29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

December 11,2019

ปีใหม่เปิด‘คลังไอทีวิลล่า’ ศูนย์รวมครบจบที่เดียว ‘คลังสเตชั่น’ลุยต่อแน่

คลังพลาซ่า ปรับปรุง “คลังวิลล่า” เนรมิตศูนย์อาหารเป็น   “คลังไอทีวิลล่า” ศูนย์รวมไอทีแห่งใหม่ของคนโคราช “เสี่ยเหลียง” เผยมาที่เดียวครบทุกอย่าง คาดเปิดบริการต้อนรับเทศกาล ปีใหม่นี้ ด้าน “คลังสเตชั่น” สร้างแล้ว ๔๐% ยืนยันลุยต่อแน่ แต่รอรูปแบบรถไฟทางคู่-ความเร็วสูง

ตามที่มีข่าวว่า “คลังพลาซ่า” จะมีการปรับปรุงพื้นที่บริเวณชั้น ๒ “คลังวิลล่า” ถนนสุรนารายณ์ ซึ่งเคยเป็นศูนย์อาหาร เพิ่มเป็นศูนย์รวมอุปกรณ์สินค้าไอทีที่ทันสมัยและครบวงจรมากที่สุด เช่นที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วที่ “คลังพลาซ่า จอมสุรางค์” ซึ่งเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๑.๐๐ น. “โคราชคนอีสาน” สัมภาษณ์นายไพรัตน์ (เสี่ยเหลียง) มานะศิลป์ รองประธานบริษัท คลังพลาซ่า จำกัด ได้รับการเปิดเผยว่า 

“ในส่วนของคลังไอทีวิลล่านั้น เรามีแผนในการปรับปรุงชั้น ๒ ของคลังวิลล่า โดยจะเป็นการจัดโซนใหม่ ให้เป็นศูนย์อาหารและไอที มองดูเผินๆ อาจจะไม่ต่างอะไรกับศูนย์การค้าขนาดใหญ่ แต่จุดเด่นของคลังไอทีวิลล่าคือ ขนาดที่ไม่ใหญ่มาก ‘เล็กๆ แต่ครบ’ สามารถเลือกซื้อสินค้าได้อย่างรวดเร็ว และผู้คนที่มาก็ไม่หนาแน่นเกินไป จะได้ไม่ต้องเสียเวลาหาที่จอดรถ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าได้สินค้าตามที่ต้องการโดยไม่ต้องใช้เวลานาน โดยขณะนี้ผมกำลังเร่งปรับปรุง เพื่อให้ทันภายในสิ้นปีนี้ เพื่อจะต้อนรับเทศกาลปีใหม่ คาดว่าประมาณวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๒ อาจจะแล้วเสร็จ ในส่วนของการลงทุนนั้น มีทั้งงานระบบ งานตกแต่ง ทำให้ยังไม่สามารถรวบรวมมูลค่าการลงทุนได้ว่าจะประมาณเท่าไหร่ คงต้องรอให้ปรับปรุงแล้วเสร็จก่อนจึงจะบอกได้ว่าใช้เงินไปทั้งหมดกี่บาท ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่คลังไอทีวิลล่าตั้งไว้ จะเป็นผู้คนในละแวกนี้ ส่วนใหญ่ก็คือ นักศึกษา การทำให้ร้านค้ามั่นใจเราก็ต้องหาพาร์ทเนอร์มาร่วมด้วย อาจจะทำให้เพิ่มกลุ่มเป้าหมายได้ด้วย โดยเราจะต้องทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อเดิมๆ และสื่อออนไลน์ รวมถึงการเปิดตัวโครงการด้วย”

นอกจากนี้นายไพรัตน์ มานะศิลป์ เปิดเผยต่อไปว่า ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ อาจจะยังทำอะไรไม่ได้มาก แม้จะปรับปรุงอย่างดี ก็อาจจะไม่สามารถเรียกผู้ประกอบการได้ เนื่องจากไม่ใช่จังหวะที่เหมาะกับการลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ประกอบการต่างชะลอตัวเพื่อรอดูทิศทางเศรษฐกิจ ส่วนการแข่งขันกับศูนย์การค้าขนาดใหญ่ก็อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็ไม่มาก เพราะเราเป็นห้างสรรพสินค้าไม่ใช่ศูนย์การค้า แต่โดยรวมเรามีสินค้าครบทุกแบบ แต่อาจจะไม่มีแบรนด์ดังเหมือนศูนย์การค้า ซึ่งกลุ่มเป้าหมายก็จะเป็นคนท้องถิ่น ส่วนความคืบหน้าของคลังสเตชั่นบริเวณสถานีรถไฟ ในขณะนี้ยังคงต้องชะลอการก่อสร้างไว้ก่อน แต่ยืนยันว่าทำต่อแน่นอน เพราะเราทำมาแล้วกว่า ๔๐% เพียงต้องรอแบบของการรถไฟก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าต้องสร้างออกมารูปแบบใด ซึ่งผมยืนยันสร้างต่อแน่นอน”

