแก้ไขที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และดินของจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนใหญ่เป็นดินปนทราย เมื่อได้น้ำก็ทำให้ชุ่มน้ำได้โดยง่ายจนเกิดการอ่อนตัวของดิน พร้อมได้แนะนำชาวบ้านที่มีบ้านอยู่ใกล้ริมแม่น้ำ ให้ตรวจดูรอยแตกของแผ่นดิน แม้จะเป็นเพียงรอยเล็กๆ ที่ขนานกับตัวแม่น้ำลำคลอง ก็แสดงว่าดินเริ่มจะแยกตัวแล้ว ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เพื่อเข้าช่วยเหลือไม่ให้เกิดพังทลาย”

ดร.ธเนศ วีระศิริ กล่าวว่า ขณะนี้ มีบ้านที่อยู่ในพื้นที่สีแดงที่สุ่มเสี่ยงในการกลับเข้าไปอยู่ในตัวอาคาร และต้องทำการแก้ไขก่อนกลับเข้าไปจำนวน ๔ หลัง ของพื้นที่อำเภอวารินชำราบ ซึ่งได้ให้คำแนะนำกับเจ้าของบ้านและเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาช่วยซ่อมแซม พร้อมแจกคู่มือวิธีการเข้าอยู่อาศัยในอาคารบ้านเรือนด้วยความปลอดภัยให้กับชาวบ้านที่บ้านเรือนถูกน้ำท่วมเสียหายด้วย

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๘ วันพุธที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๒ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


899 1,527