4thOctober

4thOctober

4thOctober

 

June 12,2020

‘รพ.มหาราช’ปฏิเสธ อบจ. มอบครุภัณฑ์แพทย์ ระนองรักษ์’ท้าตรวจสอบได้

นายก อบจ.โคราช แจงกรณีโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาไม่รับครุภัณฑ์ทางการแพทย์ อ้างเป็นความเข้าใจผิดของคณะกรรมการ เผยตั้งงบไว้กว่า ๕๐ ล้าน แต่ใช้เพียง ๓๒ ล้านบาท พร้อมยืนยันตรวจสอบได้ ชี้โรงพยาบาลอื่นในโคราชได้รับอานิสงส์แทน ด้านรอง ผอ.รพ.มหาราชฯ เผยถนัดรักษาผู้ป่วย ไม่ถนัดงานพัสดุ จึงทำให้เกิดปัญหา

เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ห้องประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ศูนย์บัญชาการตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ จังหวัดนครราชสีมา นางปิยะฉัตร อินสว่าง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา นพ.สายลักษณ์ พิมพ์เกาะ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-๑๙

ในการแถลงข่าวครั้งนี้ สื่อมวลชนได้ซักถามในประเด็นข้อสงสัยกรณีที่ อบจ.นครราชสีมา ดำเนินการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ และมอบให้โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา แต่ทางโรงพยาบาลมหาราชฯ ปฏิเสธการรับ ซึ่งร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ (นก) สุวรรณฉวี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา เข้าชี้แจงด้วยตนเอง

แจงครุภัณฑ์ตรวจสอบได้

ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี ชี้แจงว่า “ตนได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ให้จัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งโรงพยาบาล มทส. เป็นโรงพยาบาลแรกที่ขอ และต่อมาโรงพยาบาลมหาราชฯ รวมถึงโรงพยาบาลของรัฐทั้งหมด ๔๐ แห่งในจังหวัดนครราชสีมา โรงพยาบาลมหาราชฯ เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ อีกทั้งโรงพยาบาลในเครือข่ายที่ขอเข้ามา ถ้าหากต้องจัดให้ทั้งหมดจะใช้งบประมาณมาก และงบประมาณที่นำมาก็ไม่ใช่เฉพาะสถานการณ์โควิด-๑๙ กรณีเดียว จึงเลือกเฉพาะกรณีที่จำเป็น เพื่อจะได้ช่วยคนไข้ ซึ่งขอขอบคุณโรงพยาบาลมหาราชฯ ที่สามารถรักษาหายได้ทั้ง ๑๙ ราย ทำตามขั้นตอนทุกประการ เมื่อถึงวันรับพัสดุทางโรงพยาบาลมหาราชฯ บอก ‘ไม่รับแล้ว’ สร้างความงุนงงให้กับทาง อบจ. อย่างมาก” 

“ภายหลังมีการหารือ โดยมี นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ๔ แห่ง เข้าร่วมด้วย รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง จึงมีการตรวจรับ โดยที่ อบจ. ไม่ได้สนับสนุนหน้ากากอนามัย เพราะราคาสูงเกินกำหนด อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงทำการจัดซื้อและมีการบริจาค ทำให้มีเพียงพอต่อความต้องการ ส่วนแอลกอฮอล์ นายก อบจ. ให้ฟรี โดยมอบให้โรงพยาบาลมหาราชฯ ๑,๐๐๐ ลิตร ส่วนอีก ๑,๐๐๐ ลิตรให้โรงพยาบาลผสมแล้วส่งกลับมาให้ อบจ. เพื่อนำไปแจกจ่ายประชาชน ส่วนที่มีของไปวางกองไว้ข้างหน้าโรงพยาบาลนั้น ทาง อบจ.ได้ประสานงานล่วงหน้า ๔ วัน เมื่อโรงพยาบาลปฏิเสธ อบจ. จึงนำครุภัณฑ์ทางการแพทย์ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลที่ต้องการต่อไป พร้อมทั้งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับทั้งหมด ยืนยันว่าเรื่องนี้สามารถตรวจสอบได้ การที่โรงพยาบาลมหาราชฯ ไม่รับ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะโรงพยาบาลได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย และเครื่องมือครุภัณฑ์ทางการแพทย์ยังเป็นที่ต้องการต่อโรงพยาบาลอื่นๆ จึงส่งมอบให้โรงพยาบาลอื่นๆ แทน” 

