20thSeptember

20thSeptember

20thSeptember

 

June 23,2020

พระราชทานห้องคลีนรูมสำหรับตรวจรักษาผู้ป่วยแบบความดันลบ แก่ รพ.สิรินธร จ.ขอนแก่น สร้างโดยคณะนักวิจัย มทส.

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 ณ โรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น นายอภิชาต จงสกุล รองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานรับมอบ “ห้องคลีนรูมสำหรับรักษาพยาบาลผู้ป่วยแบบความดันลบ (Negative Pressure)” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ซึ่งจัดสร้างภายใต้ “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่างๆ )” เพื่อพระราชทานแก่โรงพยาบาล 5 แห่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมส่งมอบแก่โรงพยาบาลสิรินธร โดยมี ดร.สมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายแพทย์วีระศักดิ์ อนุตรอังกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ร่วมรับมอบ ซึ่งห้องดังกล่าวติดตั้งโดยคณะนักวิจัยของ มทส.

นายอภิชาต จงสกุล รองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า “ด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้ง “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่างๆ)” เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของที่มีความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยโควิด–19 อาทิ ห้องคัดกรองและห้องตรวจเชื้อ พระราชทานแก่โรงพยาบาล 4 แห่ง หุ่นยนต์ปิ่นโต และ “กระจก” ระบบสื่อสารทางไกล จำนวน 73 ชุด เพื่อพระราชทานแก่โรงพยาบาล 73 แห่ง กระจายไปยังจังหวัดต่างๆ

ต่อมาได้พระราชทานพระราชานุมัติเพิ่มเติม ให้ใช้เงินจากกองทุนดังกล่าวจัดซื้อ ห้องคลีนรูมสำหรับตรวจรักษาผู้ป่วยแบบความดันลบ (Negative Pressure) แบบเคลื่อนที่ ซึ่งออกแบบและจัดสร้างโดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง (COE) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ และสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับ บริษัท อีคิวเทค เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด มีคุณสมบัติสามารถจัดการอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วย ไม่ให้ออกไปนอกห้องและบำบัดอากาศจนปราศจากเชื้อ ทั้งยังลดโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้ป่วยรายอื่นและบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง โดยมอบให้มหาวิทยาลัยจัดสร้างและติดตั้งห้องคลีนรูมฯ เพื่อพระราชทานแก่โรงพยาบาลในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา โรงพยาบาลสุรินทร์ โรงพยาบาลอุดรธานี โรงพยาบาลชัยภูมิ และ โรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป”

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยรู้สึกเป็นเกียรติประวัติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสสนองงานตามแนวพระราชดำริใน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี ในหลายวาระ ได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ เพื่อร่วมพัฒนาสังคม โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการสร้าง “ห้องคลีนรูมสำหรับตรวจรักษาผู้ป่วยแบบความดันลบ (Negative Pressure)” แก่มูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากการบูรณาการองค์ความรู้แบบสหวิชาการ ระหว่างทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง (COE) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.สันติ แม้นศิริ และ รองศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา นักวิจัยจากสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล สิงห์ดง ได้นำประสบการณ์จากห้องปฏิบัติทดลอง มาประยุกต์ใช้เพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสเชื้อโรคของผู้ปฏิบัติงานและผู้ป่วย ตามหลักการและมาตรฐานทางการแพทย์ สำหรับภาคเอกชน บริษัท อีคิวเทค เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ได้ใช้ความชำนาญด้านฝีมือช่างและอุตสาหกรรม เข้าร่วมออกแบบจัดสร้างอย่างเต็มกำลัง ตามศักยภาพที่ทุกฝ่ายมีภายในระยะเวลาอันจำกัด กระทั่งประสบผลสำเร็จเป็นห้องตรวจคัดกรองเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ ต้นแบบ ซึ่งได้ส่งมอบแก่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ใช้งานจริงเป็นแห่งแรกเมื่อต้นเดือนเมษายน 2563 ถือเป็นการตอบโจทย์ความต้องการเร่งด่วนของประเทศ และร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเฉพาะแห่งนี้”

รองศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มทส. เปิดเผยว่า “การจัดสร้างห้องคลีนรูมสำหรับตรวจรักษาผู้ป่วยแบบแรงดันลบ (Negative Pressure) แบบเคลื่อนที่ เป็นห้องคลีนรูม ขนาด 3 x 6 x 2.7 เมตร ออกแบบและจัดสร้างเป็นห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อโรค แบ่งได้เป็นห้องความดันลบ 2 ห้อง สำหรับตรวจหาเชื้อโรคด้วยวิธีป้ายจมูกและลำคอ (swab) ได้พร้อมกัน 2 คน กั้นห้องระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรอย่างชัดเจน ลดการสัมผัส ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรค มีห้องปฏิบัติตรวจรักษา และห้องน้ำ 1 ห้อง ติดตั้งไว้แยกจากตัวอาคารหลัก ทำให้ไม่มีการแพร่เชื้อออกจากห้องตรวจไปสู่สิ่งแวดล้อมและติดต่อไปยังบุคคลอื่น เพราะอากาศที่มีเชื้อโรคจะไม่ไหลออกจากห้องตรวจไปได้ สำหรับการรักษาความดันที่ติดลบนี้อาศัยปั๊มที่ต้องทำงานตลอดเวลา เน้นสำหรับการรักษาพยาบาลและหัตถการความเสี่ยงสูง สามารถเคลื่อนย้ายเตียงผู้ป่วยเข้าออกผ่านห้อง Anteroom ได้ พร้อมทั้งออกแบบระบบสำรองไฟเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อกรณีไฟฟ้าดับอีกด้วย”

ผู้สนใจสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน “การให้” โดยบริจาคเงินสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่างๆ)” เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของที่มีความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยโควิด - 19 ผ่านช่องทาง ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสวนจิตรลดา บัญชีกระแสรายวัน เลขที่  067-300487-3  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 2447 8585 - 8 ต่อ 109, 121 และ 259


836 1,498