15thOctober

15thOctober

15thOctober

 

August 01,2020

ทช.ขยายถนนแยกด่านฯ-พระทองคำ แนะฟังรอบด้านเพื่อความเจริญท้องถิ่ิน

ทางหลวงชนบทเปิดเวทีฟังความเห็นขยายทางแยกเชื่อมด่านขุนทด-พระทองคำ ลดปัญหาการจราจรในอนาคต ประชาชนห่วงความปลอดภัยจุดเสี่ยง หนุนเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น

เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ มีการประชุมปฐมนิเทศโครงการสำรวจออกแบบถนนสาย นม.๔๐๐๘ แยก ทล.๒๐๑-ทล.๒๐๕ อ.ด่านขุนทด, พระทองคำ จังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุม นายสนิท รัตนศฤงค์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทนครราชสีมา กล่าวรายงานการประชุม พร้อมด้วย นายมนตรี กุลสุวรรณ วิศวกรงานทาง นายบูรพา สาคร วิศกรงานทาง รับผิดชอบสำรวจออกแบบโครงการฯ นายประยุทธ์ เจริญกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และนางสาวอุไรพร นภพาพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วม นำเสนอความเป็นมา วัตถุประสงค์โครงการ และแผนดำเนินงานโครงการ พร้อมด้วยประชาชนในพื้นที่ กว่า ๑๒๖ คน เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น ณ โรงแรม ดิ อิมพิเรียล โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โคราช

ทั้งนี้ เป็นการรับฟังและเสนอข้อมูล เพื่อดำเนินการสำรวจออกแบบ ถนนสาย นม.๔๐๐๘ แยก ทล. ๒๐๑-ทล. ๒๐๕ อ.ด่านขุนทด, พระทองคำ จ.นครราชสีมา ระยะทางประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และยกระดับมาตรฐานทางหลวงเพื่อรับรองปริมาณจราจรในอนาคต เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้เส้นทาง ตลอดจนบรรเทาปริมาณจราจรของทางหลวง และแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบริเวณทางแยก รวมทั้งบรรเทาปริมาณจราจร บนถนนทางหลวงหมายเลข ๒ หมายเลข ๒๐๑ และหมายเลข ๒๐๕ อย่างมีประสิทธิภาพ

เส้นทางการสำรวจออกแบบ

ภายใต้แผนกิจกรรมยกระดับมาตรฐานชั้นทางของกรมทางหลวงชนบทและคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดนครราชสีมา (กรอ.จังหวัดนครราชสีมา) พิจารณาเห็นว่า โครงการถนนสายนี้ สามารถพัฒนาเป็นทางลัด ทางเลี่ยงระหว่างอำเภอ และจังหวัดไปสู่ภาคอีสาน จากการประชุมมีมติเห็นชอบขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมทางหลวงชนบท เพื่อดำเนินการโครงการฯ ดังนั้น สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวงชนบท จึงดำเนินการจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบในการศึกษา เพื่อให้เส้นทางมีมาตรฐานตามหลักมาตรฐานสากล และความปลอดภัยต่อผู้ใช้ทาง

นายบูรพา สาคร วิศวกรงานทางรับผิดชอบสำรวจออกแบบโครงการฯ กล่าวว่า “โครงการฯ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน โดยส่วนแรกเป็นถนนตัดใหม่ ระยะทาง ๗ กิโลเมตร และขยายถนนเดิม จาก ๒ ช่องจราจร (๒ เลน) เป็น ๔ ช่องจราจร (๔ เลน) ระยะทาง ๒๓ กิโลเมตร รวมระยะทาง ๓๐ กิโลเมตร ซึ่งจุดเริ่มต้นอยู่ที่บ้านกุดม่วง อำเภอด่านขุนทด เข้าอำเภอโนนไทย สิ้นสุดที่อำเภอพระทองคำ โดยพื้นที่หลักจะแบ่งเป็นชุมชนที่อยู่อาศัย และพื้นที่เกษตรกรรม มี ๔ ช่องจราจร ไป ๒ กลับ ๒ มีเกาะกลางแบบยกสูง และไฟฟ้าส่องสว่าง ในเขตพื้นที่ชุมชนจะมีไหล่ทางและทางเท้า ด้านล่างทางเท้ามีระบบระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในช่วงฝนตก ส่วนพื้นที่เกษตรกรรมไม่มีทางเท้า แต่จะออกแบบไหล่ทางด้านข้างให้กว้างขึ้น สำหรับรถจักรยานยนต์หรือรถที่ใช้ในการเกษตรกรรม มีจุดกลับรถให้เพียงพอเพื่อความปลอดภัย บริเวณพื้นที่แยกอันตรายออกแบบเป็นสะพานข้ามแยก เป็นสะพานสองตัวรถสัญจรไป ๒ กลับ ๒ ด้านล่างให้เลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาตามความเหมาะสม

