January 31,2020
เปิดรับสมัคร กกต.ท้องถิ่น เตรียมเลือกตั้ง อปท. ‘ปากช่อง’ มี สจ.เพิ่มเป็น ๔
กกต.โคราช เตรียมพร้อมจัดเลือกตั้งท้องถิ่น เผยความคืบหน้าการรับสมัคร กกต.ท้องถิ่น ห้ามคนทำงานใน อปท.สมัคร เพื่อความเป็นกลางทางการเมือง ชี้แบ่งเขต อบจ.โคราชไม่ลดไม่เพิ่ม ๔๘ เขตเท่าเดิม แต่ต้องเปลี่ยนแนวเขต เพราะจำนวนประชากรเพิ่ม พร้อมยืนยันกำหนดการเลือกตั้ง อปท.ต้องรอมติ ครม.เท่านั้น
ตามที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา มีประกาศรับสมัครคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระหว่างวันที่ ๓-๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของ กกต.ในการจัดเลือกตั้ง และทำให้เกิดประเด็นสงสัยว่า ใกล้จะมีการเลือกตั้ง อปท.แล้วหรือไม่ นั้น
ต่อมา เว็บไซต์ข่าวสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำเสนอข่าวนาย ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจเยี่ยม สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีรายละเอียดว่า “เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๓๐ น. นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย กรรมการการเลือกตั้ง ได้มาตรวจเยี่ยมสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายศิริชัย วิรยพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายณัฐวุฒิ เมธารินทร์ รองผู้อำนวยการฯ และพนักงาน ให้การต้อนรับ พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่น”
ล่าสุดวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๖.๐๐ น. นายศิริชัย วิรยพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมา (ผอ.กกต.จว.นม.) เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ถึงกรณีการตรวจเยี่ยมของนายธวัยชัย เทอดเผ่าไทย กรรมการการเลือกตั้ง พร้อมกับเปิดเผยรายละเอียดการคัดเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และความพร้อมของสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดนครราชสีมาว่า “กรณีที่ นายธวัยชัย เทอดเผ่าไทย กรรมการการเลือกตั้ง ลงพื้นที่มาเยี่ยมและดูความพร้อมของ กกต.จังหวัดนั้น มาติดตามความพร้อมของ กกต.ในท้องถิ่น โดยมีข้อสั่งการกำชับในเรื่องการทำงาน โดยเฉพาะความเป็นกลาง เป็นไปตามหน้าที่ที่ระเบียบหรือกฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งความพร้อมของ กกต.โคราช เราทำอยู่ ๒ เรื่อง คือ การรับสมัคร กกต.ท้องถิ่น หาก ครม. (คณะรัฐมนตรี) มีการแจ้งมาให้จัดมีการเลือกตั้ง อปท. ไม่ใช่ว่าจะสามารถเลือกตั้งได้เลยในขณะนั้น แต่ต้องจัดการเลือก กกต.ท้องถิ่นก่อน และอีกเรื่องที่ต้องเตรียมความพร้อมเอาไว้คือ การแบ่งเขต จะต้องทำให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะเลือกตั้ง อปท.ได้ ซึ่งขณะนี้ทำทั้ง ๒ เรื่องควบคู่กันไป ในส่วนของ อบจ.ก็ต้องทำเรื่องการแบ่งเขต และเทศบาลทั้งหมด ๙๐ แห่ง ต้องแบ่งเขตใหม่ เพราะจำนวนประชากรเปลี่ยนไป ส่วน อบต.ไม่ต้องทำเรื่องแบ่งเขต เพราะเขตเลือกตั้งของสมาชิก อบต.คือเขตหมู่บ้าน ส่วนเขตของผู้บริหาร อบต.เป็นเขตของ อปท. เป็นเขตของตำบลหรือเทศบาล หากทำทั้ง ๒ เรื่องแล้วเสร็จ ก็ถือว่าเรามีความพร้อมจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น”
นายศิริชัย กล่าวอีกว่า “ส่วนความคืบหน้าการสรรหา กกต.ท้องถิ่นนั้น สำนักงาน กกต.ส่วนกลาง ได้แจ้งให้ สำนักงาน กกต.จังหวัด ดำเนินการสรรหา กกต.ท้องถิ่น เพื่อเตรียมเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งอาจจะมีขึ้นเมื่อ ครม.มีมติให้มีการเลือกตั้ง และแจ้งให้ กกต.ทราบ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งใดๆ สำหรับ กกต.จังหวัด ที่เป็นหน่วยจัดการเลือกตั้ง จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมเอาไว้ก่อน โดยขณะนี้ (วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๓) ให้หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่น คือผู้ที่ดำรงตำแหน่งปลัด ทั้ง อบจ. เทศบาล และ อบต.ทั้งหมด ประกาศรับสมัคร กกต.ท้องถิ่น ซึ่งจะเปิดรับ ๕ วัน ระหว่างวันที่ ๓-๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ โดย อบจ.จะต้องมี กกต.ท้องถิ่น ๕ คน หากเป็นเทศบาลหรืออบต. มี ๓ คน เมื่อเสร็จสิ้นระยะเวลาการรับสมัคร แต่มีผู้สมัครไม่เพียงพอหรือไม่ครบตามจำนวน จะมีการทาบทามผู้ที่มีคุณสมบัติเพียงพอ หากเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่จำเป็นต้องมีภูมิลำเนาในเขตเลือกตั้ง แต่ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการในเขตนั้นๆ แต่ถ้าเป็น อบจ.