24thApril

24thApril

24thApril

 

May 22,2020

มทส.เปิดรง.ต้นแบบในอีสาน เฟสแรกผลิตเอทานอล

มทส.เปิดตัวโรงงานต้นแบบอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพ แห่งแรกในอีสาน ตอบโจทย์ SMELs/Startup มุ่งสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ เดินเครื่องจักรเฟสแรกผลิตเอทานอล รับมือโควิด-๑๙

เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่อาคารเครื่องมือ ๑๑ และ SUT Biorefinery Pilot Plant มทส. รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นประธานในการแถลงข่าว “โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี : SUT Biorefinery Pilot Plant” การให้บริการสู่สังคมและการเผยแพร่ความรู้สู่หน่วยงานในช่วงสถานการณ์วิกฤต โดยมี รศ.ดร.อภิชาติ บุญทาวัน หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร หัวหน้าโครงการโรงงานต้นแบบผลิตพลาสติกชีวภาพจากมันสำปะหลัง โดยใช้หลักไบโอรีไฟนารีเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคณะนักวิจัย พร้อมด้วย ผศ.นสพ.ดร.ภคนิจ คุปพิทยานันท์ รองผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทส. ร่วมแถลง

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. กล่าวว่า “โปรเจ็กต์ไบโอรีไฟเนอรี่ เป็น missing link คอยเชื่อมระหว่างมันสำปะหลังกับดิน เกษตรกรต้องจับโจทย์ไปสู่ไบโอพลาสติก โดยมีไบโอรีไฟเนอรี่อยู่ตรงกลาง เมื่อจับมาต่อกันแล้วสวยงามจริงๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้พลาสติกน้อยลง ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่เปิดตลาดให้เราส่งผลิตภัณฑ์เข้าสู่การทำสินค้าพลาสติกแปรรูปในอนาคต แต่ที่ผมบอกโมเดลของธุรกิจ ไม่ใช่เพื่อทำให้บริษัทใหญ่ๆ ร่ำรวยมากขึ้น แต่จะต้องนำประโยชน์กลับมาให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จึงจะทำให้ความต้องการซื้อและขาย มีความสมดุลกัน และยังทำให้เกษตรกรตั้งใจที่จะป้อนวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการ หากเรานำโมเดลแบบนี้กระจายสู่เกษตรกรทั่วภาคอีสาน เกษตรกรก็จะไม่ต้องถูกกดราคา เวลาที่ผมพูดถึง Social Enterprise ของมหาวิทยาลัยนี้ น้อยคนนักที่จะเข้าใจผม บางคนอาจจะบอกว่า เราคอยผลิตนักศึกษา ผลิตบัณฑิตออกไปมากมาย แต่ทำไมอธิการบดีต้องคอยพูดถึงแต่ Social Enterprise ซึ่งที่ผมกล่าวมา นั่นคือตัวอย่างของ Social Enterprise คือมหาวิทยาลัยอยู่ร่วมกับชุมชน การที่เรามีนักวิจัยจบจากต่างประเทศ จบปริญญาเอกจำนวนมาก แต่ไม่มีประโยชน์ต่อคนไทย ไม่มีการแก้ปัญหาให้กับประเทศ จึงทำให้เกิดการสร้างกองทุนขึ้นมา เพื่อนำพลังตรงนี้ไปก่อให้เกิด Social Enterprise และเป็นที่พึ่งของสังคมได้ ภาพนี้ผมว่า ชัดเจน”

