22ndDecember

22ndDecember

22ndDecember

 

October 16,2019

วอนรถไฟบ้านไผ่-นครสวรรค์ วิ่งผ่าน‘เมืองบัวใหญ่’ มั่นใจสร้างความเจริญแน่

เล็งสร้างทางรถไฟเชื่อมตะวันออก-ตะวันตก สายนครสวรรค์-บ้านไผ่ เพิ่มศักยภาพด้านการขนส่ง ท่องเที่ยว และเศรษฐกิจ ชาวบัวใหญ่โอดเป็นเมืองปิดมานาน วอน “ลุงตู่” ตัดทางรถไฟผ่านบัวใหญ่ด้วย ชี้เป็นฮับด้านการขนส่งของอีสาน และช่วยย่นระยะทางได้ ๒๗ กม.

 

เมื่อเวลา ๐๙.๓๐ น. วันที่ ๑๐ ตุลาคม ที่หอประชุมโรงเรียนวาณิชวิทยา อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา นางไพรวัลย์ รักชาติเจริญ นายอำเภอบัวใหญ่ ประธานเปิดการประชุมกลุ่มย่อย งานบริการที่ปรึกษาความเหมาะสม “โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงนครสวรรค์-บ้านไผ่” โดยมีนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายอรุณ อัครปรีดี คหบดีชาวบัวใหญ่ และนายนิพนธ์ ลิ้มวงศ์ยุติ นายกเทศมนตรีเมืองบัวใหญ่ อ.บัวใหญ่ รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานเกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชนและประชาชนที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ อ.บัวใหญ่ อ.บัวลาย อ.สีดา อ.แก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา จำนวนกว่า ๑ พันคน ทยอยเดินทางมาร่วมรับฟังการชี้แจงรายละเอียดการดำเนินโครงการฯ จนเต็มพื้นที่ 

ทั้งนี้ บรรยากาศค่อนข้างคึกคักในเขตเทศบาลเมืองบัวใหญ่ รวมทั้งช่วงทางเข้าห้องประชุมได้ติดตั้งป้ายไวนิลเขียนข้อความว่า ชุมทางบัวใหญ่เหมาะที่จะเป็นเส้นทางรถไฟสายใหม่ นครสวรรค์-ชัยภูมิ-บัวใหญ่, East West corridor เพิ่มการค้าการคมนาคม เหนือ-ตะวันตก-ตะวันออก, ขอสนับสนุนให้ชุมทางรถไฟบัวใหญ่เป็นเส้นทางสายใหม่ นครสวรรค์-ชัยภูมิ-บัวใหญ่, คนโคราชขอสนับสนุนให้สร้างทางรถไฟสายบัวใหญ่-ชัยภูมิ-นครสวรรค์, ชุมทางสถานีบัวใหญ่มีศักยภาพพร้อมทุกด้าน เหมาะสมที่จะอยู่บนเส้นทาง East West corridor upper, ชุมทางสถานีบัวใหญ่ขอเป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟเชื่อมภาคเหนือ-อีสาน, บัวใหญ่พร้อมเป็นศูนย์กลางคมนาคมระบบราง, ประหยัดเงินและประหยัดเวลาชาวประชาได้ประโยชน์, ลุงตู่ครับผมอยากขึ้นรถไฟจากบัวใหญ่ไปนครสวรรค์, ชุมทางบัวใหญ่ พร้อมเหมาะสมเป็นฮับ

นายเสกสิทธิ์ ศิริไวทยพงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการศึกษาและออกแบบ บริษัท เอ็มเอเอ คอนซัลแตนท์ จำกัด ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาโครงการ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๒ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๑ มีมติเห็นชอบแนวทางและข้อสั่งการให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมตะวันออก-ตะวันตก สายนครสวรรค์-บ้านไผ่ เพื่อให้แผนการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใหม่จากแม่สอด-นครพนม ที่ใช้ขนาดทาง ๑ เมตร ให้มีโครงข่ายที่สมบูรณ์และสอดคล้องกับการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งสินค้า ผู้โดยสารและศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศ รวมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานและพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟ ได้กำหนดทางเลือกโครงการจำนวน ๕ เส้นทาง ๑.ช่วง B-C2 เริ่มต้นบ้านหัวถนน อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ใช้แนวเส้นทางเดิมบางส่วนของสายชุมทางแก่งคอย-ชุมทางบัวใหญ่ สิ้นสุด อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ รวมระยะทางประมาณ ๑๖๔ กิโลเมตร ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข ๑๑, ๓๓๒๐, ๒๒๑๙, ๒๑, ๒๒๔๔, ๒๒๗๕, ๒๒๖๐, ๒๓๕๔, ๒๐๖๙ และ ๒๑๗๙ แม่น้ำป่าสัก เทือกเขาพังเหย อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม สภาพพื้นที่เป็นที่ราบสลับกับเนินในช่วงแรกเป็นที่เขาในช่วงกลางและช่วงท้ายเป็นที่ราบ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมทั้งพืชไร่และนาข้าว 