งบประมาณ ๓๒ ล.ใช้คุ้มค่า

นายก อบจ.นครราชสีมา แถลงอีกว่า “งบประมาณในการจัดซื้อครุภัณฑ์ของ อบจ. เป็นเงินทั้งหมด ๓๒,๘๐๔,๕๐๐ บาท ใช้งบประมาณไปแล้วประมาณ ๕๐% โดยจัดซื้อเพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลมหาราชฯ จำนวน ๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท (โรงพยาบาลมหาราชฯ ขอรับเพียง ๒ เครื่อง คือ เครื่องสกัดสารพันธุกรรมแบบอัตโนมัติและเครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมแบบอัตโนมัติ) ส่วนเรื่องการต่อราคาเป็นเรื่องปกติ ที่ทาง อบจ. สามารถซื้อได้ถูกกว่า เพราะซื้อในปริมาณมาก ราคาย่อมถูกกว่าแน่นอน อบจ. สามารถดำเนินการได้ ไม่ใช่คนโกง ตรงไปตรงมา ช่วยชีวิตคนไข้ให้ดีที่สุด”

ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ กล่าวท้ายสุดว่า “ครั้งนี้เป็นการจัดซื้อกับบริษัทที่ไม่รู้จักมาก่อน เพราะ อบจ.ไม่เคยจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์อยู่แล้ว ต้องสอบถามโรงพยาบาลฯ ให้โรงพยาบาลช่วยแนะนำและประสานงานในเบื้องต้น ตนไม่เคยจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของ อบจ. และ อบจ. ไม่มีสถานพยาบาลในความรับผิดชอบแม้แต่แห่งเดียว” 

เข้าใจผิด เงินหลวงบริจาคไม่ได้

ด้าน นพ.สายลักษณ์ พิมพ์เกาะ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ กล่าวว่า “โรงพยาบาลมหาราชฯ เข้าใจว่า อบจ. ให้ทำหนังสือขอสนับสนุน มีหลักฐานชัดเจนว่า มีหนังสือให้ทำการขอสนับสนุนอุปกรณ์ครุภัณฑ์ ซึ่งในหลายบริษัทก็เข้ามาติดต่อ แต่ต้องมีหนังสือออกจากโรงพยาบาลมหาราชฯ ด้วย ส่วนผู้ตรวจสอบครุภัณฑ์ เป็นแพทย์ที่รักษาผู้ป่วย ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ เมื่อถึงเวลากลับไม่ตรวจรับ ทำให้เกิดปัญหาขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดฯ ส่งงบประมาณสนับสนุนให้โรงพยาบาลมหาราชฯ จำนวน ๑๐ ล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องช่วยหายใจ โรงพยาบาลทราบถึงราคากลางอยู่แล้ว ทำให้แพทย์ที่เป็นคณะกรรมการไม่กล้าที่จะตรวจรับอุปกรณ์ครุภัณฑ์ดังกล่าว” 

ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ฯ กล่าวว่า “ในที่ประชุม ใครที่ต้องการครุภัณฑ์อุปกรณ์ทางการแพทย์ ก็ให้ขอที่ อบจ. ไม่ใช่ให้ อบจ. เป็นผู้สนับสนุน เมื่อทางโรงพยาบาลขอเข้ามา จะมีคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากโรงพยาบาลเข้ามาร่วมกับ อบจ. การไม่ได้มอบเงินให้เป็นเรื่องที่ผิดหรือไม่ แล้วงบประมาณที่นำไปจัดซื้อจัดจ้างเป็นเงินของรัฐบาล เมื่อนำไปใช้ต้องมีหลักฐาน”  

นายวัชรวิชย์ สุขวัฒนาภิรมย์ ท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเสริมว่า “เมื่อกระทรวงมหาดไทยมอบหมายภารกิจเกี่ยวกับโควิด-๑๙ แล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ก็จะมอบหมายให้ อบจ.ดำเนินการ เงินหลวงบริจาคไม่ได้ จึงนำไปซื้อครุภัณฑ์มามอบให้แทน มีการจัดตั้งคณะกรรมการจากทุกฝ่าย เมื่อถึงวันมอบก็มีความเข้าใจผิดกัน แต่ได้ประชุมหารือกันเรียบร้อย จึงนำอุปกรณ์ครุภัณฑ์ที่จัดซื้อมาแล้วไปมอบให้โรงพยาบาลอื่นๆ ที่มีความจำเป็นในการใช้”

