2ndJanuary

2ndJanuary

2ndJanuary

 

December 27,2019

มทส.รับรางวัลนักวิจัยแกนนำ’๖๒ ออกแบบถนนจากวัสดุรีไซเคิล มุ่งตอบโจทย์‘ประเทศไทยไร้ขยะ’

นักวิจัย มทส.รับรางวัลและทุนสนับสนุนจาก สวทช. “นวัตกรรมออกแบบถนนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างยั่งยืน” มุ่งสู่ประเทศไทยไร้ขยะ และความปลอดภัยทางถนน พร้อมพัฒนาต้นแบบเพื่อเชิงพาณิชย์ 

ตามที่เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๒ ณ ห้องปัทมชาติ ชั้น ๒๓ โรงแรมอโนมา แกรนด์ กรุงเทพฯ รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พร้อมด้วย รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี ร่วมแถลงข่าวและลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมดำเนินการวิจัย โครงการนักวิจัยแกนนำ โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และร่วมแสดงความยินดีกับ ศ.ดร.สุขสันติ์ หอพิบูลสุข ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน มทส. หัวหน้าทีมวิจัยที่ได้รับรางวัลและทุนสนับสนุนโครงการนักวิจัยแกนนำ ภายใต้โครงการ “นวัตกรรมการออกแบบถนนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างยั่งยืน”

ศ.ดร.สุขสันติ์ หอพิบูลสุข เปิดเผยว่า นักวิจัยแกนนำไม่ได้เป็นเพียงทุนวิจัยขนาดใหญ่ แต่เป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่นักวิจัยชั้นนำของประเทศใฝ่ฝัน ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยที่ให้การสนับสนุนและแนวคิดในการดำเนินงานวิจัย กระทั่งมีโอกาสได้รับทุนในครั้งนี้  และขอขอบคุณผู้บริหาร สวทช. รวมทั้งคณะกรรมการพิจารณาทุนนักวิจัย ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของโครงการวิจัย เรื่อง “นวัตกรรมการออกแบบถนนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน” และคัดเลือกให้เป็นนักวิจัยแกนนำ ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๒ โดยโครงการวิจัยนี้ จะตอบ Flagship ด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรม ทั้งด้าน Zero Waste Thailand (ประเทศไทยไร้ขยะ) และความปลอดภัยทางถนน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรมการประยุกต์ใช้วัสดุรีไซเคิลเป็นวัสดุทำถนนที่มีความมั่นคง แข็งแรง โดยจะมุ่งเน้นให้เกิดการนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงเชิงพาณิชย์ ตามนโยบายอย่างยั่งยืนของชาติ  จะมีการวิจัยทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและในสนาม  การสร้างมาตรฐานวัสดุ การทดสอบ และการออกแบบถนน รวมถึงการสร้างโรงงานต้นแบบ เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้จะใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการ ๕ ปี 

ถนนเป็นโครางสร้างพื้นฐานที่จำเป็นยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศใน ๒๐ ปีข้างหน้า จากการคาดคะเนของกระทรวงคมนาคม ในปี พ.ศ.๒๕๖๓  ความต้องการเดินทางและการค้าจะมีมากถึง ๓.๐๗ ล้านคนต่อเที่ยวต่อวัน โครงข่ายของประเทศ ซึ่งรวมทั้งถนนกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และเทศบาล มีความยาวถึง ๔๖๖,๗๗๐ กิโลเมตร และมีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น หากสามารถสร้างถนนให้มีความคงทนแข็งแรง ก็จะช่วยลดงบประมาณในการซ่อมบำรุงถนน และลดอุบัติเหตุทางถนน ได้อย่างมีนัยสำคัญ  นอกจากนี้  หากสามารถนำวัสดุรีไซเคิล มาใช้ในการก่อสร้างถนนได้ ก็จะช่วยลดปริมาณขยะ และลดปริมาณการใช้วัสดุธรรมชาติได้อย่างมีนัยสำคัญ 

โดยถนนประกอบด้วยผิวทางและโครงสร้างทาง ดังนั้น ความมั่นคงแข็งแรงของถนนจึงขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของทั้งผิวทางและโครงสร้างทาง ซึ่งอยู่ใต้ผิวทาง ในส่วนของผิวทาง (ถนนคอนกรีตและถนนลาดแอสฟัลติกคอนกรีต) งานวิจัยนี้จะเสริมความแข็งแรงด้วยการเติมสารผสมเพิ่ม พวกโพลิเมอร์และไฟเบอร์ ขณะที่ในส่วนของโครงสร้างทาง งานวิจัยนี้จะประยุกต์ใช้วัสดุรีไซเคิล เป็นวัสดุโครงสร้างทางแทนวัสดุธรรมชาติ ได้แก่ หินคลุกและดินลูกรัง วัสดุรีไซเคิลที่จะใช้ในงานวิจัยนี้  ได้แก่ เศษขวดพลาสติก เศษแอสฟัลติกคอนกรีต เศษคอนกรีต และตะกรันเหล็ก 

เนื่องจากวัสดุดังกล่าวเป็นวัสดุที่มีความแตกต่างจากมาตรฐานของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท จึงไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างแพร่หลาย ดังนั้น หากต้องการให้วัสดุดังกล่าวนี้สามารถนำมาประยุกต์ได้จริง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการศึกษาอย่างครบวงจร ซึ่งประกอบด้วย การทดสอบคุณสมบัติพลวัตของวัสดุผิวทางและวัสดุรีไซเคิล ในห้องปฏิบัติการ การทดสอบพฤติกรรมของถนนจริง การสร้างมาตรฐานวัสดุ มาตรฐานทดสอบ และมาตรฐานก่อสร้าง และการสร้างโรงงานย่อยวัสดุรีไซเคิลต้นแบบ

“ผมคิดว่าเมื่อโครงการวิจัยนี้ประสบความสำเร็จ เราจะได้ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง มีผล กระทบสูง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมมหาวิทยาลัยไทยก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก และที่สำคัญได้มาตรฐานวัสดุ มาตรฐานก่อสร้าง และมาตรฐานการออกแบบ รวมถึงการสร้างธุรกิจใหม่ในการประยุกต์ใช้วัสดุรีไซเคิลในงานวิศวกรรมถนนของไทย ตอบโจทย์ทั้ง Zero Waste Thailand และความปลอดภัยทางถนนในที่สุด” ศ.ดร.สุขสันติ์ กล่าวท้ายสุด

 

 

 ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๘ วันพุธที่ ๒๕ - วันอังคารที่ ๓๑ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


920 1,591