20thSeptember

20thSeptember

20thSeptember

 

October 30,2019

‘วิเชียร’บอกส.ว.อยากได้งบเพิ่ม หวังเพิ่มศักยภาพพัฒนาโคราช

“ครูหยุย” ยกคณะ ส.ว.ลงพื้นที่พบประชาชน เพื่อรวบรวมข้อมูลนำไปสู่การแก้ไข ด้าน ‘วิเชียร’ เสนอความคืบหน้าด้านคมนาคมและโครงการใหญ่ เผยอยากให้จัดสรรงบล่ำซำเพิ่มเติม หวังแก้ปัญหาเร่งด่วนในจังหวัด

คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนล่าง) นำโดย นายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ (ครูหยุย) สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะหัวหน้าคณะเดินทาง ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆ และรวบรวมข้อมูลที่ได้รับ มาประกอบการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย นำไปสู่การแก้ไขภายใต้บทบาทหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภา พร้อมรับทราบผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้บรรลุ เป้าหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด ๑๖ การปฏิรูปประเทศ และตามที่กำหนดในยุทธศาสตร์ชาติ โดยสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ร่วมเดินทางประกอบด้วย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง นายสุธี มากบุญ พลเอกสนั่น มะเริงสิทธิ์ พลเอกจีระศักดิ์ ชมประสพ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม นางทัศนา ยุวานนท์ และนายออน กาจกระโทก

โดยเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๓๐ น. ลงพื้นที่ ณ ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบลบัลลังก์ อำเภอโนนไทย ร่วมหารือกับประชาชนและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง รวมทั้งภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ พร้อมสำรวจพื้นที่อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร จากนั้น เวลา ๑๔.๑๐ น. ลงพื้นที่ ณ ศูนย์เรียนรู้ และขับเคลื่อนปรัชญเศรษฐกิจพอเพียงบ้านหนองโพธิ์ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (OTOP นวัตวิถี) เยี่ยมชมตลาดประชารัฐคนไทยยิ้มได้ และเยี่ยมให้กำลังใจผู้ป่วยติดเตียง

ต่อมาในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๘.๒๐ น. ที่ห้องประชุมมูลนิธิท้าวสุรนารี ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ร่วมหารือข้อราชการกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในประเด็นปัญหาและอุปสรรคในการบริหารราชการ และการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วยนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล และนายอภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ให้การต้อนรับ

โคราชเมืองน่าอยู่

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวรายงานว่า จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ประมาณ ๑๒ ล้านไร่ ๓๒ อำเภอ มี GDP อยู่ที่ ๒.๗๔ แสนล้านบาท เป็นอันดับ ๑ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอันดับที่ ๑๑ ของประเทศ โดยรายได้พื้นฐานคือ ด้านอุตสาหกรรมเป็นหลัก สำหรับการบริหารงานเชิงยุทธศาสตร์จังหวัด ได้เน้นการบริหารแบบบูรณาการ ๓ อย่าง คือ การสร้างความสามารถทางการแข่งขัน การลดความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งตั้งเป้าให้ “โคราชเป็นเมืองน่าอยู่ ประชาชนมีความสุข มั่งคั่ง ยั่งยืน”

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า แผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๓ มีวิสัยทัศน์คือ โคราชเมืองน่าอยู่ มุ่งสู่ ๓ มรดกยูเนสโก นวัตกรรม และเกษตรอุตสาหกรรม สังคมปลอดภัย ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในด้านการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของจังหวัด พร้อมทั้งเสริมสร้างความมั่นคง ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคาม และปกป้องสถาบันหลักของชาติ นอกจากนี้ ยังต้องการให้หน่วยงานภาครัฐมีสมรรถนะสูง ทำงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทุกด้าน อีกทั้งประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ รวมทั้งมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิต

คมนาคมโคราช

นอกจากนี้ นายวิเชียรกล่าวถึงโครงการคมนาคมต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา ว่า ในส่วนของโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Moterway) หมายเลข ๖ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จในช่วงปลายปี ๒๕๖๓ โดยข้อมูลความก้าวหน้าล่าสุดในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ช่วงที่ ๑ แผนงานสะสม ร้อยละ ๙๓.๔๗ ผลงานสะสม ร้อยละ ๘๒.๑๘ และช่วงที่ ๒ แผนงานสะสม ร้อยละ ๙๓.๑๔ ผลงานสะสม ร้อยละ ๘๖.๓๒