ปัญหาและขั้นตอนการดำเนินงาน

นายบูรพา สาคร กล่าวว่า “ในระยะทาง ๑ กิโลเมตรแรก จะมีชุมชนอาศัยอยู่สองข้างทางจำนวนหลายหลังคาเรือน มีระยะชิดขอบทาง ๑๐-๑๒ เมตร การขยายช่องจราจร ๓๐ เมตร อาจเกิดผลกระทบต่อชุมชนสองข้างทาง ส่วนในแนวเส้นทางจากเดิม ๒ ช่องจราจร เปลี่ยนเป็น ๔ ช่องจราจร มีการกันเส้นทางไว้แล้วในบางส่วน ทั้งนี้อาจมีโค้งสะพานที่ยังไม่ปลอดภัยจะมีการดำเนินการปรับปรุงแก้ไข และลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลพี่น้องในชุมชน จุดสิ้นสุดโครงการ ๑ กิโลเมตรสุดท้าย มีปัญหาความหนาแน่นของชุมชน ติดชิดเขตทางทั้งซ้ายและขวาคล้ายจุดเริ่มต้น ถ้าขยายเส้นทางจะมีลักษณะเป็น ๒ โค้งติดต่อกัน ซึ่งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการสัญจร เป็นการบ้านของกรมทางหลวงชนบทว่าจะหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขอย่างไร ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาการพัฒนาด้านการจราจรให้ครบถ้วนและสมบูรณ์ในเชิงบูรณาการ รวมถึงด้านทัศนียภาพและสถาปัตยกรรม 

ทั้งนี้ ขั้นตอนการดำเนินงานยังอยู่ในเวทีปฐมนิเทศโครงการ ซึ่งการประชุมครั้งต่อไปจะเป็นการประชุมย่อยลงพื้นที่ในทุกตำบล รับฟังความคิดเห็นและความเหมาะสมในแต่ละช่วงโครงการฯ เพื่อสรุปรูปแบบอีกครั้งในการปัจฉิมนิเทศโครงการ ภายในช่วงเดือนสิงหาคม ๒๕๖๓ ก่อนออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนในปี ๒๕๖๔ สำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเวนคืน ปี ๒๕๖๕ กำหนดค่าทดแทนและประกาศฯ ปี ๒๕๖๖ ทำสัญญาจ่ายค่าเวนคืน และรับเงินค่าเวนคืน ปี ๒๕๖๗ และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี ๒๕๖๘-๒๕๖๙

การเผยแพร่ข้อมูลและผลกระทบ 

นางสาวอุไรพร นภพาพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วม กล่าวว่า “ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใน ๕ กิจกรรม ครอบคลุม ๓ อำเภอ ๘ ตำบล ได้แก่ อ.ด่านขุนทด ๖ ตำบล ต.ด่านขุนทด ต.ตะเคียน ต.โนนเมืองพัฒนา ต.สระจรเข้ ต.หนอง บัวตะเกียด ต.หนองบัวละคร, อ.โนนไทย ต.บัลลังก์ และ อ.พระทองคำ ต.สระพระ ครอบคลุม ๗ กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ๑.ผู้ได้รับผลกระทบต่อตัวโครงการฯ ๒.ทางหลวงชนบทและบริษัทที่ปรึกษา ๓.สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ๔.หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ๕.องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรการศึกษา นักวิชาการ ๖.สื่อมวลชน และ ๗.ประชาชนทั่วไป ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วในกิจกรรมแรกคือ การแนะนำโครงการในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๓ ที่โรงแรมเดอะ ริช โฮเทล นครราชสีมา การปฐมนิเทศโครงการเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ เหลืออีก ๓ กิจกรรมคือ การประชุมกลุ่มย่อย การประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการ และการประชุมแบบก่อสร้าง