“มทส.จะร่วมขับเคลื่อนภาคอีสานและประเทศไทย เพื่อเป็นเครื่องมือ เป็น missing link อุตสาหกรรมชีวภาพ พลังงานชีวภาพ เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งได้รับข่าวว่า ในสถานการณ์โควิด-๑๙ โรงงานผลิตแอลกอฮอล์ของ มทส. ทำงานหัวเป็นมันตัวเป็นน็อต เพื่อที่จะให้คนทั้งมหาวิทยาลัยได้นำไปใช้ ผมเคยคุยกับหลายคนว่า หากมหาวิทยาลัยกลับมาเปิดตามปกติ มีบุคลากรและนักศึกษากลับมา แล้วเมื่อเราจับนั้นจับนี้ ไม่ล้างมือ สุดท้ายแล้วโรคนี้ก็จะกลับมาใหม่ จากนั้นเราจะเจ็บมากกว่านี้ เราจะโวยวายมากกว่านี้ แล้วเราก็จะอยู่ร่วมกันแบบนี้ไม่ได้ อาการแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น ดังนั้นการทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับ ๒๐,๐๐๐ คน ที่จะทยอยกลับเข้ามา ดังนั้น เรื่องนี้จึงสำคัญจนกว่าเราจะมีวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งระหว่างนี้จะทำให้คนเรามีวิถีชีวิตใหม่ หรือที่เรียกกันว่า New Normal ไม่ว่าจะอยู่กับครอบครัวหรืออยู่กับใคร ทุกอย่างต้องเปลี่ยนวิธีเกือบหมด ซึ่งที่ผ่านมา มทส.ได้ผลิตเจลแอลกอฮอล์ไปแล้วกว่า ๑๐,๐๐๐ ขวด เห็นว่าคนทำแทบจะไม่ได้นอนด้วย”

 “มทส.พร้อมที่จะยืนเคียงคู่สังคม ประโยคนี้ฟังแล้วก็ดูสนุกสนาน แต่เมื่อทำแล้วยากกว่าที่คิด จะต้องทำกระทั่งชาวบ้านไว้เนื้อเชื่อใจ เมื่อมีปัญหาอะไรก็จะต้องมาพึ่ง มทส. ถ้ามีลูกเล็กจะเข้าเรียน ก็ต้องมาเรียนโรงเรียนของเรา ถ้ามีลูกจะเข้ามหาวิทยาลัยก็มาเรียนที่ มทส. ถ้ามีปัญหาเทคโนโลยีก็มาขอบริการเรา และกลับไปด้วยความสำเร็จ ฉะนั้นการยืนเคียงคู่กับสังคมและรับใช้สังคม อาจจะเป็นเพราะว่า เราเป็นแหล่งรวมผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ ที่แสดงคุณค่าได้อย่างเต็มภาคภูมิ เพราะเรามีความรู้เราก็ถ่ายทอด ไม่มีเราก็เรียนรู้ และนำไปสอนลูกศิษย์ การวิจัยของเราต้องไม่ใช่แค่วิจัยอย่างเดียว แต่ต้องนำไปใช้ได้จริง ผมเชื่อว่า การเผยแพร่ผลงานในวันนี้ จะเป็นความภาคภูมิใจของ มทส.อีกชิ้นงานหนึ่ง” อธิการบดี มทส. กล่าว

รศ.ดร.อภิชาติ บุญทาวัน กล่าวว่า การเปิดตัวโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ ซึ่งเป็นโรงงานที่มีความพร้อมมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ ตามแผนการพัฒนาประเทศของรัฐบาล ได้กำหนดสิทธิ์ของอุตสาหกรรมตั้งใหม่ โดยแบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ ๑.อุตสาหกรรมเดิม ที่มีอยู่แล้วในประเทศ เช่น อาหาร เกษตร และอิเล็กทรอนิกส์ และ ๒.อุตสาหกรรมในอนาคต โดยของเราจัดอยู่ในหมวดอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งร้อยละ ๙๐ ประเทศไทยนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ทำให้เราขาดดุลการค้าเป็นอย่างมาก เราเป็นประเทศอุตสาหกรรมจึงต้องพัฒนา ต้องเพิ่มมูลค่าทางการเกษตร สำหรับคำว่า ไบโอรีไฟเนอรี่ คือการนำชีวมวลต่างๆ เช่น พืชเศรษฐกิจ แป้ง และน้ำตาล นำมาเปลี่ยนแปลงทางเคมี จากนั้นถึงนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นสาขาหลักของประเทศ เช่น เชื้อเพลง พลังงานความร้อน ไฟฟ้า และที่สำคัญคือพลาสติกชีวภาพ หรือไบโอแมททีเรียล
“สำหรับโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ มทส. ได้ออกแบบเป็นลักษณะ R&D Pilot Plant โดยรับให้คำปรึกษา ออกแบบ และทดลองกระบวนการผลิตทางชีวภาพ เพื่อให้เห็นลักษณะผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตในระดับโรงงานต้นแบบ โดยมีทีมงานนักวิจัยและผู้ช่วยวิจัยกว่า ๑๐ คน คอยให้บริการ โดยกระบวนการในโรงงานต้นแบบที่สามารถให้บริการภาคเอกชนได้ ประกอบด้วย กระบวนการผลิตน้ำตาลจากชีวมวลชนิดต่างๆ กระบวนการหมัก การกรองสารละลายด้วยเยื่อแผ่นบาง การดูดซับ กระบวนการระเหยด้วยฟิล์มบาง การกลั่นลำดับส่วนแบบต่อเนื่อง การกลั่นลำดับส่วนแบบมีปฏิกิริยา การตกผลึก การกลั่นด้วยระยะทางสั้น การทำแห้งแบบพ่นฝอย การอบแห้งแบบถาด ระบบดูดซับแบบสลับความดันสำหรับการแยกคาร์บอนไดออกไซด์จากไบโอแก๊ส การแยกไนโตรเจนออกจากอากาศเพื่อผลิตออกซิเจน หรือการแยกน้ำออกจากเอทานอลเพื่อการผลิตเชื้อเพลิงเอทานอล เป็นต้น” รศ.ดร.อภิชาติ กล่าว

