November 14,2019
ล้อมคอกจับละเมิดลิขสิทธิ์ สั่งเด้ง‘ผกก.ช้าง’ ๓๐ วัน จ่อเอาผิดผู้เกี่ยวข้องทุกราย
คดีล่อซื้อกระทงลิขสิทธิ์เด็กวัย ๑๕ ปี ทำพิษเด้ง ผกก. ๓๐ วัน พบผู้เสียหายจำนวนมาก รองผบ.ตร.ต้องลงมือจัดการเอง ลั่นใครเกี่ยวข้องโดนหมด ด้านเจ้าของลิขสิทธิ์ยัน ไม่ได้มอบอำนาจให้จับกุมผู้ใด “ทนายอัจฉริยะ” จ่อเอาผิดหนุ่มอ้างเป็นตัวแทนบริษัทลิขสิทธิ์พร้อมพนักงานสอบสวนที่รับเรื่อง เบื้องต้นผู้เสียหายแจ้งความ ๔ ข้อหา
ตามที่ แฟนเพจ Facebook : หมายจับกับบรรจง ได้โพสต์ข้อความว่า “เด็กสาววัย ๑๕ ทำกระทงลายการ์ตูนขายหารายได้เสริม โดนล่อซื้อจับลิขสิทธิ์ เรียก ๕ หมื่น โดยเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา มีตัวแทนบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งได้ไปแจ้งความกับตำรวจ สภ.เมืองนครราชสีมา ให้จับกุมเด็กสาววัย ๑๕ ปี หลังสืบทราบว่าได้มีการเสนอขายกระทงที่ทำจากขนมอาหารปลาผ่านทางเฟซบุ๊กเป็นรูปแบบการ์ตูนที่เป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทดังกล่าว จึงได้มีการล่อซื้อสั่งกระทงจากน้องอ้อม (นามสมมติ) ให้มาส่งที่อนุสาวรีย์ย่าโม และจับกุมนำตัวมาโรงพัก จากนั้นได้เรียกค่าเสียหายจากเด็กจำนวน ๕ หมื่นบาทเพื่อแลกกับการถอนแจ้งความ (สุดท้ายต่อรองตกลงกันที่ ๕ พันบาท) ล่าสุดจึงได้แจ้งเตือนให้ระวังการทำกระทงที่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลลอยกระทงที่ใกล้จะถึงนี้” ซึ่งกรณีนี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียล จากการทำงานของผู้อ้างตัวว่าเป็นตัวแทนบริษัทลิขสิทธิ์การ์ตูนและเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า สมควรและทำถูกกระบวนการหรือไม่
จับเด็ก ๑๕ ปีละเมิดลิขสิทธิ์
จากนั้น วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๖.๓๐ น. พ.ต.อ.คเชนท์ (ช้าง) เสตะปุตตะ ผู้กำกับ สภ.เมืองนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงกรณีดังกล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ได้มีตัวแทน บริษัท พอส์อิงค์ จำกัด และ บริษัท ซาน-เอ็กซ์ จำกัด แสดงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนชื่อดังจำนวน ๒๕ แบบ อาทิ ริลัคคุมะ, ซูมิโกะกูราชิ และมาเมะโกมะ ได้แจ้งความร้องทุกข์เป็นผู้เสียหายเจ้าของเฟซบุ๊คห้อง “อายจ๋า” ที่ได้โพสต์ขายกระทงอาหารปลารูปตัวการ์ตูน “ริลัคคุมะ” หรือที่นิยมเรียกว่า “หมีขี้เกียจ” จึงเข้าไปติดต่อสนทนาในห้องส่วนตัว เพื่อล่อซื้อกระทงจำนวน ๑๗๔ อัน ในราคาอันละ ๑๗.๒๕ บาท โดยนัดส่งของบริเวณข้างลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ด้านถนนราชดำเนิน เขตเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งเด็กสาวอายุ ๑๕ ปี นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาชื่อดังในจังหวัดนครราชสีมา ได้นำกระทงดังกล่าวมาส่งมอบให้ตัวแทนลิขสิทธิ์ และถูกเชิญตัวมารับทราบข้อกล่าวหาละเมิดลิขสิทธิ์ที่ สภ.เมืองนครราชสีมา”
สภาทนายฯ โคราชเข้าช่วยเหลือ
ต่อมา วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. นายพรเทพ เจริญพงศ์อนันต์ ประธานสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นกรณีดังกล่าวว่า “มูลเหตุของคดีสามารถยอมความกันได้ แต่พฤติการณ์จ้างให้ผู้อื่นลอกเลียนแบบสินค้าของตนแล้วมาจับเอง เสมือนชงเองกินเอง ถือเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริง โดยลำดับเหตุการณ์สืบค้นพยานหลักฐานการจ้างให้ทำกระทงที่มีตัวลิขสิทธิ์จริงหรือไม่ ตามที่กล่าวอ้างมีการสนทนากันในห้องส่วนตัวลักษณะว่าจ้าง ขณะนี้สภาทนายความฯ กำลังรวบรวมข้อมูล แต่น้องอ้อมและครอบครัวอยู่ระหว่างเดินทางไปออกรายข่าวโทรทัศน์ที่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามคดีนี้จะต้องมีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่าย เพื่อเป็นคดีตัวอย่างมิให้เกิดขึ้นอีก ส่วนที่เพจดังระบุมีผู้เสียหายในจังหวัดนครราชสีมา ๕ ราย ถูกล่อซื้อในลักษณะเช่นเดียวกันอยู่ระหว่างติดต่อประสานเหยื่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม”
