15thNovember

15thNovember

15thNovember

 

August 24,2020

“เกสรบัวหลวงตากแห้ง” ทางเลือกใหม่ของการสร้างอาชีพ

ในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนขาดรายได้ ไม่มีอาชีพทำกิน การดิ้นรนจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้เอาชีวิตรอดจากวิกฤตครั้งนี้ไปได้ หลายคนกลับมาเริ่มต้นใหม่ที่บ้านเกิด หลายคนหยิบจับของรอบกายมาทำเป็นอาชีพ เรียกได้ว่า ใครหยิบจับอะไรมาสร้างรายได้ก่อน ก็สามารถเอาชีวิตรอดไปได้

เศรษฐกิจแย่ก็พาลทำให้สภาพร่างกายและจิตใจย่ำแย่ไปด้วย โรคภัยไข้เจ็บและการดูแลสุขภาพจึงนับเป็นเรื่องที่สำคัญ หลายคนให้ความสนใจในเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย และบางคนให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารเสริม เพียงเพราะไม่อยากให้ตนเองต้องเจ็บป่วย หรือเพราะต้องเสี่ยงกับการตรวจเจอโรคร้าย บางคนต้องเสียเงินหลักหมื่นหลักแสนในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆ จนลืมไปว่าของใกล้ตัวอย่าง “สมุนไพรไทย” สามารถสร้างคุณประโยชน์ได้หากเราใช้เป็น เพราะบางครั้งของใกล้ตัวที่เรามองว่า ไม่น่าจะมีประโยชน์ แต่ความจริงแล้วนั้นมันอาจสร้างประโยชน์ให้กับเราอย่างไม่คาดคิด

ที่ตำบลยาง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ได้ยินมาว่า มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเก็บเกสรดอกบัวมาจำหน่ายสร้างรายได้ หากใครผ่านไปผ่านมาก็จะพบกับชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง กำลังนั่งปาดหัวดอกบัวเพื่อเอาเกสร และนำไปตาก ให้แห้ง โดยในการจับกลุ่มครั้งนี้มีความเป็นมาอย่างไร ต้องให้ “มวย หมายชัย” อายุ ๖๐ ปี เล่าให้ฟัง 

ความเป็นมาของกลุ่มเก็บเกสรดอกบัวขาย เริ่มขึ้นนานมาแล้ว มีพ่อค้าลึกลับคนหนึ่งเดินทางมาเห็นดอกบัวที่อ่างน้ำลำพอก ซึ่งขึ้นเยอะมาก จึงขับรถเข้ามาสอบถามชาวบ้านว่า มีใครจะเก็บดอกบัวมาตากแห้งขายไหม จะรับซื้อ เมื่อบอกวิธีการทำเสร็จก็ตกลงราคาในการขาย เมื่อเสร็จสิ้นในการทำและก็จะมารับเองด้วย

จากนั้น “มวย หมายชัย” กับเพื่อนบ้านอีกจำนวน ๗ คน รวมทั้งหมดก็ ๘ คน พากันออกหาเก็บดอกบัวที่อ่างน้ำลำพอก ซึ่งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ โดยจะลงเรือคนละลำพายออกหาเก็บดอกบัว ที่เป็นพันธุ์บัวหลวง เอาเฉพาะส่วนที่เป็นดอกเท่านั้น ส่วนบัวฉัตรจะไม่เอา เพราะดอกบัวฉัตรนั้นส่วนมากคนจะนิยมมาทำเป็นดอกบัวไหว้พระ บัวฉัตรเกสรน้อยจึงไม่เป็นสิ่งที่ต้องการ ที่ต้องการคือดอกบัวหลวง เพราะว่าดอกใหญ่เกสรเยอะ ในตอนเช้าก็ลงเรือออกเก็บได้พอประมาณ เมื่อได้พอแล้วก็จะนำเอามาเทกองรวมกันไว้ จากนั้นก็ใช้มีดปาดส่วนหัวของดอกบัว คัดเอาแต่ส่วนที่เป็นเส้นเกสรบัวเท่านั้น เกสรบัวจะมีสีเหลืองอมขาว เมื่อคัดแยกออกเสร็จแล้วก็จะนำไปตากแห้งโดยจะใช้เสื่อมาปูรองที่พื้นปูนซีเมนต์ กลางแดดโดยโรยบางๆ กับเสื่อ หากแดดแรงๆ ร้อนมากๆ ตากเพียง ๓ ชั่วโมง

