28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

October 31,2020

‘LRT โคราช’ยังไม่ล่ม ปรับงบเหลือ ๖.๕ พันล. หวังดึงดูดนักลงทุน

รถไฟฟ้ารางเบาสายสีเขียว ยืนยันเดินหน้าต่อเนื่องตามแผนแม่บท เล็งทบทวนปรับลดงบที่ไม่จำเป็น หวังดึงเอกชนและนักลงทุนเข้ามาร่วมเพิ่มมากขึ้น คาดลดเหลือ ๖.๕ พันล้านบาท ด้านเอกชนสนใจ หากลดงบประมาณ ต้องได้ของที่มีคุณภาพ และตอบโจทย์ความต้องการของคนโคราช 

ตามที่ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทำการศึกษาและวิเคราะห์ การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีความต้องการเดินทาง การจัดระบบการจราจรจังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีความต้องการเดินทาง การจัดทำแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ แผนแม่บทการจัดระบบการจราจร และแผนพัฒนาพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีความต้องการเดินทาง การจัดทำโครงการนำร่องการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะหลักจังหวัดนครราชสีมา และดำเนินการศึกษารูปแบบระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสม โดยเชื่อมโยงโครงข่ายกับระบบขนส่งขนาดรอง รถไฟ รถโดยสารสาธารณะ โดย สนข.ได้ดำเนินการเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit : LRT) หรือ Tram way เงินลงทุน ๓๒,๖๐๐ ล้านบาท ดำเนินการ ๓ ระยะ โดยระยะที่ ๑ ปี ๒๕๖๓-๒๕๖๕ วงเงิน ๑๓,๖๐๐ ล้านบาท มีสายสีเขียว จากตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ โดยใช้แนวถนนมิตรภาพ และเลี้ยวเข้าถนนสืบศิริ ระยะทาง ๑๑.๑๗ กม. สายสีส้ม แยกประโดก-ถนนช้างเผือก-คูเมืองเก่า ระยะทาง ๙.๘๑ กม. ๑๙ สถานี, ระยะที่ ๒ ปี ๒๕๖๖-๒๕๖๘ สายสีม่วง ช่วงตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ๑๒.๑๖ กม. และระยะที่ ๓ ส่วนต่อขยายสายสีส้ม สีเขียว และสีม่วง หลังจากนั้นมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการในรูปแบบของการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP โดยเริ่มศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดทำรายงาน EIA ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๖๒ เรื่อยมา

จากนั้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา NMGC ประกอบด้วย บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท เอ็นทิค จำกัด และบริษัท เอ ๒๑ คอนซัลแตนท์ จำกัด จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ ๒ (สรุปผลการศึกษาของโครงการ) ภายใต้งานศึกษารายละเอียด ความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเชฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) เมื่อวันพุธที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๓ ณ โรงแรมสีมาธานี อำเภอเมืองนครราชสีมา เพื่อนำเสนอข้อมูลผลการศึกษาแนวเส้นทาง สถานีรูปแบบการพัฒนาของโครงการ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการฯ รวมทั้งการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการ และจัดการประชุมทดสอบความสนใจของภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Market Sounding) ไปแล้วนั้น ซึ่ง “โคราชคนอีสาน” นำเสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่อง

ลือ รฟม.สั่งทบทวน LRT

ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ ไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคม สั่งการให้ทบทวนความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าในต่างจังหวัดทั้งหมดใน ๔ จังหวัด อย่างละเอียดอีกครั้ง คือ ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา และพิษณุโลก ก่อนที่จะมีการดำเนินการเปิดประมูลจริง ซึ่ง รฟม.ยังไม่ได้มีการศึกษาหรือสำรวจความเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในต่างจังหวัดว่าเป็นอย่างไร

ยังเดินตามแผนแม่บท

ล่าสุด เมื่อวันทื่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๓ “โคราชคนอีสาน” สอบถามนายอภิชาติ จันทร์แสงกุล บริษัท เอ็นทิค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษา เปิดเผยว่า “ขณะนี้กำลังดำเนินการตามแผนแม่บท ที่ สนข. กำหนด และ รฟม.รับมาดำเนินการ พร้อมทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ส่งให้ รฟม. และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อขออนุญาตก่อสร้าง ไม่ได้ปรับเปลี่ยนแผนแต่อย่างใด ส่วนความคืบหน้าของโครงการ ขณะนี้กำลังรวบรวมเอกสารทั้งหมดจากการรายงาน การออกแบบ งบประมาณราคาการก่อสร้าง เพื่อส่งให้ สนข.พิจารณา ส่วนตัวแบบก็ส่งให้ รฟม.ตามสัญญา และดำเนินการแก้ไขในรายละเอียด ส่วนรูปแบบสถานี ระยะทาง และพื้นที่จอดรถยังเป็นเช่นเดิม”

