29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 28,2020

ถนนวงแหวน’ใกล้บรรจบ ราษฎรห่วงค่าเวนคืน ทล.ยึดกม.ไม่เอาเปรียบ

เริ่มก่อสร้างถนนวงแหวนรอบเมืองโคราช ทิศใต้ ตอนที่ ๔ (ถนนมิตรภาพ-ถนน ๒๒๖) ประชาชนเห็นด้วย อ้างยอมเสียสละที่ดิน เพื่อให้โคราชเจริญ แต่ขอค่าเวนคืนเหมาะสม นายก อบต.ท่าช้าง-หนองงูเหลือม ลั่นเป็นแค่ตุ๊กตา ไม่มีสิทธิ์เสนอราคาซื้อขายที่ดิน กรมทางหลวง’ท้าให้ท้องถิ่นรับรองราคา พร้อมยืนยันไม่เอาเปรียบราษฎร

เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่หอประชุมอเนกประสงค์ โรงเรียนหนองงูเหลือมพิทยาคม จังหวัดนครราชสีมา กรมทางหลวง โดยแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๓ จัดประชุมเพื่อชี้แจงโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข ๒๙๐ สายถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ช่วงแยกทางหลวงหมายเลข ๒ บรรจบทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ ด้านทิศใต้ ระยะทางประมาณ ๑๒.๑๗๙ กิโลเมตร โดยมีนายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายไชยวิทย์ บุรสมบูรณ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๓ และประชาชนในพื้นที่โครงการ ร่วมรับฟังรายละเอียดโครงการฯ จากวิทยากร ซึ่งนำโดยนายวีรชัย ตั้งวัฒนากร วิศวกรโยธาปฏิบัติการ สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง นายธีระยุทธ ถนอมวัฒนา และนายธงชัย รุ่งเรือง นายช่างโครงการ รวมทั้งนายสรศักดิ์ แก้วขวัญ ผู้อำนวยการส่วนกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน

นายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “โคราชถือเป็นเมืองที่มีการจราจรจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ เรียกได้ว่า วิกฤต การที่มีโครงข่ายถนนวงแหวนรอบเมือง จึงเป็นเรื่องที่ดี จะช่วยลดการจราจรติดขัดได้ดี รวมถึงยังช่วยเหลือประชาชนที่อยู่โดยรอบบริเวณของถนนโครงข่าย ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจที่ดีขึ้น การสัญจรไปมาที่ดีขึ้น ถือว่า โครงการนี้จะเป็นผลดีต่อทั้งคนโคราชและคนที่มาจากต่างถิ่น แต่ว่าในการก่อสร้างย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ หากมีข้อคิดหรือความคิดเห็นที่ต้องการจะบอกกรมทางหลวง ก็สามารถบอกกล่าวได้ เพื่อให้คณะทำงานเข้าใจ เข้าถึงปัญหาที่แท้จริง และนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด รวมทั้งให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด ให้สมกับคำว่า ประชาชนคือเจ้าของประเทศ”

ทุ่ม ๑,๗๐๐ ล.

นายไชยวิทย์ บุรสมบูรณ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๓ กล่าวว่า “เนื่องด้วยโครงข่ายทางหลวงรอบตัวเมืองนครราชสีมา โดยเฉพาะทางหลวงหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางสู่ภาคอีสาน ต้องรองรับปริมาณการจราจรจำนวนมาก ทั้งในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดโดยรอบและในเขตเมืองนครราชสีมา ซึ่งปัจจุบันกรมทางหลวงยังก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motor Way) สายบางปะอิน-โคราช รวมทั้งการขยายตัวของเมือง การพัฒนาภาคการเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งในอนาคตปัจจัยเหล่านี้ จะส่งผลให้โคราชมีปริมาณการจราจรคับคั่งขึ้นไปอีก ดังนั้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรและช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นบนทางหลวง รวมถึงช่วยในเรื่องการขนส่ง ที่ในอนาคตเมืองโคราชจะกลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในหลายๆ ด้าน กรมทางหลวงจึงตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเสนอก่อสร้างทางหลวงหมายเลข ๒๙๙ หรือถนนวงแหวนรอบเมืองโคราช ซึ่งขณะนี้หลายช่วงกำลังก่อสร้าง และมีบางช่วงที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว นอกจากนี้ยังมีช่วงที่ยังไม่มีการก่อสร้าง เพราะเพิ่งได้รับงบประมาณ สำหรับการประชุมชี้แจงโครงการก่อสร้างในวันนี้ เป็นของช่วงทิศใต้ ตอนที่ ๔ ซึ่งมีงบประมาณก่อสร้าง ๑,๗๐๐ ล้านบาท เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียจากการดำเนินโครงการ ได้รับฟังแนวโครงการ และเสนอแนะปัญหาหรือความคิดเห็น เพื่อกรมทางหลวงจะได้รับทราบข้อมูลและนำไปแก้ไขต่อไป”