๒.ช่วง C1-D1 เริ่มต้น อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ ใช้แนวเส้นทางเดิมบางช่วงของรถไฟทางคู่สายชุมทางถนนจิระ–ขอนแก่น สิ้นสุดสถานีบ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ระยะทางประมาณ ๙๒ กม. ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข ๒๐๑, ๒๐๒, ๒๐๕๔, ๒๐๖๕, ๒๒๓๓ และ ๒ ตัดผ่านแม่น้ำชี สภาพพื้นที่เป็นที่ราบและลุ่มแม่น้ำชี ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมทั้งพืชไร่และนาข้าว

๓.ช่วง C2-D2 เริ่มต้น อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ สิ้นสุดที่ อ.พล จ.ขอนแก่น ใช้แนวเส้นทางเดิมบางช่วงสายชุมทางแก่งคอย–ชุมทางบัวใหญ่และรถไฟทางคู่สายชุมทางจิระ–ขอนแก่น ระยะทางประมาณ ๘๑ กม. ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข ๒๐๑ และ ๒๐๒ ตัดผ่านแม่น้ำชีและ อ.แก้งสนามนาง นครราชสีมา สภาพพื้นที่เป็นที่ราบและลุ่มแม่น้ำชี ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมทั้งพืชไร่และนาข้าว

๔.ช่วง C2-D3 เริ่มต้น อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ สิ้นสุดที่ สถานีเมืองพล จ.ขอนแก่น ใช้แนวเส้นทางเดิมบางช่วงสายชุมทางแก่งคอย–   ชุมทางบัวใหญ่และรถไฟทางคู่สายชุมทางถนนจิระ–ขอนแก่น ระยะทาง ๖๐ กม. ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข ๒๐๑, ๒๑๘๐, ๒๓๖๙, ๒๑๖๐ และ ๒๒๔๖ สภาพพื้นที่เป็นที่ราบส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมทั้งพืชไร่และนาข้าว และ

๕.ช่วง D3-D2-D1 เริ่มต้นสถานีชุมทางบัวใหญ่ สิ้นสุดที่สถานีบ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ปัจจุบันช่วงนี้เป็นรถไฟทางคู่ตลอดทั้งช่วงและเป็นส่วนหนึ่งของรถไฟทางคู่สายชุมทางถนนจิระ–ขอนแก่น ระยะทางประมาณ ๕๙ กม. ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข ๒๐๒, ๒ และ ๒๓ สภาพพื้นที่เป็นที่ราบ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมทั้งพืชไร่และนาข้าว

“อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนขณะนี้เป็นการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเงิน วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อมรวมถึงจัดทำแบบและประมาณราคาค่าก่อสร้างเบื้องต้น จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมพร้อมดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน มีระยะทางประมาณ ๒๙๑ กิโลเมตร โดยมีระยะเวลาศึกษา ๖ เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ ถึงมกราคม ๒๕๖๓ ซึ่งต้องลงพื้นที่จัดประชุมย่อยในแต่ละอำเภอที่มีเส้นทางรถไฟผ่าน โดยคำนึงถึง ๑.ความถูกต้อง ความปลอดภัยและความสะดวกสบายของผู้ใช้บริการ ๒.ความสอดคล้องกับพื้นที่ใกล้เคียง ๓.เวนคืนน้อยที่สุด เพื่อลดผลกระทบ ๔.ความยากง่ายในการก่อสร้าง ราคาก่อสร้าง และ ๕.ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โคราชจะต้องตอบโจทย์โครงข่ายที่สมบูรณ์และเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งทางรถไฟ” นายเสกสิทธิ์ ศิริไวทยพงศ์ กล่าว