๕ โรงพยาบาลรับอานิสงส์

ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี กล่าวว่า “ในส่วนที่โรงพยาบาลมหาราชฯ ปฏิเสธการรับนั้น ทางโรงพยาบาล มทส.ก็ติดต่อรับไป ๒ เครื่อง โรงพยาบาลบัวใหญ่ ๑ เครื่อง โรงพยาบาลพิมาย ๑ เครื่อง โรงพยาบาลปากช่อง ๑ เครื่อง และโรงพยาบาลโชคชัย ๑ เครื่อง ซึ่งอุปกรณ์ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ก็ส่งมอบเรียบร้อย”

นพ.วิญญู จันทร์เนตร กล่าวเสริมว่า “ในเรื่องนี้ สาธารณสุขจังหวัดก็ถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เพราะเป็นคนกลางที่จะตรวจสอบความเหมาะสม และคัดกรองให้กับ อบจ. อีก สอบถามกับรองผอ.รพ.มหาราชฯ แล้วว่า ได้ส่งคนตรวจสอบอุปกรณ์ครุภัณฑ์ไป ซึ่งโรงพยาบาลมหาราชฯเน้นเรื่องการรักษาจึงไม่ถนัดในงานพัสดุ ทำให้เกิดความกลัว ซึ่งทั้งหมดคือเรื่องของความเข้าใจผิดเล็กน้อย ส่วนการต่อรองราคาเป็นเรื่องที่ปกติ เป็นหน้าที่ของคนทำงานอยู่แล้ว”

เปิดเอกสารยืนยัน

เมื่อสิ้นสุดการแถลงข่าว ‘โคราชคนอีสาน’ ได้ขอรับเอกสารที่เกี่ยวข้องจากร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายก อบจ.นครราชสีมา ซึ่งนายก อบจ. ให้ไปติดต่อขอรับจากกองสาธารณสุข อบจ.นครราชสีมา เป็นเอกสารชี้แจงเกี่ยวกับงบประมาณและการส่งมอบครุภัณฑ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลต่างๆ 

โดยชุดแรกเป็นบันทึกข้อความจากกองสาธารณสุข ฝ่ายส่งเสริมสาธารณสุข อบจ.นครราชสีมา ถึงนายก อบจ.นครราชสีมา ว่าด้วยเรื่อง ขออนุมัติงบกลางสำรองจ่าย เพื่อดำเนินการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ เพื่อป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อและการรักษาพยาบาล กรณีโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือโรคโควิด-๑๙ (COVID-19) พบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขอรับการสนับสนุนเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ จากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา เพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-๑๙ ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ได้รับหนังสือจากสาธารณสุขจังหวัดฯ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา, โรงพยาบาลเซนต์เมรี่, โรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา และตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา เรื่องขอรับการสนับสนุนเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อบจ. จึงดำเนินการตรวจสอบราคาแล้วนำมาเสนอที่ประชุม

ซื้อถูกกว่าที่คาดไว้

งบประมาณที่ขออนุมัติสำรองจ่ายจำนวน ๕๑,๕๔๘,๕๐๐ บาท เพื่อดำเนินการจัดซื้อครุภัณฑ์ และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เป็นงบประมาณที่สูงมาก อาจส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา อบจ.จึงดำเนินการจัดซื้อรายการครุภัณฑ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ดังนี้

๑.เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมปริมาตรและความดัน ขนาดกลาง ๑๐ เครื่อง ราคาเครื่องละ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ๒.เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมปริมาตรและความดันเคลื่อนย้ายได้ ๗ เครื่อง ราคาเครื่องละ ๔๕๐,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๓,๑๕๐,๐๐๐ ๓.เครื่องกำจัดเชื้อโรคในอากาศสำหรับห้องขนาดใหญ่ ๖ เครื่อง ราคาเครื่องละ ๔๕๐,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๒,๗๐๐,๐๐๐ ๔.เครื่องกำจัดเชื้อโรคในอากาศสำหรับห้องขนาดกลาง ๒๙ เครื่อง ราคาเครื่องละ ๙๕,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๒,๗๕๕,๐๐๐ บาท ๕.เครื่องกำจัดเชื้อโรคในอากาศสำหรับห้องขนาดเล็ก ๒ เครื่อง ราคาเครื่องละ ๖๕,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๑๓๐,๐๐๐ บาท 
๖.เครื่องสกัดสารพันธุกรรมแบบอัตโนมัติ ๑ เครื่อง ราคาเครื่องละ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท ๗.เครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมแบบอัตโนมัติ ๑ เครื่อง ราคาเครื่องละ ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ ๘.เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพ (Monitor) ๙ เครื่อง ราคาเครื่องละ ๙๐,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๘๑๐,๐๐๐ บาท ๙.ชุดอุปกรณ์ช่วยเหลือระบบหายใจแบบฉุกเฉิน Oxylater (Automatic Resuscitator) ๒ เครื่อง ราคาเครื่องละ ๘๕,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๑๗๐,๐๐๐ บาท ๑๐.เครื่องช่วยใส่ท่อช่วยหายใจชนิดวิดีทัศน์ (Video Laryngoscope) ๑๖ เครื่อง ราคาเครื่องละ ๑๕๐,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๒,๔๐๐,๐๐๐ บาท ๑๑.เครื่องให้อากาศผสมออกซิเจนด้วยอัตราการไหลสูง ๑๗ เครื่อง ราคาเครื่องละ ๒๘๐,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๔,๗๖๐,๐๐๐ บาท ๑๒.เครื่องวัดความอิ่มตัวของออกซิเจน ๑๕ เครื่อง ราคาเครื่องละ ๒,๓๐๐ บาท เป็นเงิน ๓๔,๕๐๐ บาท 

