18thApril

18thApril

18thApril

 

November 21,2019

๓ ปีทุบสะพานสีมาซ้ำซาก เสร็จมีทางลอดอย่าห่วงรถติด

รถไฟทางคู่ผ่านเมืองโคราชวุ่นไม่จบ ประชุมหาทางแก้รถติดช่วงทุบสะพานสีมาธานี-สร้างอุโมงค์ทางลอด “วิเชียร” ลั่นคนโคราชรู้ดีเรื่องเส้นทางเลี่ยง ห่วงก่อสร้างนานเกินไป ด้านบริษัทที่ปรึกษาชี้ ทั้งโครงการมีปัญหาสัญญาเดียว พร้อมยืนยันทำไม่เกิน ๓ ปี วอนคนโคราชเห็นใจ หากทุบสะพานหัวทะเลขอให้ประชาชนมีส่วนร่วมคิด

สืบเนื่องจาก ครม.อนุมัติให้มีการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา (ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย)-ชุมทางถนนจิระ (นครราชสีมา) ระยะทาง ๑๓๕ กิโลเมตร รวมทั้งสิ้น ๓ สัญญา ซึ่งสัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร (ต.จันทึก อ.ปากช่อง)-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง ๖๙ กิโลเมตร มีประเด็นการถกเถียง กรณีทุบหรือไม่ทุบสะพานสีมาธานีออกมาโดยตลอด 
จากนั้น ในวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๒ ได้มีการประชุมพิจารณาเสนอแนะรูปแบบการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ช่วงผ่านเมืองนครราชสีมา บริเวณสะพานข้ามทางรถไฟโรงแรมสีมาธานี ตามข้อ     สั่งการของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ ๒/๒๕๖๒ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ทุบสะพานสีมาธานีแล้วก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแทนนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทร โณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ประธานในการประชุม พร้อมด้วยนายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้างและนายวรรณนพ ไพศาลวงศ์ รองวิศวกรใหญ่ด้านก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีทุกภาคส่วนเข้าร่วม อาทิ นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา เขต ๑ นายวิสิทธิ์ พิทยาภรณ์ ส.ส.นครราชสีมา เขต ๑๓ นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ อดีต ส.ส.นครราชสีมา นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายเทศมนตรีนครนครราชสีมา นายเอกภพ โตมรศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลหัวทะเล นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา นายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ หัวหน้าส่วนราชการ คหบดี และประชาชนในจังหวัดนครราชสีมาประมาณ ๑๕๐ คน ร่วมรับฟังการชี้แจงรูปแบบรายละเอียดก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ และแนวทางการบริหารจัดการจราจรในช่วงที่ผ่านตัวเมืองนครราชสีมา ครั้งที่ ๒/๒๕๖๒ จากคณะที่ปรึกษาโครงการรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ

ทุบสะพานสีมาธานี

นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ในการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ได้แบ่งออกเป็น ๓ สัญญา คือ ๑.ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ๒.ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ และ ๓.งานก่อสร้างอุโมงค์ ซึ่งสัญญาที่ ๑ และ ๓ ประกวดราคาไปแล้ว ส่วนสัญญาที่ ๒ การรถไฟได้รับข้อเสนอเรื่องการยกระดับในช่วงผ่านเมือง และนายกรัฐมนตรีได้รับปากพี่น้องชาวโคราชว่า การก่อสร้างช่วงผ่านเมืองโคราชจะเป็นรูปแบบยกระดับ โดยในครั้งแรก ที่ปรึกษาโครงการได้ออกแบบเป็นการยกระดับตั้งแต่บริเวณสะพานสามแยกปักธงชัย แล้วค่อยไต่ระดับเข้าสู่สถานีรถไฟ แต่เมื่อเริ่มใส่รายละเอียดก็พบว่า มีอีกทางเลือกหนึ่ง คือ เริ่มไต่ระดับหลังจากลอดใต้สะพานสีมาธานีไปแล้ว จึงเกิดเป็น ๒ แนวทางขึ้นมา ทำให้ต้องมีการจัดประชุมเรื่อยมา กระทั่งทุกฝ่ายเห็นชอบให้ทุบสะพานสีมาธานี แล้วเลือกรูปแบบที่ให้มีการยกระดับตั้งแต่สะพานสามแยกปักธงชัย โดยวันนี้คณะที่ปรึกษาจะมานำเสนอ การจัดการจราจรในช่วงเวลาที่มีการทุบสะพานสีมาธานีออก และก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทดแทน”