ในวันเดียวกัน เวลา ๑๕.๓๐ น. พ.ต.อ.คเชนท์ เสตะปุตตะ ผู้กำกับ สภ.เมืองนครราชสีมา เปิดเผยว่า “เพิ่งทราบข่าวจากสื่อว่า มีกลุ่มบุคคลแอบอ้างโดยออกตระเวนหากินกับเหยื่อตามต่างจังหวัด ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ดังกล่าวกับบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ เพื่อให้ยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร หากเป็นจริง ถือเป็นการแอบอ้างทำให้ภาพลักษณ์ของบริษัทฯ เสียหาย การดำเนินคดีเป็นสิทธิโดยชอบของบริษัทฯ ส่วนวิธีการต่างๆ ที่เรียกเอาเงินจากเหยื่อนั้น เข้าข่ายการขู่กรรโชกทรัพย์ ค่อนข้างชัดเจนและตามที่มีเหยื่อออกมาร้องขอความเป็นธรรมเพิ่มอีก ๔ ราย โดยถูกกลุ่มบุคคลแอบอ้างเรียกรับเงิน พฤติการณ์คล้ายกับน้องอ้อมและน่าจะเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกัน จึงได้สั่งการให้พนักงานสอบสวนและเสมียนประจำวันเร่งตรวจสอบสำนวนย้อนหลังในระยะเวลา ๖๐ วัน มีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษหรือลงบันทึกประจำวันในการยอมความหรือไม่ ซึ่งตำรวจ สภ.เมืองนครราชสีมา ยินดีให้ความเป็นธรรมและอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ สามารถมาพบขอคำปรึกษาตนได้ที่ห้องทำงาน ผกก.สภ.เมืองฯ ชั้น ๒ ส่วนการล่อซื้อโดยว่าจ้างให้ทำลิขสิทธิ์ของตัวเองแล้วจับดำเนินคดีถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กำลังพิจารณาแจ้งข้อกล่าวอีกกระทง”
พบเหยื่อลิขสิทธิ์หลายพื้นที่
ด้านจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้เสียหายที่ถูกกลุ่มบุคคลอ้างว่าเป็นตัวแทนบริษัทลิขสิทธิ์ลายการ์ตูนดัง เข้าล่อซื้อจับกุมและถูกเรียกเงินรายละตั้งแต่หลักหมื่นถึงแสนบาท ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ และอำเภอใกล้เคียงจำนวน ๗ ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาวแม่ลูกอ่อน ได้หอบลูกน้อยพร้อมเอกสารหลักฐานข้อมูลการแชทผ่านโซเชียล และเอกสารที่เกี่ยวข้อง เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองบุรีรัมย์ เพื่อให้ตรวจสอบพฤติกรรมของกลุ่มแก๊งดังกล่าวที่มาล่อซื้อจับกุม
น.ส.จินตนา นุชเจริญ อายุ ๒๕ ปี ชาวบ้านหนองเก็ม ต.ไพศาล อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ หนึ่งในผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความ กล่าวว่า ตนมีลูกอายุ ๕ ขวบ ไม่ได้มีอาชีพอะไร จึงได้ทดลองสั่งเคสโทรศัพท์มือถือทางออนไลน์มาขาย ก็มีหลากหลายลวดลาย แล้วเมื่อประมาณเดือนกรกฎาคมมีหนึ่งในแก๊งดังกล่าว ทักแชทมาบอกว่า จะสั่งซื้อเคสโทรศัพท์ ๑๐ อัน ในราคา ๑,๐๐๐ บาท โดยเจาะจงว่าขอเป็นลายโดเรม่อน ตนก็หลงเชื่อสั่งเคสลายโดเรม่อนทางออนไลน์มาให้ตามที่สั่ง และเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็นัดให้ไปส่งสินค้าให้ที่หน้าโลตัสประโคนชัย ซึ่งวันนั้นได้พาลูกสาววัย ๕ ขวบไปด้วย แล้วพอดีน้องชายซึ่งเรียนอยู่ ม.รามคำแหง ก็ขอติดรถไปซื้อของด้วย
