January 09,2020
ข่าววุ่นวายแห่งปี 62 “ทุบ & ไม่ทุบ” สะพานสีมาธานี ยืดเยื้อเกือบ ๒ ปี กว่าจะตกลง
ต้อนรับเปิดศักราชใหม่ ๒๕๖๓ “โคราชคนอีสาน” ขอนำเสนอสุดยอดข่าวฮิตประจำโคราช จากการสำรวจแล้วพบว่า ข่าวกรณีทุบหรือไม่ทุบสะพานสีมาธานี เป็นข่าวที่มีผู้คนให้ความสนใจมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา เนื่องจากประเด็นดังกล่าวค่อนข้างเป็นที่ถกเถียงกันไปมาอย่างยืดเยื้อ และเพิ่งจะได้ข้อสรุปอย่างชัดเจนเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา วันนี้ ‘โคราชคนอีสาน’ จะพาย้อนรอยไปตั้งแต่แรกเริ่มโครงการรถไฟทางคู่ ที่หลายๆ คนคาดหวังว่า จะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงเมืองโคราช
พ.ศ.๒๕๖๓ ปีที่คาดว่า จะมีการเริ่มต้นการก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์อย่าง โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ซึ่งมีทั้งหมด ๓ สัญญา โดยเฉพาะช่วงผ่านเมืองโคราช ที่มีการถกเถียงกันนานเกือบ ๒ ปี “ทุบ-ไม่ทุบสะพานสีมาธานี” อยู่ในสัญญาที่ ๒ (คลองขนานจิ-ชุมทางจิระ) ซึ่งในที่สุดก็ได้คำตอบท่ามกลางคำถามของประชาชนที่ว่า “เมื่อไหร่จะเริ่มสักที...มัวแต่ทะเลาะกันอยู่นั่นแหละ”
เริ่มจาก เมื่อปี ๒๕๕๙ ครม. มีมติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการโครงการก่อสร้างรถทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ แต่เดิมช่วงผ่านเมืองโคราชจะไม่ยกระดับ ทำให้มีกลุ่มที่อ้างตัวว่า เป็นกลุ่มนักธุรกิจและการเมือง เรียกร้องให้ รฟท.ยกระดับทางรถไฟช่วงผ่านเมืองโคราชและสีคิ้ว โดยให้เหตุผลว่า “ไม่ต้องการแบ่งแยกชุมชนออกเป็นสองฝั่งและกังวลจะเกิดผลกระทบด้านการจราจร”
ต่อมาไม่นาน ในปี ๒๕๖๐ รัฐบาล คสช.เดินทางมาประชุม ครม.สัญจรที่โคราช กลุ่มนักธุรกิจและการเมืองผู้เรียกร้อง ได้เข้าพบ “ลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้โครงการรถไฟทางคู่ยกระดับช่วงผ่านตัวเมือง และในที่สุดความพยายามของพวกเขาก็สำเร็จ เมื่อ “ลุงตู่” ลั่นวาจาว่า “ได้...เดี๋ยวยกให้”
แน่นอนว่า คำพูดสั้นๆ คำเดียว สามารถเปลี่ยนทุกอย่างได้ในพริบตา เพราะ รฟท.ยอมยกระดับรถไฟทางคู่ช่วงผ่านเมืองโคราชด้วยระยะทางกว่า ๕ กิโลเมตร แต่แล้วฝันของกลุ่มนักธุรกิจและนักการเมืองก็ต้องมอดลงอีกครั้ง เมื่อเดือนกันยายน ปี ๒๕๖๑ ที่ปรึกษาโครงการฯ และ รฟท.บินลัดฟ้าเข้าพบ “วิเชียร จันทรโณทัย” ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเสนอแบบก่อสร้างใหม่ที่ว่า “ไม่จำเป็นต้องทุบสะพานสีมาธานี โดยจะยกระดับหลังลอดใต้สะพานไปแล้ว”
จากการเสนอแบบก่อสร้างใหม่ ทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากกลุ่มประชาชนในพื้นที่สะพานสีมาธานี นักธุรกิจและนักการเมือง โดยเฉพาะนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา “สุรวุฒิ เชิดชัย” ที่ทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจ เรียกร้องให้ รฟท.ทุบสะพานสีมาธานีเหมือนเดิม โดยอ้างว่า “เศรษฐกิจแถวนี้จะได้ดีขึ้น” ทำให้เกิดเสียงครหาจากคนโคราชว่า “เศรษฐกิจหรือราคาที่ดินของคนแถวนั้นที่ดีขึ้นกันแน่?” นั่นจึงกลายเป็นที่มาของการถกเถียงกันยาวนานเกือบ ๒ ปี ว่าแท้จริงแล้ว คนโคราชต้องการให้ “ทุบหรือไม่ทุบสะพานสีมาธานี” กันแน่