เส้นทางเลี่ยงการจราจรติดขัด

นายคณพศ วชิรกำธร วิศวกรฝ่ายเอกสารสัญญา ที่ปรึกษาโครงการงานปรับแบบรายละเอียดบริเวณอำเภอสีคิ้วและตัวเมืองนครราชสีมา กล่าวว่า “จากข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นด้านการจัดการจราจร ขณะทุบสะพานสีมาธานี ในการประชุมเมื่อเดือนกันยายน คณะที่ปรึกษาโครงการฯ จึงได้จัดทำแผนการจัดการจราจร ในช่วงก่อสร้างรถไฟทางคู่ผ่านเมืองนครราชสีมา จากการที่จังหวัดนครราชสีมา มีมติให้ยกระดับทางรถไฟจากบริเวณสะพานสามแยกปัก และให้รื้อหรือทุบสะพานสีมาธานีออก โดยให้ก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทดแทน ซึ่งในช่วงที่มีการก่อสร้างนั้น การรถไฟจะจัดทำทางคู่ขนานข้างๆ สะพานสีมาธานี เป็นช่องทางไป-กลับชั่วคราว ด้านละ ๓ ช่องจราจร และเส้นทางเลี่ยงการก่อสร้าง ถนนสืบศิริและถนนเลียบนคร ส่วนบริเวณทางเท้าด้านข้าง จะมีการปรับปรุงเพื่อขยายทางจราจรเพิ่มขึ้นด้วย”

นายคณพศ วชิรกำธร กล่าวอีกว่า “ในส่วนของการบริหารจัดการจราจรในขณะก่อสร้างทางลอด เราจะเปิดให้มีจุดกลับรถบนถนนมิตรภาพทั้งสองทิศทาง ทำถนนข้ามทางรถไฟระดับพื้นดิน ปิดการจราจรรถทางตรงผ่านแยกระหว่างถนนเลียบนคร และถนนสืบศิริ เพื่อก่อสร้างทางลอด และให้รถที่มาจากถนนเลียบนครกับถนนสืบศิริเลี้ยวซ้ายเพื่อไปกลับรถบนถนนมิตรภาพ นอกจากนี้ ในส่วนทางเลี่ยงที่เราได้ศึกษาไว้ โดยผู้ที่จะผ่านเส้นทางถนนมิตรภาพบริเวณที่มีการก่อสร้าง หากมาจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าขอนแก่นก็สามารถใช้ถนนบายพาสได้เลย ส่วนคนที่มุ่งหน้าไปอีสานใต้ ในขณะนี้ถนนวงแหวนรอบเมืองก่อสร้างเสร็จแล้ว จึงสามารถใช้เลี่ยงการจราจรได้เลย ส่วนคนที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ก็สามารถเลี่ยงใช้เส้นทางอื่นๆ ในเขตเทศบาลได้ทั้งหมด เช่น ผู้ที่มาจากขาเข้าเมืองมุ่งหน้าไปแยกประโดกหรือบ้านเกาะ สามารถใช้ถนนเส้นสุระ ๒ ได้ ส่วนผู้ที่มุ่งหน้าเข้าเขตตัวเมืองมายังอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี สามารถใช้ถนนมุขมนตรี ถนนสืบศิริ หรือถนนร่วมเริงไชยไปออกบริเวณหน้าค่ายสุรนารี และในอนาคตเมื่อมอเตอร์เวย์แล้วเสร็จ ก็สามารถเลี่ยงเข้าถนนสุระ ๒ ได้ทันทีด้วย”

