November 13,2019
ผ้าไหมดี...ที่ “กลุ่มหัตถกรรมบ้านดู่” ปักธงชัย ภูมิปัญญามูลค่าหลักล้าน
“เมืองหญิงกล้า ผ้าไหมดี หมี่โคราช ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน” คำขวัญจังหวัดนครราชสีมา หรือที่เรียกกันว่า “โคราช” คำว่า “เมืองหญิงกล้า” มาจากความกล้าหาญของ “ท้าวสุรนารี” หรือ “ย่าโม” วีรสตรีที่ได้ต่อสู้กับเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ และกอบกู้เมืองโคราชให้รอดพ้นจากการยึดครองมาได้
“ผ้าไหมดี” แน่นอนว่า โคราชเป็นหนึ่งในตลาดค้าผ้าไหมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยเมืองหลวงของผ้าไหมโคราชอยู่ที่ “อำเภอปักธงชัย” ที่ซึ่งมีผ้าไหมขึ้นชื่ออยู่นับไม่ถ้วน และนอกจากผ้าไหมแล้ว โคราชยังมีผ้าทอพื้นเมืองอีกมาก ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกอำเภอ
“หมี่โคราช” เมื่อได้ยินคำนี้แล้ว ก็รู้สึกหิวขึ้นมาทันที หมี่โคราชเป็นอาหารขึ้นชื่อที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร โดดเด่นในรสชาติที่จัดจ้าน การตกแต่งที่ชวนหลงใหล และกลิ่นหอมที่เย้ายวนใจเป็นที่สุด ซึ่งปัจจุบันหาทานได้ไม่ยากนัก แต่ถ้าต้องการแบบที่เป็นดั้งเดิม ฝีมือเจ้าของรสชาติแล้วละก็...ต้องมาที่โคราชเท่านั้น
ส่วนคำขวัญวรรคที่เหลือ “ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน” ก็ที่นี่ในอดีตโน้น...เป็นที่ตั้งของเมืองขอม โดยปราสาทที่ขึ้นชื่อจะตั้งอยู่ที่ อำเภอพิมาย คือ “ปราสาทหินพิมาย” และไม่ใกล้ไม่ไกลกัน ที่ตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย มีดินที่สามารถปั้นขึ้นรูปได้อย่างสวยงาม สร้างสรรค์เป็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อย่างที่ใจต้องการได้สบายๆ ใครมาโคราชก็ต้องแวะซื้อติดไม้ติดมือกลับไปฝากครอบครัวทุกราย
เล่ามาขนาดนี้คงจะเห็นแล้วสิว่า “โคราช” มีของดีมากมายขนาดไหน แม้แต่หนุ่มโคราชเองก็ถือว่าเป็นของดีเช่นกันนะ!!! และวันนี้ผมจะพาไปทำความรู้จักกับคำขวัญวรรคที่ว่า “ผ้าไหมดี” ให้มากกว่าที่บ่นๆ ไปข้างต้น เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้มีโอกาสร่วมกิจกรรม “เส้นทางสายไหมสู่เมืองรอง” ที่จัดขึ้นโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ ภายใต้การนำทริปของนางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งวัตถุประสงค์หลักๆ เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ตลาดผ้าไหมไทยแบบต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ของประเทศ โดยเส้นทางแรกอยู่ที่อำเภอปักธงชัย โคราชบ้านเอ็งนี่แหละครับ