แค่ทบทวนงบประมาณ

“ส่วนเรื่องที่ต้องทบทวนคือ งบประมาณ ซึ่งอาจถูกปรับลดลง เนื่องจากโครงการอาจไม่คุ้มค่าในการลงทุน จึงปรับลดงบประมาณในการก่อสร้าง อีกทั้งเป็นโครงการที่เอกชนร่วมลงทุน จึงต้องปรับตัวเลขให้ลดลงเท่าที่จำเป็นและลดได้ โดยงบประมาณที่ลดลงนั้น จะอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างและการเวนคืน ซึ่งยังสามารถลดและปรับได้อยู่ ส่วนรูปแบบรถไฟฟ้าไม่สามารถลดลงได้ เนื่องจากการสั่งซื้อจากต่างประเทศ ขณะนี้กำลังปรับตัวเลขให้เหมาะสม ยังไม่นิ่ง ครั้งที่เสนอต่อชาวโคราชไป ๗,๐๐๐ กว่าล้านบาทนั้นก็ยังไม่นิ่ง คาดว่าจะปรับลดลงเหลือประมาณ ๖,๕๐๐ ล้านบาท และจะปรับอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจร่วมลงทุนมากขึ้น จากการรับฟัง Market sounding ก็มีนักลงทุนจากต่างประเทศสนใจร่วมลงทุนด้วย” นายอภิชาติ กล่าว 

หัสดิน’เห็นด้วยลดงบ

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “เรื่อง LRT ไม่ว่าจะมีการถกเถียงกันอย่างไร สุดท้ายแล้วก็ต้องกลับมาสู่ความเป็นจริง คือ ความเป็นไปได้ของโครงการ คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีผู้สนใจร่วมลงทุน PPP ส่วนการที่ลดงบประมาณลงมาจากเดิม ก็สามารถทำได้ แต่ต้องตอบโจทย์วัตถุประสงค์ในการทำโครงการ เนื่องจากเอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ เขาก็ต้องการกำไร แต่การทำ LRT ใช่ว่าจะต้องได้กำไรอย่างเดียว อาจจะมีผลตอบแทนเศรษฐกิจด้านอื่นๆ เช่น เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจเมืองเก่า ดังนั้น รัฐต้องสนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มนักลงทุน ซึ่งข้อเรียกร้องอาจจะไม่ใช่ตัวเงิน แต่เป็นการให้สิทธิประโยชน์อย่างอื่น เพื่อทำให้ LRT สามารถเกิดขึ้นได้ในที่สุด ฉะนั้นผมเห็นด้วยในการปรับลดงบประมาณ แต่ย้ำว่า ต้องให้ตอบโจทย์ต่อวัตถุประสงค์ของโครงการด้วย ซึ่งไม่ใช่การทำเพื่อให้ได้กำไรเพียงอย่างเดียว แต่วัตถุประสงค์หลักคือการขนส่งมวลชน และฟื้นฟูเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้จะต้องคำนึงถึงด้วยในการปรับลดงบประมาณ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับความคุ้มค่าของโครงการ สิทธิประโยชน์ที่ผู้ลงทุนจะได้รับ ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีคนสนใจ” 

ช่วยดึงนักท่องเที่ยวอยู่โคราชนานขึ้น

“สำหรับข่าวลือว่า รฟม.ให้บริษัทที่ปรึกษา ทำการศึกษารายละเอียดโครงการใหม่ ซึ่งขณะนี้ที่ภูเก็ตเขาอนุมัติให้ก่อสร้างแล้ว ดังนั้นโคราชควรดำเนินการต่อ โดยวัตถุประสงค์ในการทำโครงการนี้ ก็เพื่อนำมาใช้ขนส่งมวลชน เป็นตัวเชื่อมระหว่างรถไฟความเร็วสูงกับสถานที่ต่างๆ รวมทั้งเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นด้วย เช่น ขนคนมายัง บขส.เพื่อเดินทางต่อไปยังภูมิภาคอื่นๆ ดังนั้น โครงการนี้ควรจะต้องทำต่อ คนโคราชมีความต้องการ เพียงแต่ต้องมาพูดคุยกันเรื่องการลงทุน ซึ่ง LRT จะช่วยได้อย่างมากในการดึงนักท่องเที่ยวให้อยู่ในโคราชนานขึ้น สามารถขนส่งคนไปยังสถานที่ท่องเที่ยว ย่าโม ห้างสรรพสินค้าได้ ส่วนเรื่องรูปแบบรถที่จะนำมาใช้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับการศึกษาว่ารูปแบบใดเหมาะสมกับพื้นที่มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบล้อยางหรือล้อเหล็ก ก็สามารถใช้งานได้เช่นกัน” นายหัสดิน กล่าว