คาดใช้เวลา ๓ ปี

จากนั้น นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะ ต่อคณะที่ปรึกษาโครงการและการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งนายวิเชียร จันทรโณทัย ได้ซักถามด้วยว่า “สำหรับเส้นทางเลี่ยงการก่อสร้างนั้น คนโคราชน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าจะใช้ทางเลี่ยงเส้นทางใดบ้าง แต่เรื่องสำคัญคือ ในกระบวนการทุบสะพานสีมาธานีและก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดจะใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ และจัดการระบบจราจรในบริเวณนี้อย่างไร” นายคณพศ วชิรกำธร ตอบว่า “ระยะเวลาในการทุบสะพานสีมาธานีและก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทดแทนนั้น คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ ๓ ปี โดยการจราจรก็จะจัดให้มีช่องการจราจรเท่าเดิมคือ ไป-กลับ ๓ ช่องจราจร และอาจจะมีสัญญาณไฟจราจรเข้ามาช่วยด้วย เพราะรถไฟก็จะยังคงใช้งานอยู่เช่นเดิม”

สะพานแบริ่งช่วยไม่ได้

นายอรชัย ปุณณะนิธิ อดีตประธานหอ การค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ต้องการให้ที่ปรึกษาโครงการชี้แจงว่า ทำไมจึงทำสะพานแบริ่งชั่วคราวไม่ได้” ในประเด็นนี้ นายคณพศ วชิรกำธร ตอบว่า “ที่ไม่สามารถทำสะพานแบริ่งได้นั้น เราได้จำลองภาพการก่อสร้างทางรถไฟและนำสะพานแบริ่งใส่ลงไปแล้ว ปรากฏว่า ไม่มีพื้นที่ที่จะให้รถแล่นผ่านไปได้ นอกจากนี้ ในการทำสะพานแบริ่งรูปแบบโค้ง จะต้องมีคอสะพานที่เป็นคอนกรีต มีการฝังเสาเข็ม เมื่อนำสะพานแบริ่งออกและปรับพื้นผิวแล้ว ตัวเสาเข็มที่ฝังอยู่ในถนนจะทำให้เกิดเป็นผิวนูนขึ้นมา ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อการใช้รถใช้ถนนได้ และการใช้สะพานแบริ่งอาจจะทำให้ไปชนกับโครงสร้างระดับสองของทางรถไฟด้วย”
นายอรชัย ปุณณะนิธิ กล่าวอีกว่า “ในช่วงที่มีการก่อสร้างและทุบสะพานนั้น จะส่งผล กระทบต่อการจราจรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีรถไฟวิ่งผ่าน เพราะบริเวณนี้จะกลายเป็นแยกนิ้งหน่อง (ห้าแยกหัวรถไฟ) อีกแห่ง จึงต้องการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ปรับแผนการเดินรถให้สอดคล้องกับช่วงเวลาการใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนที่จะมีปริมาณรถยนต์จำนวนมาก อาจจะก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดตามมาได้”

ระยะเวลาและขั้นตอน

นายรังสรรค์ อินทรชาธร รองประธานมูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง (สว่างเมตตาธรรมสถาน) และที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนครฯ กล่าวว่า “ในระยะเวลาการทุบสะพานและก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด ต้องการให้คณะที่ปรึกษาโครงการอธิบายเป็นขั้นตอนว่าจะทำอะไรบ้าง และแต่ละขั้นตอนจะใช้ระยะเวลาเท่าไหร่” 

นายไพบูลย์ โชคไพรสิน กรรมการผู้จัดการบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า “สำหรับระยะเวลาในการดำเนินการนั้น หากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกันอาจจะแล้วเสร็จได้ในเวลาไม่เกิน ๓ ปี อย่างเช่น การก่อสร้างทางลอดที่บริเวณถนนรัชโยธินที่มีการจราจรแน่นมาก ซึ่งทุกฝ่ายต่างให้ความร่วมมือกันจึงทำให้แล้วเสร็จใน ๒ ปี แต่กรณีสะพานสีมาธานี จะต้องมีขั้นตอนในการทุบสะพานด้วย และในช่วงก่อนทุบสะพาน จะมีขั้นตอนเตรียมการในส่วนของทางเบี่ยงหรือเส้นทางต่างๆ ด้วย โดยทั้ง ๒ ขั้นตอนทั้งทุบสะพานและเตรียมการ คาดจะใช้เวลาประมาณ ๑ ปี เมื่อรวมกับขั้นตอนการก่อสร้างอุโมงค์ด้วยประมาณ ๒ ปี ดังนั้นการดำเนินการทั้งหมดก็จะใช้เวลาประมาณ ๓ ปี”