ด้านนายประยุทธ์ เจริญกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “มีการศึกษาเบื้องต้นเพื่อประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการวางแผนแก้ไขเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ ตามที่ (สผ.) กำหนดไว้ ตลอดระยะทาง ๓๐ กิโลเมตร โดยมีแผนงานการศึกษา ๙ เดือน คือเมษายน–ธันวาคม ๒๕๖๓ เพื่อรวบรวมข้อมูลในพื้นที่ และจากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงส่งทีมงานสำรวจระบบนิเวศทางบกทางน้ำ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ วัด โบราณสถาน ในรัศมี ๑ กิโลเมตร รวมทั้งข้อมูลทางภูมิศาสตร์ คุณภาพดิน น้ำ ภูมิอากาศ” 

เส้นทางเชื่อม หนุนการท่องเที่ยว

หลังจากนั้นเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุม ร.ต.ฐนนท์ธรณ์ กวีกิจรัตนา นายกเทศมนตรีตำบลบัลลังก์ อำเภอโนนไทย กล่าวว่า “ต้องการมีโครงข่ายเส้นทางเชื่อมต่อเพิ่มเติม ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่โดยรอบ ทั้งด้านการคมนาคม การขนส่งสินค้าทางการเกษตร และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ที่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งลุ่มน้ำลำเชียงไกร ซึ่งมีการพัฒนาพื้นที่แหล่งน้ำในปี ๒๕๕๙ อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชนในพื้นที่ เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ช่วยขจัดปัญหาความยากจน ทั้งนี้มีการศึกษาเส้นทางเชื่อมโยงใน ๓ เส้นทางเพื่อนำเสนอ ประกอบด้วย ๑.เส้น ทล.๒๐๕ ตำบลโคกสวาย เชื่อมโยงโครงการฯ ต่อไปยังอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ๒.เส้นทาง นม.๒๐๖๘-เชื่อมโยงโครงการฯ จากอำเภอขามทะเลสอต่อมายังอำเภอโนนไทย และ ๓.เส้นทาง ทล.๒๐๕ นม.๒๑๔๘ จากโคกสวายวิ่งตรงไปยังอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร”

ด้านนายธนานนท์ ชูชื่น นายกเทศมนตรีตำบลสระพระ อำเภอพระทองคำ กล่าวว่า “พื้นที่โครงการฯ อยู่ในพื้นที่เทศบาลตำบลสระพระ มีระยะทางประมาณ ๕-๖ กิโลเมตร อยากให้เสริมโครงการถนนเพื่อสุขภาพ มีช่องทางปั่นจักรยานออกกำลังกาย อีกส่วนคือ เรื่องทัศนียภาพช่วงสะพานข้ามตัดถนนสาย ทล.๒๐๕ อยากให้ทำการศึกษาในเรื่องงบประมาณ ระหว่างการก่อสร้างสะพานข้าม กับการสร้างอุโมงค์ทางลอด ถ้างบประมาณไม่ต่างกันมาก อยากให้สร้างเป็นอุโมงค์ เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพทั้งสองข้างทาง”

ความปลอดภัยในจุดอันตราย

นางสาวมนัสนันท์ ฐิตาปุณญาพัฒน์ นักผังเมืองปฏิบัติการ ผู้แทนโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “บริเวณจุดสิ้นสุดโครงการฯ ตนมีโอกาสได้ใช้เส้นทางนี้บ่อย เนื่องจากเป็นคนในพื้นที่ ปัจจุบันยังเป็น ๒ ช่องจราจร ระยะระหว่างโค้งถึงโค้งมีความยาวประมาณ ๑๕๐ เมตร ตามหลักการออกแบบวิศวกรรมศาสตร์ ถือว่าเป็นโค้งอันตราย ในอนาคตหากเพิ่มเป็น ๔ ช่องจราจร และมีไหล่ทางเพิ่ม ความคล่องตัวในการใช้ถนนก็จะเพิ่มตามไปด้วย ส่งผลให้การใช้ความเร็วของผู้ขับขี่เพิ่มขึ้น จึงอยากฝากถึงที่ปรึกษาโครงการฯ ให้คำนึงถึงความปลอดภัยในการออกแบบทางวิศวกรรมศาสตร์ และจะแก้ปัญหาตรงจุดนี้อย่างไร เพื่อนำมาเข้าที่ประชุมในครั้งต่อไป”

