28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

August 28,2020

‘ชาวบ้านใหม่’จี้‘รฟท.’ ยกระดับรถไฟทางคู่ ไม่ปรับแบบฟ้องศาลแน่

ชาวบ้านใหม่ โคราช จี้ รฟท. เปลี่ยนแบบก่อสร้างรถไฟทางคู่ ให้ยกระดับผ่านเขตชุมชน หากทำคันดิน หวั่นปัญหาน้ำท่วม รถติด และสัญจรลำบากในอนาคต เตรียมรวบรวมรายชื่อฟ้องศาลปกครองหากไม่มีความคืบหน้า ด้านที่ปรึกษาโครงการยืนยันเป็นไปได้ยาก

 

จากกรณีชาวบ้าน ต.บ้านใหญ่ อำเภอเมือง นครราชสีมา ยื่นข้อเรียกร้อง รูปแบบการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ตอนมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ช่วงเส้นทางรถไฟผ่านเขต ต.บ้านใหม่ รวมระยะทางประมาณ ๖ กิโลเมตร ซึ่งเป็นทางรถไฟระดับพื้นดินและสร้างรั้วกั้นแนวเขต ส่วนจุดตัดข้ามทางรถไฟ ๕ จุด ได้กำหนดรูปแบบเป็นสะพานเกือกม้าความสูง ๑๐ เมตร ความยาว ๑ กิโลเมตร ที่ช่วงหลักเสาโทรเลขรถไฟ ๒๕๕+๑๖๔.๓๐ เส้นทางระหว่างถนนมิตรภาพ-บ้านยางน้อย หมู่ ๑๑ ต.บ้านใหม่ และช่วง ๒๖๐+๔๕๔.๓๘ ตลาดนัดเซฟวัน-ซอยทางมอญ บ้านศีรษะละเลิง หมู่ ๗ ต.บ้านใหม่ ให้เปลี่ยนเป็นทางรถไฟยกระดับ โดยเริ่มจากทางรถไฟเมื่อลอดผ่านใต้สะพานทางแยกต่างระดับบายพาสนครราชสีมา หรือจุดตัดอุโมงค์ทางลอด ๕ จุด และเพิ่มขนาดความกว้างอุโมงค์จาก ๓ เมตร เป็น ๑๐ เมตร โดยนำตัวอย่างในหลายพื้นที่ซึ่งเกิดผลกระทบ เช่นปัญหาน้ำท่วมขังในทางลอด และการสัญจรเดินทางที่ยากลำบากของประชาชน 

ต่อมาวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลนครนครราชสีมา นายประพจน์ ธรรมประทีป ส.อบจ.นครราชสีมา อ.เมือง เขต ๔ พร้อมนายอนันต์ ละอองแก้วสุข ประธานกลุ่มพัฒนาชุมชนตำบลบ้านใหม่ ๒๐๒๐ นัดรวมตัวเข้าพบนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา เพื่อขอข้อมูลและปรึกษาหารือ กรณีรูปแบบก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น โดยอ้างว่าไม่ตอบโจทย์ในด้านความสะดวก ปลอดภัย และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ เนื่องจากเป็นทางรถไฟระดับพื้นดิน สร้างรั้วกั้นแนวเขตทางรถไฟและปิดจุดตัดข้ามทางรถไฟ แม้สร้างสะพานเกือกม้าเป็นทางข้ามทดแทน ก็เสมือนเป็นการแบ่งแยกราษฎรในชุมชนออกจากกัน และยังส่งผลให้การสัญจรยากลำบาก รวมทั้งหากเกิดเหตุเพลิงไหม้รถดับเพลิงต้องเสียเวลาในการเข้าระงับเหตุ

นายประพจน์ ธรรมประทีป ส.อบจ.เมืองนครราชสีมา เปิดเผยว่า “กายภาพของ ต.บ้านใหม่ เป็นชุมชนชานเมืองขนาดใหญ่ มี ๑๒ หมู่บ้าน ประชากรกว่า ๓ หมื่นคน โครงการบ้านจัดสรรจำนวน ๑๕ แห่ง สถานศึกษาทุกระดับ ๙ แห่ง และที่ตั้งหน่วยงานราชการขนาดใหญ่ ด้านทิศใต้เป็นทางรถไฟเชื่อมต่อถนนมิตรภาพและเขตเทศบาลนครนครราชสีมา รูปแบบเส้นทางรถไฟช่วงผ่านพื้นที่ ต.บ้านใหม่ เป็นทางรถไฟระดับพื้นดินและสร้างรั้วกั้นแนวเขต ส่วนจุดตัดข้ามทางรถไฟ ๕ จุด กำหนดเป็นสะพานเกือกม้าความสูง ๑๐ เมตร ความยาว ๑ กิโลเมตร ส่วนอีก ๓ จุดตัดถูกปิดถาวร โดยเริ่มยกระดับทางรถไฟเมื่อลอดผ่านใต้สะพานทางแยกต่างระดับบายพาสนครราชสีมา ก่อนหน้านี้เทศบาลนครนครราชสีมา ได้รวมตัวเคลื่อนไหวทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยอมปรับรูปแบบช่วงผ่านเมืองเป็นทางยกระดับ ประชาชน ต.บ้านใหม่ ก็ได้ยื่นข้อเรียกร้องเช่นกัน แต่ไม่ได้รับการพิจารณาแต่อย่างใด”

โดยเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ นายพัชกิจ (เอก) ศุภลักษณ์ ประธานชุมชนหมู่บ้านกรุงไทยฯ เลขาธิการกลุ่มพัฒนาชุมชนตำบลบ้านใหม่ ๒๐๒๐ เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า “ทางกลุ่มยื่นหนังสือไปยังหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลนครนครราชสีมา ฝากไปยังหมอแหยง (นพ.สำเริง แหยงกระโทก) ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงนายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา เขต ๒ พรรคชาติพัฒนา ซึ่งรับหนังสือไปแล้ว มีรายละเอียดปัญหาและผลกระทบทั้งหมด และได้นำเรื่องเข้าสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เรียบร้อย คาดว่า จะตั้งอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลปัญหานี้ ทั้งนี้ จะล่ารายชื่อของผู้ที่เดือดร้อนและได้รับผลกระทบ เพื่อยื่นฟ้องศาลปกครอง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมเอกสารและรายชื่อ เพื่อขอให้เปลี่ยนรูปแบบในการสร้างทางรถไฟทางคู่ให้เป็นทางยกระดับ โดยเริ่มยกระดับทางรถไฟเมื่อลอดผ่านใต้สะพานทางแยกต่างระดับถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา หรือสร้างทางลอด ๕ จุด แต่ขยายอุโมงค์จากแบบการก่อสร้างเดิมที่มีความกว้าง ๓ เมตร ให้มีขนาดความกว้าง ๑๐ เมตร เพื่อความปลอดภัยในการสัญจร ลดผลกระทบต่อประชาชนกว่า ๓ หมื่นคน ที่จะได้รับความเดือดร้อนในอนาคต” 

“รูปแบบการก่อสร้างจากเดิม ๕ ช่องทางจุดตัดจะลดช่องทางให้เหลือเพียง ๒-๓ ช่องทาง มีการปิดกั้นช่องทางและล้อมรั้วด้วย อุโมงค์ความกว้างขนาด ๓ เมตร หากเกิดเหตุน้ำท่วมหรือเพลิงไหม้ ชุมชนที่อยู่อาศัยจะไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถดับเพลิง ต้องอ้อมรถในระยะไกลขึ้นจากสะพานเกือกม้า และขนาดอุโมงค์ที่เล็กเกินไป ทั้งปัจจุบันเส้นทางน้ำธรรมชาติหลังจากฝนตกระบายออกได้หลายทิศทาง แต่การออกแบบรถไฟทางคู่มีแนวดินกั้นสูง ๓.๕ เมตร ปิดกั้นเส้นทางลมและเส้นทางน้ำ หมู่บ้านที่อยู่ในช่องทางระบายน้ำจะถูกน้ำทะลักเข้าหมู่บ้าน รวมทั้งในพื้นที่ชุมชนที่มีคนกว่า ๓ หมื่นคน เคยใช้ช่องทางจุดตัดทางรถไฟสัญจรไปมา ๕ ช่องทาง เมื่อลดเหลือเพียง ๒-๓ ช่องทาง ทำให้เกิดความลำบากต่อประชาชนในพื้นที่ เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งปกติในชั่วโมงเร่งด่วนการจราจรก็ติดขัดอยู่แล้ว บางครัวเรือนมีบ้านอยู่ฝั่งนี้แต่ที่ดินทำกินทำการเกษตรอยู่อีกฝั่ง ทำให้การสัญจรไปมาเป็นไปได้ยาก ต้องใช้ระยะทางการอ้อมหลายกิโลเมตร” นายพัชกิจ ศุภลักษณ์ กล่าว

