June 05,2020
ยุทธศาสตร์และพัฒนา’ราชภัฏ สร้างความท้าทายใหม่ให้นักวิจัย เพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ราชภัฏโคราชขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ตามยุทธศาสตร์ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน สร้างการเรียนรู้ใหม่ อยู่ที่ไหนก็เรียนรู้ได้ แนะมหาวิทยาลัยสอนให้มีพลัง
เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น ๗ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ผศ.ดร.ทวี วัชระเกียรติศักดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และการวิจัยสถาบันวิจัยและพัฒนา จัดการประชุมชี้แจงนโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีนายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา บรรยายในหัวข้อ “การพัฒนาพื้นที่ตามยุทธศาสตร์จังหวัดนครราชสีมา กับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา” รวมทั้ง ผศ.ดร.ทวี วัชระเกียรติศักดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และการวิจัย กล่าวถึงนโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ และในช่วงท้าย รศ.ดร.ชคัตตรัย รยะสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าวชี้แจงทิศทางการเตรียมโครงการเพื่อเสนอของบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม Platform ที่ ๔ การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเข้าร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาในสังกัดอุดมศึกษา ต้องการนำงานวิจัยเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจในเชิงพาณิชย์ และสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งการเขียนโครงการวิจัยที่จะตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของชาติมีความสำคัญ จึงต้องการพัฒนาการเขียนโครงการวิจัยเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์
อยู่ที่ไหนก็เรียนรู้ได้
เริ่มต้นจากนายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ บรรยายเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบันว่า “ผมเคยให้นักศึกษาไปดูงานของ Grab และ Food panda ผลตอบรับที่กลับมาคือ การสร้างรายได้จากการบริการ โดยเครื่องมือที่มีอยู่ ถ้าหากจังหวัดให้ความสำคัญอาจจะสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกช่องทาง โคราชเป็นพื้นที่ของโรงงานอุตสาหกรรม ถ้าโรงงานอุตสาหกรรมถูกปิดตัว อาจสร้างผลกระทบมากขึ้นจากวิกฤตการณ์นี้ ปัจจุบันมีหลายโรงงานปิดชั่วคราว เพราะถ้าดำเนินงานเต็มรูปแบบจะทำให้ขาดทุนเหมือนโรงแรม เมื่อกล่าวถึง Globalization หรือโลกาภิวัตน์ ซึ่งนำโดยโทรศัพท์มือถือ ที่เป็นเทคโนโลยีในการสื่อสารสมัยใหม่ เมื่อถูกนำเข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สามารถรับการสื่อสารทางไกล ช่วยให้โลกแคบลง ทำให้คนตัวเล็กหาช่องทางการสร้างรายได้ เมื่อก่อนถ้าต้องการจะทำสิ่งใดจะไม่สามารถทำได้ เพราะยังไม่เข้าถึงข้อมูล แต่เมื่อเป็นโลกาภิวัตน์ทำให้สิ่งที่อยู่ไกลตัวเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น เช่น การค้าขาย หากเราขายในพื้นที่อาจจะสร้างกำไรระดับหนึ่ง แต่เมื่อเข้าสู่โลกออนไลน์ อาจขยายช่องทางให้คนต่างพื้นที่เข้ามารู้จัก สร้างชื่อเสียง สร้างรายได้จากการเป็นโลกาภิวัตน์ และความเป็นโลกาภิวัตน์ ทำให้เกิดการขยายขอบเขต สร้าง Global Village (หมู่บ้านโลก) ที่กว้างขึ้น ทันโลก ทันสมัย อยู่ที่ไหนก็เรียนรู้ได้จากระบบนี้”
