11thOctober

11thOctober

11thOctober

 

November 28,2019

ผุด‘จูราสสิคพาร์ค’โคราช ๕๘๓ ไร่ยังไม่ชัดเจน ต้องไม่กระทบเขตป่าสงวน

ประชุมคืบหน้าการขอใช้ที่ดินสร้างอุทยานไดโนเสาร์ โคราช (Dino Park) พบแนวขอบเขตที่ดินไม่ชัดเจน แนะพิจารณาพื้นที่หากใช้กว่า ๖๐๐ ไร่ สามารถบริหารดูแลได้ครอบคลุมหรือไม่ ให้กรมป่าไม้ และ ส.ป.ก. พูดคุยกำหนดเขตให้ชัดเจน ป้องกันเกิดปัญหาภายหลัง

สืบเนื่องจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประชุมสัญจรที่จ.สุรินทร์และหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อช่วงปี ๒๕๕๖ พร้อมนำเสนอโครงการที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของจังหวัดและเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ และจังหวัดนครราชสีมาได้เสนอโครงการที่สำคัญคือ โครงการไดโนเสาร์พาร์คหรืออุทยานไดโนเสาร์ จ.นครราชสีมา โดยจะตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลสุรนารี และตำบลโคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา รวมทั้งในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ทั้ง ๒ จังหวัดนี้ได้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์หลายพันธุ์มาก และบางกลุ่มเป็นไดโนเสาร์ที่มีอายุยืนยาวมากที่สุดในโลก พบเป็นจำนวนมาก และมีความสมบูรณ์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านไดโนเสาร์จากประเทศญี่ปุ่นทำการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาตลอด และพบพื้นที่ซากไดโนเสาร์เป็นบริเวณกว้างหลายร้อยไร่ ฉะนั้นมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาจึงมีแนวคิดว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมงานด้านวิชาการในการศึกษาบรรพชีวิน จำพวกซากดึกดำบรรพ์ต่างๆ เพราะที่ จ.นครราชสีมา มีพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินอยู่แล้ว จังหวัดจึงเสนอโครงการนี้ ซึ่งขณะนี้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการแล้ว และได้มอบให้ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติศึกษารายละเอียด ซึ่งสภาพัฒน์ฯ ได้ส่งเรื่องให้จังหวัดนครราชสีมา โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาจัดทำรายละเอียดของโครงการ ในการประชุมครั้งนั้นได้เชิญภาคเอกชน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาร่วมพิจารณาโครงการซึ่งทุกภาคส่วนก็เห็นตรงกันว่า มีความพร้อมของโครงการ และเป็นการส่งเสริมงานด้านวิชาการด้วย

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๑.๓๐ น. ที่สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นประธานประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดสร้างอุทยานไดโนเสาร์ (Dino Park) โดยมี ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ และผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช, นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ เข้าร่วมประชุม

ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล กล่าวว่า ตามที่เคยมีประชุมมาแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๖ ซึ่งในขณะนั้นเราได้นำเสนอพื้นที่ โดยรวมแล้วไม่ถึง ๑๐๐ ไร่ ทั้งนี้ นายสุวัจน์มอบหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาจัดหาพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่กว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาถือว่า สำเร็จไปตามลำดับ แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะขอใช้ที่ดินได้ เนื่องจากที่ดินที่มีการเตรียมการเพื่อขอใช้เป็นไดโนพาร์คยังคงมีปัญหาเรื่องของความไม่ชัดเจนของพื้นที่ 

ผศ.ดร.ประเทือง กล่าวอีกว่า พื้นที่โครงการไดโนพาร์ค หลังจากที่มีการค้นพบราชสีมาซอรอรัส สุรนารีเอ ที่บริเวณสระน้ำของหมู่บ้านโป่งแมลงวัน ตำบลโคกกรวด อำเภอเมืองนครราชสีมา ได้ทำแผนแม่บท มีการพูดคุยกับชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านเห็นด้วยกว่า ๘๐% พื้นที่ที่ ส.ป.ก.ดูแล ซึ่งได้รับมอบมาจากกรมป่าไม้ เมื่อนำเสนอว่า เราสนใจที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ เพื่อเป็นที่ตั้งโครงการไดโนพาร์ค โดยได้ดำเนินการขอใช้ที่ดินตรงนี้ ที่ผ่านมามีการประชุมร่วมกับทางท้องถิ่น โดยนางสาวรุ่งเรือง กาญจนวัฒนา นายกเทศมนตรีตำบลเมืองใหม่โคกกรวด มีมติเห็นชอบให้ใช้ประโยชน์ที่ดินพื้นที่สวนป่าแปลงดังกล่าวเป็นอุทยานไดโนเสาร์หรือจูราสสิคพาร์คของชาวโคราช