วงแหวน’ทิศใต้ ตอนที่ ๔

นายวีรชัย ตั้งวัฒนากร วิศวกรโยธาปฏิบัติการ สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง กล่าวว่า “ตามที่หลายคนทราบดีอยู่แล้วว่า ทุกวันนี้ในเขตเมืองโคราช หากขับรถเข้าไปก็จะพบกับการจราจรที่ติดขัดมาก โดยเฉพาะช่วงเย็น แทบจะไม่ต้องพูดถึง เรียกว่า รถติดสาหัส กรมทางหลวงเห็นปัญหาเหล่านี้ จึงมีแนวคิดที่จะกระจายรถขนส่งและรถบรรทุก ที่จะวิ่งผ่านตัวเมือง ให้ออกมาวิ่งในเส้นทางอื่น จึงเกิดเป็นโครงการถนนวงแหวนรอบเมือง ซึ่งขณะนี้ทั้งโครงการมีความคืบหน้าประมาณ ๖๕% แบ่งเป็น ๗ ตอน ระยะทางรวม ๑๑๐ กิโลเมตร โดยในวันนี้ เป็นการประชุมช่วงถนนทิศใต้ ตอนที่ ๔ ระยะทาง ๑๒.๑๗๙ กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นที่แยกทางหลวงหมายเลข ๒ หรือถนนมิตรภาพ (กม.๑๖๘+๖๘๘) มาบรรจบที่แยกทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (กม.๑๔+๒๐๐) ครอบคลุมพื้นที่ในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งประกอบด้วย ต.หนองงูเหลือม ต.โตนด และ ต.ท่าช้าง โดยการก่อสร้างจะแบ่งออกเป็น ๒ ตอน ดังนี้ ตอนที่ ๑ ระยะทาง ๘.๑๑๘ กิโลเมตร ระหว่าง กม.๑+๑๒๑ ถึง กม.๙+๒๓๙ งบประมาณในการก่อสร้าง ๘๐๐ ล้านบาท และตอนที่ ๒ ระยะทาง ๔.๐๖๑ กิโลเมตร ระหว่าง กม.๙+๒๓๙ ถึง กม.๑๓+๓๐๐ งบประมาณก่อสร้าง ๙๐๐ ล้านบาท โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี ๒๕๖๓ แล้วเสร็จในปี ๒๕๖๖ สำหรับรูปแบบการก่อสร้าง เป็นการก่อสร้าง คันทางใหม่ ๔ ช่องจราจร ผิวจราจรเป็นคอนกรีตหนา ๐.๒๕ เมตร ผิวจราจรกว้างข้างละ ๑๑ เมตร (รวมไหล่ทาง) เขตทางกว้าง ๘๐ ม. มาตรฐานชั้นทางพิเศษมีโครงสร้างสะพานต่างระดับ ๑ แห่ง มีสะพานข้ามคลอง ๑๔ แห่ง และก่อสร้างจุดกลับรถตามมาตรฐานกรมทางหลวง”