ก็ให้อยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา ส่วน กกต.เทศบาลและ อบต. ต้องมีการปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเขตอำเภอ ที่เทศบาลหรืออบต.นั้นตั้งอยู่ เช่น เทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม ผู้ที่จะสมัครได้ต้องปฏิบัติราชการอยู่ในเขตอำเภอเมือง ผู้สมัครต้องมีอายุ ๓๐ ปีขึ้นไป มีความเป็นกลางทางการเมือง นอกนั้นจะเป็นข้อต้องห้าม เช่น การใช้ยาเสพติด เคยเป็นผู้ได้รับโทษ เป็นต้น และข้อห้ามที่เพิ่มมาใหม่คือ ถ้าเป็นข้าราชการหรือพนักงาน และลูกจ้าง ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ห้ามสมัคร จะต้องเป็นข้าราชการหน่วยงานอื่นเท่านั้น ซึ่งคุณสมบัตินี้ให้ทั้งผู้ที่สมัครด้วยตนเองและผู้ที่ถูกทาบทาม”
“ในการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น สำนักงาน กกต.กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการในการแบ่งเขตขึ้น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการ เช่น ปลัดจังหวัด โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด พัฒนาการจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด และส่วนหนึ่งเป็นผู้แทนจาก อปท.ที่มีการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยมี ผอ.กกต.จังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ ในส่วนของ อปท.เราได้เลือกประเภทละ ๑ คน ซึ่งที่ผ่านมามีการประชุมร่วมกับผู้ว่าฯ เพื่อแจ้งแนวทาง ระเบียบ หลักเกณฑ์ในการแบ่งเขต เพื่อแจ้งให้คณะกรรมการทราบ ร่วมกันพิจารณาและกำหนดแนวทางในการแบ่งเขต มีการกำหนดวันประชุมที่จะต้องดำเนินการ และเพื่อแจ้งความคืบหน้าของ กกต.จังหวัด ให้ อปท.แต่ละแห่งทราบ สำหรับการเลือกตั้ง อบจ. มี ๔๘ เขต มีสจ. ๔๘ คนเท่าเดิม ส่วนเขตเลือกตั้ง แม้จะไม่มีจำนวนเขตเพิ่ม แต่จะมีการเปลี่ยนแนวเขต เนื่องจากบางพื้นที่มีประชาชนลดหรือเพิ่มต่างจากครั้งก่อน เพราะต้องนำจำนวนประชากร ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๒ มาเป็นตัวกำหนด ใน ๓๒ อำเภอของโคราช มี ๒๔ อำเภอที่ไม่ต้องแบ่งใหม่ เพราะเขตเลือกตั้ง ส.อบจ. ให้ใช้เขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง หากเขตใดประชากรไม่เกิน ก็คิดเป็นหนึ่งเขตต่อหนึ่งคน ส่วนที่เหลือจะต้องแบ่งใหม่ บางอำเภอมี ๒ เขต เช่น อำเภอพิมาย สีคิ้ว ปักธงชัย สูงเนิน เป็นต้น ส่วนอำเภอปากช่องเดิมมี ๓ เขต ก็ต้องมาปรับให้เป็น ๔ เขต เนื่องจากมีประชากรเพิ่มขึ้น อำเภอบัวใหญ่เดิมมี ๒ เขต ก็ต้องปรับลดลงให้เหลือ ๑ เขต เพราะประชากรลดลง พูดง่ายๆ คือไปลดที่อำเภอบัวใหญ่แต่มาเพิ่มให้ปากช่อง ส่วนอำเภอเมืองจะมี ๘ เขตเท่าเดิม แต่แนวเขตจะต้องเปลี่ยน เพราะจำนวนประชากรแต่ละเขตเปลี่ยนไป สำหรับเทศบาล แบ่งเป็น เทศบาลนคร ๔ เขต เทศบาลเมือง ๓ เขต และเทศบาลตำบล ๒ เขต แต่เราก็ต้องทำใหม่หมด เพราะประชากรเปลี่ยน จากนั้นจะต้องเสนอ กกต.กลางให้พิจารณา สำหรับจังหวัดนครราชสีมา มี อปท.ทั้งสิ้น ๓๓๔ แห่ง แบ่งเป็น อบจ. ๑ แห่ง เทศบาล ๙๐ แห่ง โดยแบ่งเป็น เทศบาลนคร ๑ แห่ง เทศบาลเมือง ๔ แห่ง เทศบาลตำบล ๘๕ แห่ง และ อบต. ๒๔๓ แห่ง” นายศิริชัย กล่าว
ผอ.กกต.จว.นม. กล่าวอีกว่า “ส่วนที่หลายๆ คนถามมาว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ คำถามนี้ไม่มีใครตอบได้ ต้องขึ้นอยู่กับ ครม.ว่าจะมีมติออกมาอย่างไร กกต.จังหวัดทำได้เพียงเตรียมความพร้อมเอาไว้ หาก ครม.มีมติให้จัดการเลือกตั้งที่ไหน เราก็ต้องพร้อมที่จะจัดการเลือกตั้ง หากมีการเลือกตั้งแรกออกมา การเลือกตั้งทั้งหมดก็ไม่อาจบอกได้ว่าจะต้องให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในปีนี้หรือไม่ เพราะหลังจากเลือกตั้งจะต้องมีการตรวจสอบความถูกต้อง มีการรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ เรื่องการประกาศผลการเลือกตั้ง คาดว่า ระยะห่างในการเลือกตั้งแต่ละ อปท.น่าจะห่างกันประมาณ ๑ เดือน แต่ถ้าถามว่า จะเลือกตั้ง อปท.ใดก่อน ก็คงตอบไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับมติ ครม.เท่านั้น”
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๑๓ วันพุธที่ ๒๙ มกราคม - วันอังคารที่ ๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓
864 1,561