เมื่อไปถึงหน้าโลตัสจุดที่นัดส่งของให้ ก็มีกลุ่มคนทั้งชายหญิงแสดงตัวว่าเป็นตัวแทนบริษัทลิขสิทธิ์ และเจ้าหน้าที่จากกองปราบ มาจับกุมฐานขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ก็ตกใจมากทำอะไรไม่ถูก จากนั้นแก๊งดังกล่าวก็พาไปที่ สภ.ประโคนชัย แล้วเรียกค่าปรับตนเองกับน้องชายคนละ ๕๐,๐๐๐ บาท ซึ่งตนก็บอกว่าน้องชายไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วยแค่ขอติดรถมาซื้อของ แต่แก๊งดังกล่าวก็ไม่ฟัง ขู่จะเอาเงินอย่างเดียวบอกว่า ถ้าไม่จ่ายจะดำเนินคดีต้องติดคุกหลายปี ด้วยความที่ไม่รู้กฎหมายและสงสารน้องชายที่กำลังเรียนไม่อยากให้มีคดีติดตัว จึงอ้อนวอนขอให้ลดค่าปรับให้แก๊งดังกล่าวก็บอกว่างั้นขอคนละ ๒๐,๐๐๐ บาท จึงได้ยืมเงินคนในหมู่บ้านมาจ่ายให้ จากพฤติการณ์ของแก๊งดังกล่าวเชื่อว่า น่าจะไม่ถูกต้องและเข้าข่ายกรรโชกทรัพย์ จึงได้พากันมาแจ้งความให้ตรวจสอบเอาผิดตามกฎหมายและอยากได้เงินคืนด้วย
ด้านนางมลฤดี บัตรรัมย์ อายุ ๓๗ ปี ผู้เสียหายอีกราย กล่าวว่า ลูกสาวซึ่งมีลูกน้อยอายุยังไม่ถึงปี อยากจะมีรายได้เลี้ยงลูก ก็ได้โพสต์ขายแก้วเยติหรือแก้วเก็บความเย็นลวดลายต่างๆ แต่ไม่ได้มีสินค้าอยู่ในมือ หากลูกค้าคนไหนสนใจหรือสั่งซื้อก็จะไปซื้อมาให้อีกทอดหนึ่งโดยรับมาใบละ ๑๐๕ บาท ขายต่อใบละ ๑๕๐ บาท พอมีคนแชทมาสั่งว่าต้องการซื้อแก้วเยติ ๕๐ ใบ โดยเจาะจงเอาเป็นลายโดเรม่อน และวันพีซ พอถึงวันนัดส่งสินค้าแก๊งดังกล่าวก็มาชาร์ทจับ บอกว่าขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ลูกสาวก็ตกใจเพราะไม่รู้มาก่อนว่าเป็นสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้ารู้คงไม่สั่งมาขาย ที่สำคัญไม่ได้ทำเองและไม่มีสินค้าอยู่ในมือ มีลูกค้าสั่งถึงจะไปรับมาขายให้ ก็โดนเรียกเงินค่าปรับไป ๑๐๐,๐๐๐ บาท ลูกสาวบอกไม่มีเงินจึงต่อรองเหลือ ๓๐,๐๐๐ บาท โอนเข้าบัญชีให้ จากพฤติกรรมของแก๊งดังกล่าว เข้าข่ายล่อลวงให้กระทำผิดแล้วมาชาร์ทจับเพื่อต้องการเรียกเงินค่าปรับ จึงได้พาลูกสาวมาแจ้งความให้ตรวจสอบเอาผิดกับแก๊งดังกล่าว ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้รับเรื่องไว้ และจะรวบรวมข้อมูลเสนอรายงานผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนต่อไป
จับกุมตามหน้าที่
ในวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ นายประจักษ์ โพธิผล ผู้ที่จับกุมน้องอ้อม เด็กอายุ ๑๕ ปี ในคดีกระทงลายการ์ตูน ละเมิดลิขสิทธิ์ นำหนังสือมอบอำนาจจาก บริษัท เวอร์ริเช็ค จำกัด เข้าชี้แจงกับสื่อมวลชนโดยอ้างว่า บริษัทที่ตนเองทำงานอยู่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของลิขสิทธิ์ในประเทศญี่ปุ่น ให้กวดขันและปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทย โดยก่อนเข้าจับกุม นายอนันต์ กิ่งเพชร ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานกับนายประจักษ์ ได้ส่งข้อมูลของคู่กรณีให้เข้าตรวจสอบ จึงไปเปิดดูเฟซบุ๊ก พบว่า มีการลงรูปภาพตัวอย่างสินค้าที่มีตัวการ์ตูนที่บริษัทถือลิขสิทธิ์อยู่ และพบว่ามีการทำกระทงที่ละเมิดลิขสิทธิ์จริง ตั้งแต่วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๒ จึงร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนหลายวัน ก่อนเข้าจับกุมเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ แต่เมื่อพบว่าเป็นเด็กและผู้ปกครองขอเจรจาไกล่เกลี่ยจึงยอมถอนแจ้งความโดยให้เสียค่าเสียหายในการเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท
‘บ.ตัวแทนลิขสิทธิ์’โต้ไม่ได้สั่ง