เวนคืนที่ดิน ๔๐๐ ล้าน

นายสรศักดิ์ แก้วขวัญ ผู้อำนวยการส่วนกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน กล่าวว่า “ทางหลวงหมายเลข ๒๙๐ ชื่อเต็มๆ คือถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา มีทั้งหมด ๗ ตอน แต่ตอนที่จะทำการเวนคืนขณะนี้มี ๔ ตอน โดยที่จะพูดถึงในวันนี้เป็นทิศใต้ตอนที่ ๔ ตามที่วิศวกรนำเสนอไป ในงานกรรมสิทธิ์ฯ จะเรียกถนนสายนี้ว่า บ้านพระพุทธ-บ้านเรา ระยะทาง ๑๒.๑๗๘ กิโลเมตร ซึ่งเส้นทางสายนี้มีการประกาศ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๒ มีที่ดิน ๓๙๖ แปลง ตีเป็นเงินค่าเวนคืนประมาณ ๓๕๐ ล้านบาท สิ่งปลูกสร้าง ๘๐ ราย ตีเป็นเงินประมาณ ๔๐ ล้านบาท ต้นไม้พืชผลประมาณ ๓๐๐ ราย ตีเป็นเงินประมาณ ๙ ล้านบาท รวมทั้งหมดประมาณ ๓๙๙ ล้านบาท หลังจากที่มี พ.ร.ฎ.เวนคืนฯ เราจ่ายเงินเวนคืนให้กับโครงการทิศเหนือ ตอนที่ ๒ ไปแล้วประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ ล้านบาท โครงการทิศเหนือ ตอนที่ ๓ ประมาณ ๑๓๐ ล้านบาท โครงการทิศใต้ ตอนที่ ๓ ซึ่งจะเริ่มจ่ายค่าเวนคืนในเดือนนี้ ๒๐๐ ล้านบาท ส่วนโครงการที่มาประชุมในวันนี้ ทิศใต้ ตอนที่ ๔ เรายังไม่ได้วางหลักการในขั้นตอนต่างๆ หากถามว่าจะมีการเวนคืนไร่ละเท่าไหร่ ในขณะนี้คงตอบไม่ได้ ต้องมีการกำหนดราคาก่อน โดยคณะกรรมการ ประกอบด้วย นายอำเภอ, นายก อบต., ธนารักษ์จังหวัด, ที่ดินจังหวัด และผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๓ ซึ่งเราได้เสนอขอแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคาไปยังกรมทางหลวงแล้ว คาดว่า ต้นเดือนกันยายนนี้ คงจะมีคำสั่งแต่งตั้ง หากประชาชนมีข้อสงสัยว่า ที่ดินจะมีการเวนคืนหรือไม่ ในการประชุมครั้งนี้ได้จัดโต๊ะให้สอบถาม อยู่บริเวณด้านหลังห้องประชุมนี้

สิทธิพิเศษมากมาย

“ในขั้นตอนการดำเนินงาน ขั้นตอนแรกจะให้ประชาชนไปยื่นคำขอรังวัดที่ดิน ค่ารังวัดกรมทางหลวงจ่ายให้ ส่วนราคาที่ประชาชนสงสัย ก็อาจจะใช้ราคาตามที่กฎหมายกำหนด ก็คือราคาสูงสุดของข้อกำหนด ๓ ข้อ คือ ๑.ราคาภาษี ซึ่งอาจจะเป็นราคาที่ต่ำมาก ก็อาจจะไม่นำมาพิจารณา ๒.ราคาซื้อขาย ที่จดทะเบียนก่อนวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๒ ถ้าประชาชนมีราคาซื้อขาย สามารถแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบได้ทันที เพื่อนำข้อมูลราคานี้ไปแจ้งให้คณะกรรมการฯ ทราบ ซึ่งข้อนี้จะเป็นหลักเกณฑ์ที่จะนำมาจ่ายเงินให้กับประชาชน และเรายังมีข้อกฎหมายที่จะนำมาช่วยเหลือประชาชน เพื่อเป็นการทดแทนหรือคืนความสุขให้ประชาชน ถ้ามาทำสัญญากับกรมทางฯ จะมีค่าติดต่อราชการให้ ๑๐,๐๐๐ บาท กรณีไม่มีที่ดิน แต่มีสิ่งปลูกสร้างหรือต้นไม้ ก็จะได้คนละ ๕,๐๐๐ บาท ในกรณีที่ไปจดทะเบียนโอนฯ ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี หากสงสัยหรือมีเรื่องสอบถาม สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่กรมทางฯ ได้ตลอดเวลา โทร. ๐๙๓-๓๒๕๓๑๖๑” นายสรศักดิ์ กล่าว

