27thDecember

27thDecember

27thDecember

 

June 25,2020

ขนมจีนประโดก

คำว่า “ขนมจีน” สันนิษฐานว่า มาจากภาษามอญคือ ขฺนอมจินฺ [ขะ-นอม-จิน] หรือ คนอมจิน [คะ-นอม-จิน] หมายถึง เส้นที่ทำให้สุก

ขนอม หรือ คนอม หมายถึง เส้นที่จับกันเป็นกลุ่ม  

จิน หมายถึง สุก ทำให้สุก 

จากข้อสันนิษฐานนี้ ขนมจีนจึงไม่ใช่อาหารจีน 

ขนมจีน เป็นอาหารที่มีทุกภาคทุก ท้องถิ่น แต่เครื่องปรุงและรสชาติ ตลอดจนเรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่น ทางภาคเหนือเรียกว่า ขนมเส้น หรือ ข้าวเส้น มีขนมจีนน้ำเงี้ยว อีสานเรียก “ข้าวปุ้น” มีน้ำยาปลาร้า น้ำยาป่า ภาคกลางเรียก “ขนมจีน” มีขนมจีนน้ำยากะทิปลา มีขนมจีนซาวน้ำ น้ำยาหวาน เพิ่มขึ้น เป็นต้น

สำหรับโคราชมีขนมจีนที่มีรสชาติเฉพาะถิ่น คือ “ขนมจีนประโดก หรือ ขนมจีนบ้านประโดก” เป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่อดีตว่ากันว่าประมาณ ๘๐ ปีมาแล้ว

บ้านประโดก เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลหมื่นไวย อำเภอเมืองนครราชสีมา ปัจจุบันถือว่าอยู่ในตัวเมืองนครราชสีมา แต่เดิมชาวบ้านหมู่บ้านนี้มีอาชีพด้านเกษตรกรรม ต่อมาได้พัฒนาขนมจีนซึ่งเป็นอาหารประจำครัวเรือนผลิตออกขายไปยังชุมชนในเมือง ซึ่งในสมัยก่อนแม่ค้าขายขนมจีนส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง หาบใส่กระเชอไปขายที่ตัวเมืองนครราชสีมา ซึ่งมีแต่น้ำยากะทิปลาอย่างเดียว จนเป็นที่รู้จักกันดีว่า “ขนมจีนบ้านประโดก” ความเอร็ดอร่อยทำให้บางเจ้ามีขาประจำ

จุดเด่นของขนมจีนประโดกคือ น้ำยาปลากะทิเข้มข้น ไม่ใส่ปลาร้า เส้นขนมจีนเหนียวนุ่ม เครื่องปรุงที่สำคัญมีกระชาย หอมแดง กระเทียม พริก กะทิ ปลา (นิยมใช้ปลาช่อน) ที่เรียกว่า “ครบเครื่องหรือถึงเครื่อง” ได้แก่ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด กะทิ เนื้อปลา ทำให้น้ำยาเข้มข้น มีรสชาติกลมกล่อมคงที่กันแทบทุกเจ้า ผักแกล้มหรือผักเครื่องเคียงแต่ดั้งเดิมคือยอดกระถิน ฝักกระถินอ่อน สะระแหน่ ใบแมงลัก ต่อมามีถั่วฝักยาว ถั่วงอก ต่อมามีผักอื่นๆ ตามความนิยม เช่น ผักบุ้งต้มหั่นฝอย ผักกาดดอง เป็นต้น นั่งรับประทานกันตามริมถนน ริมตรอกซอย เป็นธรรมชาติพื้นบ้านในสมัยนั้น สำหรับกรรมวิธีการปรุง เครื่องปรุง อาจแตกต่างกันไป

แม้ค้าขนมจีนแต่ก่อนต้องตื่นแต่เช้าประมาณตีสี่ตีห้า เพื่อตระเตรียมสัมภาระให้พร้อมก่อนออกจากบ้าน ต้องหาบไปในเมืองเป็นระยะทางไกล ไปตามบ้านร้านค้าและตรอกซอย เป็นความเหน็ดเหนื่อยที่ผู้บริโภคมักไม่คิดถึงและเห็นใจ ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง ให้แถมบ้าง บางทีเจอหมาดุบ้าง ถ้าเวลาบ่ายๆ เหลือก็เลหลัง แม่ค้ากว่าจะกลับถึงบ้านก็พลบค่ำ 