แนะมหา’ลัยสอนให้มีพลัง
“โลกาภิวัตน์ทำให้ระบบคนกลางหายไป ทำให้เกิดช่องทางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรง ทำให้เกิดการลดต้นทุนในการผลิต ทำให้หลายคนสงสัยถึงการมีอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ เมื่อเปรียบเทียบจากสถิติก็จะทำให้มองเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ปัจจุบันคนใช้มือถือนำทาง ค้นคว้าความรู้ต่างๆ บนโลกออนไลน์ สร้างช่องทางรายได้ มหาวิทยาลัยควรสอนให้คนตัวเล็กมีพลัง ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น มหาวิทยาลัยควรยกระดับศักยภาพด้านนี้ โดยอาจจะส่งอาจารย์และนักวิจัยไปศึกษางานการค้าออนไลน์โดยเฉพาะ เรียนกับสถาบันที่ได้รับการรับรอง เพื่อที่จะมาต่อยอดให้กับนักศึกษา บางคนก็สามารถสร้างรายได้จากการมีฐานข้อมูล เช่น Class Café ที่ใช้ระบบ Cloud มาดำเนินธุรกิจ หรือใช้ฐานข้อมูลจากยอดผู้ติดตาม และในอนาคตจะไม่มีระบบคนกลาง ส่งตรงถึงเป้าหมาย หากรัฐบาลอยากช่วยประชาชนก็สามารถยิงตรงไปถึงแต่ละบุคคล อนาคตจะสามารถยิงการศึกษาได้ตรงกับความต้องการ สิ่งเหล่านี้คืออิทธิพลจากโลกาภิวัตน์ที่ยิ่งใหญ่มาก น่าเห็นใจรัฐบาลและหน่วยงานที่พยายามทำยุทธศาสตร์ต่างๆ แต่ ณ วันนี้มองว่าเมื่อพบโควิด-๑๙ ยุทธศาสตร์นี้อาจจะใช้ไม่ได้ อาจะต้องโยนทิ้ง เนื่องจากตามสถานการณ์ไม่ทัน ทำให้เห็นถึงการส่งผลที่รุนแรงมากขึ้นของโลกาภิวัตน์” นายทวิสันต์ กล่าว
นายทวิสันต์ บรรยายต่อไปว่า “เมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมา มีการเข้ามาของ Disruption (การหยุดชะงัก) เป็นคำที่ได้รับความนิยม เป็นผลพวงมาจาก Globalization ด้วย แต่คนยังปรับตัวไม่มาก สิ่งที่รุนแรงที่สุด คือ ทำให้ธนาคารปิดสาขา โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ที่จ้างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาปรับเปลี่ยนตัวเองจากสภาวะดังกล่าว การหยุดชะงักเกิดจากเทคโนโลยี สร้างผู้ปฏิบัติการแทนมนุษย์ หรือที่เรียกว่า AI ซึ่งสามารถโต้ตอบได้เช่นเดียวกับมนุษย์ ทำให้คนตกงานมากขึ้น โดยเฉพาะในระบบโรงงาน บางธุรกิจอาจจะไม่ใช่เพียงเทคโนโลยี แต่ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ผู้คนเริ่มหวาดกลัวถึงผลกระทบจากการหยุดชะงัก สร้างผลกระทบโดยรอบเกือบทั้งหมด กระทั่งนำมาสู่ปัจจุบัน คือ New Normal (ชีวิตวิถีใหม่) บัญญัติขึ้นจากนักเศรษฐศาสตร์ เกิดขึ้นช่วงวิกฤตทางการเงินทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินชีวิตใหม่ ซึ่งเข้ากับช่วงโควิด-๑๙ ที่พัฒนาจากการที่ WHO เปลี่ยนชื่อจากโคโรนาไวรัสอู่ฮั่น เป็นโควิด-๑๙ ทำให้คนทั้งโลกเรียกชื่อเหมือนกัน มีคนถามว่า ‘โควิด-๑๙ จะหายไปเมื่อไหร่’ คำถามนี้ไม่มีใครตอบได้ เพราะมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องดูแล รักษาสุขภาพ ให้รอดพ้นจากสถานการณ์
ชีวิตวิถีใหม่ กระทบ ๒ ด้าน
เมื่อสิ้นสุดแล้ว ค่อยหาช่องทางดำเนินต่อไป วิถีใหม่ทำให้เราต้องติดตามสถานการณ์จากการแถลงการณ์ประจำวัน เมื่อมองจากทั่วโลกแล้วอัตราการเร่งของเชื้อเพิ่มขึ้นสูงมาก การตายเพิ่มขึ้น แต่ประเทศไทยพบน้อยลง เมื่อลงลึกไปอีกขั้น อัตราเฉลี่ยในการสุ่มตรวจต่ำ หากตรวจทั้งหมดอาจจะพบมากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-๑๙ ถือเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้วิจัย สามารถนำข้อมูลไปอ้างอิงในรายงานหรือเป็นข้อเท็จจริงในการพูด โดยข้อมูลจากนายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราช บอกว่า โควิด-๑๙ รอบที่ ๒ กำลังจะมา โดยที่ไม่รู้ว่ารอบแรกจะหมดเมื่อไหร่ ในแง่ของนักวิจัย เราสามารถเชื่อเรื่องนี้ได้หรือไม่ นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ บอกว่า เป็นห่วงรัฐบาลจะไม่มีเงินมาดูแลเรื่องโควิด-๑๙ เพราะหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้น แค่ ๒ คนก็เครียดแล้ว ล่าสุดนายแพทย์อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีศิริราช ก็ออกมาบอกว่า เชื้อโรคที่แพร่จะยกกำลังสอง จาก ๓ คนที่พูดเป็นผู้ที่อยู่ในวงการทำให้ข้อมูลที่นำเสนอน่าเชื่อถือ เมื่อกลับมามองวิถีใหม่ในตอนนี้นั้น สามารถสร้างผลกระทบ ๒ ด้านใหญ่ๆ ซึ่งผลกระทบนี้เป็นผลกระทบที่น่ากลัวมาก คือผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เราไปทำวิจัยเชิงพื้นที่ต่างๆ แน่นอนสุดท้ายแล้วก็คือ ๒ เรื่องนี้ คือเรื่องทำมาหากินและการเป็นอยู่ของสังคม ฉะนั้นถ้าเรามีฐานข้อมูลเกี่ยวกับ ๒ เรื่องนี้ ก็จะทำให้ข้อมูลน่าเชื่อถือมากขึ้น” นายทวิสันต์ กล่าว
นายทวิสันต์ กล่าวอีกว่า “โควิด-๑๙ สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เรื่องแรกทำให้คนตกงานกว่า ๒ ล้านคน กำลังจะตกงานกว่า ๘.๔ ล้านคน และนักศึกษากว่า ๕.๒ แสนคนทั่วประเทศที่ไม่มีอัตราจ้าง ฟังแล้วถ้าทิ้งระยะเวลานานอาจจะทำให้เกิดผลทวีคูณ ณ ตอนนี้เราจะเริ่มเห็นพิษเศรษฐกิจ การไฟฟ้าช่วยชาวบ้านแล้วจะล้มละลาย ปตท.ขาดทุนในไตรมาสนี้ เนื่องจากไม่มีคนเดินทาง ทำให้ขาดทุน ๖๐-๙๐% โรงแรมปิดตัวเอง เพราะถ้าเปิดจะเสียหายมากกว่าปิด ห้างสรรพสินค้าได้รับผลกระทบ โรงงานเคยผลิตได้ ๑๑๐% สามารถทำการผลิตผลิตได้เพียง ๖๐% มีเวลาทำงานน้อยลง ถ้าโรงงานไม่สามารถดำเนินต่อได้ อาจสร้างผลกระทบกับโคราชมากกว่าเดิม ต้องจับตาเฝ้าระวัง หากมีการสำรวจเกี่ยวกับโรงงาน การจ้างงาน ณ ปัจจุบัน อาจจะได้ข้อมูลที่น่าสนใจ
งานวิจัยที่ดี ต้องมีคุณภาพ
“อีกคำที่น่าสนใจคือ Income shock หมายถึงการที่มีรายได้อยู่แล้วหายไปทำให้ช็อก รายได้ลดลงอย่างรวดเร็ว เห็นได้ชัดในอาชีพธุรกิจ ทำให้เกิดหนี้สินตามมา ทั้งหนี้สินครัวเรือนและหนี้สินสาธารณะ ทำให้หนี้เยอะ เมื่อก่อนเราพึ่งพาการส่งออกมากกว่า ๗๐% วันนี้ต้องไม่หวังกับการพึ่งพาการส่งออก ให้หันกลับมาพึ่งพาตัวเอง มาดูว่าจะขายอะไร ล่าสุด GI เกี่ยวกับสินค้าท้องถิ่น ซึ่งโคราชได้ ‘มะขามเทศ เพชรโนนไทย’ หากนำข้อมูลเหล่านี้มาสร้างคุณค่าเหมือนทุเรียน นักวิจัยที่ไปทำเชิงพื้นที่อาจจะนำข้อมูลนี้ไปปรับได้ พึ่งพาภายในประเทศมากกว่าการส่งออกภายนอก ขณะนี้กำลังมีข่าวเรื่อง Soft loan โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ กู้ได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งมาจากธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน ๕ แสนล้านบาท โดยให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินกู้ ให้ธุรกิจ SME ให้คิดเพียง ๒% แต่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยได้แค่ ๕ หมื่นล้าน เพราะกลัวภาระรับผิดชอบ ทำให้มีเงื่อนไขระหว่างกันที่มากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดใหญ่ สิ่งเหล่านี้จะช่วยในงานวิจัยได้มากขึ้น เพราะปัจจุบันเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างมาก ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมในการเปิดบริการตามสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ช่วงแรกอาจมีคนมาก แต่พอผ่านไป ๓-๔ วัน คนก็เริ่มหายไปเพราะทุกคนเริ่มปรับตัวเข้ากับวิถีใหม่ และหวาดกลัวต่อเชื้อโควิด-๑๙ รวมถึงตรรกะที่นำมาปรับใช้อาจจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”