อาจจะต้องใช้เวลาถึง ๔ ปี

นายจักริน เชิดฉาย ว่าที่ผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวว่า “ตามที่ คณะที่ปรึกษาโครงการบอกว่า การทุบสะพานสีมาธานี ทำอุโมงค์ทางลอด และเตรียมการทางเบี่ยง ใช้ระยะเวลาทั้งหมดประมาณ ๓ ปี ผมสงสัยว่า อาจจะนานกว่านี้หรือไม่ เพราะครั้งที่ผู้ว่าการการรถไฟมาประชุมด้วย บอกว่าอาจจะถึง ๔ ปี เนื่องจากตรงนั้นจะมีการก่อสร้างทางรถไฟระดับ ๒ และระดับ ๓ ด้วย ดังนั้น จะต้องรวมระยะเวลานี้ด้วยหรือไม่ ไม่ว่าระยะเวลาจะนานเท่าไหร่ ผมก็ยอมรับว่า ทุบก็ทุบ เพราะทราบว่าจะมีสะพานแบริ่งมาช่วย และผมไม่อยากถูกพูดถึงว่า เป็นพวกถ่วงความเจริญ ในวันนี้ผมไม่ได้มาคัดค้าน แต่เรื่องก็ดำเนินมาถึงขนาดนี้แล้ว ไม่ว่าจะใช้ระยะเวลา ๓ หรือ ๔ ปี ขณะนี้ก็ต้องเริ่มทำได้แล้ว คณะที่ปรึกษาต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วน และผู้เข้าร่วมประชุมก็ต้องร่วมด้วยช่วยกันด้วย”

นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา เขต ๑ กล่าวว่า “ในต่างประเทศ การทำทางรถไฟ เขาเอามุดดินหมดแล้ว แต่เราเพิ่งจะมาคุยกันเรื่องทำทางคู่ จึงต้องการให้ทุกคนที่เข้าประชุมในวันนี้ ช่วยกันเสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาการจราจรในขณะก่อสร้าง ไม่ว่าจะทำ ๓ หรือ ๔ ปี คิดว่า อย่างไรโคราชต้องพบปัญหารถติดอยู่แล้ว หากคณะที่ปรึกษาต้องการให้คนโคราชช่วยอะไร อย่างไร ให้บอกกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะทุกคนพร้อมที่จะช่วยกัน ให้การดำเนินการเรื่องนี้ผ่านไปด้วยดีและรวดเร็ว”

เสนอทางเบี่ยงแก้รถติด

นายภานุ เล็กสุนทร เจ้าของแฟนเพจ korat : เมืองที่คุณสร้างได้ กล่าวว่า “สำหรับการแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงที่มีการก่อสร้างบริเวณสะพานสีมาธานี ผมต้องการเสนอให้ทำสามแยกชั่วคราว ที่บริเวณทางเข้าโครงการ City Link Condo ซึ่งถนนในโครงการก็เป็นถนนที่มีความกว้างพอสมควร รถยนต์สามารถสัญจรผ่านได้หลายคัน สำหรับคนที่จะออกจากตัวเมืองโคราชก็ให้เบี่ยงเข้าไปได้เลย และไปออกที่ถนนสุระ ๒ เชื่อมกับถนนมิตรภาพ ส่วนใครที่มาจากถนนมิตรภาพ ก็ให้เบี่ยงมาตรงบริเวณทางลงมอเตอร์เวย์ ไม่แน่ใจว่าสามารถวนรถเข้าถนนสุระ ๒ ได้โดยไม่ต้องกลับรถหรือไม่ หากไม่ต้องกลับรถก็จะส่งผลให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น และยังไม่ต้องพบการจราจรติดขัดในขณะก่อสร้างที่บริเวณสะพานสีมาธานีด้วย เรื่องนี้ขอให้กรมทางหลวงหรือตำรวจจราจรช่วยพิจารณาด้วย”