ต่างฝ่ายต่างหยิบยกเหตุผลมาสู้กันในที่ประชุม ที่เรียกได้ว่า “ประชุมแล้วประชุมอีก” โดยฝ่ายหนึ่งอ้างว่า “หากทุบจะต้องก่อสร้างนานกว่า ๓ ปี ทำให้โคราชรถติดแบบสาหัส” แถมงบประมาณบานปลายไปถึง ๑๑,๕๑๘ ล้านบาท อีกด้านก็ไม่น้อยหน้า อ้างเหตุผลว่า “ทุบแล้วเศรษฐกิจจะดีขึ้น” ส่วนเราประชาชนตาดำๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ซึ่งถือเป็นประชาชนจริงๆ เพราะในการประชุมแต่ละครั้งก็จะมีแต่หน้าเดิมๆ ทั้งนักธุรกิจผู้แสวงหาผลประโยชน์ นักการเมืองผู้มากบารมี และหัวหน้าส่วนราชการผู้มีความรู้ แถมมีบางส่วนถูกอุปโลกน์ให้เป็นตัวแทนภาคประชาชน
ตลอดระยะเวลาเกือบ ๒ ปีที่ผ่านมา “สุรวุฒิ เชิดชัย” เรียกได้ว่า “เป็นผู้ออกตัวแรงที่สุด...ที่ต้องการทุบสะพานสีมาธานี” เดินสายพบนักธุรกิจในโคราชอย่างไม่ย่อท้อ พร้อมนำเสนอเหตุผลต่างๆ ว่า “ทุบสะพานสีมาธานีแล้วดีอย่างไร” ส่วนอีกฝั่งหนึ่งอย่าง “หมอโจ้” จักริน เชิดฉาย ก็คอยพยายามค้านเหตุผลของอีกฝ่าย เพื่อให้สะพานสีมาธานียังคงอยู่ เหตุผลหลักๆ ก็เพราะไม่ต้องการให้โคราชรถติดไปมากกว่านี้แล้ว แต่อย่างว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลย คนโคราชส่วนหนึ่งกลับมองว่า เป็นเพราะทั้ง ๒ จะลงเล่นการเมืองในสนามเดียวกันหรือเปล่า จึงเป็นเหตุผลที่หยิบยกกรณีสะพานสีมาธานีมาสู้กัน
แม้ว่าเหตุผลของทั้ง ๒ ฝ่ายจะมีมากแค่ไหน ก็ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้ไป เพราะนอกจากคนโคราชที่เบื่อหน่ายกับเรื่องนี้แล้ว รัฐมนตรีคมนาคมคนใหม่อย่าง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ก็คงต้องการคำตอบเช่นกัน ถึงขั้นเอ่ยปากให้ผู้ว่าฯ วิเชียร เร่งหาข้อสรุปภายในหนึ่งเดือน” เมื่อคราวมาตรวจความคืบหน้าของมอเตอร์เวย์ ในวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๒
ไม่กี่วันหลังจากรัฐมนตรีคมนาคมเอ่ยปากเช่นนั้น “ผู้ว่าฯ วิเชียร” ก็จัดประชุมใหญ่โตโอฬารอีกครั้ง ในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๒ หวังจะให้ประชาชนในจังหวัดมาร่วมแสดงความคิดเห็น สุดท้ายผู้เข้าร่วมประชุมก็ยังคงหน้าเดิมๆ เห็นกันจนชิน แต่สิ่งที่แตกต่างกับการประชุมครั้งก่อนหน้านี้ทั้งหมด ครั้งนี้ รฟท.มาพร้อมแบบการก่อสร้างโครงการฯ แบบใหม่ ที่มีการทุบสะพานสีมาธานีออกและทำเป็นอุโมงค์แทนด้วยการเพิ่มงบประมาณไปอีก ๑,๗๐๐ ล้าน ซึ่งงานนี้กลุ่มคนอยากให้ทุบก็มีเฮกันบ้าง
และแล้ววันแห่งการตัดสินใจก็มาถึง เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๒ “ผู้ว่าฯ วิเชียร” เรียกประชุมอีกครั้ง โดยครั้งนี้จะเป็นการประชุมยุติความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายคนสนับสนุนให้ทุบสะพานสีมาธานีและฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ทุบ ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่า รฟท.ตัดสินอย่างเป็นธรรมมากๆ โดยให้ทุบสะพานสีมาธานีแล้วสร้างอุโมงค์ทางลอดแทน ที่ว่าเป็นธรรมก็เพราะ รฟท.อ้างว่า แนวทางนี้คนโคราชกว่าร้อยละ ๖๐ เห็นด้วย แต่ประชาชนส่วนหนึ่งถามว่า “ไปสำรวจจากคนกลุ่มไหน/ตอนไหน?”