๑๓.เครื่องวัดโลหิตแบบอัตโนมัติ ๓๒ เครื่อง ราคาเครื่องละ ๒,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๖๔,๐๐๐ บาท ๑๔.ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protection Equipment : PPE) สำหรับใช้ในสถานพยาบาล ๔,๐๐๐ ชุด ราคาชุดละ ๑,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ๑๕.ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protection Equipment : PPE) สำหรับใช้ทั่วไป ๕๐๐ ชุด ราคาชุดละ ๘๕๐ บาท เป็นเงิน ๔๒๕,๐๐๐ บาท ๑๖.หน้ากาก N95 ๑๒,๐๐๐ ชิ้น ราคาชิ้นละ ๑๐๐ บาท เป็นเงิน ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท (อบจ.นครราชสีมาไม่ได้จัดซื้อ) ๑๗.หน้ากากอนามัย ๑๕,๐๐๐ กล่อง ราคากล่องละ ๗๕๐ บาท เป็นเงิน ๑๑,๒๕๐,๐๐๐ บาท (อบจ.นครราชสีมาไม่ได้จัดซื้อ)  ๑๘.เครื่องเทอร์โมมิเตอร์อัตโนมัติ แบบ อินฟาเรด ๑,๐๐๐ เครื่อง ราคาเครื่องละ ๔,๒๐๐ บาท เป็นเงิน ๔,๒๐๐,๐๐๐ บาท 