อุทธรณ์ขอเพิ่มค่าเวนคืน

นายสรศักดิ์ กล่าวอีกว่า “นอกจากนี้ยังมีข้อเป็นห่วงเล็กน้อย เนื่องจากขณะนี้มี พ.ร.ฎ.กำหนดพื้นที่ควบคุม ห้ามประชาชนก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่เพิ่มเติม และห้ามขุดบ่อขุดหลุมเพิ่ม หากพบว่ามีการขุดหน้าดินออกไป ค่าทดแทนที่จะได้รับก็จะลดลงไป ๒๕% และในกรณีที่โครงการก่อสร้างฯ ได้รับความเสียหาย จะต้องก่อสร้างเป็นสะพานแทนถนน ค่าเสียหายของประชาชนก็อาจจะถูกฟ้องทางเพ่ง ดังนั้นอย่าเพิ่งทำหรือปรับเปลี่ยนอะไรในที่ดินของตัวเอง ในกรณีที่ทำการเกษตรก็ขอให้ทำต่อไป หากมีเจ้าหน้าที่เข้าไปขอใช้ที่ดิน กรมทางฯ ก็จะจ่ายค่าชดเชยต้นกล้าให้ทั้งหมด และขณะนี้มีข่าวว่า มีกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนว่า จะมีการอุทธรณ์ให้ ซึ่งการทำอุทธรณ์นั้น กรมทางฯ จะมีแบบฟอร์มให้พร้อมที่อยู่ของสำนักอุทธรณ์ กระทรวงคมนาคม หากประชาชนทำสัญญาอะไรกับมิจฉาชีพไปแล้ว สามารถไปแจ้งความกับตำรวจได้ทันที แล้วสัญญาฉบับนั้นจะไม่มีความหมาย ในส่วนสิทธิ์การอุทธรณ์ ประชาชนจะทำได้ก็ต่อเมื่อมารับเงินกับแขวงฯ แล้วนำใบเสร็จรับเงินไปใช้สิทธิ์ในการอุทธรณ์ภายใน ๙๐ วัน เมื่อส่งการอุทธรณ์ไปแล้ว จะต้องมีการระบุราคาที่ต้องการ เป็นราคาซื้อขาย สมมุติว่า กรมทางฯ กำหนดราคาที่ดินบริเวณนั้นไว้ ๔๐๐,๐๐๐ บาท แต่ประชาชนต้องการ ๑ ล้านบาท ต้องหาราคาซื้อขายมาประกอบเรื่องด้วย แต่ถ้าไม่มีราคาซื้อขาย ก็สามารถส่งเรื่องไปได้เช่นกัน เมื่อกระทรวงฯ ทราบเรื่อง ก็จะส่งกลับมาที่กรมทางฯ เพื่อให้ไปหาราคามา ซึ่งราคานี้เป็นราคาที่จดทะเบียน แต่ราคาที่เป็นการจัดซื้อจัดขายหรือราคาซื้อขายกันเอง กฎหมายจะไม่นับ ในกรณีที่จำนองธนาคาร ก็ต้องหาด้วยว่า จำนองโดยมีสิ่งปลูกสร้างหรือไม่ หากมีก็ต้องตัดราคาสิ่งปลูกสร้างออกไป”