ในขณะเดียวกัน บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนลิขสิทธิ์ ของบริษัท San-X ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ โดยครอบคลุมประเทศต่างๆ ดังนี้ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมาร์ ลาว และเวียดนาม บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ได้โพสต์ภาพชี้แจงว่า “ไม่ได้มอบหมายให้ผู้ใดทำการจับลิขสิทธิ์ผิดกฎหมายแต่อย่างใดตามข่าวที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งตอนนี้ทาง บริษัทฯ ได้ทำการปรึกษาฝ่ายกฎหมายและมอบหมายให้ทนายความดำเนินการสืบหาความจริงในกรณีที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ ขอยืนยันว่า เรายังมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส และยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจในอนาคต”
รอง ผบ.ตร.ลุยตรวจสอบเอง
ต่อมาวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๑.๐๐ น. ที่ห้องประชุมไทรทอง กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินทางมาติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดีกลุ่มบุคคลอ้างเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงของ บริษัท พอส์อิงค์ จำกัด และ บริษัท ซาน-เอ็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนชื่อดัง จำนวน ๒๕ แบบ พร้อมกับสั่งการมีตรวจสอบคดีอย่างเข้มงวด และหากพบมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวข้องกับคดีก็ให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด พร้อมกันนี้ นายพรเทพ เจริญพงศ์อนันต์ ประธานสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา พร้อมทนายความอาสาได้นำผู้เสียหายรวม ๓๘ ราย ซึ่งเคยถูกกลุ่มบุคคลดังกล่าวกระทำการกรรโชกทรัพย์ ได้มารอพบ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ต.สุจินต์ นิจพาณิชย์ ผบก.ภ.จ.นครราชสีมา และ พ.ต.อ.คเชนท์ เสปุตตะ ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา เพื่อขอบคุณในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและให้ข้อมูลในคดีดังกล่าว
ญี่ปุ่นยันไม่ใช่หมีรีลัคคุมะ
จากนั้น ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. นำเอกสารหลักฐานมาชี้แจง กรณีคดีกระทงละเมิดลิขสิทธิ์ต่อสื่อมวลชน หลังตัวแทนบริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นตัวแทนลิขสิทธิ์จำหน่ายสินค้าของบริษัท ซาน-เอ็กซ์ จำกัด บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น เข้าพบหารือโดยยืนยันว่า กระทงของเด็กนักศึกษาอาชีวะอายุ ๑๕ ปี ที่ จ.นครราชสีมา ไม่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากบริษัทได้ตรวจสอบรายละเอียดของกระทงแล้วพบว่า หน้าตาของกระทงไม่คล้ายกับตัวการ์ตูนหมีริลัคคุมะ แต่เป็นเพียงหมีธรรมดาเท่านั้น ส่งผลให้เด็กนักศึกษาอายุ ๑๕ ปี กลายเป็นผู้เสียหายและสามารถฟ้องร้องกลับได้
เด้ง ผกก.สภ.เมืองโคราช
ในวันเดียวกัน เวลา ๑๑.๐๐ น. พล.ต.ท.พูนทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผบช.ภาค ๓ นครราชสีมา ลงนามในคำสั่งให้ พ.ต.อ.คเชนท์ เสตะปุตตะ ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา ไปปฏิบัติหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า สำนักงานตำรวจภูธรภาค ๓ นครราชสีมา เป็นเวลา ๓๐ วัน และให้ พ.ต.อ.สนธยา แต่แดงเพชร รอง ผบก.ภ.จ.นครราชสีมา รักษาการในตำแหน่ง ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งมีมูลเหตุมาจากกระทงอาหารปลาลิขสิทธิ์ จากนั้น พ.ต.อ.สนธยา แต่แดงเพชร ได้เรียกประชุมพนักงานสอบสวนที่ห้องไทรทอง กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา เพื่อชี้แจงการดำเนินการเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานที่ปรากฏ รวมทั้งให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย การให้ถ้อยคำของผู้เสียหายต้องมีมูลเหตุและลำดับเหตุการณ์ที่ชัดเจนและสามารถพิสูจน์ได้