การเปลี่ยนแปลงของ ๒ ผู้นำโลก
นายทวิสันต์ กล่าวอีกว่า “ในด้านของสังคมคนเกิดความเครียดมากขึ้น ทำให้เกิดการหยุดเทศกาล ที่สำคัญเกิดปัญหาครอบครัว สร้างความวิตกกังวลต่อผู้ติดเชื้อ กิจกรรมต่างๆ ถูกยกเลิก โรงเรียนและมหาวิทยาลัยถูกปิด อย่างประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ออกมาระบุว่าไม่เปิดโรงเรียนหากยังไม่มียารักษา จากสถานการณ์โควิด-๑๙ ถ้าหันกลับมามองบ้านเรา ท่าอ่าง(อำเภอโชคชัย)จะเป็นพื้นที่สำรวจได้อย่างดี ถ้าผมเป็นนักวิจัยคงสนใจเรื่องนี้อย่างมาก และที่แปลกคือสังคมไม่ถามหานักการเมือง หันมาสนใจคนมีชื่อเสียงมากกว่า ในโลกใบนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่เล็ก การเข้ากลุ่มดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ในตอนนี้มี ๒ ค่ายหลักคือ คอมมิวนิสต์ของจีนและเสรีนิยมหรือประชาธิปไตยเต็มรูปแบบอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหัวขบวนของโลก ในการขยับตัวแต่ละครั้งย่อมสร้างผลกระทบต่อโลกทุกครั้ง วันนี้เป่ยโต๋วของจีนถูกเสนอเข้าสภา โดยดาวเทียมเป่ยโต๋วจะเป็น GPS ของจีนที่พัฒนาโดยหัวเว่ยที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างโทรศัพท์มือถือ ตัวของเป่ยโต๋วจะเชื่อมกับดาวเทียมเพื่อแสดงเส้นทางที่ละเอียดมากขึ้น สามารถระบุเส้นทางได้ทุกพื้นที่ในประเทศ จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ ถ้าหากเป็นความจริงจะสร้างการสะเทือนให้กับโลกอย่างแน่นอน
งานวิจัยดีต้องมีคุณูปการต่อชาติ
“อีกเรื่องที่สำคัญคือ Asian Digital Currency (เงินสกุลเอเชียน) จีนจะรวบรวมเงินสกุล ทั้งหยวน, ดอลล่าร์ HK, ดอลล่าร์, เยน, และวอน ซึ่งคุยกันลงตัวแล้ว มอบให้ธนาคารกลางของจีนดำเนินงาน ซึ่งหากใช้ GDP ไม่ได้ผลอาจจะต้องศึกษาเศรษฐศาสตร์ใหม่ จัดตั้งทีมตรวจสอบงบประมาณขึ้นมาเพื่อความโปร่งใส และที่สำคัญคือต้องมีธรรมาภิบาล ส่วนสหรัฐอเมริกาก็ทำ Americans First ที่เน้นประชาสังคม พยายามออกจาก EU ฉะนั้นเวลาเราดูปัญหาจะมองเพียงด้านเดียวไม่ได้ มองเศรษฐกิจก็ต้องมองสังคม มองการเมือง ต้องมองแบบภาพรวมถึงจะไปได้ ถ้าเรามองภาพรวมได้ งานวิจัยที่ทำออกมาจะเป็นงานวิจัยที่ถูกยอมรับ ดูแล้วมีความเข้าใจในเรื่องที่จะทำอย่างดี ในแง่ของคนนอกที่มีมุมมองต่องานวิจัย ซึ่งงานวิจัยที่ดีต้องมีคุณูปการต่อการพัฒนาประเทศ แต่อยากให้นอกกรอบ อาจจะทำให้เจอทฤษฎีใหม่ๆ ต้องเป็นข้อมูลที่มาจากข้อเท็จจริงในสังคม ต้องมีการวิเคราะห์ที่ดี ซึ่งอาจจะยังเป็นปัญหาอยู่ ทำให้ผลงานมีประโยชน์ สร้างงานให้มีคุณค่าต่อตนเองและประเทศ และการนำทักษะใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ปีนี้เป็นปีแห่งการท้าทาย บุคลากรมีความสำคัญมาก หากเราสร้างความร่วมมือกันได้ ระดมสมอง รวมคนเก่งเข้ามาทำงานจะช่วยพัฒนาประเทศต่อไป” นายทวิสันต์ กล่าว
ทำงานให้เห็นผลงาน
ทางด้านผศ.ดร.ทวี วัชระเกียรติศักดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และการวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า “เชื่อมโยงจากอาจารย์ทวิสันต์ ซึ่งอาจารย์เป็นผู้เชื่อมโลกที่ล้อมตัวเรามาให้ความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญที่จะอธิบายหรือจัดการระบบงานวิจัย โดยเฉพาะงานวิจัยการพัฒนาเชิงพื้นที่ของมหาวิทยาลัย มีหลายเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ นับแต่นี้ไปการขอทุนวิจัยและพัฒนา มีเงื่อนไขใหม่ที่ต้องนำมาพิจารณา ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เสนอกรอบแนวคิดในการบริหารจัดการงานวิจัยการพัฒนาเชิงพื้นที่ เสนอต่อ สก.