รศ.ดร.อภิชาติ กล่าวอีกว่า “คาดว่าในระยะเวลา ๓-๕ ปี หลังจากเปิดให้บริการ โรงงานต้นแบบแห่งนี้จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการเข้ารับบริการมูลค่ากว่า ๕๐ ล้านบาท โดยสร้างโอกาสในการเข้าถึงเครื่องมือในกระบวนการด้านพลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพที่ทันสมัยแก่ผู้ประกอบการได้จำนวนกว่า ๑๐ ราย และเกิดการจ้างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพ มากถึง ๑๐๐ อัตรา พร้อมยกระดับผู้ประกอบการด้านพลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพทั่วประเทศให้สามารถสร้างและพัฒนากระบวนการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านพลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพที่มีมูลค่าสูงให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยผู้ประกอบการภาคเอกชนที่สนใจในการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพ สามารถติดต่อสำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โทรศัพท์ ๐-๔๔๒๒-๔๘๑๘ หรือติดต่อนางสาวภักดิ์วราณัณ วุฒิภัทรสันกลาง โทร.๐๙๘-๖๓๙-๐๙๒๘ ได้ในวันและเวลาทำการ” 

“ทั้งนี้ ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ทาง SUT Biorefinery Pilot Plant ได้ปรับฐานการผลิตเป็นโรงงานผลิตเอทานอล เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และใช้ในกิจการของมหาวิทยาลัย รวมทั้ง  เตรียมการไว้สำหรับการใช้ในอาคารเรียนและห้องเรียนทุกห้อง โดยมีศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทส. เป็นหน่วยงานในการผลิตและควบคุมคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐานการป้องกันและกำจัดเชื้อโรคตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข” รศ.ดร.อภิชาติ กล่าว
ผศ.นสพ.ดร.ภคนิจ คุปพิทยานันท์ กล่าวว่า “ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีภารกิจหลักในการให้บริการห้องปฏิบัติการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ ของมหาวิทยาลัยอย่างพอเพียง โดยดำเนินการดูแลรักษา ใช้งาน พัฒนาและปรับปรุงครุภัณฑ์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอาคารห้องปฏิบัติการที่รับผิดชอบ แบบรวมศูนย์ เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้งาน โดยใช้แนวทางพัฒนาตามความต้องการพื้นฐานจากหลักสูตรและโครงการวิจัย และพัฒนาตามนโยบายของมหาวิทยาลัย”
“ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID–19) ศูนย์เครื่องมือฯ ได้นำศักยภาพของบุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือ และองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่มี ให้บริการสู่สังคมและเผยแพร่ความรู้สู่หน่วยงาน เพื่อร่วมบรรเทาวิกฤต COVID–19 อย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดูแลสุขอนามัยของประชาชนและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID–19 ศูนย์เครื่องมือฯ ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยในการผลิตแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ชนิดไม่ต้องล้างน้ำ โดยได้รับการสนับสนุนวัตถุดิบสารตั้งต้นจากโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ มทส. ส่วนหนึ่ง และจัดหาเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่งจากงบประมาณของมหาวิทยาลัย ทำการผลิตแอลกอฮอล์เจล เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาล มทส.