January 31,2020
‘ผวจ.สุรินทร์’ระดมสมอง รับมือปัญหาภัยแล้ง ‘อ.ปราสาท’น่าเป็นห่วงสุด
ผู้ว่าฯ สุรินทร์ เรียกนายอำเภอทั้ง ๑๗ แห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานสถานการณ์น้ำ เตรียมพร้อมลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง กำชับทุกอำเภอและส่วนที่เกี่ยวข้องสำรวจติดตามและเร่งมาตรการรับมือ ไม่ให้กระทบชาวบ้าน ด้าน อ.ปราสาท น่าห่วงสุด
เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๓ ที่ห้องประชุมโครงการชลประทานสุรินทร์ อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์ นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เรียกส่วนราชการ นายอำเภอทุกอำเภอ และป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมประชุมเพื่อติดตามผลการดำเนินงาน และรายงานการติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อเตรียมพร้อมป้องกัน และลดความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ หลังจากที่จังหวัดสุรินทร์ ได้เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำอย่างหนักเมื่อปีที่ผ่านมา
โดยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง และขนาดเล็กของจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบหรือเป็นแหล่งต้นน้ำ ที่ใช้เป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาโดยเฉพาะในชุมชนขนาดใหญ่อย่างชุมชนเมืองสุรินทร์ และอำเภอต่างๆ ปัจจุบันยังคงเพียงพอมีน้ำผลิตน้ำประปาได้ตลอดฤดูแล้งนี้ แต่บางพื้นที่ยังน่าเป็นห่วงเนื่องจากมีปริมาณน้อย ดังนั้นจังหวัดสุรินทร์ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นายไกรสร กองฉลาด ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการป้องกันและเตรียมพร้อมป้องกันและลดปัญหาผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำดิบเพื่อผลิตเป็นน้ำประปาในช่วงฤดูแล้งนี้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางอย่างเช่นห้วยเสนง และอ่างเก็บน้ำอำปึลที่เป็นแหล่งน้ำดิบในการทำน้ำประปาหล่อเลี้ยงชุมชนเมืองสุรินทร์ ที่เคยประสบปัญหาวิกฤตน้ำแห้งขอดเมื่อปีที่ผ่านมา ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงมีปริมาณน้ำอยู่ที่ ๑๕ ล้านกว่าลูกบาศก์เมตร หรือกว่า ๗๒ เปอร์เซ็นของความจุ ส่วนอ่างเก็บน้ำอำปึลปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ที่ ๒๔ ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ ๘๗ ของความจุ ซึ่งยังคงอยู่สภาวะปกติ น่าจะเพียงพอต่อการนำมาใช้เป็นน้ำดิบผลิตน้ำประปาให้กับชุมชนเมืองสุรินทร์ไปถึงสิ้นฤดูแล้งนี้ แต่ประชาชนอย่านิ่งนอนใจ ขอความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและมีคุณค่ามากที่สุดไม่เช่นนั้นอาจจะเจอวิกฤตซ้ำอย่างเช่นปีที่ผ่านมา
สำหรับจังหวัดสุรินทร์มีแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาทั้ง ๑๗ อำเภอ ทั้งสิ้น ๗๘๔ แห่ง มีปริมาณน้ำเพียงพอถึงเดือนกรกฎาคม จำนวน ๖๕๙ แห่ง ไม่เพียงพอ ๑๒๕ แห่ง โดยจังหวัดสุรินทร์ได้ดำเนินการผันน้ำจากแหล่งสำรองเข้าเพิ่มเติมแล้ว และที่น่าห่วงคืออ่างสุวรรณภา ซึ่งเป็นอ่างที่นำน้ำดิบมาใช้ในการผลิตน้ำประปาเลี้ยงชุมชนในเขตเทศบาลตำบลกังแอน อ.ปราสาท มีน้ำเหลือเพียง ๓๗ เปอร์เซ็นต์
นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า “สถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ขณะนี้ยังไม่มีพื้นที่ใดถึงขั้นประกาศเป็นพื้นที่ปะสบภัยแล้ง ยังคงอยู่ในสถานะที่สามารถรับสถานการณ์ได้ โดยตลอดระยะเวลา ๓ เดือนที่ผ่านมา ได้มีการสั่งการให้ผันน้ำเข้ามาเก็บกักไว้ พร้อมให้สำรวจพื้นที่แหล่งผลิตน้ำประปาหมู่บ้านใดมีปัญหา ให้เร่งผันน้ำเข้ามาเก็บกัก ทุกอำเภอได้ปฏิบัติตาม รวมถึงให้ดำเนินการทำฝายกระสอบทรายตำบลละหนึ่งฝายไว้เก็บน้ำ ซึ่งก็ทำได้ตามเป้า ทุกอำเภอสามารถอยู่ในภาวะที่สามารถรับมือได้ สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงและอ่างเก็บน้ำอำปึล ที่เคยเกิดวิกฤตที่ผ่านมา และเป็นที่ยังคงกังวลของประชาชนในปีนี้ ซึ่งได้มีการติดตามข้อมูลและลงพื้นที่ติดตามอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ในปีที่ผ่านมาเมื่อเปรียบเทียบกับปีนี้ พบว่าปริมาณน้ำหายไปถึง ๒๑ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ในปีนี้มีปริมาณน้ำทั้ง ๒ แห่ง กักเก็บอยู่ที่ ๔๐ ล้านลูกบาศก์เมตร สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องของอัตราการระเหยของน้ำในแต่ละเดือนหายไปเป็นล้านลูกบาศก์เมตร
“อย่างไรก็ตาม ในปีนี้สิ่งที่พี่น้องประชาชนกังวลนั้น ไม่น่าเป็นห่วงเพราะชลประทานและประปา ให้ข้อมูลตรงกันซึ่งสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ถึงเดือนกันยายนนี้ แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือระยะยาว ด้วยชุมชนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งได้สั่งให้ทำเรื่องแผนพัฒนาลุ่มน้ำขึ้นมา ดูตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น ทางเหนือตั้งแต่อำเภอพนมดงรักลงมาถึงลำน้ำมูล ทางเหนือดูตั้งแต่ลำพลับพลาลงมาถึงลำน้ำมูล ทางน้ำที่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำและลำน้ำมูลมีสิ่งกีดขวาง หรือทางน้ำเปลี่ยนไปอย่างไรหรือไม่ ซึ่งจะต้องดูทั้งระบบ ที่สำคัญเรื่องของการขุดลอกต่างตอบแทน ได้ให้มีการปรับสเกลลงมา เพื่อให้ผู้มีอาชีพรับขุด ถมดินรายย่อยได้เข้าถึง มีแผนไว้เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะประหยัดงบประมาณของทางราชการได้ไม่น้อย”
“สำหรับเรื่องน้ำที่เร่งมากักเก็บในช่วงนี้ ไม่รวมไปถึงการทำการเกษตร แต่หากปลูกพืชน้ำน้อยได้ เลี้ยงสัตว์ได้ แต่ห้ามเด็ดขาดและขอความร่วมมือเรื่องการทำนาปรัง ส่วนพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงเรื่องของสถานการณ์น้ำในขณะนี้ คือพื้นที่อำเภอปราสาท ที่อ่างเก็บน้ำสุวรรณภา เพราะที่ผ่านมาไม่มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ เนื่องจากมีสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ แต่ก็ได้ให้เร่งดำเนินการสูบน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปริมาณน้ำก็ยังน้อย มีอยู่ประมาณ ๕ แสนลูกบาศก์เมตร คาดว่าถึงเมษายนนี้น้ำจะหมด เบื้องต้นได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัด และเตรียมแผนสำรองไว้ โดยการสำรวจหาแหล่งน้ำมาเติม ซึ่งก็มีอยู่ระยะทางกว่า ๗ กิโลเมตร ที่ผ่านมาทางอำเภอก็ดำเนินการอย่างได้ผล ในขณะที่พื้นที่ห่างไกลและไม่มีแหล่งน้ำ ได้มีแผนเจาะน้ำบาดาลและสำรวจแจกจ่ายน้ำ ก็ได้เตรียมการไว้แล้ว” นายไกรสร กล่าว
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๑๓ วันพุธที่ ๒๙ มกราคม - วันอังคารที่ ๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓
883 1,584