ส่วนเอกสารชุดที่สองเป็นรายการครุภัณฑ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ทั้งหมด ได้ส่งมอบให้โรงพยาบาล และหน่วยงานทางการแพทย์ ดังนี้ ๑.มอบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา จำนวน ๑๐ รายการ ได้แก่ ๑.เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมปริมาตรและความดันขนาดกลาง ๔ เครื่อง (มอบต่อไปยังโรงพยาบาลปากช่องนานา, โรงพยาบาลจักราช, โรงพยาบาลพิมาย, และโรงพยาบาลบัวใหญ่ แห่งละ ๑ เครื่อง) ๒.เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมปริมาตรและความดันเคลื่อนย้ายได้ ๗ เครื่อง (มอบต่อไปยัง โรงพยาบาลพิมาย, โรงพยาบาลบัวใหญ่, โรงพยาบาลโชคชัย, โรงพยาบาลครบุรี, โรงพยาบาลด่านขุนทด, โรงพยาบาลปักธงชัย, และโรงพยาบาลจักราช แห่งละ ๑ เครื่อง) ๓.เครื่องกำจัดเชื้อโรคในอากาศสำหรับห้องขนาดใหญ่ ๔ เครื่อง (มอบต่อไปยัง โรงพยาบาลพิมาย, โรงพยาบาลบัวใหญ่, โรงพยาบาลโชคชัย, และโรงพยาบาลปากช่องนานา แห่งละ ๑ เครื่อง) ๔.เครื่องกำจัดเชื้อโรคในอากาศสำหรับห้องขนาดกลาง ๑๖ เครื่อง (มอบต่อไปยัง โรงพยาบาลปากช่องนานา, โรงพยาบาลพิมาย, โรงพยาบาลบัวใหญ่, โรงพยาบาลโชคชัย, โรงพยาบาลครบุรี, โรงพยาบาลด่านขุนทด, โรงพยาบาลปักธงชัย, และโรงพยาบาลจักราช แห่งละ ๒ เครื่อง) ๕.เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพ (Monitor) ๘ เครื่อง (มอบต่อไปยัง โรงพยาบาลปากช่องนานา, โรงพยาบาลพิมาย, โรงพยาบาลบัวใหญ่, โรงพยาบาลโชคชัย, โรงพยาบาลครบุรี, โรงพยาบาลด่านขุนทด, โรงพยาบาลปักธงชัย, และโรงพยาบาลจักราช แห่งละ ๑ เครื่อง) ๖.เครื่องช่วยใส่ท่อช่วยหายใจชนิดวิดีทัศน์ (Video Laryngoscope) ๑๐ เครื่อง (มอบต่อไปยัง โรงพยาบาลปากช่องนานาและโรงพยาบาลบัวใหญ่ แห่งละ ๒ เครื่อง, โรงพยาบาลพิมาย, โรงพยาบาลโชคชัย, โรงพยาบาลครบุรี, โรงพยาบาลด่านขุนทด, โรงพยาบาลปักธงชัย, และโรงพยาบาลจักราช แห่งละ ๑ เครื่อง) ๗.เครื่องให้อากาศผสมออกซิเจนด้วยอัตราการไหลสูง ๙ เครื่อง (มอบต่อไปยัง โรงพยาบาลบัวใหญ่ ๒ เครื่อง, โรงพยาบาลปากช่องนานา, โรงพยาบาลพิมาย, โรงพยาบาลโชคชัย, โรงพยาบาลครบุรี, โรงพยาบาลด่านขุนทด, โรงพยาบาลปักธงชัย, และโรงพยาบาลจักราช แห่งละ ๑ เครื่อง) ๘.เครื่องวัดโลหิตแบบอัตโนมัติ ๑๒ เครื่อง ๙.ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protection Equipment : PPE) สำหรับใช้ในสถานพยาบาล ๓,๐๐๐ ชุด ๑๐.เครื่องเทอร์โมมิเตอร์อัตโนมัติ แบบอินฟาเรด จำนวน ๗๐๐ เครื่อง รวมงบประมาณทั้งสิ้น ๑๗,๙๔๔,๐๐๐ บาท

๒.มอบให้โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ๒ รายการ ได้แก่ ๑.เครื่องสกัดสารพันธุกรรมแบบอัตโนมัติ ๑ เครื่อง ๒.เครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมแบบอัตโนมัติ ๑ เครื่อง รวมทั้งสิ้น ๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท
๓.มอบให้โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ๑๑ รายการ ได้แก่ ๑.เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมปริมาตรและความดัน ขนาดกลาง ๓ เครื่อง ๒.เครื่องกำจัดเชื้อโรคในอากาศสำหรับห้องขนาดใหญ่ ๒ เครื่อง ๓.เครื่องกำจัดเชื้อโรคในอากาศสำหรับห้องขนาดกลาง ๙ เครื่อง ๔.เครื่องกำจัดเชื้อโรคในอากาศสำหรับห้องขนาดเล็ก ๒ เครื่อง ๕.ชุดอุปกรณ์ช่วยเหลือระบบหายใจแบบฉุกเฉิน Oxylater (Automatic Resuscitator) ๒ เครื่อง ๖.เครื่องช่วยใส่ท่อช่วยหายใจชนิดวิดีทัศน์ (Video Laryngoscope) ๓ เครื่อง ๗.เครื่องให้อากาศผสมออกซิเจนด้วยอัตราการไหลสูง ๓ เครื่อง ๘.เครื่องวัดความอิ่มตัวของออกซิเจน ๕ เครื่อง ๙.เครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติ ๕ เครื่อง ๑๐.ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protection Equipment : PPE) สำหรับใช้ในสถานพยาบาล ๑,๐๐๐ ชุด ๑๑.เครื่องเทอร์โมมิเตอร์อัตโนมัติ แบบอินฟาเรด ๓๐ เครื่อง รวมทั้งสิ้น ๖,๑๙๐,๕๐๐ บาท

๔.มอบให้โรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา ๘ รายการ ได้แก่ ๑.เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมปริมาตรและความดัน ขนาดกลาง ๓ เครื่อง ๒.เครื่องกำจัดเชื้อโรคในอากาศสำหรับห้องขนาดกลาง ๔ เครื่อง ๓.เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพ (Monitor) ๑ เครื่อง ๔.เครื่องช่วยใส่ท่อช่วยหายใจชนิดวิดีทัศน์ (Video Laryngoscope) ๓ เครื่อง ๕.เครื่องให้อากาศผสมออกซิเจนด้วยอัตราการไหลสูง ๓ เครื่อง ๖.เครื่องวัดความอิ่มตัวของออกซิเจน ๑๐ เครื่อง ๗.เครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติ ๑๐ เครื่อง ๘.เครื่องเทอร์โมมิเตอร์อัตโนมัติ แบบอินฟาเรด ๒๐ เครื่อง รวมทั้งสิ้น ๔,๑๘๕,๐๐๐ บาท

