November 11,2020
มทส.เปิดตัวนวัตกรรมฆ่าเชื้อ COVID-19 เครื่องกำเนิดไอไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์
เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา บรมราชินีนาถ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นประธานการแถลงข่าวนวัตกรรม “เครื่องกำเนิดไอไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์แบบอุณหภูมิต่ำ” ประเดิมใช้งานจริงเสริมความเชื่อมั่นตามมาตรการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับใช้อบฆ่าเชื้อใบปริญญาบัตรกว่า ๓,๖๐๐ ใบ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ผู้สำเร็จการศึกษาประจำปีการศึกษา ๒๕๖๒ ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พันโท นายแพทย์บุระ สินธุภากร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีวกลศาสตร์ทางการแพทย์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มทส. เปิดเผยว่า “จากช่วงแรกที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ยังส่งผลกระทบ อย่างแพร่หลายทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย พบว่า กลุ่มบุคคลที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อในระดับต้นๆ คือ แพทย์ พยาบาล และผู้ทำงานที่เกี่ยวข้อง อันเกิดจากสาเหตุการปกปิดประวัติของผู้ป่วย การขาดแคลนชุดป้องกันเชื้อ PPE หน้ากาก N95 เป็นต้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของคณะวิจัยที่จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ปัญหาของส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าเชื้ออุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ ชุดป้องกันที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกโดยผ่านการบำบัดฆ่าเชื้อโรคที่ติดค้าง จึงส่งผลให้ได้เกิดนวัตกรรม “เครื่องกำเนิดไอไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์แบบอุณหภูมิต่ำ” พบมีคุณสมบัติพิเศษ คือ ต้นทุนต่ำเนื่องจากใช้แอลกอฮอล์และน้ำเป็นสารตั้งต้นในการผลิตไอ ซึ่งหาได้ภายในประเทศ ใช้อุณหูมิต่ำที่อุณหภูมิห้อง จึงเหมาะกับการอบฆ่าเชื้อวัสดุทุกชนิด ต้นทุนการผลิตถูกกว่าการนำเข้าถึง ๒๐ เท่า ประหยัดเวลา ไม่มีสารตกค้าง รักษาสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญฆ่าเชื้อไวรัส COVID-19 ได้จริง จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อบุคลากรทางการแพทย์และบุคคลทั่วไป”
ผศ.ดร.สุขเกษม วัชรมัยสกุล นักวิจัย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีวกลศาสตร์ทางการแพทย์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มทส. เปิดเผยว่า “คณะนักวิจัย ได้ประสบความสำเร็จในการสร้าง “เครื่องกำเนิดไอไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์แบบอุณหภูมิต่ำ” ถือเป็นเครื่องแรกและเครื่องเดียวในประเทศไทย โดยใช้หลักการของกระบวนการเร่งปฏิกิริยาเชิงแสง (Photocatalytic process) โดยใช้สารกึ่งตัวนำเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสง (Photo catalyst) เมื่อได้รับการกระตุ้นด้วยแสงจะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีโดยปลดปล่อยประจุลบ (-) และ ประจุบวก (+) ออกมา ทำให้เอทานอลและน้ำ ที่เป็นสารตั้งต้น แตกตัวเป็นไอไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ซึ่งเป็นไอเคมีที่มีฤทธิ์ในการทำลายเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา และสปอร์ของเชื้อแบคทีเรีย”
“ทีมวิจัยได้ทำการทดสอบเพื่อยืนยันประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อโดยการใช้สปอร์ของเชื้อแบคทีเรียที่เทียบเคียงที่มีความแข็งแรงและทนทานกว่าเชื้อไวรัส COVID-19 พบว่า ไอไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่ได้จากเครื่องกำเนิดไอดังกล่าว มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นทีมวิจัยจึงนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในการฆ่าเชื้อใบปริญญาบัตร เพื่อสร้างความมั่นใจตามมาตรการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ปีการศึกษา ๒๕๖๒ ในวันจันทร์ที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ขั้นตอนการฆ่าเชื้อนั้นจะนำปริญญาบัตรทั้งหมดมาห่อด้วยกระดาษสาเพื่อให้ไอไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สามารถแทรกซึมเยื่อกระดาษผ่านเข้าไปฆ่าเชื้อบนปริญญาบัตรได้ จากนั้นนำเข้าห้องอบฆ่าเชื้อที่ติดตั้งเครื่องกำเนิดไอไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์อยู่ภายใน โดยใช้ความเข้มข้นไอไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่ ๑๐๐ ppm เป็นเวลา ๑ ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่สร้างความมั่นใจว่า ปริญญาบัตร มทส. ทุกใบ มีความปลอดภัย และไม่มีสารตกค้างบนพื้นผิววัสดุ ทั้งยังไม่กระทบต่อคุณภาพสี และหมึกของใบปริญญาบัตรอีกด้วย” ผศ.ดร.สุขเกษม กล่าว
นอกจากนี้ เครื่องกำเนิดไอไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์แบบอุณหภูมิต่ำ วัสดุอุปกรณ์ส่วนใหญ่สามารถหาได้ภายในประเทศทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ ทั้งยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง เช่น ใช้กับห้องหรือตู้อบฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องมือแพทย์, ชุด PPE สำหรับบุคลากรทางการแพทย์, บรรจุภัณฑ์ทางการแพทย์ ชิ้นส่วนวัสดุฝังในร่างกาย ใช้ทำความสะอาดฆ่าเชื้อระบบท่อส่งลมเย็นของเครื่องปรับอากาศในอาคาร ใช้อบฆ่าเชื้อสถานที่ต่างๆ ที่ต้องการทำให้ปราศจากเชื้อ ได้แก่ ห้องเก็บเอกสาร ห้องเก็บสินค้า ห้องปฏิบัติการ ห้องนิรภัยเก็บธนบัตรของธนาคารตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้า เป็นต้น คณะนักวิจัยพร้อมส่งต่อนวัตกรรมสู่ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาเชิงพาณิชย์ต่อไป
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๕๓ วันพุธที่ ๑๑ - วันอังคารที่ ๑๗ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๓
691 1,356