‘อัจฉริยะ’พาเหยื่อเข้าแจ้งความ
ล่าสุด วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ห้องสอบสวน สภ.เมืองนครราชสีมา นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้นำผู้หญิงอายุเฉลี่ย ๒๐-๓๕ ปี จำนวนนับสิบคน ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ถูกกลุ่มบุคคลอ้างเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงจากเจ้าของลิขสิทธิ์รูปการ์ตูนชื่อดังวางกลอุบายกรรโชกทรัพย์ เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษตามกระบวนการต่อพนักงานสอบสวนฯ เบื้องต้นได้สอบปากคำที่เกี่ยวข้องกับพฤติการณ์ของคดีและนัดให้ถ้อยคำเพิ่มเติม
นายพรเทพ เจริญพงศ์อนันต์ ประธานสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า บทสรุปมีผู้เสียหายจากคดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์มาขอคำปรึกษาทางกฎหมายเพิ่มอีก ๔ ราย ล่าสุดมีจำนวน ๔๔ ราย กว่าครึ่งเป็นลิขสิทธิ์เกี่ยวข้องกับโดราเอมอน กระบวนการหลังแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษ พนักงานสอบสวนจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์และแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม หากพยานหลักฐานไม่ชัดเจนจะไม่รับเป็นสำนวนคดี มิเช่นนั้นอาจเป็นการแจ้งความเท็จ
ด้านนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เปิดเผยว่า ได้นัดผู้เสียหายรายใหม่กว่า ๑๐ ราย ส่วนใหญ่ถูกกล่าวหาละเมิดลิขสิทธิ์โดราเอมอน มูลค่าความเสียหายรายละ ๒–๕ หมื่นบาท เข้ามาให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน เน้นการตรวจสอบข้อมูลของผู้เสียหายแต่ละรายถูกกระทำจากผู้รับมอบอำนาจช่วงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รวมถึงพนักงานสอบสวนที่ลงบันทึกประจำวัน ได้สอบปากคำผู้เสียหายหรือไม่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมไม่ได้ควบคุมตัวผู้ละเมิดลิขสิทธิ์มาสอบสวน แต่ปล่อยให้กลุ่มที่อ้างเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ควบคุมมาเองโดยยานพาหนะส่วนตัว ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบสวนข้อเท็จจริงรวมทั้งประสานขอข้อมูลที่เป็นเอกสารยืนยันจากบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ได้มอบอำนาจหรือไม่ หากเป็นการแอบอ้าง ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะต้องดำเนินคดีภายหลัง
สำหรับนายอนันต์ กิ่งเพชร ผู้ที่อ้างเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์โดยใช้หนังสือมอบอำนาจช่วงดำเนินการจับกุมถือมีความผิดชัดเจน เนื่องจากมีการยืนยันว่า นายอนันต์พร้อมพวกไม่มีสิทธิ์และไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัทที่ได้รับมอบอำนาจ จึงให้ผู้เสียหาย ๓ ราย แจ้งความดำเนินคดีข้อหาร่วมกันกรรโชกทรัพย์, แจ้งความเท็จ, ใช้เอกสารราชการปลอมและกักขังหน่วงเหนี่ยว ส่วนกรณีของนายประจักษ์ ยังไม่ชัดเจนอยู่ในระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากนายประจักษ์ ได้อ้างได้รับอำนาจโดยชอบ
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๒ วันพุธที่ ๑๓ - วันอังคารที่ ๑๙ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๒
891 1,596