นางอิสริยา พนัสอัมพร นายกเทศมนตรีตำบลพระทองคำ กล่าวว่า “เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการฯ แต่บริเวณจุดสิ้นสุดโครงการฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตชุมชนหนาแน่น และเป็นเส้นทางโค้งอันตรายและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง อยากให้ทีมงานที่ลงพื้นที่สำรวจรับฟังข้อมูลข้อเสนอแนะจากชุมชนอย่างรอบด้าน เพื่อแก้ปัญหาให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด” 

จุดกลับรถและมาตรฐานการสร้าง

นายบัวมี เตสุพจน์ ราษฎรบ้านกุดม่วง ตำบลตะเคียน อำเภอด่านขุนทด กล่าวว่า “อยากเสนอเรื่องจุดกลับรถ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ควรคำนึงถึงเรื่องจุดกลับรถให้เหมาะสม และมีจำนวนเพียงพอ เพราะเส้นทางนี้ชาวบ้านใช้รถในการทำเกษตรกรรมเป็นส่วนมาก ไม่ควรมีระยะห่างเกินไป ซึ่งจะทำให้เกษตรกรเกิดความยากลำบากในการสัญจร ต้องลงพื้นที่สำรวจโดยละเอียด อีกประเด็นคือเรื่องมาตรฐานการก่อสร้าง เพราะมีตัวอย่างในถนนหลายเส้นทาง ที่ก่อสร้างเปิดตัวโครงการได้ไม่นานก็ชำรุดเสียหาย”

นายไกรฤกษ์ เสียนขุนทด อาจารย์วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ และอาสาสมัครพิทักษ์ สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ กล่าวว่า “ต้องการให้พิจารณาจุดกลับรถ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน รวมถึงจุดเริ่มต้นโครงการฯ ว่า จะใช้สัญญาณไฟจราจรหรือวงแหวนให้เหมาะสมและปลอดภัย รวมถึงการปลูกต้นคูนเพิ่มทัศนียภาพความสวยงามทั้งสองข้างทางด้วย”

นายมนตรี กุลสุวรรณ วิศวกรชำนาญทางของโครงการ ชี้แจงหลังรับฟังความคิดเห็นว่า “ในส่วนของจุดอันตรายที่ได้แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะมา ไม่ว่าจะจุดเริ่มต้นโครงการที่เป็นสี่แยก ในจุดนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณจำนวนจราจร อาจจะปรับเปลี่ยนใช้ระบบสัญญาณไฟ หรือแบบวงเวียนทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ถ้าเป็นวงเวียนขนาดใหญ่มีรัศมี ๓๐ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๖๐ เมตร ก็จะสามารถรองรับปริมาณรถได้จำนวนมาก รถมีระยะในการเลี้ยวเข้าเลี้ยวออกได้ ซึ่งอาจจะแลกด้วยการเวนคืนพื้นที่เพิ่มขึ้น แต่จากการศึกษาคาดการณ์ว่า ใน ๒๐ ปีข้างหน้า จะมีปริมาณการจราจรเพิ่มมากขึ้น อาจจะใช้ระบบสะพานเพื่อให้รถในฝั่งที่มีจำนวนมากเคลื่อนตัวได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของความเหมาะสม ในส่วนของจุดกลับรถ ทางที่ปรึกษาโครงการฯ จะพิจารณาให้เหมาะสมกับบริเวณชุมชน ส่วนในเรื่องมาตรฐานการก่อสร้าง เรามีมาตรฐานตามกฎหมายกำหนด การออกแบบและความสวยงาม รวมถึงระบบไฟฟ้า การระบายน้ำ จะลงพื้นที่พบชุมชนในช่วงของการประชุมย่อย เพื่อให้เหมาะสมตรงการความต้องการของประชาชนมากที่สุดในแต่ละจุด”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๘วันพุธที่ ๒๙ เดือนกรกฎาคม - วันอังคารที่ ๔ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


987 1,636