August 13,2020
ดันช่องจอมเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ คาดส่งออกเติบโตถึงหมื่นล้าน
กมธ.การต่างประเทศดึงทุกภาคส่วนเสนอปัญหาการค้าชายแดน หลังโควิด-๑๙ กระทบ พร้อมนำกลับไปแก้ทันที ระบุด่านผ่านแดนถาวรช่องจอมเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษไม่ได้ หากชาวสุรินทร์ไม่ให้เกิด หลังพบการส่งออกโตต่อเนื่อง จากหลักพันล้าน คาดจะพุ่งเป็นหมื่นล้านในอนาคต
เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ โรงแรมทองธารินทร์ จังหวัดสุรินทร์ นายศราวุธ เพชรพนมพร ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่อง “กรอบความร่วมมือระหว่างไทย-กัมพูชา ต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ผ่านมิติการค้าชายแดน” โดยมีนายอดิเทพ กมลเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นผู้กล่าวรายงาน จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับทราบข้อมูล แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา ผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศในมิติของการค้าชายแดน, เพื่อให้คณะกรรมาธิการฯ ได้รับทราบข้อมูล และข้อเสนอแนะที่หลากหลาย นำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา ต่อไป โดยมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยคณะกรรมาธิการฯ ประกอบด้วย นายศราวุธ เพชรพนมพร ประธานฯ, นายเกียรติ สิทธีอมร รองประธานคณะกรรมาธิการฯ, นายศุภชัย ใจสมุทร รองประธานกรรมาธิการฯ คนที่ ๔ และโฆษกคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ อีก ๒ คน กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน รวมทั้ง ยังมี ส.ส.จังหวัดสุรินทร์ จำนวน ๓ คน คือ นายปกรณ์ มุ่งเจริญพร (เขต ๑), นายสมบัติ ศรีสุรินทร์ (เขต ๖) และนายชูศักดิ์ แอกทอง (เขต ๗) เข้าร่วมนำเสนอข้อคิดเห็นอุปสรรคปัญหาจากประชาชน ให้คณะกรรมาธิการต่างประเทศทราบอีกด้วย รวมผู้สัมมนาทั้งสิ้น ๓๕๐ คน
นายสราวุธ เพชรพนมพร กล่าวว่า “ประเทศไทยและกัมพูชา ได้ธำรงความสัมพันธ์ฉันมิตรประเทศต่อกันมายาวนาน ทั้งสองประเทศได้ช่วยกันเติมเต็มการพัฒนาในภูมิภาคให้เจริญก้าวหน้าในมิติต่างๆ อย่างสมบูรณ์ โดยอาศัยกรอบความร่วมมือต่างๆ ที่ไทยและกัมพูชาเป็นสมาชิก ได้แก่ กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง และกรอบความร่วมมือทวิภาคีไทย-กัมพูชา การค้าชายแดนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา โดยจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม-โอร์เสม็ด เป็นจุดผ่านแดนสำคัญที่สุดของจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งจากการรายงานข้อมูลภาวะการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ บริเวณชายแดน ณ จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒ มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น ๖๕๙.๐๑ ล้านบาท โดยมีมูลค่าการส่งออกและสินค้าส่งออก รวมทั้งสิ้น ๕๑๑.๓๘ ล้านบาท มูลค่าการนำเข้าและสินค้านำเข้ารวมทั้งสิ้น ๑๔๗.๖๓ ล้านบาท ดุลการค้าไทยเกินดุลการค้ากัมพูชา มูลค่ารวม ๓๖๓.๗๕ ล้านบาท”
คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ เล็งเห็นว่า “การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ที่กำลังเติบโตและขยายตัวอยู่นี้มีความสำคัญอย่างมาก และเป็นช่องทางในการพัฒนาความสัมพันธ์ ระหว่างไทย-กัมพูชา ตลอดจนสามารถขยายความร่วมมือในด้านอื่นๆ เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค ดังนั้น คณะกรรมาธิการการต่างประเทศจึงได้จัดสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีในการรับทราบข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา ผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศในมิติของการค้าชายแดน นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสอันดีที่คณะกรรมาธิการฯ จะได้รับทราบข้อมูล และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อแนวทางในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา ต่อไป”
ประธานกรรมาธิการฯ กล่าวอีกว่า “ขณะนี้ด่านช่องจอมในอนาคต จากการดูสถิติ ของการส่งออกและนำเข้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากหลัก ๑-๒ พันล้าน เป็น ๘ พันล้าน ผมเชื่อว่าในอนาคต ด่านช่องจอมจะเป็นอีกด่านหนึ่งที่ ทำรายได้เป็นมูลค่าปีหนึ่งๆ หลายหมื่นล้านบาท เพราะช่วงนี้ก็ขึ้นมาแตะ ๘-๙ พันล้านบาท ในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน ซึ่งทาง ส.ส.ปกรณ์ มุ่งเจริญพร และอีกหลายท่าน มีความเป็นห่วงและจะพยายามผลักดันช่วยกัน ในเรื่องปัญหาและอุปสรรคที่เราได้รับทราบ อย่างเช่นในเรื่องของปศุสัตว์เราได้ฟังข้อมูลหลายๆ เรื่องที่เป็นประโยชน์และจะนำกลับไปดำเนินการต่อ”