สว. ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการจัดสรรทุน จัดสรรงบประมาณ ให้กับการดำเนินกิจกรรมการวิจัย สก.สว. เปลี่ยนระบบการจัดสรรทุนวิจัยของประเทศทั้งหมด ในส่วนของงานวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ เราจะทำงานอย่างน้อยให้เห็นผลผลิตก็คือมีงานวิจัยที่แสดงความรู้ ฐานข้อมูล ต้นแบบผลิตภัณฑ์ และเรื่องของเครือข่าย โดยมีผลลัพธ์คือสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน สะท้อนให้เห็นว่า ในปี ๖๔ จะมีงบประมาณ ๑๐-๑๒ ล้านจะขยายผลเดือนหน้า เป็นต้นไป งานวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นในระยะต่อไป กระบวนการในการคัดเลือกโครงการวิจัย จะเน้นเรื่องธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ งดการขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ และเข้าถึงการมีส่วนร่วม ดังนั้น การทำวิจัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่จะต้องมีเครือข่ายการพัฒนา ต้องมีพื้นที่ในการขับเคลื่อน และได้รับการยอมรับจากพื้นที่ โดยท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง มีผู้เชี่ยวชาญในทุกระดับทั้งมิติของการวิจัยและมิติของการพัฒนาเชิงพื้นที่ มีการประเมินในรูปแบบของการพัฒนา มีการตรวจสอบทุกกระบวนการกระทั่งเสนอในระบบ มีกลไกที่จะเข้าไปคัดกรองที่มากขึ้น ไม่กำหนดระยะเวลา สามารถทำต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในชุมชนต่อไปได้ ต้องแสดงให้เห็นภาพชัด เน้นระยะเวลา ๓-๕ ปี สามารถยกระดับการเขียนในครั้งต่อไปได้ สร้างความยั่งยืนในชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมได้ สิ่งที่จะฝากไว้ ปีนี้จะมีโครงการวิจัยที่ต่อยอดจากสถาบันวิจัยส่วนหนึ่ง จะนำมาให้นักวิจัยต่อยอดได้ แต่ภาพของปีหน้าต้องเตรียมโครงการไว้ส่วนหนึ่งเพื่อลงแข่งขัน ภายในธันวาคมจะประกาศทุนวิจัยจาก PMU ต่างๆ ควรเตรียมตัวล่วงหน้า ต้องการสร้างนักวิจัยหน้าใหม่ที่ไม่มีตำแหน่งทางวิชาการที่มีความเก่งไปแข่งขันในระดับประเทศ”
รศ.ดร.ชคัตตรัย รยะสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยฯ กล่าวเกี่ยวกับทิศทางการเตรียมโครงการเพื่อเสนอของบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) Platform ที่ ๔ การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำว่า “การประชุมในสถานการณ์โควิด-๑๙ เปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งแบบเจอผู้คนและไม่เจอผู้คนโลกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปไกลแล้ว เปลี่ยนไปแม้กระทั่งระบบการวิจัยก็เปลี่ยนไปเช่นกัน คนที่เขียนตรงตามแหล่งทุนได้รับโอกาสมากกว่า จากการสังเกตพบว่า ๘ ปีที่ผ่านมารุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะระบบการวิจัยของฐาน วช. ก่อนที่จะไปเป็น สก.สว. จะเห็นว่า ในการทำงานวิจัยจะยึดตาม Trend ตัวชี้วัดต้องสามารถตอบโจทย์ได้ ตรงตามโจทย์การวิจัย นักวิจัยต้องปรับตัว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลให้ภายในระบบต้องเปลี่ยนจาก NRNS เป็น NIIS ซึ่งมีการโยกข้อมูลเพื่อปรับปรุงระบบทั้งหมด นักวิจัยต้องเรียนรู้และเข้าใจระบบให้มากขึ้น เข้าไปแก้ไขประวัติ อัพเดตสถานะผลงานตลอดเวลาในระบบตัวใหม่ ถ้าพบปัญหาจะมีเจ้าหน้าที่แนะนำ เพื่อให้สามารถทำได้ด้วยตนเอง
จะต่อยอดงานวิจัยอย่างไร?
