29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

November 07,2019

เหยื่อกระทงลิขสิทธิ์พุ่ง 38 ราย รอง.ผบ.ตร. สั่งสอบเข้ม ใครเกี่ยวข้องโดนหมด

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 7 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมไทรทอง กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา พล.ต.อ วิระชัย  ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. เดินทางมาติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดีกลุ่มบุคคลอ้างเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงของ บริษัท พอส์อิงค์ จำกัด และ บริษัท ซาน-เอ็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนชื่อดัง จำนวน 25 แบบ อาทิ ริลัคคุมะ, ซูมิโกะกูราชิ, มาเมะโกมะ ฯลฯ ได้กรรโชกทรัพย์น้องอ้อม (นามสมมติ) หญิงสาวอายุ 15 ปี นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา กล่าวหาประดิษฐ์กระทงอาหารปลาละเมิดลิขสิทธิ์รูปตัวการ์ตูน “ ริ-ลัค-คุ-มะ ” หรือ “ หมีขี้เกียจ ” และ “ แมวการ์ฟิลด์ ” ได้เรียกร้องเงิน 5 หมื่นบาท เพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่มีการเจรจาไกล่เกลี่ยต่อรองเหลือ 5 พันบาท เหตุเกิดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ในพื้นที่ สภ.เมือง นครราชสีมา

ทั้งนี้นายพรเทพ  เจริญพงศ์อนันต์ ประธานสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา พร้อมทนายความอาสาได้นำผู้เสียหายรวม 38 ราย ซึ่งเคยถูกกลุ่มบุคคลดังกล่าวกระทำการกรรโชกทรัพย์ มารอพบ พล.ต.อ วิระชัย ฯ รอง ผบ.ตร พร้อม พล.ต.ต สุจินต์  นิจพาณิชย์ ผบก.ภ.จ.นครราชสีมา และ พ.ต.อ คเชนทร์  เสปุตตะ ผกก.สภ.เมือง ฯ เพื่อขอบคุณ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อำนวยความสะดวก ระดมพนักงานสอบสวนตั้งโต๊ะรับแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ส่วนใหญ่เป็นการบอกเล่าเหตุการณ์ ส่วนพยาน หลักฐานเป็นเอกสารข้อความการสนทนาในเฟสบุ๊ค ห้องส่วนตัว ระบุถูกกลอุบายให้ประดิษฐ์สิ่งของทั้งกระทงและดอกไม้รวมทั้งของชำร่วยต่างๆ ในช่วงเทศกาลสำคัญ เน้นให้มีรูปการ์ตูนเกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์และนัดส่งมอบสินค้าในเขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา ก่อนจะแสดงตนเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงและนำตัวไปดำเนินคดีในข้อหาความผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) ลิขสิทธิ์ พ.ศ 2537 ที่ สภ.เมือง นครราชสีมา ทุกรายได้เรียกเงินเพื่อแลกกับอิสรภาพตั้งแต่ 1 หมื่น ถึง 1 แสนบาท

พล.ต.อ วิระชัย ฯ รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า ขั้นตอนการสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ และกรรโชกทรัพย์ ขอให้สอบสวนในข้อเท็จจริงของพฤติเหตุ ผู้เสียหายอยู่ในฐานะผู้ให้ถ้อยคำจำเป็นต้องลำดับเหตุการณ์ เช่น ประกอบอาชีพใด ถูกจับกุมฐานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยสาเหตุใด มีพฤติการณ์ถูกจับกุมอย่างไร ต้องให้ถ้อยคำตั้งแต่การเริ่มประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ รูปแบบสินค้ารวมทั้งการเรียกร้องความเสียหายจากผู้อ้างได้รับมอบอำนาจช่วงจากเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างไร สถานที่เกิดเหตุและจุดที่ไกล่เกลี่ยยอมความ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวข้องหรือไม่ เพื่อนำประกอบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หากพบว่ามีใครเกี่ยวข้อง จะไม่ไว้ผู้ใด

"พนักงานสอบสวนจะวิเคราะห์ข้อมูลเป็นการล่อซื้อจับกุมหรือผู้ให้ถ้อยคำเคยประกอบธุรกิจสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์นานเท่าไร ประเด็นนี้ต้องสอบสวนให้เกิดความกระจ่างชัดเจน ผู้ให้ถ้อยคำต้องให้ข้อมูลตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ต้องกลัวการข่มขู่ว่าจะถูกฟ้องกลับ หากข้อมูลเป็นความจริง ก็ได้รับการปกป้องคุ้มครองและความเป็นธรรมจากการถูกละเมิดในฐานะผู้เสียหาย รวมทั้งหากทราบเบาะแสการข่มขู่ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที ทั้งนี้หากให้ข้อมูลไม่เป็นความจริง ผู้ให้ข้อมูลต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย ส่วนจะนำไปสู่การเป็นผู้กล่าวหาหรือไม่ อยู่ที่พนักงานสอบสวนพิจารณาจากพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง หากให้ข้อมูลผิดนำไปสู่การจับกุมบุคคลที่สามจะกลายเป็นละเมิดทันที ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามเมื่อประมวลข้อมูลเสร็จสิ้นครบกระบวนการและน่าเชื่อ พนักงานสอบสวนจะขออนุมัติหมายจับจากศาลจังหวัดนครราชสีมา" รอง ผบ.ตร. กล่าว

