28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

November 14,2019

มทส.ผุด‘อุทยานวิทยาศาสตร์’ นิคมวิจัยแผ่นดินอีสาน บนพื้นที่กว่า ๑,๒๐๐ ไร่

มทส.เตรียมยกระดับเป็น “นิคมวิจัย” สร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคอีสาน บนพื้นที่กว่า ๑,๒๐๐ ไร่ เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ หวังเพิ่มมูลค่าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยกระดับศักยภาพทางการแข่งขันให้ประชาชน ผลักดันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่ U Space | SUT Co-Working Space อาคารสุรพัฒน์ ๑ เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มสท.) รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. พร้อมด้วยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน), มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ, มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ รวมทั้งบุคลากรเทคโนธานี มทส. ร่วมกิจกรรมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (จ.นครราชสีมา) ระหว่างวันที่ ๔-๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

ในการสัมมนาครั้งนี้ มีการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (จ.นครราชสีมา)” โดย รศ.ดร.วีระวงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. โดยมีสาระสำคัญว่า “อุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park) คือสถานที่ที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมร่วมกันของภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐบาล เพื่อออกสู่เชิงพาณิชย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่า พัฒนาผลิตภัณฑ์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่และประเทศ อุทยานวิทยาศาสตร์ นิยามสั้นๆ ได้ว่า “นิคมวิจัย” ภารกิจหลักคือ การส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน โดยจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะเสริมสร้างระบบนวัตกรรมของประเทศ นอกจากพื้นที่เช่าคุณภาพสูงและสิ่งอำนวยความสะดวก ยังมีบริการที่ตอบสนองความต้องการของธุรกิจเทคโนโลยีที่ครบวงจร” 

“มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ดำเนินงานโครงการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (จ.นครราชสีมา) เพื่อขยายเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมไปยังมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เพื่อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันอุดมศึกษา และภาคเอกชน เป็นการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานความรู้ ผลักดันให้เกิดการพึ่งตนเองทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน และยกระดับศักยภาพทางการแข่งขัน โดยเป็นการนำผลงานวิจัยมาใช้กับความอยู่ดีกินดีของคนในชาติ สร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี และยั่งยืน การปรับแปลง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อสังคมเชิงพาณิชย์ มีจุดมุ่งหมายสู่การเป็น “นิคมวิจัย” ซึ่งใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ”

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ กล่าวอีกว่า “มทส. เป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีที่สมบูรณ์แบบ มีเทคโนธานี (Technopolis) เป็นโครงสร้าง กลไก และกระบวนการดำเนินการของมหาวิทยาลัยที่เอื้ออำนวยต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือกับธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดในทุกภารกิจของมหาวิทยาลัย ทั้งการเรียนการสอน การวิจัยและพัฒนา การบริการวิชาการ การปรับแปลง ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี และมีพื้นที่ให้บริการมากถึง ๑,๒๐๐ ไร่ เป็นสถานที่ตั้งของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (จังหวัดนครราชสีมา) ภายใต้การกำกับของสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีภารกิจการให้บริการ ๕ กลุ่ม ประกอบด้วย 

๑.การให้บริการของอุทยานวิทยา ศาสตร์ (Service Platform) แก่ผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ทั้งในส่วนที่เป็นการให้บริการที่ไม่ต้องอาศัยเครื่องมืออุปกรณ์ (เช่น การบริการให้คำปรึกษา การช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์) และการบริการที่ต้องอาศัยเครื่องมืออุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการ การทดสอบ 

๒.การพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่ (Industrial Research and Technology Capacity Development Program, IRTC) เพื่อขยายการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมการผลิตทุกประเภท ด้วยการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีเข้าไปทำให้เกิดนวัตกรรมในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การจับคู่นวัตกรรมในรูปแบบของการใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคเข้าไปเป็นที่ปรึกษาในการแก้ไขปัญหาทางเทคนิค ปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมถึงการฝึกอบรม การเสาะหาเทคโนโลยีจากแหล่งต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าสู่การแข่งขันในตลาดการค้าสากลได้อย่างเข้มแข็ง 

๓.หน่วยบ่มเพาะธุรกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science Technology and Innovation Business Incubator) การให้บริการบ่มเพาะและการเร่งการเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยี (Incubation and Acceleration) เพื่อก้าวไปสู่ธุรกิจเติบสูง (Startup) ผ่านกลไกและกิจกรรมในการสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นพื้นฐานอย่างเป็นระบบและครบวงจร ตลอดจนมีการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้การวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ 

๔.การวิจัยร่วมกับภาคเอกชน (Collaborative Research) เป็นกลไกที่จะกระตุ้นให้เอกชนทำวิจัยพัฒนา ในลักษณะของการร่วมวิจัยกับมหาวิทยาลัยในเครือข่ายของอุทยานวิทยาศาสตร์ โดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่พร้อมทั้งด้านบุคลากร และเครื่องมือวิจัยของมหาวิทยาลัยและภาคเอกชนร่วมดำเนินงานพร้อมด้วยการลงทุนงบประมาณวิจัยบางส่วน ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบของการพัฒนานวัตกรรมตามกรอบแนวคิด Triple Helix รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์กับการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่อีกด้วย

๕.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Development) โดยที่ผ่านมา มีเครือข่ายอุทยานภูมิภาค ดำเนินการบริหารจัดการอุทยานวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคนั้นๆ ให้มีความเข้มแข็ง ประกอบด้วย อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่) อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ขอนแก่น) และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ (จ.สงขลา)

“อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (จ.นครราชสีมา) จะเป็นเครือข่ายอุทยานภูมิภาค (ส่วนขยาย) แห่งใหม่ โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นแม่ข่าย และมีมหาวิทยาลัยเครือข่ายภายใต้การกำกับดูแล ดังนี้ ๑.มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ๒.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ๓.มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ๔.มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ๕.มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และ ๖.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์” ซึ่งเทคโนธานี ในฐานะเป็นศูนย์การให้บริการวิชาการ ประสานงานปรับแปลง ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่ภาคการผลิตแล้ว ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อสังคมที่ส่งเสริมการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่สามารถพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ ให้สามารถพัฒนาธุรกิจของตนเอง ตั้งแต่กระบวนการบ่มเพาะธุรกิจ ไปสู่การสร้างประสบการณ์จริง และสามารถประสบความสำเร็จในธุรกิจของตนเองเคียงคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างยั่งยืน” อธิการบดี มทส.กล่าว

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๒ วันพุธที่ ๑๓ - วันอังคารที่ ๑๙ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 

 


836 1444