นายอนันต์ สินมานนท์ ตัวแทนสาขาพรรคอนาคตใหม่นครราชสีมา กล่าวว่า “ในการแก้ปัญหาการจราจร ต้องการเสนอให้ใช้พื้นที่บริเวณสามแยกปักธงชัย หากสามารถทำให้รถที่จะวิ่งเข้าในเมืองโคราช เบี่ยงเข้ามาทางเส้นชลประทานหรือถนนสืบศิริได้จะสามารถช่วยลดการจราจรที่ถนนมิตรภาพได้มากขึ้น”

สุรวุฒิ’ห่วงทำสี่แยกอัมพวัน

นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวว่า “ผมสับสนกับแบบการจราจรในบริเวณที่จะทำการทุบสะพานสีมาธานีว่า ถนนมุขมนตรีอยู่ตรงไหน” นายไพบูลย์ โชคไพรสิน กรรมการผู้จัดการบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด อธิบายว่า “ถนนมุขมนตรีจะยังคงเหมือนเดิม คือ ไปบรรจบที่แยกอัมพวัน ส่วนจุดที่จะเป็นสี่แยกในบริเวณที่มีการก่อสร้างคือถนนสืบศิริ โดยที่ฝั่งตรงข้ามคือถนนเลียบนคร” ซึ่งนายสุรวุฒิ เชิดชัย โต้กลับทันทีว่า “ก็ยังคงปัญหาเดิมไว้อีก หากจะจบปัญหา เราควรทำที่ถนนมุขมนตรีด้วย เพราะปัจจุบันประชาชนจะต้องอ้อมมากลับรถประมาณ ๔ กิโลเมตร ดังนั้น สามารถเชื่อมทางได้ หากแก้ปัญหาตรงนี้ได้ก็จะสามารถจบปัญหาของถนนมุขมนตรีในอดีตด้วย”

เทียบ ร.๕ สร้างทางรถไฟเพียง ๖ ปี

นายเสด็จ เขียวแดง อ้างเป็นตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า “ทางรถไฟกรุงเทพฯ-โคราชนั้น ถูกสร้างขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ ใช้เวลาในการก่อสร้างเพียง ๖ ปี แต่ปัญหาทุบสะพานสีมาธานีกลับใช้เวลาประมาณ ๓ ปี โดยเฉพาะในยุคสมัยที่มีเทคโนโลยีเช่นนี้ หากใช้เวลานานเกินไปเกรงจะไม่ได้ใช้งาน และในกรณีทุบสะพานสีมาธานีแล้วทำอุโมงค์ทางลอด รับประกันได้ไหมว่าจะไม่มีน้ำท่วม ถ้าเกิดน้ำท่วมจะมีการจ่ายค่าเสียหายหรือไม่ เมื่อทำรถไฟทางคู่เสร็จ กลัวจะไม่มีคนขึ้น เพราะทุกวันนี้ประชาชนก็นิยมใช้รถยนต์หรือรถทัวร์ในการเดินทาง ฝากการรถไฟปรับปรุงขบวนรถ มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนให้มาใช้บริการมากๆ สำหรับเรื่องการยกระดับ ถ้าเป็นไปได้ก็ต้องการให้ยกระดับในระยะ ๕.๓ กิโลเมตรด้วย”
นายนะโม สุขปราณี ประชาชน กล่าวว่า “ต้องการให้คณะที่ปรึกษาโครงการ ดูการก่อสร้างที่บริเวณแยก ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งใช้เวลาเพียง ๖ เดือน คนโคราชไม่อาจจะเลี่ยงการทุบสะพานสีมาธานีได้แล้ว ดังนั้นจะต้องดำเนินการให้รวดเร็วที่สุด อย่างเช่น ตัวอย่างการก่อสร้างของรัชกาลที่ ๕ กับปัจจุบัน และในการอ้างอิงระยะเวลาการดำเนินการจากประสบการณ์ ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควร ต้องมีการอ้างอิงจากตัวเลขและการคำนวณ ซึ่งผมยังเชื่อว่า ยุคนี้สามารถทำอะไรได้รวดเร็วกว่านี้”