จ่ายค่าเวนคืนอย่างเป็นธรรม

นายสรศักดิ์ กล่าวท้ายสุดว่า “เนื่องจากการซื้อขายที่ดินของนายหน้า เขาจะมองราคาที่ดินในอนาคตว่า ที่ดินของประชาชนกำลังจะติดกับถนน ๔ เลน ราคาที่ดินจึงสูงมาก แต่สำหรับที่ดินห่างออกไปจากถนน นายหน้าจะให้ราคาตามสภาพ ราคาไม่สูงมากนัก แต่กรมทางฯ หากดูแล้วราคาไม่เหมาะสม จะมีการประเมินและปรับเพิ่มราคาให้ ให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ มีอะไรสามารถปรึกษาได้ เพราะกรมทางฯ ต้องการให้ประชาชนได้ใช้ถนนที่ดี ปลอดภัย และสะดวก ค่าเวนคืนก็ต้องการให้อย่างเป็นธรรมที่สุด ขั้นตอนในการจ่ายเงิน กรมทางฯ จะอนุมัติกรรมสิทธิ์ที่ดินและแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ใช้เวลาไม่เกิน ๖ เดือน เมื่อแล้วเสร็จ หากงบประมาณมาพอดี ก็จะดำเนินการทำสัญญากับประชาชนและรับเงิน หลังจากนั้นประชาชนก็สามารถใช้สิทธิ์อุทธรณ์ได้ทันที และสิทธิพิเศษที่จะได้รับ หากโครงการฯ ผ่านในที่ดินที่มีการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ประชาชนก็จะได้รับค่าตกใจอีก ๑๐๐,๐๐๐ บาท เป็นค่าเสียหายทางจิตใจที่จะต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ของตน”

เปิดเวทีแสดงความคิดเห็น

จากนั้น ที่ประชุมเปิดให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะ โดยนายวีรชัย ตั้งวัฒนากร วิศวกรโยธาปฏิบัติการ สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง อ่านคำถามของประชาชนrพร้อมตอบว่า “ตามที่ประชาชนเขียนสอบถามมาว่า สามารถนำท่อประปาวางข้างถนนได้หรือไม่นั้น รับรองว่า กระทำไม่ได้แน่นอน แต่สามารถลอดใต้ทางได้ ซึ่งการกระทำบนถนนจะมีหลักกฎหมายอยู่แล้ว สามารถดำเนินการขออนุญาตได้ โดยติดต่อกับกรมทางฯ ในพื้นที่ ที่รับผิดชอบ”

ต้องการค่าเวนคืนเร็วๆ

นายชำนาญ คุณงูเหลือ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า “ประชาชนหลายตำบลหลายพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการถนนวงแหวนรอบเมือง ต่างมีความดีใจ โคราชจะมีความเจริญเติบโต แต่เรื่องที่ประชาชนสงสัยคือ ที่ดินที่โดนตัดผ่านขณะนี้ นับว่าเป็นที่ดินของหลวงแล้ว ซึ่งเราห่วงแค่เรื่องการเวนคืน เรารู้ว่าโครงการนี้จะสร้างความเจริญให้บ้านเมือง มีการคมนาคมสะดวกขึ้น แต่ในส่วนของชาวบ้านที่โดนเวนคืน ต่างก็ได้รับผลกระทบ หากคณะกรรมการฯ สามารถเร่งรัดเรื่องการเวนคืนที่ดินให้เร็วขึ้นอีก จะถือว่าเป็นเรื่องที่ดีงาม เพราะชาวบ้านหลายคนที่มาในวันนี้ต่างมีความต้องการเช่นเดียวกัน หากชาวบ้านได้ค่าเวนคืนสมกับราคา สมกับที่ดินที่ต้องเสียไป กำลังใจเราก็จะกลับมาดีเช่นเดิม และอีกประเด็นหนึ่งที่ผมต้องการแจ้งให้หน่วยงานในพื้นที่ทราบ เมื่อโครงการถนนวงแหวนฯ แล้วเสร็จ ถนนในพื้นที่ที่เป็นเส้นทางเดิมอาจจะถูกตัดไป ต้องการให้ อบต.หรือ อบจ.มาช่วยเชื่อมถนน ให้ประชาชนในพื้นที่สัญจรไปมาได้ระหว่างถนนหลักกับถนนในชุมชน วิถีชีวิตของชาวบ้านไม่ต้องเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ขอให้มาตรวจสอบและช่วยเหลือชาวบ้านด้วย”