ศรรบ’สนใจร่วมลงทุน

ขณะเดียวกัน นายศรรบ หล่อธราประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยสงวนบริการ จำกัด และผู้บริหารสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดนครราชสีมา แห่งที่ ๒ (บขส.๒) ซึ่งเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่สนใจ ให้สัมภาษณ์กับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “กรณีที่โครงการฯ จะลดงบประมาณค่าก่อสร้างและค่าเวนคืน จะทำให้ชาวบ้านได้เงินน้อยลง ซึ่งต้องมีเกณฑ์มาตรฐานในการลดหรือเพิ่ม แต่หากนำมาลดในส่วนที่ไม่จำเป็นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่หากให้แสดงความคิดเห็นเรื่องงบประมาณต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เหมือนการซื้อของถูกแล้วทำให้งบประมาณลดลง ผมว่าดีอยู่แล้ว แต่หากลดงบประมาณแล้วได้สิ่งของไม่ครบถ้วนก็ไม่ดี เปรียบเทียบหากจะซื้อรถยนต์ ๑ คัน ด้วยงบประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งต่อมาไปต่อรองแล้วเขาลดราคาให้ ก็ทำให้ใช้งบประมาณน้อยลงแต่ได้รถยนต์คันเดิม เป็นเรื่องที่ดี แต่หากลดงบประมาณลง ๙๐๐,๐๐๐ บาท และต้องไปซื้อยี่ห้ออื่นที่คุณภาพต่ำกว่าคงไม่ใช่” 

เมื่อถามว่า “จะสนใจร่วมลงทุนหรือไม่” นายศรรบ หล่อธราประเสริฐ ตอบสั้นๆ ว่า “ก็ดี”

อนึ่ง โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) เป็นระบบขนส่งมวลชนประเภทระบบรถรางไฟฟ้า (Tram) มีลักษณะเป็นระบบรถไฟฟ้าที่วิ่งไปตามทางวิ่งหรือรางบนถนน (ระดับดิน) มีจุดเริ่มต้นที่บริเวณตลาดเซฟวัน (ถนนมิตรภาพ) ฝั่งมุ่งหน้าเข้าตัวเมืองนครราชสีมา วิ่งไปตามแนวถนนมิตรภาพ ผ่านแยกปักธงชัย แล้วเบี่ยงขวาตามทางรถไฟ มุ่งหน้าตามถนนสืบศิริ ซอย ๖ เลี้ยวซ้ายผ่านทางรถไฟไปตามแนวถนนสืบศิริ จากนั้นเลี้ยวขวาตรงบริเวณวัดใหม่อัมพวัน ไปตามแนวถนนมุขมนตรี ผ่านสวนภูมิรักษ์และตลาด ๑๐๐ ปี โรงเรียนมารีย์วิทยา สถานีรถไฟนครราชสีมา ห้าแยกหัวรถไฟ บริเวณนี้แนวเส้นทางแยกเป็น ๒ เส้นทางคือ เส้นทางขาไปตามถนนโพธิ์กลาง จนถึงบริเวณหน้าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปตามถนนราชดำเนินฝั่งคูเมือง จนถึงแยกอนุสาวรีย์ท้าวสุนารี (บริเวณถนนราชดำเนินตัดกับทางหลวงหมายเลข ๒๒๔) แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ ผ่านโรงเรียนเมืองนครราชสีมา วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา โรงเรียนสุรนารีวิทยา และวัดสามัคคี แล้วเลี้ยวซ้ายบริเวณแยกประปา (ทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ ตัดกับทางหลวงหมายเลข ๒๐๕) มุ่งหน้าไปตามถนนสุรนารายณ์ ผ่านมหาวิทยลัยราชภัฏนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) นครราชสีมา ไปสิ้นสุดที่บริเวณสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ซึ่งอยู่ในเขตท้องที่อำเภอเมืองนครราชสีมา 

ส่วนเส้นทางขากลับจากบริเวณสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ถึงแยกอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จะใช้เส้นทางเดียวกับขาไป จากนั้นจะใช้ถนนชุมพล และถนนจอมสุรางค์ยาตร์ จนถึงห้าแยกหัวรถไฟ แล้วใช้เส้นทางเดียวกับขาไปจนถึงตลาดเซฟวัน ระยะทางประมาณ ๑๑.๑๕ กิโลเมตร ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๕ และเปิดให้บริการเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๘ รวมงบประมาณโครงการเฉพาะสายสีเขียวทั้งสิ้น ๗,๑๑๕ ล้านบาท

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๕๑ วันพุธที่ ๒๘ เดือนตุลาคม - วันอังคารที่ ๓ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๓


979 1609