ถึงคนโคราชส่วนใหญ่จะบอกว่า “ไม่มีส่วนร่วมในการออกเสียงครั้งนี้” แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับผลของการตัดสินใจกันไป จะเห็นว่า ทุกคนคงจะเหนื่อยกับคำว่าถามที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเรื่องน่าสนใจ แต่นานไปกลับกลายเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ “ทุบ-ไม่ทุบสะพานสีมาธานี” และขืนยังปล่อยให้ยืดเยื้อไปอีก โคราชก็คงจะเติบโตไม่ทันเพื่อนบ้านข้างๆ อย่างขอนแก่นแน่ๆ
สำหรับ โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ จะเห็นว่าหลายจุดกำลังก่อสร้าง และบางจุดก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ช่วงผ่านเมืองโคราช ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา เรามัวแต่คุยกันว่า “ทุบ-ไม่ทุบสะพานสีมาธานี” ซึ่งในการประชุมครั้งล่าสุด ตัวแทนของ รฟท.บอกไว้เพียงว่า อาจจะเริ่มลงมือก่อสร้างภายในปี ๒๕๖๓ โดยจะใช้เวลา ๓-๔ ปี ในก่อสร้างทางรถไฟ รวมไปถึงการทุบสะพานสีมาธานีและการสร้างทางลอด
จะว่าไป ระยะเวลา ๓-๔ ปี ก็มีคนบ่นอยู่มาก เพราะการทุบสะพานสีมาธานีไม่น่าจะนานขนาดนี้ ซึ่งในที่ประชุมได้มีการถกเถียงเรื่องนี้กันอยู่นาน กระทั่งบริษัทที่ปรึกษาฯ ชี้แจงว่า “๓-๔ ปีคือระยะเวลารวมทั้งหมด ไม่ใช่แค่การทุบสะพานสีมาธานีเท่านั้น และไม่ใช่จุดเดียวที่จะมีการก่อสร้าง แต่เป็นการก่อสร้างพร้อมกันทั้งโครงการ” ...หลายคนได้ยินเช่นนี้ก็โล่งใจไปบ้าง
“ทุบ-ไม่ทุบสะพานสีมาธานี” ไม่ใช่เพียงความขัดแย้งเดียวที่เกิดขึ้นในโครงการรถไฟทางคู่ฯ ไม่นานมานี้ มีกลุ่มนักธุรกิจและนักการเมืองหน้าเก่า มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องกับการรถไฟฯ เพิ่มอีก โดยขอให้ “ทุบสะพานหัวทะเล” เห็นแบบนี้ก็อดสงสารสะพานไม่ได้ ถูกสร้างมาด้วยงบประมาณภาษีประชาชน เพื่อลดปัญหารถติดในวันนั้น แต่วันนี้กลับกลายเป็นปัญหาต่อคนโคราชส่วนหนึ่ง ที่มักจะอ้างว่า “สะพานทำให้เศรษฐกิจไม่ดี” แต่การทุบสะพานหัวทะเลอาจจะต้องคุยกันนานกว่าสะพานสีมาธานี เพราะหลายฝ่ายกังวลเรื่องน้ำ เนื่องจากบริเวณสะพานยาวไปถึงตำบลหัวทะเล บริเวณนั้นเรียกได้ว่า เป็นพื้นที่รับน้ำของเมืองโคราชเลยทีเดียว
สะพานหัวทะเลนี้ มีหลายคนออกมาชี้แจงอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งในการประชุมสรุปจะทุบสะพานสีมาธานี ก็ได้มีการหยิบหัวข้อที่เสนอให้ทุบสะพานหัวทะเลมาพูด โดย “รังสรรค์ อินทรชาธร” รองประธานมูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง และยังเป็นที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนครฯ บอกเล่าถึงความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่รอบสะพานหัวทะเล ที่ทำมาหากินลำบาก อ้างว่าเป็นแบบนี้มานานกว่า ๒๐ ปีแล้ว ซึ่งเหตุผลในการทุบสะพาน ก็ยังคงเป็นเหตุผลเดิมที่ใช้กับสะพานสีมาธานี นั้นคือ “ฟื้นฟูเศรษฐกิจ”