“บัวหลวง” จัดเป็นไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง ต้นหนึ่งมีอายุหลายปี ลำต้นมีทั้งเป็นเหง้าอยู่ใต้ดินและเป็นไหลอยู่เหนือดินและน้ำ เหง้าของบัวมีลักษณะเป็นท่อนยาว มีปล้องสีเหลืองอ่อนๆ ซึ่งส่วนของไหลสามารถนำไปเพราะปลูกได้ใหม่ โดยให้ตัดตามขวางเป็นรูปกรมๆ “บัวหลวง” สามารถเติบโตได้ดีในดินเหนียว และมีน้ำลึกประมาณ ๕๐ เซนติเมตร

“บัวหลวง” เป็นพืชที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เกือบทั้งต้น โดยส่วนใบ ลักษณะกลมมีขนาดใหญ่ ขอบใบเรียบและเป็นคลื่น ผิวใบด้านบนเป็นนวลเคลือบอยู่ ซึ่งโดยรวมสามารถนำไปห่ออาหารได้ ปัจจุบันมีหลายกิจกรรมที่หันมาใช้ประโยชน์จากใบในการห่ออาหาร แทนการใช้กล่องพลาสติกและกล่องกระดาษ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังสามารถช่วยลดมลภาวะได้ดีย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

ส่วนฝักของ “บัวหลวง” จะมีผลอ่อนสีเขียวจำนวนมาก ผลฝังอยู่ในฝักรูปร่างทรงกรวยในดอก สามารถนำมาเป็นอาหารทานเล่นได้ แน่นอนหลายคนคงเคยรับประทานกันมาแล้ว สำหรับเกสรบัวที่อยู่ในดอก สามารถนำไปใช้ปรุงยาหอมได้ เป็นยาชูกำลังบำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่นใจ แก้อาหารหน้ามืด วิงเวียนศรีษะมีสรรพคุณเป็นยาสงบประสาท และช่วยขับเสมหะ

ส่วนเกสรที่ตากแห้งนั้น “มวย หมายชัย” เล่าว่า สามารถนำไปบดเป็นยาใส่แคปซูล สำหรับแก้โรคเบาหวานได้ หรือจะนำส่วนที่ตากแห้งของเกสรไปต้มดื่มเหมือนน้ำชาก็ดีต่อสุขภาพเช่นกัน ความโดดเด่นด้านตำรายาไทย ใช้บำรุงหัวใจ บำรุงปอด บำรุงตับ ทำให้ชุ่มชื่น แก้ลม แก้ไอ และแก้ไข้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เกสรตัวผู้เมื่อนำมาตากแห้ง สามารถใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องยาไทยและจีนได้หลายชนิด เช่น ยาลม ยาหอม ยานัตถุ์ ฯลฯ เรียกว่า “พืชสารพัดประโยชน์” จะเห็นได้ว่า ชื่อเสียงของสมุนไพรไทยมิได้เพียงจะปรากฏกันแต่ในหมู่คนไทยเท่านั้น แต่ชาวต่างชาติที่ได้ศึกษาถึงสรรพคุณของสมุนไพรไทย ก็ให้ความสนใจไม่แพ้สมุนไพรดีๆ จากจีนเช่นเดียวกัน

เกสรบัวจะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ส่วนดอกที่คัดออกจากเกสรนั้นยังเอาไปทำประโยชน์ได้อีก คือนำไปหมักเป็นปุ๋ยชีวภาพ หรือจะตากแห้งขายได้กิโลกรัมละ ๑๐ บาท ที่สำคัญใบจะตากนานกว่าจะแห้งจึงไม่ค่อยนิยม ส่วนเกสรบัวที่ตากแห้งพ่อค้าจะรับซื้อในกิโลกรัมละ ๑๗๐-๒๐๐ บาท รับซื้ออาทิตย์ละครั้ง อาทิตย์หนึ่งขายได้ประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท คิดรวมทั้งเดือนจะขายได้ประมาณ ไม่ต่ำกว่า ๔๐,๐๐๐ บาท จากนั้นก็จะมาเฉลี่ยแบ่งกันภายในกลุ่ม ตกประมาณคนละ ๕,๐๐๐ บาทต่อคนต่อเดือน ถือว่า เป็นรายได้เสริมโดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากนัก ลงทุนแต่ “หยาดเหงื่อแรงกาย” เท่านั้นเอง

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๔๑ วันพุธที่ ๑๙ - วันอังคารที่ ๒๕ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓


717 1,657