นายนิพนธ์ ลิ้มวงศ์ยุติ นายกเทศมนตรีเมืองบัวใหญ่ เปิดเผยว่า “การรถไฟฯ มานำเสนอเส้นทางสายเหนือ ที่จะผ่านทางภาคอีสาน โดยครั้งนี้เป็นคิวของอำเภอบัวใหญ่และอีก ๕ อำเภอข้างเคียงคือ อำเภอคง บ้านเหลื่อม แก้งสนามนาง บัวลาย และสีดา โดยทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันว่า เราต้องการเส้นทางใหม่เข้ามาในตัวอำเภอบัวใหญ่ไปบ้านเหลื่อม ออกไปที่อำเภอจตุรัส จ.ชัยภูมิ และมุ่งหน้าต่อไปที่จังหวัดนครสวรรค์ หากทำเส้นทางนี้ขึ้นมา จะช่วยย่นระยะทางได้ถึง ๒๗ กิโลเมตร นอกจากนี้ สถานีรถไฟชุมทางบัวใหญ่ มีความพร้อมและศักยภาพทุกด้านสามารถรองรับการเป็นศูนย์กลางคมนาคมทางรางหรือเป็นฮับของภูมิภาคอีสานเหนือ ซึ่งมีสถานีขนถ่ายสินค้า (Container Yard) หรือ CY รองรับการขนถ่ายสินค้าจากระบบรางสู่ถนน มีความสะดวกในการถ่ายสินค้าจากโรงงาน ทั้งโรงสีข้าว โรงงานน้ำตาล และโรงงานแป้งมัน ซึ่งการขนส่งทางรางนั้น สามารถขนส่งได้ครั้งละจำนวนมาก และมีราคาถูก ทั้งนี้สถานีชุมทางบัวใหญ่ตั้งอยู่ในเส้นทางรถไฟทางคู่ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น การดำเนินโครงการจึงไม่สิ้นเปลืองงบประมาณในการเวนคืนที่ดิน รวมถึงสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่เพิ่มเติม”

“ในฐานะเป็นคนบัวใหญ่คนหนึ่ง ก็ต้องการให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้โปรดรับทราบข้อมูลของ อ.บัวใหญ่ ซึ่งเป็นเมืองปิดมานานหลายสิบปี เราต้องการแค่ให้เมืองเกิดการเติบโต มีความเจริญมากขึ้น จึงต้องการให้รัฐบาลได้ขยายเส้นทางคมนาคมทางราง ให้สามารถสร้างคุณประโยชน์สูงสุด ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม และประชาชนจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น รวมทั้งนำความเจริญมาสู่ท้องถิ่นได้อย่างแน่นอน” นายกเทศมนตรีเมืองบัวใหญ่ กล่าว

นายอรุณ อัครปรีดี คหบดีชาวบัวใหญ่ ให้สัมภาษณ์กับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “เดิมทีเส้นทางนี้ เป็นเส้นทางบัวใหญ่-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม แต่ถูกเปลี่ยนเส้นทางเพราะการเมืองในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เพราะเดิมทีเส้นทางนี้ เป็นส่วนต่อของเส้นแก่งคอย-บัวใหญ่ ซึ่งผ่านการความเห็นชอบตั้งแต่สมัยจอมพลถนอม (กิตติขจร) กระทั่งปี พ.ศ.๒๕๕๔-๒๕๕๕ รัฐบาลในขณะนั้นได้ศึกษาใหม่ และมีมติส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยไม่มีการสอบถามประชาชน นี่ถือเป็นการปล้นความชอบธรรมของประชาชน โดยอาศัยนักวิชาการ เมื่อประชาชนได้เห็นข้อเท็จจริงบางส่วนพบว่า เป็นการบิดเบือนความจริงทั้งหมด ในรูปแบบเส้นทางใหม่ จะเริ่มจากสถานีบ้านไผ่ไปจังหวัดนครสวรรค์ ประชาชนจึงเห็นว่า น่าจะวิ่งมาที่สถานีบัวใหญ่ก่อนแล้วไปที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งในขณะนี้บัวใหญ่มีระบบอุตสาหกรรมหลายอย่าง มีสถานีขนถ่ายสินค้า (Container Yard) มีโรงงานมากมาย หากทำเส้นทางนี้ให้เกิดขึ้นได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมหาศาล โดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมต่อภาคเหนือ เชื่อมต่อ EEC ถ้าเข้ามาในบัวใหญ่ก็จะทำให้มีระยะทางใกล้กว่าเดิม หากมองจากประโยชน์ที่คนหมู่มากจะได้รับนั้น ถือว่ารถไฟทางคู่สายนครสวรรค์-บ้านไผ่ หากผ่านบัวใหญ่ด้วยจะเหมาะสมที่สุด สำหรับเส้นทางผ่านบัวใหญ่นั้น การรถไฟฯ ก็ออกแบบไว้แล้ว สุดท้ายก็หวังว่าการรถไฟฯ จะเลือกเส้นทางนี้ด้วย”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๘ วันพุธที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๒ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


979 1,759