November 21,2019
ติวเข้ม‘ปัญหาล่อซื้อลิขสิทธิ์’ ตำรวจแนะแก้ไขกฎหมาย ลดช่องโหว่ล่อซื้อไม่เป็นธรรม
เสวนา “ปัญหาการล่อซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์” เพื่อให้ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าขาย และการปฏิบัติตัว รวมทั้งข้อสังเกตต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเมื่อมีผู้แอบอ้างเข้าตรวจยึดสินค้า ตำรวจย้ำต้องการให้แก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ลดช่องโหว่ล่อซื้อไม่เป็นธรรม
วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. มีการจัดเสวนา “ปัญหาการล่อซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์” ซึ่งเป็นความร่วมมือของหอการค้าจังหวัดนครราชสีมากรมทรัพย์สินทางปัญญา และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม หลังเกิดกรณีล่อซื้อกระทงลิขสิทธิ์เด็กหญิงอายุ ๑๕ ปี ตามที่มีการเสนอข่าวช่วงที่ผ่านมา
สำหรับการเสวนานี้ นำโดยนายวีระศักดิ์ บุญเพลิง รองประธานกรรมการฝ่ายกฎหมายและธรรมาภิบาล หอการค้าฯ นายบุญชม จันทรสถาพร อดีตอธิบดีอัยการ ภาค ๓ นางเขมะศิริ นิชชากร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา นายโสภณวิชญ์ ตันวัฒน์กิจเจริญ นิติกร กรมทรัพย์สินทางปัญญา นายครองขน มนัสวานิช ผู้พิพากษาศาลแขวงนครราชสีมา และนายพรเทพ เจริญพงศ์อนันต์ ประธานสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา ร่วมเป็นวิทยากร
นายวีระศักดิ์ บุญเพลิง รองประธานกรรมการฝ่ายกฎหมายและธรรมาภิบาล หอการค้าฯ ในฐานะผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า ด้วยปัญหาการล่อซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เป็นข่าวใหญ่และเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วประเทศในขณะนี้ว่า ผู้ค้ารายย่อย ธุรกิจ SMEs รวมถึงเด็กหรือเยาวชน ผู้ผลิตสินค้าศิลปกรรมจำหน่ายเพื่อหารายได้พิเศษในช่วงเทศกาลต่างๆ จำนวนหลายรายในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ได้ถูกแจ้งความดำเนินคดีฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ โดยกลุ่มที่อ้างว่าเป็นตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์งานศิลปกรรม และการจับกุม ดำเนินคดีกระทำโดยวิธีการล่อซื้อสินค้าด้วยวิธีการต่างๆ มีการนำตัวผู้ต้องหารวมถึงเด็กหรือเยาวชนไปเจรจากับทีมงาน ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ ณ สถานีตำรวจฯ มีการเรียกร้องค่าเสียหายที่สูงโดยที่ไม่คำนึงถึงความเสียหายที่ เกิดขึ้นแก่งานลิขสิทธิ์ การกระทำลักษณะดังกล่าวทำให้ผู้ค้ารายย่อย ธุรกิจ SMEs รวมถึงเด็กหรือเยาวชน ผู้ที่ถูกจับกุม เกรงกลัวถูกจำคุก และไม่มีหลักทรัพย์ขอปล่อยตัวชั่วคราว ต้องยินยอมตามข้อเรียกร้องเพื่อแลกกับอิสรภาพด้วยการถอนคำร้องทุกข์ โดยรัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งผู้ประกอบการรายย่อย และประชาชนยังไม่มีความเข้าใจในกระบวนการละเมิดลิขสิทธิ์
“หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา จึงร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม จัดงานเสวนา ปัญหาการล่อซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้น เพื่อเป็นโอกาสในการให้ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวแก่ประชาชน สมาชิกหอการค้าฯ ผู้เข้าร่วมงาน และเพื่อเป็นโอกาสในการให้ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าขาย และการปฏิบัติตัว รวมทั้งข้อสังเกตต่างๆ ที่เป็นประโยชน์หากมีผู้แอบอ้างเข้าตรวจยึดสินค้า และจับกุมผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และสมาชิก ผู้ประกอบการร้านค้า รวมทั้ง สมาชิกหอการค้าฯ สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติและปรับใช้กับการทำธุรกิจได้ ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นายวีระศักดิ์ กล่าว
