27thDecember

27thDecember

27thDecember

 

July 03,2020

กรมชลฯ เตรียมรับมือน้ำท่วมอุบลฯ ย้ำไม่ให้ประชาชนขาดแคลนน้ำ

อธิบดีกรมชลประทานและผู้เชี่ยวชาญร่วมวางแผนรับมือฝนทิ้งช่วง พร้อมรับมือพายุในเดือนสิงหาคม ระบุจัดสรรน้ำเพื่อบริโภคไม่ให้ขาดแคลน และวางแผนจุดเสี่ยงรับมือน้ำท่วมที่จะมีพายุเข้ามา ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำอีสานล่าง ยังรับน้ำได้กว่า ๒๓๐ ล้าน.ลบ.ม.

เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๓ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทานด้านบำรุงรักษา ติดตามการบริหารจัดการน้ำรับมือฝนทิ้งช่วงเดือนกรกฎาคม และเตรียมพร้อมรับมือน้ำหลากปลายปีนี้ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนายประสานต์ พฤกษาชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ ๗ นายสัมพันธ์ เดือนศิริรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุบลราชธานี ร่วมวางแผนและลงสำรวจการดำเนินโครงการปรังปรุงอ่างเก็บน้ำหนองช้างใหญ่ บ้านนาดี ต.ยางสักกระโพหลุ่ม อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี

ดร.ทองเปลว กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ฝนทั้งปีจะมีค่าเฉลี่ยน้อยกว่าเดิม ๕% เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ฝนจะทิ้งช่วงและจะกลับมาตกอีกครั้งช่วงเดือนปลายเดือนกรกฎาคม ส่วนเดือนสิงหาคมจะมีพายุเข้ามา กรมชลประทานที่เป็นผู้บริหารจัดการน้ำตามลุ่มน้ำในภาคอีสานทั้งหมด ต้องเตรียมแผนรับมือทั้ง ๒ สถานการณ์ คือ การจัดสรรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ๑๒ แห่ง ขนาดกลาง ๒๑๘ แห่ง ขนาดเล็ก ๒๔๖ แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีน้ำคิดเป็นร้อยละ ๓๐% สามารถใช้การได้จริงเพียง ๑๘% จึงให้เน้นความสำคัญน้ำผลิตประปา น้ำอุปโภค บริโภค จะต้องมีเพียงพอตลอดระยะเวลาที่เกิดฝนทิ้งช่วง หรือให้มีไปจนถึงสิ้นฤดูฝนปีนี้

“ส่วนแผนที่ ๒ คือ การป้องกันอุทกภัย ซึ่งช่วงเดือนสิงหาคมจะมีพายุเข้ามาในพื้นที่ ได้จัดสรรเครื่องมือเตรียมรองรับ พร้อมให้มีการตรวจสอบความเสถียรภาพของเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เพื่อบริหารจัดการน้ำอยู่ในระดับควบคุมได้ไม่เกิดผลกระทบทั้งการขาดแคลนน้ำ หรือเกิดน้ำท่วมจากพายุ โดยเฉพาะในเขตสำนักงานชลประทานที่ ๗  ซึ่งมีพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยจำนวนหลายจุด จึงให้ทุกฝ่ายทำแผนพื้นที่จุดเสี่ยงมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดทำแผนเฝ้าระวัง ส่วนกรมชลประทานได้เตรียมเครื่องผลักดันน้ำให้พร้อมปฏิบัติงานได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำหลากขึ้นในพื้นที่จุดเสี่ยงที่ได้กำหนดไว้ในแผน” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขตสำนักงานชลประทานที่ ๗ ซึ่งที่มีพื้นที่รับผิดชอบ ๕ จังหวัด คือ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร และอุบลราชธานี มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอยู่ในความดูแล จำนวน ๖๑ แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน ๑๕๗ ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ ๔๑ ของความจุอ่าง ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปี ๒๕๖๒ เกือบ ๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้อ่างทั้งหมดยังสามารถรองรับน้ำในฤดูฝนนี้ได้อีกเกือบ ๒๓๐ ล้านลูกบาศก์เมตร

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๔ วันพุธที่ ๑ - วันอังคารที่ ๗ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 
 

864 1,541