เบรกที่ประชุมพูดคุยนอกประเด็น

นายรัฐกิตติ์ วัชรไพศาลสิน (ชื่อเดิม นายเรืองชัย รังสิโรจน์) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ออสซี่ อันเดอร์ วิฮิเคิ้ลส์ จำกัด ซึ่งอ้างว่า ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า “วันนี้ขอให้เสนอความคิดเห็นอย่างตรงประเด็น อย่างเช่น การก่อสร้างที่แยกถนนรัชโยธินที่พูดถึงกัน จะบอกว่าใช้เวลาทำ ๒๒-๒๔ เดือน ซึ่งเขายังไม่นับรวมกับระยะเวลาการเตรียมพื้นที่อีก ๖-๘ เดือน ส่วนที่โคราชมีกรอบที่ ๓๖ เดือน หรือ ๓ ปี ส่วนเรื่องที่สำคัญที่สุดในวันนี้คือ การมาพูดคุยกัน เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในขณะทุบสะพานสีมาธานี ส่วนคำถามเกี่ยวกับเรื่องของรถไฟ ถ้าท่านใดสงสัยให้มานั่งคุยกับผมเป็นการส่วนตัวได้ ผมจะอธิบายทั้งหมดให้ฟัง ส่วนประเด็นการนำสะพานแบริ่งมาใช้ไม่ได้เพราะว่า มีข้อจำกัดจริงๆ ส่วนประเด็นการสร้างทางรถไฟของรัชกาลที่ ๕ จริงอยู่ที่ก่อสร้างเพียง ๖ ปี เพราะในขณะนั้นเป็นเพียงการทำทางและวางไม้หมอน ซึ่งต่างจากโครงการรถไฟทางคู่ที่เรากำลังคุยกัน ที่ต้องมีการทำตอม่อสะพาน ขุดอุโมงค์ ทุบสะพาน ทำทางยกระดับ และยังมีทางรถไฟความเร็วสูงด้วย ดังนั้น ในวันนี้ ต้องการให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน พูดคุยอย่างตรงประเด็น คือการเสนอแนะเรื่องการลดปัญหาการจราจรในขณะก่อสร้างเท่านั้น อย่าเพิ่งติงเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเด็น หากมีอะไรสงสัยผมจะเล่าให้ฟังเอง มาคุยกับผมได้เลย”

แจงปม “๓ ปีนานเกินไป”

นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า “ในประเด็นเรื่องระยะเวลาการก่อสร้าง ที่คณะที่ปรึกษาพูดเสมอว่า ประมาณ เพราะในความเป็นจริงทุกการก่อสร้างนั้น ผู้ที่จะลงรายละเอียดการก่อสร้างอย่างชัดเจนคือ ผู้รับเหมา เขาจะต้องคิดวิธีที่สั้นที่สุด ยิ่งเสร็จเร็วเขาก็จะมีกำไรมากขึ้น ซึ่งหลังจากจบในกระบวนการต่างๆ แล้ว การรถไฟจะเป็นการส่งเรื่องให้ ครม.ทราบ จากนั้นจึงเป็น กระบวนการประมูลงานก่อสร้าง ผ่านระบบ e-Bidding เมื่อได้ผู้รับจ้างมาแล้ว สิ่งแรกที่จะคุยกันคือ ขั้นตอนการก่อสร้างและระยะเวลา และโจทย์ใหญ่ในวันนี้ ที่ต้องตั้งระยะเวลาไว้ถึง ๓ ปี เพราะในการดำเนินการ จะต้องสอดคล้องกับการก่อสร้างทางรถไฟ การวางตอม่อ การแก้ปัญหาจราจร ซึ่งในระยะเวลา ๓ ปี ไม่ใช่ว่าเราจะทำเพียงทุบสะพานและสร้างอุโมงค์ แต่ทั้งโครงการก็ดำเนินการไปพร้อมกัน สถานีรถไฟกับทางรถไฟอาจจะสร้างเสร็จด้วย โดย ๓ ปีที่พูดถึงทุกอย่างอาจจะแล้วเสร็จทั้งหมด สำหรับระยะเวลาการก่อสร้างจริงๆ เราอยากจะให้เสร็จภายใน ๒ ปีเหมือนทุกคน แต่เราพูดออกมาไม่ได้ เดี๋ยวพูดไปแล้วทำไม่ได้ประชาชนก็จะมาตาม หาตัวผมอีก แต่ขอรับปากว่าเราจะทำให้เต็มที่”

นายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ กล่าวเสริมว่า “ในส่วนของแผนการแก้ปัญหาจราจร ตามแบบที่จะทำนั้น คงต้องรอดูอีกครั้งว่า รายละเอียดจะมีอะไรบ้าง จึงจะสามารถกำหนดแผนให้มีความชัดเจนมากขึ้นได้ สำหรับเรื่องระยะเวลาที่ทุกคนเป็นห่วง เชื่อว่าคณะที่ปรึกษาจะนำกลับไปเป็นโจทย์ เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน ซึ่งผมเห็นด้วยกับประเด็นที่ว่า ระยะเวลา ๓ ปีทุกอย่างอาจจะแล้วเสร็จพร้อมกัน ส่วนการจะทำให้เสร็จก่อน ๓ ปี ก็เป็นเรื่องของเทคนิคทางวิศวกรรม อาจจะต้องรอฟังจากผู้รับจ้างอีกครั้ง ในข้อเสนอแนะทางเบี่ยงเพิ่มเติม แขวงทางหลวงขอยืนยันว่าสามารถทำได้ จะต้องฝากให้ตำรวจจราจรเข้ามาดูเรื่องนี้ด้วย ซึ่งทุกอย่างจะต้องรอรายละเอียดการก่อสร้าง หากทราบตรงนี้ จะสามารถตอบโจทย์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ได้ทั้งหมดแน่นอน”

ยืนยันทำไม่เกิน ๓ ปี

นายไพบูลย์ โชคไพรสิน กรรมการผู้จัดการบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด กล่าวว่า “หากในที่ประชุมยืนยันต้องการแนวทางเรื่องระยะเวลาที่แน่นอน ผมขอยืนยันว่า จะพยายามทำให้ไม่เกิน ๓ ปี ส่วนประเด็นที่ผู้ว่าการรถไฟฯ กล่าวไว้ว่า ประมาณ ๓-๔ ปี เนื่องจากเป็นการคำนวณระยะเวลาก่อสร้างทั้งสัญญา คือ ขณะนี้ทั้งโครงการมีปัญหาตรงสัญญาที่ ๒ เท่านั้น เพราะสัญญาการก่อสร้างของตรงนี้คือ ๓ ปีครึ่ง ส่วนการแก้ปัญหาบริเวณสะพานสีมาธานีคาดว่า ไม่เกิน ๓ ปี และเราจะช่วยกำชับผู้รับเหมา ให้ทำในระยะเวลาไม่เกิน ๓ ปี ดังนั้นต้องขอความเห็นใจ เพื่อทุกคนจะได้รูปแบบที่ดีที่สุดในอนาคต”