นายสรศักดิ์ กล่าวว่า “แม้ขณะนี้จะมี พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินออกมา แต่ประชาชนไม่ต้องห่วงว่าจะซื้อขายกันไม่ได้ ที่ดินยังไม่ใช่ของหลวง ยังสามารถทำธุรกรรมได้เช่นเดิม ถ่ายโอนได้ตลอด แต่ถ้ามีการทำสัญญาแล้ว อย่าเพิ่งซื้อขายเปลี่ยนมือ เพราะว่า เมื่อกรมทางฯ กำหนดราคาจะทำให้ชื่อเจ้าของที่ดินออกมาผิด แต่ถ้ายังไม่มีการทำสัญญากับกรมทางฯ สามารถซื้อขายได้ตามปกติ ไม่มีการบังคับใดๆ แต่ก็จะมีบางรายเก็งราคาหวังผลกำไรในการซื้อขายที่ดิน เพราะคนที่เป็นนายหน้าส่วนใหญ่จะทราบราคาในอนาคต ที่ดินบางแห่งราคาประเมินตามสภาพ ๒๐๐,๐๐๐ บาท นายหน้าเสนอซื้อในราคา ๖๐๐,๐๐๐ บาท ประชาชนก็จะมาเสียดายในภายหลังว่า ไม่น่าขายเลย ถ้าเรายังเก็บเอาไว้ ราคาที่ดินอาจจะขึ้นสูงมากถึงสองเท่า”

เวนคืนตามราคาประเมิน

นายบุญส่ง เชียงหนู นายก อบต.ท่าช้าง กล่าวว่า “ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับประชาชนในตำบลโตนดและตำบลหนองงูเหลือม ที่จะมีถนนดีเข้ามาผ่านในพื้นที่ ส่วนเรื่องการเวนคืนที่ดิน แน่นอนว่าทุกคนที่มาในวันนี้ต้องการราคาเวนคืนสูง ความอึดอัดใจก็มาตกอยู่ที่นายก อบต. เพราะเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการกำหนดราคา จากประสบการณ์ในการเป็นคณะกรรมการฯ พบว่า มีการกำหนดราคาที่ดินไว้แล้วจากส่วนกลาง ราคาที่กำหนดมา เป็นไปตามราคากลางของราคาประเมินที่ดิน ซึ่งราคาประเมินที่ดินบางแห่งไม่เคยมีการอัพเดต ตารางวาละไม่ถึง ๑๐๐ บาท เมื่อเวนคืนเขาก็จะใช้ตามนั้น ซึ่งไม่ได้ใช้ราคาซื้อขายอย่างที่บอกไว้ ผมในฐานะที่เป็นคณะกรรมการฯ รู้สึกอึดอัดมาก เพราะต้องโดนชาวบ้านด่า บอกว่า เป็นคณะกรรมการฯ ทำไมกำหนดราคาต่ำ แต่แท้จริงแล้วผมก็แค่ไปนั่งเป็นตุ๊กตาเท่านั้น ประชาชนรอโอกาสที่จะได้รับเงินเวนคืน บางคนมีลูกมีหลาน เมื่อได้ค่าเวนคืนมาจะได้ไปซื้อที่ดินใหม่ และอีกประเด็นหนึ่ง โครงการด้านทิศเหนือ ที่ถนนสาย ๒๒๖ โครงการลงไปแล้ว ผู้รับเหมากลัวว่าสัญญาจะขาด จึงต้องลงมือทำก่อน แต่ทุกวันนี้ชาวบ้านยังไม่ได้รับเงินค่าเวนคืน ดังนั้น ขอฝากให้กรมทางหลวงรับทราบด้วย อะไรที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ ผมขอร้องอย่าสร้างปัญหาให้ประชาชน”