ทั้งนี้ “Klang Villa” ศูนย์การค้าขนาดย่อมในรูปแบบคอมมิวนิตี้มอลล์ (community mall) ของบริษัท คลังพลาซ่า จำกัด หรือห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น “คลังพลาซ่า” จังหวัดนครราชสีมา ในย่านสถาบันการศึกษา บนถนนสุรนารายณ์ อำเภอเมืองนครราชสีมา โดยนับเป็นสาขาที่ ๓ จากการขยายตัวของห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า สาขาอัษฎางค์ และสาขาจอมสุรางค์ ด้วยเงินลงทุนก่อสร้าง ๔๐๐ ล้านบาท ซึ่งในเบื้องต้นกำหนดไว้ว่า ภายใน Klang Villa ประกอบด้วย ๕ ส่วน คือ ๑. คลังมาร์เก็ต หรือซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดย่อม เป็นที่รวมของสินค้าในท้องถิ่นและสินค้าที่หาซื้อได้ยากมาไว้แห่งเดียว ๒. คลังเพลิน เป็นแหล่งเรียนรู้ จำหน่ายหนังสือ เครื่องเขียน ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของคลังพลาซ่าตลอด ๕๓ ปีที่ผ่านมา โดยจัดให้มีมุมพักผ่อน มุมนั่งอ่านหนังสือที่โปร่ง โล่งสบาย ๓. คลังแซ่บ เป็นศูนย์รวมอาหารท้องถิ่นของโคราชที่หลากหลาย และมีสีสันตกแต่งให้กลมกลืนกับคอนเซ็ปต์ของคลังวิลล่า ๔. คลังทีนโซน เป็นแหล่งช็อปปิ้ง พื้นที่ให้เช่าสำหรับสินค้าแบรนด์ดังต่างๆ และ ๕. คลังไอทีคอมพิวเตอร์ แหล่งรวมสินค้าไอที และคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย

“คลังพลาซ่า” เติบโตมาจากการขายหนังสือพิมพ์อย่างเดียว ดำเนินธุรกิจในห้องแถวเล็กๆ ๑ คูหา ต่อมาด้วยความมานะของนายไพศาล มานะศิลป์ ประธานกรรมการ บริษัท คลังพลาซ่า จำกัด จึงขยับขยายกิจการมาจำหน่ายหนังสือแบบเรียน เครื่องเขียน และอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ภายใต้ชื่อ “คลังวิทยา” เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ ริมถนนราชดำเนิน อำเภอเมืองนครราชสีมา ธุรกิจเจริญก้าวหน้าจึงเพิ่มพื้นที่ค้าขายเป็น ๔ คูหา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการดำเนินธุรกิจ จากร้าน ๔ คูหา มาเป็นห้างสรรพสินค้าอย่างเต็มรูปแบบ บริเวณถนนอัษฎางค์ เพื่อรองรับความต้องการเพิ่มมากขึ้น และเปลี่ยนชื่อเป็น “คลังวิทยา ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์” จำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภท รวมถึงศูนย์อาหารและสวนสนุก นับว่าเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของภาคอีสานที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในขณะนั้น ด้วยพื้นที่เริ่มแรกเพียง ๒,๐๐๐ ตารางเมตร หลังจากได้ผลตอบรับจากกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างล้นหลาม จึงทำการขยายพื้นที่ให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น ๘,๐๐๐ ตารางเมตร ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๙ เปลี่ยนชื่อเป็น “คลังพลาซ่า” (คลังพลาซ่า สาขาอัษฎางค์) 

ต่อมา ในปี ๒๕๓๔ มีคลังพลาซ่าแห่งใหม่เกิดขึ้นบนถนนจอมสุรางค์ยาตร์ ในชื่อ “คลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์” (คลังใหม่) ตั้งอยู่ใจกลางเมืองโคราช ห่างจากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ประมาณ ๑๐๐ เมตร ในรูปแบบห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ด้วยเนื้อที่ ๒๐,๐๐๐ ตารางเมตร ให้บริการด้วยความทันสมัยและครบวงจรที่สุดในขณะนั้น เมื่อได้รับผลตอบรับที่ดีจึงทำการ Renovate (ปรับปรุง) คลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์ ในกลางปี ๒๕๕๖ มีการปรับเปลี่ยนทั้งโลโก้ ภาพลักษณ์และรูปโฉม โดยขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นจาก ๒๐,๐๐๐ ตารางเมตร เป็น ๓๐,๐๐๐ ตารางเมตร 