“โครงการรถไฟความเร็วสูง สายแรกของไทยช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการช่วงที่ ๑ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง ๒๕๒.๕ กม. งบประมาณ ๑.๗๙ แสนล้านบาท คาดว่าเปิดให้บริการในช่วง พ.ศ.๒๕๖๖ ในส่วนของรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางจิระ-ขอนแก่น คาดว่าจะเปิดวิ่งได้ในปี ๒๕๖๓ สำหรับช่วงชุมทางจิระ-อุบลราชธานี จะเริ่มดำเนินการในปี ๒๕๖๓ เช่นเดียวกัน แต่ช่วงชุมทางมาบกะเบา-จิระ ช่วงที่ผ่านมามีข้อเรียกร้อง และมีความเห็นต่างกรณีทุบ-ไม่ทุบสะพานสีมาธานี แต่ล่าสุดที่มีการประชุมที่ผ่านมา มีความเห็นว่า จะต้องทุบสะพานสีมาธานี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางจังหวัดกำลังรวบรวมความคิดเห็น และจะมีการจะประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนอีกครั้งในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เพื่อหารือในส่วนของการจัดการจราจรในช่วงที่มีการก่อสร้าง และหลังก่อสร้าง” นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา กล่าว

LRT คาดเสร็จปี ๖๗

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า เรื่องระบบขนส่งมวลชน โครงการรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เข้ามาดำเนินการ โดยมีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสายแรกที่เริ่มดำเนินการคือ สายสีเขียว ตลาดเซฟวัน-บ้านนารีสวัสดิ์ เมื่อออกแบบในปี ๒๕๖๓ แล้วเสร็จ จะมีการตั้งงบประมาณในปี ๒๕๖๔ โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จช่วง ๒๕๖๗ 

สำหรับโครงการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา สาย ๒๙๐ ซึ่งมีทั้งสิ้น ๗ ตอน ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว ๕ ตอน คงเหลืออีก ๒ ตอน คือ ตอนเหนือเส้นทางหลวงหมายเลข ๒ และจากถนนสาย ๒๒๕ บรรจบถนนเส้น ๒๐๖ ทั้งนี้ได้จัดตั้งงบประมาณปี ๒๕๖๓ ระยะเวลาก่อสร้าง ๓ ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จครบทั้ง ๗ ตอนในช่วงปี พ.ศ.๒๕๖๗ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณของรถที่จะผ่านเข้ามาในตัวเมืองนครราชสีมาอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้มีถนนที่เปิดดำเนินการแล้วคือ ถนนสาย ๓๐๔ โคราช ช่วง อ.กบินทร์บุรี-อ.ปักธงชัย และ อ.กบินทร์บุรี-อ.วังน้ำเขียว ส่วนที่ ๑  ในส่วนของ อ.กบินทร์บุรี-อ.วังน้ำเขียว ส่วนที่สอง คาดว่าจะแล้วเสร็จวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๓

โคราช ‘เมืองอัจฉริยะ’

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า จังหวัดนครราชสีมาดำเนินงานตอบสนองนโยบายสำคัญของรัฐบาล อาทิ ได้รับเป็นเจ้าภาพจัดงาน Thailand Biennale Korat 2020 ระหว่างช่วงเดือนธันวาคม ๒๕๖๓-มีนาคม ๒๕๖๔ สำหรับพื้นที่การจัดงานจะเป็น เขาใหญ่ อ.ปากช่อง อ.เมือง และ อ.พิมาย

“ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมาอยู่ในขั้นตอนการเสนออุทยานธรณีโคราช เพื่อเป็นอุทยานธรณีโลกต่อยูเนสโก ขณะนี้ผ่านคณะรัฐมนตรีเรียบร้อย ซึ่งจะมีการตรวจประเมินในเดือนพฤศจิกายน โดยคณะกรรมการของประเทศไทย หากประเมินเรียบร้อยจะส่งไปที่ยูเนสโกเพื่อตั้งกรรมการตรวจในลำดับต่อไป เพื่อให้อุทยานธรณีโคราชได้รับการประกาศเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ซึ่งเป็นโครงการที่สำคัญอีกโครงการหนึ่งของจังหวัด” ผวจ.นครราชสีมา กล่าว

ทั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมายังได้เสนอตัวเป็นเมือง Smart City โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีรับผิดชอบเป็นหลัก ร่วมกับสำนักงานสถิติจังหวัด จัดทำแผน Smart City และประเมินตนเอง เสนอเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยในระยะแรก จะมีทั้งหมด ๒ ด้าน ประกอบด้วย ๑.ด้านคมนาคมอัจฉริยะ (Smart Mobility) ๒.ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) ระยะที่สอง จำนวน ๕ ด้าน ประกอบด้วย ๑.ด้านชุมชนอัจฉริยะ (Smart Living) ๒.ด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ๓.ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ๔.ด้านประชากรอัจฉริยะ (Smart People) และ ๕.ด้านการบริหารจัดการอัจฉริยะ (Smart Governance)