ขอให้รับรองราคาซื้อขาย

นายสรศักดิ์ แก้วขวัญ กล่าวว่า ตามที่นายก อบต.ท่าช้างเป็นห่วงความล่าช้าในการจ่ายเงิน ขณะนี้โครงการทิศใต้ตอนที่ ๓ เราเรียกมาทำสัญญาแล้ว มีวงเงินอยู่ ๒๐๐ ล้านบาท กำลังทยอยเรียกมาทำสัญญา ซึ่งขณะนี้ทำไปแล้วกว่า ๑๕๐ ล้านบาท ที่ดินประมาณ ๑๓๕ แปลง ส่วนที่มีการอ้างว่า ราคาต่ำ ต้องบอกว่า ราคาที่ชาวบ้านคิด เป็นราคาที่ติดถนนสายใหม่ แต่ไม่ได้มองราคาที่เป็นท้องนา แต่กรมทางฯ มองสภาพที่ดินก่อนจะเวนคืนว่าเป็นอย่างไร หากเป็นสภาพท้องนาก็จ่ายในราคาท้องนา ซึ่งเราไม่ได้นำราคาประเมินมาใช้ แต่จะใช้ราคาซื้อขายจากสำนักงานที่ดิน และจะปรับราคาให้เป็นสัดส่วนขึ้นมา พยายามหาราคาจากคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับการเวนคืนที่ดิน แล้วจึงนำมาปรับเป็นสัดส่วน เช่น ราคาประเมินให้ ๑๐๐ บาท ราคาคำพิพากษาให้ ๒๐๐ เราก็จะนำมาหาอัตราส่วนและเพิ่มให้อีก ๑ เท่า แต่ที่มีคนไม่พอใจในราคาเหล่านี้ ก็เพราะไปซื้อที่ดินมา แล้วต้องการได้เงินคืน ผมไม่ได้พยายามแก้ตัว แต่เราก็หาราคาให้ดีที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนายก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชน ทุกคนรู้ราคาซื้อขายก่อนโครงการจะมาอยู่แล้ว ซึ่งกรมทางฯ ไม่นำราคาประเมินมาใช้ แต่พยายามหาราคาที่ดีที่สุด นายก อบต.บางคน บอกว่า รู้ราคาซื้อขาย กรมทางฯ จึงให้ทำเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรมาว่า เป็นราคาซื้อขายจริงๆ แต่ก็ไม่ทำมา เพราะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทำไมรู้ว่า เขาซื้อขายกันเท่านี้  แต่เก็บภาษีเท่าราคาประเมิน ทำให้เกิดประเด็นขึ้นมาอีกว่า ถ้าคิดราคาตามที่ซื้อขายจริง แต่เรียกเก็บราคาประเมิน ก็อาจจะผิดกฎหมาย มาตรา ๑๕๗ รู้แต่ไม่ดำเนินการ ซึ่งผมไม่ได้พาดพิงใคร เป็นเพียงการยกตัวอย่างเท่านั้น”

เป็นแค่ตุ๊กตาให้กรมทางฯ

นายสมพงษ์ ใจงูเหลือม นายก อบต.หนองงูเหลือม กล่าวว่า “ผมมีความคิดเห็นเช่นเดียวกับนายก อบต.ท่าช้าง ผมเคยไปประชุมเป็นคณะกรรมการฯ เช่นเดียวกันที่แขวง ๑ คือไปแล้ว ไปเป็นตุ๊กตานั่งประเมินราคากลาง รับฟังพวกผมบ้างก็ดี ไม่ใช่ให้พวกผมไปนั่งแล้วก็ประกาศราคากลางออกมา ให้พวกผมเห็นชอบ ยกมือ ถ้าไม่ยกมือก็ไม่ได้ เพราะว่าถูกแต่งตั้งมา จึงต้องการให้รับฟังพวกผมบ้างก็ดี”

นายสรศักดิ์ แก้วขวัญ กล่าวว่า อย่างที่ผมบอกไว้ ถ้านายก อบต.มีราคาที่พูดคุยกับชาวบ้าน ให้นำมาให้เรา เพราะเราสืบถามมาแล้ว ปรากฏว่า ที่แจ้งหรือจดทะเบียนแท้จริงแล้วไม่มี แต่ที่บอกอยู่ขณะนี้ เป็นการซื้อขายกันเอง กฎหมายเขาไม่ให้ ท่านกล้ารับรองหรือไม่ว่า เขาซื้อขายกันตรงนี้ และเสียภาษีตรงนี้จริง ถ้ามีการซื้อขายจริง เราก็จ่ายตามราคาซื้อขายแน่นอน กรมทางฯ ไม่มีการเอาเปรียบ เพียงแต่สามารถรับรองได้ไหมว่า ที่มีการซื้อขายกันและเสียภาษีจริง การคุยกันเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี รบกวนนำราคานั้นมาให้เรา จะเป็นพระคุณยิ่ง”