อย่างที่บอก...อำเภอปักธงชัยถือเป็นเมืองหลวงของผ้าไหมโคราช มีทั้งการผลิตที่เป็นรูปแบบอุตสาหกรรม และการผลิตแบบพื้นบ้าน ซึ่งการผลิตผ้าไหมแบบพื้นบ้าน มีขั้นตอนและกรรมวิธีที่ค่อนข้างมาก แต่ก็แลกมาด้วยความวิจิตรของผู้สวมใส่และผู้พบเห็น มีความประณีตมากกว่าการทำแบบอุตสาหกรรมในโรงทอผ้า นอกจากนี้ยังบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ความเป็นพื้นบ้านของแต่ละชุมชนได้อย่างดี
ในอำเภอปักธงชัย มีหลายชุมชนที่ยังสืบสานการทอผ้าไหมด้วยมืออยู่หลายแห่ง หนึ่งในนั้นก็คือ “กลุ่มหัตถกรรมผ้าไหมบ้านดู่” โดยมีนางประภาพรรณ พาภักดี อายุ ๗๒ ปี เป็นหัวหน้าและผู้ก่อตั้งกลุ่ม ซึ่ง “คุณแม่ประภาพรรณ” เล่าประวัติความเป็นมาของกลุ่มให้ผมฟังว่า การทอผ้าไหมของที่นี่มีมานานมาก “เกิดมาแม่ก็เห็นเขาทอกันแล้ว...ก็เลยไม่รู้ว่ามีมานานหรือยัง ตอนนี้แม่อายุ ๗๒ ปีแล้ว ถ้าว่ากันตรงๆ คงถึง ๑๐๐ ปีได้เลย”
ซึ่งในอดีตเมื่อปี ๒๕๔๓ ตำบลบ้านดู่ อำเภอปักธงชัย ชาวบ้านในชุมชนยังกระจัดกระจายกัน ทำมาหากินแบบตัวใครตัวมัน มีการทอผ้าไหมเป็นอาชีพหลัก โดยมีพ่อค้าคนกลางแวะเวียนเข้ามาในชุมชน เพื่อรับซื้อผ้าไหมที่ทอเสร็จเรียบร้อยแล้วไปจำหน่าย ชาวบ้านก็มีการแข่งขันกัน เกิดความไม่สามัคคีในชุมชน
“ในตอนนั้นแม่ก็เห็นว่า ชาวบ้านมักถูกพ่อค้าเอาเปรียบ แม่จึงได้คิดหาวิธีการแก้ปัญหานี้ขึ้นมา” จากนั้นในปี ๒๕๔๓ แม่ประภาพรรณก็ตั้ง “กลุ่มหัตถกรรมผ้าไหมบ้านดู่” ขึ้นมานั่นเอง
“กลุ่มหัตถกรรมผ้าไหมบ้านดู่” มีผ้าไหมที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งอย่าง ที่ในปัจจุบันพบเจอได้ค่อนข้างยากแล้ว นั่นคือ “ผ้าไหมหางกระรอก” เป็นผ้าไหมโบราณของไทย ซึ่งต้องทอด้วยความประณีตอย่างมาก มีลักษณะลวดลายที่ดูเรียบง่าย...แต่แฝงไปด้วยความวิจิตรตระการตา ผ้าชนิดนี้จะมีเอกลักษณ์ในการทอที่เรียกอีกอย่างว่า “การควบเส้น” โดยเส้นไหมของชุมชนแห่งนี้จะไม่ได้เลี้ยงตัวไหมด้วยตนเอง แต่จะรับมาจากเกษตรกรอีกทอดหนึ่ง ถือเป็นการกระจายรายได้ช่วยกลุ่มเกษตรกรอีกด้วย ซึ่งเมื่อได้มาแล้วก็เข้าสู่กระบวนการการผลิตผ้าไหม เริ่มจากมัดหมี่และย้อมไหมด้วยสีจากธรรมชาติ เช่น การย้อมจากครั่ง เพื่อให้ได้สีแดงอ่อนหรือสีชมพู จากนั้นก็นำไปขึ้นกี่เพื่อทอออกมาเป็นผ้าไหมลวดลายต่างๆ ตามที่ผู้ทอต้องการ
ถึงตรงนี้เกือบลืมไปแล้ว...กลุ่มหัตถกรรมผ้าไหมบ้านดู่ มีบุคคลที่ผมสนใจเป็นพิเศษอยู่ท่านหนึ่ง คือ ร.ต.ศิลป์ชัย ชัยช้าง อดีตข้าราชการทหารและครู ที่หลังเกษียณได้ไม่นาน ก็มาเข้าร่วมกลุ่มกับคนอื่นๆ ปัจจุบันก็ ๓ เดือนกว่าแล้ว