“เราได้ลงพื้นที่อยู่หลายครั้ง โดยพื้นที่ตรงนี้เป็นปัญหา เนื่องจากมีเอกชนเข้าไปใช้ประโยชน์ ซึ่งตามจริงพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติห้วยบ้านยาง โดยกรมป่าไม้มอบให้ ส.ป.ก.ออกเอกสารสิทธิ์ แต่มีเงื่อนไขว่า หากบริเวณใดมีสภาพป่าอยู่ ให้คืน ซึ่ง ส.ป.ก.ได้ออกเอกสาร พื้นที่ที่มีสภาพป่าอยู่ก็ได้ทำการคืนป่าไม้ตามเงื่อนไข” ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล กล่าว

ผศ.ดร.ประเทือง กล่าวอีกว่า ปัญหาที่ต้องการจะขอความคิดเห็นจากผู้ที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ เนื่องจากการสำรวจของคณะกรรมการ พบว่า ขอบเขตของป่าสงวนแห่งชาติ เป็นแผนที่มาตราส่วน ๑ : ๕๐,๐๐๐ ส่วนขอบเขตของแปลง ส.ป.ก. ตามแผนที่มาตราส่วน ๑ : ๔,๐๐๐ และเป็นพื้นที่ที่คืนให้ทางกรมป่าไม้ ซึ่งพื้นที่นั้นไม่ตรงกัน เวลาขอใช้พื้นที่จะขอใช้ตามแนวของ ส.ป.ก.ไม่ได้ เนื่องจากกรมป่าไม้ไม่กล้าอนุมัติ หากเราใช้แผนที่ของกรมป่าไม้ แนวเขตของ ส.ป.ก.ก็จะเลยพื้นที่ป่าไม้เข้าไป การแก้ปัญหาเรื่องนี้จะอีกยาวนาน ซึ่งแนวคิดที่เราคาดว่าจะขอจากกรมป่าไม้ได้โดยที่ไม่กระทบต่อพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และไม่กระทบกับที่ ส.ป.ก.คือพื้นที่ที่ขอใช้ประโยชน์ในโครงการไดโนพาร์ค จำนวน ๕๘๓ ไร่ ๓ งาน ๒๓ ตารางวา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ศึกษาร่วมกับสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๘ (นครราชสีมา) โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่จัดทำแผนที่ขึ้นมาใหม่ เป็นพื้นที่ที่นำมาเสนอในที่ประชุมเพื่อขอความเห็นชอบ ซึ่งหากมีส่วนที่ไม่เห็นชอบ สามารถแจ้งกับทางจังหวัดได้โดยตรง เนื่องจากมีคณะกรรมการตรวจสอบ และสามารถนำเอกสารเพื่อแสดงสิทธิ์เพิ่มเติมได้

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า สำหรับการประชุมในวันนี้ อยากจะฝากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพิจารณาในเรื่องของพื้นที่ว่า ต้องการพื้นที่เท่าไหร่ ในจำนวนกว่า ๖๐๐ ไร่ที่เสนอมานั้น จะสามารถจัดการดูแลได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาว่า ในส่วนของการสร้างไดโนพาร์ค เราต้องการพื้นที่กี่ไร่ และ ๖๐๐ ไร่นี้ใช้ในส่วนใดบ้าง หรือจะมีการพัฒนาอย่างไรในอนาคต และประเด็นที่สองเป็นเรื่องของความชัดเจนขอบเขตที่ดิน เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจน ต้องการให้มีการประชุมพูดคุยกัน เพื่อให้มีความเห็นที่ตรงกันในเรื่องขอบเขตทั้งกรมป่าไม้ และ ส.ป.ก.เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง

ด้านผู้แทนจากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๘ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแผนที่ของกรมป่าไม้ และ ส.ป.ก.ใช้มาตราส่วนที่ต่างกัน จึงทำให้มีความคลาดเคลื่อนในเรื่องของพื้นที่ ดังนั้น จึงเห็นควรว่าจะทำเป็น One Map โดยใช้มาตราส่วนที่เท่ากันของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อให้ได้ความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด และจะมีการพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความชัดเจนทั้งสองฝ่ายตามที่นายสุวัจน์กล่าว

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๔ วันพุธที่ ๒๗ พฤศจิกายน - วันอังคารที่ ๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


877 1,549