นายพรเทพ เจริญพงศ์อนันต์ ประธานสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ความคืบหน้า คดีตัวแทนลิขสิทธิ์ล่อซื้อจับกุมเด็กอายุ ๑๕ ปี ขายกระทงการ์ตูนลิขสิทธิ์ ที่จังหวัดนครราชสีมา ล่าสุดมีผู้เสียหายจากการถูกล่อซื้อจับกุมลิขสิทธิ์เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครราชสีมา จำนวน ๕๑ รายแล้ว ขณะที่ตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา ยังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและหลักฐาน รวมทั้งสอบปากคำผู้เสียหายเพิ่มเติม จึงยังไม่ได้มีการออกหมายเรียกตัวแทนลิขสิทธิ์ เข้ามาสอบสวน และยังไม่ได้มีการออกหมายจับแต่อย่างใด โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในสัปดาห์หน้า
นางสาวเขมะศิริ นิชชากร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า การคุ้มครองลิขสิทธิ์จะคุ้มครองจากการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งงานสร้างสรรค์ตามกฎหมายลิขสิทธิ์มีทั้งหมด ๙ ประเภท หากไม่เข้าข่ายงานใดงานหนึ่งใน ๙ ประเภทก็จะไม่เรียกว่างานลิขสิทธิ์ ได้แก่ วรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งที่บันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ งานประเภทอื่นๆ ในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ และแผนกศิลปะ
“การคุ้มครองงานลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นทันทีที่สร้างสรรค์ โดยไม่ต้องจดทะเบียน ซึ่งเป็นหลักสากล ทั้งนี้ จะได้รับความคุ้มครองในประเทศภาคีอนุสัญญากรุงเบิร์นและทริปส์ด้วย ทั้งนี้ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน คือ การกระทำนั้นจะต้องไม่เป็นการกระทำที่ขัดต่อการแสวงหา ประโยชน์และไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร เช่น การศึกษาวิจัย การใช้เพื่อประโยชน์ตนเอง เสนอรายงานข่าว เพื่อประโยชน์ ในการเรียนการสอนของครูอาจารย์ ถามตอบในการสอบ การเข้าถึง งานลิขสิทธิ์ของคนพิการ การกล่าว คัด ลอก เลียน หรือการอ้างอิง ผลงานของผู้อื่นบางส่วนบางตอนการทำสำเนาของบรรณารักษ์ห้องสมุด และการจำหน่ายสินค้าลิขสิทธิ์มือสอง การทำซ้ำชั่วคราวของระบบคอมพิวเตอร์ ข้อจํากัดความรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เมื่อดำเนินการตามกฎหมาย” นางสาวเขมะศิริ กล่าว
นายบุญชม จันทรสถาพร อดีตอธิบดีอัยการ ภาค ๓ กล่าวว่า การล่อให้กระทำผิดอย่างกรณีล่อซื้อกระทงที่เป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมา โดยปกติเมื่อมีการทำแล้วจะมีการติดสติกเกอร์แสดงไว้ แต่จากกรณีที่ผ่านมาจะเป็นการต่อรอง โดยให้ติดสติกเกอร์ตามที่กำหนดไว้ให้ ซึ่งถือว่าเป็นการล่อซื้อแบบผิดกฎหมาย เนื่องจากบางครั้งอาจจะเป็นการประกาศขายกระทงธรรมดาโดยตนมองว่า กระทงเมื่อลอยไปกับน้ำ เดี๋ยวก็สลายหายไป ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาติดสติกเกอร์เป็นรูปต่างๆ แต่ครั้งนี้มีการกำหนดให้ติดสติกเกอร์เป็นรูปลิขสิทธิ์ต่างๆ จึงเรียกได้ว่าเป็นการล่อให้กระทำผิด
“หากเกิดกรณีแบบนี้ผู้รับผิดชอบที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องช่วยกันตรวจสอบ โดยเฉพาะกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพราะถือว่าเป็นการนำช่องว่างของกฎหมายมาหากินในทางไม่ชอบธรรม ดังนั้นกรมฯ จะต้องมาดูว่า กฎหมายนั้นมีช่องโหว่ตรงไหน โดยเฉพาะบทลงโทษการละเมิดลิขสิทธิ์” นายบุญชม กล่าว