“การเข้าร่วมกลุ่มถือเป็นความชอบส่วนหนึ่งของครูตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อมีโอกาสจึงทำตามที่ใจตนเองต้องการ”
โดยวันหนึ่ง “ครูศิลป์ชัย” สามารถทอผ้าได้ประมาณ ๗ หลัง หากทอทั้งวันนะครับ และมีรายได้หลักหมื่นต่อเดือนด้วย โดยล่าสุดครูศิลป์ชัยได้นำผ้าไหมหางกระรอกของกลุ่มไปแสดงในงานเปิดตัวต้นแบบผลิตภัณฑ์ คอลเลคชั่น “มัดทอใจ” มรดกผ้าไทยร่วมสมัยอีกด้วย
ผมนี่มันก็คนขี้สงสัยซะด้วย ก็เลยคุยกับครูศิลป์ชัยและคุณแม่ประภาพรรณอยู่นานโขเลยทีเดียว ซึ่งเรื่องที่คุยเป็นเรื่องของการสืบสานต่อ “ปัจจุบันเด็กๆ ไม่มีคนสนใจเลย โรงเรียนในละแวกก็ไม่สนับสนุนให้เด็กมาเรียนรู้”
และอีกเรื่องก็คงหนีเรื่องเงินๆ ทองๆ ไปไม่ได้ ที่สำคัญปัจจุบันผ้าไหมของ “กลุ่มหัตถกรรมผ้าไหมบ้านดู่” ขึ้นบัญชีเป็นสินค้า GI ประจำจังหวัดนครราชสีมาไปแล้วมีการส่งจำหน่ายผ้าไหมไปยังร้านต่างๆ ในเขตอำเภอปักธงชัยและทั่วประเทศ แต่ส่วนหนึ่งก็เก็บไว้ที่กลุ่มด้วย เนื่องจากจะมีการนำสินค้าไปจัดแสดงในงานต่างๆ ตลอดทั้งปี ส่วนรายได้ของกลุ่มนั้น...คุณแม่ประภาพรรณกระซิบบอกผมว่า “หลักล้านขึ้น” ก็คงจะเป็นดั่งคำพูดของคนสมัยก่อนที่ว่า “ผ้าไหมมีค่ากว่าทองคำ” เห็นแบบนี้ผมนี่อยากไปนั่งทอผ้าเองเลยครับ!!!
เอาล่ะ...เล่ามาซะยาวทีเดียว แต่ผม “ไม่ได้โม้นะ” ใครจะไปคิดว่า การทอผ้าจะสร้างรายได้หลักล้าน วันนี้ผมและทุกคนคงต้องตระหนักถึงหัตถกรรมจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่เกิดขึ้นมานานหลายร้อยปี นำมาประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยและเสริมสร้างรายได้ให้ตนเองและชุมชน บอกไว้ก่อน...ผมจะขายของแล้วนะ สำหรับใครที่สนใจผ้าไหมหางกระรอกและผ้าไหมแบบอื่นๆ สามารถไปเยี่ยมชมได้ที่ “กลุ่มหัตถกรรมผ้าไหมบ้านดู่” ตำบลบ้านดู่ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา โทร.๐๘๓-๓๗๔-๙๐๔๖ ราคาไม่แรงเป็นกันเอง...เริ่มต้นที่หลักร้อยถึงหลักหมื่น อยากสวยอยากหล่อบอกเลย...“ห้ามพลาด”
นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นการเดินทาง “เส้นทางสายไหมสู่เมืองรอง” ของผมเท่านั้น สถานที่ต่อไปผมจะพาไปรู้จักกับอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ผ้าไหมขึ้นชื่อของจังหวัดบุรีรัมย์ แต่จะเป็นอะไรนั้น...ต้องติดตามในฉบับต่อไปนะคร๊าบบบบ
หนุ่มหน้ามนคนอีสาน
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๒ วันพุธที่ ๑๓ - วันอังคารที่ ๑๙ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๒
156 3,994