January 07,2020
แกะสลักหิมะชิงแชมป์โลกวันสุดท้าย แชมป์เก่าอาชีวะอุบลฯ ต้องแกะป้องกันหิมะถล่ม
ทีมแกะสลักหิมะแชมป์ 2 สมัยจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ตัดสินใจปรับกระบวนการแกะสลัก ป้องกันก้อนหิมะถล่ม เพราะความควบแน่นไม่ได้ที่ โดยเน้นให้ 4 นักศึกษา ซึ่งเป็นเยาวชนช่างทำต้นเทียนพรรษาเมืองดอกบัวดีกรีรองแชมป์การประกวดต้นเทียนพรรษาปีที่ผ่านมา โชว์ลวดลายความอ่อนช้อยจากศิลปะต้นเทียนสู่สังเวียนแกะก้อนหิมะ เพื่อกำชัยชนะ
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเข้าร่วมแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติของทีมนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ซึ่งเป็นอดีตแชมป์เก่า 2 สมัย และปีนี้รังสรรค์ผลงานภายใต้ชื่อ "พลังแห่งความสามัคคี” Unity is Strength ของสัตว์ป่าหิมพานต์ ณ มหาวิทยาลัยวิศวกรรมฮาร์บิ้น มณฑลเฮย์หลงเจียง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 4-7 มกราคม 2563
โดยการสร้างสรรค์ผลงานวันนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการแข่งขัน ทีมนักแกะสลักจากประเทศไทย จะต้องสร้างผลงานให้ครบถ้วนสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ภายในเวลา 20.00 น. เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาให้คะแนน จากผู้เข้าแข่งขันทั้งสิ้นรวม 55 ทีมจากเกือบ 20 ประเทศ
โดยผลงานที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ส่งเข้าร่วมแข่งขันภายใต้ชื่อ "พลังแห่งความสามัคคี” Unity is Strength ของสัตว์ป่าหิมพานต์นั้น มีการสร้างเค้าโครงเรื่องของโลกจินตนาการของกลุ่มสัตว์ที่อยู่ในแดนป่าหิมพานต์ ได้แก่ ไกรสรคชสิงห์ คชสิงห์วารี เหรา สกุณาเหรา วันหนึ่งมีสัตว์ตัวหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากการถูกลูกศรของนายพรานที่ลอบเข้ามาทำร้าย
เพื่อนในกลุ่มที่มีพละกำลังแข็งแรงกว่า จึงได้เข้าช่วยเหลืออย่างไม่รีรอ ด้วยจิตใต้สำนึกแห่งสัญชาติญาณที่ดี จึงได้บังเกิดความช่วยเหลือกันขึ้น ด้วยความงดงาม ควรค่าอย่างยิ่งที่จะปลูกฝังให้เกิดขึ้นในจิตใจของสังคมมนุษย์โลกในปัจจุบัน อันจะส่งผลให้โลกของเราอยู่อย่างกัลยาณมิตร สงบสุข ร่มเย็น ตลอดไป โดยผลงานได้คืบหน้าไปกว่าร้อยละ 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่ต้องมีการปรับกระบวนการแกะสลักบางจุด เพื่อป้องกันก้อนหิมะพังทลาย
นายสุระชาติ พละศักดิ์ ครูผู้ฝึกสอนของทีมวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี เปิดเผยว่า การสร้างสรรค์ผลงานในปีนี้ นอกจากใช้ลวดลายไทยที่มีความอ่อนช้อย และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสัตว์แต่ละตัวในป่าหิมพานต์ ยังมีความยากของชิ้นงานอยู่ที่การเจาะทะลวงตรงกลางก้อนหิมะ เพื่อเชื่อมโยงกายภาพของสัตว์ในดินแดนป่าหิมพานต์ในแต่ละตัว ซึ่งต้องใช้องค์ประกอบการแกะสลักหลายอย่าง เช่น การเจาะทะลวงก้อนหิมะ แต่ก็พบอุปสรรคเล็กน้อยเกี่ยวกับก้อนหิมะที่บางจุดยังมีความควบแน่นของก้อนหิมะไม่ดีพอ จึงได้ปรับรูปแบบที่จะแกะสลักเล็กน้อย เพื่อป้องกันการแตกหักและพังทลายของก้อนหิมะ แต่อย่างไรก็ตามทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี
นอกจากมีการปรับกระบวนการแกะสลักกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น คณะครูผู้ฝึกสอนยังเน้นสร้างกำลังใจให้กับนักศึกษาที่เข้าร่วมแข่งขันของปีนี้ทั้ง 4 คน ที่เรียกตัวเองว่า "ช่างเทียนมีดคัทเตอร์" เพราะนักศึกษาทั้ง 4 คนเป็นเยาวชนที่มีพื้นฐานมาจากช่างแกะสลักเทียนของคุ้มวัดต่างๆของจังหวัดอุบลราชธานี โดยเฉพาะนายอำพล หรือน้องฟ้าลั่น ธรรมทอง นักเรียน ปวช.1 สาขาวิชาวิจิตรศิลป์ ซึ่งเป็นน้องเล็กที่สุดของทีม แต่มีดีกรีเป็นทีมช่างแกะสลักต้นเทียนพรรษาระดับรองชนะเลิศการแข่งขันต้นเทียนพรรษาปี 2562 ที่ผ่านมา
จึงให้เยาวชนนักศึกษาทั้ง 4 คน ได้แสดงฝีมือการใช้ลวดลายไทย ซึ่งเป็นลวดลายหลักในการใช้แกะสลักต้นเทียนพรรษา เพื่อสร้างผลงานออกมาให้วิจิตรงดงามบวกความอ่อนช้อย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของลวดลายไทยให้นักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวต่างประเทศที่เข้าร่วมแข่งขัน และเดินเข้ามาแวะชมได้ตื่นตะลึงไปกับฝีมือของคนไทยครั้งนี้
สำหรับการประกาศผลการแข่งขันคาดจะทราบผลไม่เกิน 16.00 น.ของวันที่ 7 มกราคม 2563 ตามเวลาของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
873 1,549