๕.มอบให้ตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา ๒ รายการ ได้แก่ ๑.เครื่องเทอร์โมมิเตอร์อัตโนมัติ แบบอินฟาเรด ๑๑๐ เครื่อง ๒.ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protection Equipment : PPE) สำหรับใช้ทั่วไป ๓๑๒ ชุด รวมทั้งสิ้น ๖๑๒,๒๐๐ บาท ทั้งนี้ การชี้แจงรายละเอียดการจัดซื้อครุภัณฑ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ข้างต้น พบว่า อบจ.นครราชสีมา ใช้งบประมาณจัดซื้อไปทั้งหมด ๓๒,๔๓๕,๗๐๐ บาท จากงบประมาณที่ขออนุมัติสำรองจ่ายจำนวน ๕๑,๕๔๘,๕๐๐ บาท

งบประมาณไม่ตรงกัน

ทั้งนี้ “โคราชคนอีสาน” ตั้งข้อสังเกตว่า จากเอกสารรายการครุภัณฑ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ที่ อบจ. มอบสนับสนุนโรงพยาบาลและหน่วยงานทางการแพทย์ทั้ง ๕ แห่ง รวมเป็นเงินจัดซื้อทั้งหมด ๓๒,๔๓๕,๗๐๐ บาท แต่ในการชี้แจงของร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายก อบจ.นครราชสีมา ที่ชี้แจงว่า งบประมาณในการจัดซื้อเป็นเงินทั้งหมด ๓๒,๘๐๔,๕๐๐ บาท ซึ่งตัวเลขไม่ตรงกัน 

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๓๐ น. “โคราชคนอีสาน” ติดต่อสอบถามจากเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุข อบจ.นครราชสีมา ถึงกรณีดังกล่าว และได้รับคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ต้องการเปิดเผยชื่อว่า ที่ขออนุมัติเงินสำรองจ่ายจำนวน ๕๑,๕๔๘,๕๐๐ บาท อบจ.ทำการจัดซื้อไปแล้วจำนวน ๑๘,๗๕๔,๕๐๐ บาท จากราคาของครุภัณฑ์ที่จะส่งมอบให้โรงพยาบาลต่างๆ ตามงบประมาณจริงจำนวน ๓๒,๔๓๕,๗๐๐ บาท โดยงบประมาณขณะนี้ยังไม่นิ่ง เพราะบางรายการถูกจัดส่งล่าช้า ต้องรอโรงพยาบาลยืนยันว่า ยังต้องการครุภัณฑ์ฯ หรือไม่ ซึ่งงบประมาณจะไม่เกิน ๔๕ ล้านบาท

ทั้งนี้ ในส่วนของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มีรายการตรวจรับทั้งหมด ๒ รายการ คือ เครื่องสกัดสารพันธุกรรมแบบอัตโนมัติจำนวน ๑ เครื่อง และเครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมแบบอัตโนมัติจำนวน ๑ เครื่อง รวมมูลค่าทั้งสิ้น ๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนรายการที่โรงพยาบาลมหาราชฯ ปฏิเสธการรับ มีจำนวน ๖ รายการ ได้แก่ ๑.เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมปริมาตรและความดันขนาดกลาง ๓ เครื่อง ๒.เครื่องกำจัดเชื้อโรคในอากาศ สำหรับห้องขนาดใหญ่ ๖ เครื่อง ๓.เครื่องกำจัดเชื้อโรคในอากาศ สำหรับห้องขนาดกลาง ๑๐ เครื่อง ๔.เครื่องช่วยใส่ท่อช่วยหายใจชนิดวิดีทัศน์ (Video Laryngoscope) ๓ เครื่อง ๕.เครื่องให้อากาศผสมออกซิเจนด้วยอัตราการไหลสูง ๒ เครื่อง และ ๖.ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protection Equipment : PPE) สำหรับใช้ในสถานพยาบาล ๑,๐๐๐ ชุด รวมทั้งสิ้น ๗,๔๗๐,๐๐๐ บาท

 


853 1,528