จากนั้น พล.ต.อ วิระชัยฯ ได้บรรยายในระหว่างเปิดภาพในวีดีทัศน์ว่า ล่าสุดตัวการ์ตูนที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ มี 2 ตัว คือ แมวการ์ฟิลด์ ลิขสิทธิ์ของ บริษัท พอส์อิงค์ จำกัด ( สหรัฐอเมริกา) และหมี รีลัคคุมะ ลิขสิทธิ์ของบริษัท ซาน-เอ็กซ์ จำกัด (ญี่ปุ่น) ตัวการ์ตูนของทั้งสองตัว ถูกมอบอำนาจให้บริษัท เวอริเซ็ต จำกัด ซึ่งมีนายภควรรษก์  ศรสำราญ เป็นผู้ดูแลและได้มอบอำนาจให้นายประจักษ์  โพธิผล ดำเนินการจับกุมผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์แต่ผู้เกี่ยวข้องของบริษัทต้นสังกัดซึ่งเป็นชาวต่างประเทศไม่ได้มีนโยบายดำเนินการจับกุมเช่นนี้ และนายภควรรษก์ ฯ ก็ไม่รับรู้เกี่ยวกับการจับกุมลิขสิทธิ์เช่นกัน นอกจากนี้เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2560 บริษัท ซาน-เอ็กซ์ จำกัด (ญี่ปุ่น) เจ้าของลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนหมี รีลัคคุมะ ได้มอบอำนาจให้บริษัท T.A.C Consumer แต่เพียงผู้เดียว และยังไม่มีอำนาจดำเนินการจับกุมการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเด็นนี้ต้องรอการยืนยันข้อมูลจากบริษัทต้นสังกัดที่แท้จริงจากประเทศญี่ปุ่นอีกครั้งน่าจะทราบผลในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของผู้ให้ถ้อยคำเป็นความจริงมากน้อยเพียงใด สามารถนำไปสู่การออกหมายจับกุมบุคคลใดได้หรือไม่ รอง ผบ.ตร. กล่าว ชี้แนะพนักงานสอบสวน ก่อนเริ่มรับฟังผู้เสียหายให้ถ้อยคำ

ด้านนายพรเทพ  เจริญพงศ์อนันต์ ประธานสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้จัดทนายความอาสากว่า 20 คน ช่วยตรวจสอบการร้องเรียนของผู้เสียหายรวม 38 ราย ซึ่งมีจำนวน 10 ราย เป็นคดีลิขสิทธิ์โดราเอมอนซึ่งหมดสัญญานานแล้วแต่มีการใช้วิธีการล่อซื้อโดยให้ผลิตสินค้าก่อนเรียกกรรโชกทรัพย์ภายหลัง ผู้เสียหายส่วนใหญ่ระบุถูกอุบายให้ประดิษฐ์สิ่งของในช่วงเทศกาลสำคัญ โดยเน้นให้มีรูปการ์ตูนที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ สภา ฯ เชื่อจะเร่งทำให้เป็นคดีโมเดลเอาผิด ส่วนลิขสิทธิ์ตัวอื่นๆ อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม

นายพรเทพ กล่าวถึงพฤติการณ์รายแรก เดือนมกราคมที่ผ่านมา หญิงอายุ 21 ปี โพสต์ในเฟสบุ๊ค รับทำสติกเกอร์ ต่อมามีการทักแชท ห้องส่วนตัว สั่งทำสติกเกอร์รูปโดราเอมอน ด้านล่างใส่ชื่อเล่น จำนวน 2 พันชิ้น เมื่อส่งของก็ถูกจับเรียกเงิน 7 หมื่นบาท ต่อรองเหลือ 4 หมื่นบาท รายที่สอง เดือนพฤษภาคม หญิงอายุ 17 ปี โพสต์ในเฟสบุ๊ค ต้องการหารายได้พิเศษ รับประดิษฐ์ของชำร่วย ทักแชทในห้องส่วนตัว สั่งทำดอกไม้กระดาษรูปโดราเอมอน จำนวน 10 ชุด ราคาชุดละ 100 บาท โอนเงินค่ามัดจำให้ 500 บาท ถูกเรียกเงิน 5 หมื่นบาท ต่อรองเหลือ 2 หมื่นบาท รายที่สาม เดือนสิงหาคม หญิงอายุ 39 ปี ทักแชทสั่งให้ทำแก้วเก็บความเย็นรูปโดราเอมอน จำนวน 10 อัน ผู้เสียหายสั่งสินค้ามาจากกรุงเทพ ฯ หวังกำไรส่วนต่าง ถูกเรียกเงิน 5 หมื่น ต่อรองเหลือ 3 หมื่นบาท ทุกรายยืนยันผู้สั่งซื้อและให้ผลิตสินค้าโดยเน้นรูปโดราเอมอน ใช้เฟสบุ๊ค ชื่อ วัชรินทร์  เมืองอินทร์ การนัดส่งของใช้สถานที่ข้างลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) นครราชสีมา จากนั้นได้มีกลุ่มบุคคลแสดงตนเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วง ซึ่งผู้เสียหายระบุรูปพรรณสัณฐานคล้ายกับกลุ่มบุคคลที่กรรโชกทรัพย์น้องอ้อมได้มารุมล้อมหน้าล้อมหลังและนำตัวไปดำเนินคดีในข้อหาความผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) ลิขสิทธิ์ ที่ สภ.เมือง นครราชสีมา ในระหว่างนั้นได้พูดจาทั้งขู่และปลอบรวมทั้งเรียกเงิน เพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดี การเจรจาในสถานที่ราชการ สามารถสร้างความน่าเชื่อถือและให้เหยื่อหวาดกลัว หลายรายเกรงมีปัญหาหน้าที่การงาน จึงไม่ประสงค์ลงบันทึกประจำวันหรือลงลายมือในเอกสารที่มีข้อความเกี่ยวกับการยอมความ จึงขาดพยานหลักฐานสำคัญในการดำเนินคดีตามกฎหมาย  


779 1403