ในประเด็นทุบสะพานหัวทะเล คนในพื้นที่และรู้จักพื้นที่ดีกว่าใครๆ ในที่ประชุมอย่าง “เอกภพ โตมรศักดิ์” ก็ออกมาพูดไปในทางไม่เห็นด้วยกับการทุบ โดยให้เหตุผลว่า “ต้องการให้คำนึงถึงปัญหาเรื่องการระบายน้ำและการจราจรที่จะส่งผลกระทบไปถึงบริเวณแยกหัวทะเล เมื่อแก้ปัญหาเรื่องหนึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องอื่นตามมาหรือไม่” ซึ่งเขายังขออีกว่า หากมีการพูดคุยเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก็ต้องการให้ประชาชนหรือคนในพื้นที่ (จริงๆ) ได้มาแสดงความคิดเห็นด้วย
ก่อนที่เจ้า “สะพานหัวทะเล” จะกลายเป็นปัญหาใหม่ของคนโคราช โดยเฉพาะนักธุรกิจและนักการเมือง การรถไฟฯ ก็ได้เบรกไว้ก่อน และบอกว่า “สะพานหัวทะเลอยู่ในการดูแลของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงถนนจิระ-ขอนแก่น ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาจะเป็นอีกบริษัทหนึ่ง” ได้ยินแบบนี้ก็วางใจได้ส่วนหนึ่งว่า คนโคราชคงจะไม่ตีกันเอง เพราะเรื่องทุบหรือไม่ทุบสะพานกันอีกในเร็วๆ นี้ (แต่ปัญหานี้มาแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว)
ร่ายมาซะยาวเลย ถึงแม้ว่ากรณีการทุบสะพานสีมาธานีจะจบลง แต่ก็อดใจคิดไม่ได้ว่า ปัญหาการทุบสะพานหัวทะเลก็ยืดเยื้อยาวนานอีกกี่ปี ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการเปิดประชุมถกเถียงเรื่องนี้ อาจจะพักครึ่งกันอยู่ รอผู้เล่นในเกมได้เตรียมความพร้อมกันก่อน ก่อนที่จะมาเปิดเวทีที่มีนักแสดงและตัวประกอบหน้าเดิมๆ ถ้าคนโคราชไม่อยากดูหนังเรื่องใหม่ที่มีพล็อตเดิม ก็ต้องไปเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกันมากๆ
โครงการรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง ๑๓๕ กิโลเมตร แบ่งออกเป็น ๓ สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ ๑ ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ระยะทาง ๕๘ กิโลเมตร, สัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ (โคราช) ระยะทาง ๖๙ กิโลเมตร อยู่ระหว่างปรับรูปแบบการก่อสร้าง (ปัญหาทุบ-ไม่ทุบสะพานสีมาธานี) ในช่วงผ่านเมืองโคราช จะยกระดับระยะทางรวม ๕.๔๐ กิโลเมตร ใช้งบประมาณเพิ่มจากเดิมคือ ๗,๗๒๑ บาท เป็น ๑๑,๕๑๘ ล้านบาท และสัญญาที่ ๓ งานอุโมงค์ ระยะทาง ๘ กิโลเมตร วงเงิน ๙,๓๙๙ ล้านบาท
• ทีมข่าวโคราชคนอีสาน
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๑๐ วันพุธที่ ๘ - วันอังคารที่ ๑๔ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๓
846 1,516