“นอกจากนี้ เราขอรับการประกาศตัวเป็น Mice City หรือเมืองแห่งการจัดประชุมและการสัมมนา ซึ่งจังหวัดนครราชสีมามีปัญหาในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพงานต่างๆ เช่น การประชุมใหญ่ๆ การจัดแข่งขันกีฬาระดับโลก การสัมมนาต่างๆ เนื่องจากการเดินทางใช้เวลามากเกินไป ดังนั้นจึงได้รับการปฏิเสธบ่อยครั้ง แต่ช่วงปี ๒๕๖๖-๒๕๖๗ คาดว่าปัญหาเหล่านี้จะหมดไป เพราะเรามีการคมนาคมเข้ามารองรับ ซึ่งจะเตรียมโรงแรม สถานที่ประชุม ออแกไนซ์ในการจัดงานให้ได้มาตรฐานตามหลักเกณฑ์ของทีเส็บ โดยจะมีการประเมินช่วงพฤษภาคม ๒๕๖๓-มิถุนายน ๒๕๖๔” ผวจ.นครราชสีมา กล่าว

เมืองท่าเรือบกโคราช

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า เนื่องจากรัฐบาลจัดให้มีรถไฟทางคู่ ซึ่งเป็นอีกช่องทางหลักในการจัดส่งสินค้าต่างๆ ทางจังหวัดจึงเสนอตัวให้มี Dry Port หรือท่าเรือบก ซึ่งจากการศึกษาของ สนข. เห็นว่า ควรจะมีการจัดตั้งท่าเรือบกทุกภูมิภาคของประเทศ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีที่นครราชสีมา และขอนแก่น ขณะนี้จังหวัดนครราชสีมาอยู่ในระหว่างการออกแบบ โดยที่ผ่านมามีการของบประมาณจากกระทรวงคมนาคมเพื่อทำ TOR สำหรับทำ PPP จำนวน ๓๘ ล้านบาท คาดว่าจะได้รับงบในปี ๒๕๖๓ โดยช่วงระยะปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ จะเป็นช่วงของการศึกษา และปี ๒๕๖๕ จะประกาศหาผู้ลงทุนท่าเรือบก ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาจะเป็นเมืองท่าเรือบกที่สำคัญ และมีสภาพเศรษฐกิจที่คึกคักมากขึ้นในอนาคต

‘พืชสวนโลก’กระจายความเจริญ

“จังหวัดนครราชสีมาได้เสนอตัวเพื่อเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลกในปี ๒๐๒๙ โดยเป็นการจัดงานระดับ A ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ ต.เทพาลัย อ.คง เพื่อเป็นสถานที่ในการจัดงาน มีที่ดินสาธารณะที่ไม่ถูกบุกรุกประมาณ ๑,๘๐๐ ไร่ ทั้งนี้ยังมีหลายเหตุผลว่า ทำไมไม่จัดในพื้นที่เขาใหญ่ (อำเภอปากช่อง) หรือสถานที่อื่นๆ แต่เนื่องจากว่าผมเห็นว่าจังหวัดเรามีปัญหาในเรื่องการกระจายความเจริญ หากเรานำโครงการใหญ่ๆ ไปลงได้ ปัญหาการขอแยกจังหวัด ความไม่เท่าเทียมจะน้อยลง และยังเป็นการพัฒนาพื้นที่อีกด้วย สำหรับงานพืชสวนโลกของจังหวัดนครราชสีมา จะไม่เน้นไม้ดอกไม้ประดับ แต่จะเน้นพืชสวน หรือเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้จึงอยากจะฝาก สว.ทุกท่านช่วยเป็นอีกหนึ่งเสียงในการสนับสนุนเรื่องของพื้นที่ เพื่อที่จะแก้ไขในเรื่องการกระจายความเจริญ” ผวจ.นครราชสีมา กล่าว