ใช้ทางการแพทย์ รวมถึงใช้สนับสนุนการดำเนินงานด้านมาตรการการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัส COVID–19 ของมหาวิทยาลัย โดยกระจายไปตามหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการระบาดของไวรัสดังกล่าว ซึ่งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เป็นต้นมา ได้ผลิตแอลกอฮอล์เจลสำหรับแจกจ่ายให้กับทุกหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย รวมกว่า ๕,๒๐๐ ขวด รวมถึงมอบให้หน่วยงานภายนอก เช่น ผลิตและส่งมอบให้กองทัพภาคที่ ๒ ค่ายสุรนารี เพื่อนำไปใช้ประโยชน์แก่กำลังพลและภารกิจต่างๆ ของกองทัพ จำนวน ๒,๐๐๐ ขวด รวมทั้งมอบให้หน่วยงานภายนอกที่ขอความอนุเคราะห์ อาทิ จังหวัดนครราชสีมา สถานีตำรวจภูธรเมืองนครราชสีมา และโรงพยาบาลค่ายสุรนารี”
ผศ.นสพ.ดร.ภคนิจ กล่าวอีกว่า “นอกจากนี้ ยังจัดอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดกระบวนการผลิตแอลกอฮอล์เจลให้แก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานสามารถผลิตแอลกอฮอล์เจลใช้งานได้เอง รวมถึงแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในชุมชน มีหน่วยงานในจังหวัดนครราชสีมาเข้าฝึกอบรมช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้แก่ เทศบาลตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอเมืองนครราชสีมา, องค์การบริหารส่วนตำบลอุดมทรัพย์ อำเภอวังน้ำเขียว, กองทัพภาคที่ ๒, องค์การบริหารส่วนตำบลโชคชัย และเทศบาลตำบลโชคชัย อำเภอโชคชัย โดยหน่วยงานเป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์สำหรับการผลิต ศูนย์เครื่องมือฯ สนับสนุนเครื่องมือการผลิตและวิทยากรนำฝึกปฏิบัติการตามขั้นตอน สามารถผลิตแอลกอฮอล์เจลรวมกว่า ๗,๐๐๐ ลิตร หรือบรรจุขวดขนาด ๕๐๐ มิลลิลิตร ได้กว่า ๑๑,๘๐๐ ขวด ซึ่งในวันนี้จะได้ชมการสาธิตขั้นตอนการผลิตแอลกอฮอล์เจล ณ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์น้ำ ชั้น ๒ ด้วย” 

“ศูนย์เครื่องมือฯ ยังร่วมสนับสนุนภารกิจทางการแพทย์เพื่อช่วยลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อของผู้ป่วยสู่บุคลากรทางการแพทย์ อาทิ ดัดแปลงตู้เก็บเสมหะผู้ป่วยเป็นตู้เก็บสิ่งส่งตรวจจากการป้ายจมูกและลำคอ ร่วมกับ โรงพยาบาล มทส. จัดสร้างและส่งมอบตู้คัดกรองโรคความดันบวกและตู้คัดกรองโรคความดันลบ สำหรับใช้ตรวจวินิจฉัย (Swap) โดยไม่ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย ให้กับโรงพยาบาลค่ายสุรนารี ทั้งนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือดังกล่าวลงสู่ชุมชนและสังคมอย่างเต็มที่ และเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน” ผศ.สพ.ดร.ภคนิจ กล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังการแถลงข่าว คณะผู้บริหารได้นำสื่อมวลชน ไปเยี่ยมชมกระบวนการผลิตที่ SUT Biorefinery Pilot Plant ด้วย

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๒๘ วันพุธที่ ๒๐ - วันอังคารที่ ๒๖ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


802 1367