แต่เดิมแม่ค้าขนมจีนจะร้องเรียกลูกค้าว่า “ขนมจีนมาแล้ว” ก็เป็นที่รู้กันว่า มีขนมจีนมาขาย ต่อมามีเพลง ขนมจีนน้ำยา ร้องโดย รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ประกอบภาพยนตร์เรื่อง ทุ่งเศรษฐี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ แม่ค้าขนมจีนนำมาร้องว่า “ขนมจีนแม่วัลลา คู่กับน้ำพระยาพระอภัย ถั่วงอกเสาวคนธ์ คู่กับพริกป่นหัสชัย” ปรากฏว่า ลูกค้าชอบใจจนขายดิบขายดี

อย่างไรก็ตาม เมื่อขนมจีนเป็นอาหารกลางวันที่นิยมของคนในเมือง ชาวบ้านประโดกแทบจะทุกครัวเรือนและหมู่บ้านใกล้เคียง เช่น บ้านโคกไผ่ ต่างทำขนมจีนหาบไปขายในเมืองโคราชบางครัวเรือนถือเป็นอาชีพหลัก

บางท้องที่ในโคราชนิยมทำขนมจีนเลี้ยงในงานมงคลสมรส ด้วยมีความเชื่อว่าเส้นขนมจีนที่ยืดยาว จะเป็นมงคลให้คู่สมรสอยู่ร่วมกันยืดยาวมั่นคง แต่ไม่นิยมทำเลี้ยงในงานศพ ด้วยมีความเชื่อว่าจะเป็นลางทำให้มีคนในครอบครัวตายติดต่อกันยาวเหมือนเส้นขนมจีน

ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๓๐ รศ.ดร.ทองคูณ หงส์พันธ์ อธิการบดีวิทยาลัยครูนครราชสีมา (มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ปัจจุบัน) มีแนวคิดจะอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมโคราช ด้วยการใช้นาฏศิลป์พื้นบ้านสื่อสารให้เห็นถึงสภาพสังคม เผ่าพันธุ์ การแต่งกาย และวิถีชีวิตคนโคราชในอดีต จึงได้ร่วมกับคณาจารย์ภาควิชานาฏศิลป์ คิดประดิษฐ์ท่ารำแบบพื้นบ้านรวม ๕ ชุด ๑ ใน ๕ ชุดนี้ มีชุดรำบ้านประโดกที่ใช้ท่ารำมาตรฐานตามแบบนาฏศิลป์มาดัดแปลงท่ารำ บอกเรื่องราวการทำขนมจีน ตั้งแต่การโขลกแป้ง การนวดแป้ง โรยเส้นขนมจีน การจับเส้นรวบเป็นหัว และหาบไปขายที่ตลาด โดยใช้ทำนองเพลงโคราชประยุกต์ร้องประกอบการแสดง ดังตัวอย่างกลอนเพลงบางตอน ดังนี้

 

......อีนางเอย.....       จิพูดเรื่องขนมจีนกันจั๊กนิดจั๊กหน่อย ละเนอ

พูดเรื่องขนมจีน          ที่เขากินกันว่าอร่อย

ทั่งเด๊กเล่กเด๊กน่อย         ทั่งสาวหนุ่มฟังเอาเนอ

ขนมจีนบ้านประโดก          คนบ้านโคกคนบ้านดอน

หน่าสะอิ้งหน่าสะออน      ฝีมืออร่อยกันทั่งตำบล

.....ไชยะ ช่ะชิไช เอาทั่วะอีนางเอย.....

.....ไชยะ ช่ะชิไช เอาทั่วะอีนางเอย.....

.....ไชยะ ช่ะชิไช.....

 

รำบ้านประโดกเป็นการประชาสัมพันธ์อาชีพขนมจีนอย่างกลมกลืน โดยผ่านศิลปะการแสดง แต่ปัจจุบันอาจมองว่า ศิลปวัฒนธรรมของบ้านเราล้าสมัย จึงค่อยๆ จางหายไปโดยไม่รู้สึกตัว

 

(ข้อมูล/ภาพ : “วิทยาลัยครูนครราชสีมากับการพัฒนาการละเล่นพื้นบ้าน” ลัดดา ปานุทัย และ วิลาวัลย์ ขำภิบาล ใน ลานธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ วิทยาลัยครูนครราชสีมา สหวิทยาลัยอีสานใต้ พ.ศ.๒๕๓๒, บำรุง คำเอก คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร สืบค้นจากhttps://mgronline.com/travel/detail/9520000015345, https://www.google.com/search?q.

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๓ วันพุธที่ ๒๔ - วันอังคารที่ ๓๐ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๓


721 2,230