ขอเพิ่มงบล่ำซำ

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า ในส่วนของปัญหาอุปสรรคในการบริหารราชการ จะเป็นด้านงบประมาณ ข้อจำกัดในเรื่องของการบริหารงบประมาณ ซึ่งงบประมาณปีนี้ มีการจำกัดว่าหน่วยงานระดับอำเภอ ทำได้เพียงเรื่องของการขุดลอก เรื่องของถนนเราไม่สามารถใช้เงินยุทธศาสตร์จังหวัดให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทำได้ ขณะเดียวกันหากต้องการดำเนินการต้องให้กรมทางหลวงชนบท และทางหลวงแผ่นดินเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งแต่เดิมถนนเส้นเล็กๆ เราสามารถให้อำเภอเป็นผู้จัดซื้อจัดจ้างได้ ตนคิดว่า ข้อจำกัดตรงนี้อาจทำให้เกิดปัญหาการดูแลเรื่องถนนหนทางต่อไปในอนาคตได้ เนื่องจากหากโครงการของกรมทางหลวงชนบทเต็ม ทางอำเภอก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากทำได้เพียงแค่การขุดลอกคูคลองเท่านั้น
“ระบบงบประมาณ งบเร่งด่วนมีน้อยเกินไป แต่ละจังหวัดจะได้งบประมาณที่แตกต่างกันไป ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาได้ ๔ ล้าน แต่มีทั้งหมด ๓๒ อำเภอ เราออกจังหวัดเคลื่อนที่เดือนละ ๒ ครั้ง แต่ละครั้งเราจะพยายามใช้งบเร่งด่วนตามปัญหาที่ประสบ ซึ่งผมคิดว่าหากมีเงินล่ำซำหรือเงินก้อนใหญ่เพิ่มจากเงินที่มีอยู่ และแบ่งเป็นสัดส่วน น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด ดังนั้นหากจะให้ทางจังหวัดทำงานแทนรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ น่าจะมีงบล่ำซำมาให้อีก และมีกรอบการใช้ว่าจำเป็น หรือเร่งด่วน และมีกรรมการคอยตรวจสอบ เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี” ผวจ.นครราชสีมา กล่าว

ต้องใช้จ่ายงบตรงไปตรงมา

นายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า โดยหลักเรื่องของงบประมาณ ประเทศทั่วโลกจะไม่ถือเป็นเรื่องนโยบายค้านหรือสนับสนุน เพราะงบประมาณเป็นเรื่องที่ต้องให้ประชาชน ยังไงก็ต้องให้ผ่าน ซึ่งเป็นหลักของการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลต้องให้ผ่าน แต่หลังจากผ่านแล้วทุกคนเป็นเจ้าของพื้นที่ต้องไปดูรายละเอียด เช่น งบประมาณการศึกษาทำไมตัด ทำไมส่วนนี้ไปเพิ่ม ทำไมส่วนนี้น้อย ตรงนี้เป็นหน้าที่ของ ส.ส. และ ส.ว.ที่จะไปดูรายละเอียด 

“หากถามว่าสำคัญแค่ไหน ต้องบอกว่าสำคัญที่สุด เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้จ่ายเงิน ส่วนข้อควรระวังหรือการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องนั้น ผมคิดว่าเรื่องของงบประมาณ หัวใจของทุกสมัยคือ เรื่องคอร์รัปชั่น เพราะมีทุกระดับ ฉะนั้นหน้าที่ของกรรมาธิการงบประมาณคงไปดูถึงขนาดนั้นไม่ได้ จึงต้องอาศัยกลไก ๓ อย่าง คือ ๑.สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เป็นหน้าที่ที่ต้องตรวจระบบราชการ  ๒.ป.ป.ช. มีหน้าที่ เมื่อถูกร้องหรือถูกฟ้องว่ามีการทุจริตหรือไม่ และ ๓.บรรดาผู้แทนฯ ซึ่งจะต้องเป็นปากเสียงแทนประชาชน และต้องกำกับติดตามดู เพราะเป็นเงินภาษีอากรของพวกเราทุกคน ฉะนั้นเรื่องใหญ่ที่สุดคือ เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณอย่างตรงไปตรงมาและซื่อสัตย์สุจริต ส่วนจะให้รวดเร็วเมื่อมาถึงวุฒิสภานั้น โดยกำหนดทั้งหมดต้องเสร็จภายใน ๑๒๐ วัน  แต่วุฒิสภามีเวลาแค่ ๒๐ วันเท่านั้น ฉะนั้นวุฒิสภาไม่ได้มีอำนาจหน้าที่เหมือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภามีหน้าที่ในการพิจารณาและเสนอแนะเท่านั้น” นายวัลลภ กล่าว

รับฟังชาวปากช่อง

จากนั้น เวลา ๑๓.๓๐ น. คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนล่าง) เดินทางลงพื้นที่ บ้านเหนือ หมู่ที่ ๑๕ ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพภายใต้การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน โดยมีประชาชนและภาคส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา สหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินปากช่อง ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

โครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนล่าง) มีพื้นที่ การดำเนินงาน ๘ จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน และสื่อมวลชน รวมถึง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ สามารถเป็นเวทีที่ได้เข้ามาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยกันขับเคลื่อนประเทศตั้งแต่ระดับ ฐานราก ชุมชน สังคม และระดับประเทศ ให้พัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างสอดคล้องกันและเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความตระหนัก สำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและสังคมโดยรวม นำไปสู่สังคมที่ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสังคมที่มีความ สงบสุข ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกด้านบนพื้นฐาน ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๐ วันพุธที่ ๓๐ ตุลาคม - วันอังคารที่ ๕ เดือนพฤศจิกายน  พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 

 


854 1,494