นายเกียรติ สิทธีอมร รองประธาน กมธ. คนที่ ๒ กล่าวว่า “ตนรับปากกับชาวสุรินทร์ว่า เราจะนำเรื่องเข้ากรรมาธิการ ทันทีที่เรากลับไปกรุงเทพฯ จะเชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจง มาอธิบาย และสิ่งไหนที่ปรับปรุงได้ ก็จะทำ ในส่วนหนึ่งที่ต้องการพูดให้ฟัง ในกรอบของอาเซียน มีเรื่องที่อยากจะทำเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า โดยการทำซิงเกิ้ลวินโดว์ ซึ่งก็ได้ถามรองผู้ว่าราชการจังหวัดว่า ซิงเกิ้ลวินโดว์ จังหวัดสุรินทร์มีหรือยัง ก็ได้รับคำตอบว่า กำลังคนไม่มี และวิธีของจังหวัดเราก็คือ ทุกอย่างวิ่งไปที่ชายแดน เราไปออ รอกันอยู่ที่ชายแดน เผอิญตนเป็นคนหนึ่งที่โชคดีมีโอกาสทำงานที่ต่างประเทศหลายประเทศทั้งที่พัฒนาแล้ว และกำลังจะพัฒนา ประเทศไทยต้องวิ่งไปอีกทางหนึ่งแล้ว จริงๆ การเคลียร์ของกรมศุลกากร ต้องเริ่มตั้งแต่ต้นทาง สมัยตนอยู่ที่ฝรั่งเศส ทุกโรงงานปิดตู้คอนเทนเนอร์ที่โรงงาน และสำรวจโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร เมื่อออกจากโรงงาน จะไปทางไหนก็ไป ไม่ไปออกันอยู่ที่ชายแดน ไม่ไปออกันที่ด่าน เพราะวิธีการเคลียร์ของศุลกากรเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทางก่อนหน้านี้แล้ว และสิ่งเหล่านี้คือแนวคิดของระบบ ของจังหวัดที่มีการค้าชายแดนมากๆ และถือเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ”
“ตนเข้าใจว่าสุรินทร์ยังไม่ได้ไปถึงตรงนั้น แต่ตนเป็นคนหนึ่งที่ ต้องการเห็นประเทศไทยทำเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบถูกต้อง ได้ประโยชน์เต็มที่ จริงๆ ถ้ามีโอกาส ตนสามารถที่จะเล่าให้ฟังได้ว่า เคยออกแบบไว้ว่า ประเทศไทยเหมาะสำหรับการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษได้กี่จังหวัด ซึ่งตนทำได้ ๕๕ จังหวัดใน ๗๗ จังหวัด ถ้าเราจะตั้งใจทำกันอย่างจริงๆ ซึ่งก็ต้องฝากถึงชาวสุรินทร์ เราจะทำไม่ได้ถ้าชาวสุรินทร์ไม่อยากให้เกิด ซึ่งตนได้ฟังรองผู้ว่าฯ พูดถึงเกษตรอินทรีย์ สมุนไพร และเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นับเป็นจุดแข็งทั้งสิ้น แต่ทั้งหมดนี้ไม่สวนทางกับการค้า เพราะฉะนั้นถ้าเราจัดทำระบบของการค้า อำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชน เราก็จะสามารถเพิ่มพูนประมาณการค้าได้มากกว่านี้ และก็ต้องทำความเข้าใจกันไว้ การค้าไม่จำเป็นต้องได้ดุล เป้าหมายไม่ใช่ได้ดุลการค้า แต่เป้าหมายคือ เพิ่มการส่งออก เคยทำเท่าไหร่ ส่งเพิ่มได้ไหม นำเข้าเคยทำเท่าไหร่เพิ่มได้หรือไม่” นายเกียรติ กล่าว
จากนั้นในช่วงเย็นวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๓ คณะกรรมาธิการฯ ดังกล่าวได้ลงพื้นที่ไปยังจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม ตำบลด่าน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อติดตามและรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน หลังจากเกิดเหตุการณ์ระบาดของสถานการณ์โรคโควิด-๑๙ ทั้งในส่วนของหน่วยงานราชการและภาคเอกชน เพื่อนำไปประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป โดยมีตัวแทนจังหวัดสุรินทร์ นายอำเภอกาบเชิง ด่านศุลกากร ตรวจคนเข้าเมืองสุรินทร์ ปศุสัตว์ ด่านกักกันโรคจังหวัดสุรินทร์ ทหาร ตชด. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมให้ข้อมูลอีกด้วย
โดยในที่ประชุมเน้นเรื่องการค้าขายชายแดน เรื่องปากท้องของประชาชน โดยเฉพาะการส่งออกและนำเข้า ซึ่งก็พบว่าจากเดิมที่ผ่านมาถึงปัจจุบันมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากหลักพันล้าน ขยับขึ้นมาแตะ ๘ พันล้านต่อปี และในอนาคต จะเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นหลายหมื่นล้าน เช่นเรื่องของการส่งออกด้านปศุสัตว์ ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัญหาอุปสรรคที่ได้รับฟัง คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ จะนำไปดำเนินการต่อไป ส่วนความเป็นไปได้ที่จะมีการเปิดด่านให้มีการค้าขายตามปกติที่ด่านถาวรช่องจอมแห่งนี้ ต้องใช้ระยะเวลา รอให้สถานการณ์ไวรัสโควิด-๑๙ ดีขึ้นก่อน โดยคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ จะรวบรวมประมวลปัญหาทั้งหมดไปสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนว่า จะมีการผ่อนปรนอย่างไร เกี่ยวกับการค้าขายชายแดน ที่เกี่ยวกับปากท้องของประชาชนเป็นหลัก
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๐วันพุธที่ ๑๒ - วันอังคารที่ ๑๘ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓
109 1,773