ทั้งนี้ บนเส้นทางการดำเนินธุรกิจค้าปลีกต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการ โดยเฉพาะการรุกเข้ามาของกลุ่มทุนต่างถิ่น ทั้งในรูปแบบห้างสรรพสินค้า และโมเดิร์นเทรด ที่ส่งผลกระทบทั้งในทางตรงและทางอ้อม ห้วงเวลาที่ผ่านมาจึงเห็นห้างสรรพสินค้าของคนท้องถิ่นไปไม่รอดในหลายจังหวัด แต่ “คลังพลาซ่า” ก็ยังคงยืนหยัดต่อสู้ ภายหลังบิดา นายไพศาล มานะศิลป์ ผู้เป็นหัวเรือใหญ่เสียชีวิต นายไพรัตน์ (เหลียง) มานะศิลป์ ลูกชายคนโต ผู้บริหารรุ่นที่ ๒ เข้ามารับบทบาทหน้าที่รองประธานกรรมการ บริษัท คลังพลาซ่า จำกัด โดยเรียนรู้จุดแข็งและจุดอ่อนเพื่อการอยู่รอด จากการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา จัดทำ Consumer Research (การสำรวจข้อมูลลูกค้า) นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง และต่อยอดเป็น Community Mall (ศูนย์การค้าแบบเปิด) โดยการลงทุนก่อสร้าง “คลัง ๓” ภายใต้ชื่อ “คลังวิลล่า” เมื่อปี ๒๕๕๓ บนเนื้อที่ ๕ ไร่เศษ ริมถนนสุรนารายณ์ มีความทันสมัยและสวยงาม เน้นการให้บริการกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักศึกษา เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง และเปิดบริการเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๔ ซึ่งในขณะนั้นก็ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี 

ต่อมาในปี ๒๕๕๙ “คลังพลาซ่า” มีการเปิดตัวว่าจะมีการก่อสร้าง Klang Station บริเวณห้าแยกหัวรถไฟ ถนนพิบูลละเอียด บนที่ดินประมาณ ๑๗ ไร่เศษ โดยเป็นที่ดินส่วนตัวของตระกูลมานะศิลป์ประมาณ ๒.๕ ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นการเช่าจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระยะเวลาเช่า ๓๐ ปี ซึ่งภายในโครงการ Klang Station แบ่งออกเป็น ๔ โซนได้แก่ Klang Station, Klang Plearn, Klang Market, Backyard เน้นให้บริการแบบ Daily Use Dining & Lunch พื้นที่จอดรถบริเวณชั้นใต้ดินเชื่อมต่อกับถนน สามารถเข้า-ออกได้ทั้ง ๓ เส้นทางจราจร มีความกว้างขวางสะดวกสบายรองรับการให้บริการกว่า ๕๕๐ คัน โซน Klang Market เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ มีพื้นที่ใช้สอยกว่า ๒,๐๐๐ ตารางเมตร พรั่งพร้อมด้วยสินค้าและบริการที่ทันสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการ ในการจับจ่ายใช้สอยของลูกค้า อย่างครบครัน โซน Klang Plearn (ร้านหนังสือและร้านเครื่องเขียน) มีคอนเซ็ปต์ที่แตกต่าง เพียบพร้อมไปด้วยสินค้าระดับพรีเมี่ยม ออกแบบให้มีต้นแบบที่ชัดเจน เพื่อที่จะขยายธุรกิจโมเดลนี้ไปยังที่ต่างๆ อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งคลังพลาซ่า ไม่ได้ตั้งเป้าหมายเพียงการจำหน่ายสินค้าเท่านั้น แต่จะมีพื้นที่ให้ลูกค้าได้เข้ามาพักผ่อนอิริยาบถ ตกแต่งด้วยบรรยากาศของสถานีรถไฟเก่า โดยนำบ้านพักพนักงานการรถไฟ ซึ่งเป็นบ้านไม้เก่าแก่ มาตกแต่งด้วยแนวคิดสมัยใหม่ มีความเป็นเอกลักษณ์ แต่ในขณะเดียวกันก็เน้นให้มีความร่มรื่นทางธรรมชาติด้วย โดยว่าจ้างให้บริษัท คอนทัวร์ จำกัด เป็นผู้ออกแบบ แต่เมื่อเริ่มก่อสร้างไประยะหนึ่งก็ต้องชะลอไว้ โดยผู้บริหารให้เหตุผลว่า รอความชัดเจนเรื่องเส้นทางรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 

 

 ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๖ วันพุธที่ ๑๑ - วันอังคารที่ ๑๗ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


812 1444