นายวีรชัย ตั้งวัฒนากร กล่าวท้ายสุดว่า “ในส่วนของงานที่ดินหรือกรรมสิทธิ์ อาจจะต้องลงลึกในรายละเอียดมากกว่านี้ เพราะต้องมีขั้นตอนการทำสัญญา การรับเงินต่างๆ ขอให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบติดต่อสอบถามกับเจ้าหน้าที่โดยตรงจะดีกว่า ส่วนปัญหาด้านการออกแบบหรือการก่อสร้างโครงการ ถ้ามีเรื่องสงสัยสามารถสอบถามได้ แต่ถ้าไม่มีใครสงสัยอะไรต้องขออนุญาตปิดการประชุม”

ทั้งนี้ โครงการทางหลวงหมายเลข ๒๙๐ ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ระยะทางรวม ๑๑๐ กิโลเมตร มีความคืบหน้าดังนี้ ๑.ก่อสร้างแล้วเสร็จ ๓๑.๒๔ กิโลเมตร ประกอบด้วย ทิศใต้ตอนที่ ๑ ค่าก่อสร้าง ๓๑๔.๙๗๔ ล้านบาท และทิศใต้ตอนที่ ๒ ค่าก่อสร้าง ๙๘๗.๙๓๔ ล้านบาท ๒.กำลังก่อสร้าง ๕๔.๒๕ กิโลเมตร ประกอบด้วย ทิศเหนือตอนที่ ๑ แยกเป็น ๑.ทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.๒ กับ ทล.๒๙๐ ค่าก่อสร้าง ๑,๓๙๔.๘ ล้านบาท ๒.แยก ทล.๒ บรรจบ ทล.๒๐๖๘ ค่าก่อสร้าง ๙๙๑.๔ ล้านบาท, ทิศเหนือตอนที่ ๒ แยกเป็น ๑.แยก ทล.๒๐๖๘ บรรจบ ทล.๒๐๕ (รวมทางแยกต่างระดับ) ค่าก่อสร้าง ๑,๔๐๕.๘๑๙ ล้านบาท ๒.แยก ทล.๒๐๖๘ บรรจบ ทล.๒๐๕ (รวมทางแยกต่างระดับ) ค่าก่อสร้าง ๑,๔๐๐.๙๙๘ ล้านบาท และทิศใต้ตอนที่ ๓ แยกเป็น ๑.แยก ทล.๒๒๔ บรรจบ ทล.๒๒๖ ตอนที่ ๑ ค่าก่อสร้าง ๙๔๖.๐๕ ล้านบาท ๒.แยก ทล.๒๒๔ บรรจบ ทล.๒๒๖ ตอนที่ ๒ ค่าก่อสร้าง ๙๔๖.๗๗๙ ล้านบาท ๓.แยก ทล.๒๒๔ บรรจบ ทล.๒๒๖ ตอนที่ ๓ ค่าก่อสร้าง ๑,๔๐๐ ล้านบาท และของบประมาณปี ๒๕๖๓ จำนวน ๒๙ กิโลเมตร ประกอบด้วย ทิศเหนือตอนที่ ๓ แยกจุดตัด ทล.๒๐๕ บรรจบแยกจุดตัด ทล.๒ ค่าก่อสร้าง ๒,๔๐๐ ล้านบาท และทิศใต้ ตอนที่ ๔ แยกจุดตัด ทล.๒ บรรจบแยก ทล.๒๐๖ ค่าก่อสร้าง ๑,๕๗๐ ล้านบาท ทั้งนี้ รวมความคืบหน้าทั้งสิ้น ๖๔.๗๐๗% คาดแล้วเสร็จปี ๒๕๖๕ (ข้อมูล ณ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๓)

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๒ วันพุธที่ ๒๖ สิงหาคม - วันอังคารที่ ๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


1011 1683