สุรวุฒิ’เตรียมตัดถนนใหม่

นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวว่า “หลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็น และแนวทางการแก้ปัญหาด้านการจราจรแล้ว เทศบาลฯ ต้องกลับไปทบทวนเส้นทางการเดินรถทั้งหมดในเขตเมืองโคราช เมื่อรูปแบบของกรมทางหลวงและการรถไฟออกมาอย่างชัดเจน เราจะดำเนินการปรับปรุงถนนให้สอดคล้องด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ของการรถไฟ หากไม่ได้ใช้งาน ก็ต้องการให้การรถไฟมอบให้เทศบาลใช้แก้ปัญหาการจราจรชั่วคราว เช่น ตัดทำถนนใหม่ขึ้นมาหรือทำจุดตัดทางรถไฟเพิ่ม หากทำได้จะทำให้การจราจรในเมืองโคราชคล่องตัวมากขึ้นด้วย ในส่วนของถนนเส้นเดิม เมื่อมีการเบี่ยงเส้นทางมาใช้งาน เทศบาลฯ จะปรับปรุงผิวถนนใหม่ ให้รถสามารถวิ่งได้อย่างคล่องตัว ซึ่งผมมั่นใจว่า หากทำ ๒ ข้อนี้ได้ จะช่วยให้การจราจรในช่วงตลอด ๓ ปีนั้น บรรเทาลงได้แน่นอน”

ห่วงทุบสะพานหัวทะเล

นายรังสรรค์ อินทรชาธร รองประธานมูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง และที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนครฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ เป็นหนึ่งในสัญญาการก่อสร้าง ซึ่งต้องการทำให้เป็นยกระดับด้วย เพื่อทางรถไฟจะได้ไม่ต้องไต่ระดับลงที่บริเวณหน้าจวนผู้ว่าฯ จะทำให้สง่างามสมกับเป็นจวนผู้ว่าฯ ด้วย และเมื่อยกระดับได้ เราก็มาคุยกันต่อว่า ในสัญญาต่อไปจะสามารถทุบสะพานหัวทะเลได้หรือไม่ เนื่องจากประชาชนบริเวณนั้นต้องลำบากมา ๒๐ ปีแล้ว ไม่มีใครสนใจพวกเขาเลย หากทุบสะพานหัวทะเลออกแล้วยกระดับทางรถไฟยาวจนออกนอกเมืองได้ ประชาชนบริเวณนั้นจะมีการทำมาหากินหรือมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วย” 
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า “ในส่วนของสะพานหัวทะเลอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทที่ปรึกษาคนละบริษัท ดังนั้น ต้องฝากให้การรถไฟไปดูเรื่องนี้ด้วย”

หวั่นเกิดปัญหาตามมา

นายเอกภพ โตมรศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลหัวทะเล กล่าวเสริมว่า “ในกรณีที่หากมีการทุบสะพานหัวทะเล ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนที่ได้รับความเสียหายหรือในบริเวณสะพานหัวทะเล ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เมื่อมีรูปแบบหรือรายละเอียดที่แน่นอน ต้องการให้คำนึงถึงปัญหาเรื่องการระบายน้ำและการจราจรที่จะส่งผลกระทบไปถึงบริเวณแยกหัวทะเล ดังนั้น หากมีเวทีพูดคุยเรื่องนี้เกิดขึ้น ต้องการให้ประชาชนมาร่วมระดมความคิดว่า เมื่อแก้ปัญหาเรื่องหนึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องอื่นตามมาหรือไม่”

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมเสร็จ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า “ในการทุบสะพานสีมาธานีและก่อสร้างทางลอดแทนนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยมีความเป็นห่วงบริเวณนี้อย่างมาก เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเนื่องทั้งโครงการ ซึ่งทุกภาคส่วนได้มีการประชุมพูดคุยกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะในวันนี้ คณะที่ปรึกษาได้นำแผนการแก้ปัญหาการจราจรขณะก่อสร้างมานำเสนอให้รับทราบ ซึ่งข้อสรุปคือ จะมีการเพิ่มช่องการจราจรเป็น ไป-กลับด้านละ ๓ ช่องจราจรข้างสะพานสีมาธานี ในส่วนของความเป็นห่วงที่ผู้เข้าร่วมประชุมได้เสนอแนะมา เรื่องของระยะเวลาการก่อสร้างนั้น เชื่อว่า การรถไฟฯ จะหาแนวทางเพื่อไม่ให้เกิน ๓ ปีได้”

 

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๓ วันพุธที่ ๒๐ - วันอังคารที่ ๒๖ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


808 1369