นายพัชกิจ ศุภลักษณ์ ประธานชุมชนหมู่บ้านกรุงไทยฯ กล่าวท้ายสุดว่า “ทั้งนี้ ทางกลุ่มพัฒนาชุมชนตำบลบ้านใหม่ฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องการเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างมาเป็นเวลากว่า ๑ ปี แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือพิจารณาแต่อย่างใด แม้จะนำความเจริญมาให้เรา แต่กลับนำปัญหาต่างๆ มาให้ชุมชนด้วย ทั้งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการทําประชาพิจารณ์ หรือการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่เคยส่งจดหมายเพื่อให้ชุมชนเข้าร่วมประชุม ไม่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้แสดงความคิดเห็น ยืนยันที่ออกมาเรียกร้องเพราะเดือดร้อน และคาดการณ์ถึงปัญหาที่จะตามมาในอนาคต อย่างไรก็ตาม จากการลงสำรวจได้เกือบทุกหมู่บ้าน โรงเรียน และวัด การสร้างสะพานเกือกม้ามีระยะทางไกล ทำให้วิถีชีวิตของชุมชนเปลี่ยนแทบทั้งหมด เกิดความยากลำบาก ปัจจุบันฝนตกธรรมดาน้ำก็ท่วมอยู่แล้ว น้ำไหลมาจาก มทส. ตลาดเซฟวัน ถ้ามาเจอทางกั้นรถไฟก็ท่วมอย่างแน่นอน ทั้งนี้จะมีการรวมตัวประชาชนและล่ารายชื่อ เพื่อยื่นฟ้องศาลปกครองนครราชสีมา เหมือนชาวเมืองพล จ.ขอนแก่น รวมตัวฟ้องศาลปกครองแล้วชนะ ในเรื่องจุดตัดละเมิดสิทธิ พื้นฐานในการเดินทาง กระทบวิถีชีวิตชุมชน ท้องถิ่น ทั้งเสี่ยงตาย น้ำท่วมเมือง หากยังไม่มีการปรับเปลี่ยนแบบการก่อสร้าง”

อย่างไรก็ตาม จากกรณี ชาวบ้าน ต.บ้านใหม่ ต้องการเปลี่ยนรูปแบบยกระดับรถไฟทางคู่ เพราะกลัวปัญหาน้ำท่วม และการเดินทางสัญจรที่ยากลำบาก ซึ่งถ้าหากมีการเปลี่ยนรูปแบบอาจทำให้โครงการก่อสร้างเกิดความล่าช้า เหมือนกรณีทุบหรือไม่ทุบสะพานสีมาธานี ที่ทำให้โครงการไม่คืบหน้ากว่า ๒ ปี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า “ได้ประชุมร่วมกับผู้แทนที่ไปร่วมรับฟังปัญหามาตลอด ซึ่งต้องการให้พี่น้องชาวโคราชได้รับสิ่งที่ดีที่สุดจากโครงการพัฒนาต่างๆ รวมถึงรถไฟทางคู่ที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ การใช้ระยะเวลาก่อสร้างเป็นเรื่องจำเป็น อาจจะมีการแก้ไขในส่วนที่ประชาชนเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการระบายน้ำเพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งอาจจะไม่ต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้เป็นทางยกระดับ ถ้าจะแก้ในทุกจุดการดำเนินงานต่ออาจเกิดความยากลำบาก อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ละเลยข้อเรียกร้อง ซึ่งจะต้องมาทบทวนดูกันอีกที ที่ผ่านมาใช้เวลากับการแก้ปัญหาในเรื่องเหล่านี้มาก ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงจุด ต.บ้านใหม่ เพียงอย่างเดียว ยังมีจุดตัดทางรถไฟอุโมงค์ทางลอด อ.บัวใหญ่ ที่มีปัญหาน้ำท่วม รวมถึงการดำเนินการรถไฟเฟส ๒ ก็มีปัญหาที่ต้องใช้ระยะเวลาเช่นกัน”

ล่าสุดวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๓ นายบุญพา สืบสินสัจจวงศ์ วิศวกรโยธา บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแดนส์ บริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน” ว่า “จากงบประมาณการก่อสร้างที่มีจำนวนจำกัด การยกระดับรถไฟทางคู่ในช่วงตำบลบ้านใหม่เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบคือช่วงทางลอดอุโมงค์บริเวณสะพานสีมาธานีเท่านั้น จากเดิมเป็นช่องทางลอดอุโมงค์กว้าง ๓ เมตร เปลี่ยนให้เป็นสะพานข้ามทางรถไฟ จากการเปลี่ยนมาเป็นทางยกระดับ ซึ่งจะได้ความกว้างเพิ่มขึ้นประมาณ ๘-๑๐ เมตร เพื่อให้ง่ายต่อการสัญจรต่อรถในทุกชนิด”

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เป็นโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ มีระยะทางรวม ๑๓๒ กิโลเมตร วงเงินลงทุน ๒๙,๙๖๘.๖๒ ล้านบาท โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ว่าจ้างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมา โดยตามแผนโครงงานจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการภายในปี ๒๕๖๕

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๒ วันพุธที่ ๒๖ สิงหาคม - วันอังคารที่ ๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


935 1601