ด้าน พ.ต.อ.อนันต์ พิมพ์เจริญ ผกก.กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.ภ.๓ กล่าวว่า ตนมองว่า ในเรื่องกฎหมาย อยากให้แก้ข้อกฎหมาย ซึ่งก่อนหน้าผู้ที่ตรวจสอบการจับคือพนักงานสอบสวน ซึ่งการตรวจสอบการจับกุม ควรจะตรวจสอบโดยผู้กำกับเป็นผู้ตรวจสอบการจับโดยตรง
ทั้งนี้ มีผู้ซักถามในส่วนของกรณีการล่อซื้อกระทงลิขสิทธิ์ว่า เมื่อมีการดำเนินการจับกุมแล้ว ถือว่าเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย มีการส่งพนักงานสอบสวนหรือยัง? ซึ่งพ.ต.อ.อนันต์ ชี้แจงว่า ในส่วนนี้ตนไม่ขอตอบ เนื่องจากเป็นเรื่องของกระบวนการสอบสวน
นายพรเทพ เจริญพงศ์อนันต์ ประธานสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา กล่าวทิ้งท้ายว่า เนื่องจากผู้เสียหายบางคนที่ถูกล่อซื้อละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเงินในการจ้างทนาย จึงอยากจะประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมว่าทางสภาทนายความฯ มีการจัดหาทนายให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
ด้าน พ.ต.อ.อนันต์ กล่าวว่า ต้องการให้มีการทบทวนกฎหมายบางมาตราเกี่ยวกับการจับละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะมาตรา ๖๖ ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งจะเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดกรณีการล่อซื้อกระทงละเมิดลิขสิทธิ์
ทั้งนี้ อัตราโทษการละเมิดลิขสิทธิ์ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐ บาท ถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท ถ้ากระทำเพื่อการค้า ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๖ เดือน ถึง ๔ ปี หรือปรับตั้งแต่ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ถึง ๘๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อหากำไรทาง การค้า ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๓ เดือน ถึง ๒ ปี หรือปรับตั้งแต่ ๕๐,๐๐๐ บาท ถึง ๔๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อนึ่ง หากถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ จะต้องมีการตรวจสอบหลักฐานเบื้องต้นดังนี้ ๑.ตรวจสอบหลักฐาน ดังนี้ ๑.๑.หลักฐานการแจ้งความร้องทุกข์ เนื่องจากความ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นความคิด ส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายจะต้องแจ้งความร้อง ทุกข์ตามกฎหมายก่อนจึงจะดำเนินคดีได้ ๑.๒.หลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น หลักฐานการ เป็นผู้สร้างสรรค์งาน ผู้รับโอนลิขสิทธิ์ หรือหลักฐานการได้มาซึ่ง ลิขสิทธิ์โดยวิธีอื่น ๑.๓.หลักฐานการมอบอำนาจ เช่น หนังสือมอบอำนาจ หมดอายุหรือไม่ มอบอำนาจช่วงได้หรือไม่ การมอบอำนาจช่วง ขาดสายหรือไม่ (กรณีการมอบอำนาจกระทำในต่างประเทศ ต้องมี โนตารีพับลิครับรอง และสถานทูตหรือกงสุลไทยรับรองรายมือชื่อ โนตารีพับลิคอีกชั้นหนึ่ง) เอกสารอื่นๆ ที่เป็นภาษาต่างประเทศ ต้องแปลเป็นภาษาไทย พร้อมรับรองคำแปล
๒.ตรวจสอบการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ดังนี้ ๒.๑.การตรวจค้น จับกุม จะต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมาย และต้องแสดงตน พร้อมบัตรเจ้าหน้าที่ ๒.๒.การตรวจค้นที่รโหฐานต้องมีหมายค้นของศาลมาแสดง ก่อนที่จะทำการตรวจค้น และ ๓.คดีละเมิดลิขสิทธิ์สามารถยุติคดีได้ด้วยการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความ ทั้งนี้ควรทำต่อหน้าพนักงานสอบสวน และบันทึกไว้เป็นหลักฐาน
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๓ วันพุธที่ ๒๐ - วันอังคารที่ ๒๖ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๒
932 1,679