“ในประเด็นต่อมา platform ๔ รูปแบบ ต้องหารูปแบบที่เหมาะสมในการทำวิจัย โดย Platform ที่เหมาะสมคือ Platform ที่ ๔ ว่าด้วยเรื่องการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพิ้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ เป็นรูปแบบที่ได้งบประมาณมากที่สุด ในปี ๒๕๖๓ ต้องมีกรอบแผนงานที่เหมาะสม หากมีโครงการที่เข้าข่ายก็จะทำให้ได้ตามที่ต้องการมากขึ้น ต้องหาผู้นำที่ดีที่จะทำให้ดำเนินงานไปพร้อมกันได้ตรงนี้สำคัญ ชื่อเรื่องต้องตอบโจทย์ ตรงประเด็น ทุกอย่างเป็นไปตาม Trend ที่เกิดขึ้น ต้องมีการสร้างระบบการทำวิจัยที่ดี เข้าใจลักษณะบุคคลที่จะนำวิจัยไปใช้ด้วย อาจจะต้องใช้หลากหลายทางเพื่อตอบโจทย์ ค้นคว้าอย่างเดียวอาจไม่พอ ส่วนรูปแบบอื่นๆ ยังพบปัญหา ซึ่งต้องค้นหาคำตอบกันต่อไป เอาความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาพูดคุยเพื่อหาหนทางร่วมกัน การเสนอต่างๆ จะผ่านระบบสารสนเทศทั้งหมดผ่าน PMU ต้องหาแนวทางการวิจัยว่าจะสามารถไปทางไหนได้บ้าง บางคนสามารถเขียนโครงการต่อเนื่องได้เมื่อสิ่งที่ทำเกิดการพัฒนาในแต่ละระดับขั้น ในแต่ละชุดโครงการอาจจะบูรณาการข้ามศาสตร์เพื่อให้ผลงานประสบความสำเร็จและตอบโจทย์ตามรูปแบบที่กำหนด ศึกษายุทธศาสตร์จังหวัดเพื่อดำเนินงานให้ตรงตามเป้าหมาย ในอนาคตโคราชจะพัฒนาเป็นมหานคร ซึ่งทั้งหมดคือรูปแบบที่ต้องศึกษาและเตรียมตัว การเตรียมตัวที่ดี ต้องใช้โจทย์จริง มีผู้ใช้ประโยชน์ ทำด้วยความร่วมมือ การทำงานร่วมกับเครือข่าย เหล่านี้จะทำให้เห็นผล ทำแล้วสามารถขยายผลได้ ที่สำคัญต้องดู OKR ประกอบกับ KPI เพื่อการเขียนที่ดี การให้ข้อมูลเชิงปริมาณที่เหมาะสม แต่ละเรื่องจะวางรูปแบบ OKR ที่แตกต่างกัน ซึ่งต่อไปจะวางการตรวจสอบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จึงต้องให้ความสำคัญกับการเขียนให้ตรงรูปแบบตามเกณฑ์ที่กำหนด ข้อมูลบริบทพื้นที่และสังคม การรองรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ที่จะเกิดขึ้น สำรวจวิจัยที่มีคนทำไปแล้วจะต่อยอดอย่างไร ขยายผลและพัฒนาต่อ การนำงานวิจัยไปขยายผล เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น” รศ.ดร.ชคัตตรัย กล่าวในท้ายสุด
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๐ วันพุธที่ ๓ - วันอังคารที่ ๙ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๓
863 1,513