November 21,2020
ราชภัฏโคราชเปิดตัวงานวิจัย ข้าวหอมมะลิเม่าบำรุงสมอง อ้างจะช่วยเพิ่มมูลค่าข้าวไทย
นักวิจัยค้นพบข้าวเม่าอัจฉริยะบำรุงสมองให้ประโยชน์ เกินกว่าข้าวระยะอื่นภายใต้แบรนด์ข้าว “อุ้มรัก” เผยข้าวหอมมะลิระยะเม่า ปลูกในพื้นที่ทุ่งสัมฤทธิ์ และพื้นที่เหมาะสมในโคราช เตรียมพัฒนาเป็นข้าวเชิงพาณิชย์เพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ชาวนาไทย
ในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ที่ชั้น ๑ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่านครราชสีมา เมืองนครราชสีมา มีการเปิดตัว “ข้าวหอมมะลิระยะเม่า..ข้าวอัจฉริยะบำรุงสมอง” ภายใต้แบรนด์ “อุ้มรัก” และจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์ ข้าว GI โคราช-ข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ และงานแสดงสินค้าเกษตร นิทรรศการงานวิจัยด้านข้าวจังหวัดนครราชสีมาเพื่อเป็นการสื่อสารการตลาด สร้างการรับรู้และเชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคข้าวโดยตรง
ทั้งนี้ เมื่อปี ๒๕๖๑ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ได้สนับสนุนดำเนินงานวิจัยโครงการ “การผลิตและแปรรูปข้าวระยะเม่า พันธุ์ขาวดอกมะลิ ๑๐๕ และทับทิมชุมแพ (กข.๖๙) สู่อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดขอนแก่น” โดย ผศ.ดร.วาสนา ภานุรักษ์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เพื่อเป็นแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดีและมากที่สุด รวมทั้งเป็นการแก้ปัญหาข้าวเปลือกราคาตกต่ำ สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และเป็นการเพิ่มทางเลือกข้าวเพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เนื่องจากเป็นข้าวที่อยู่ในระยะแป้งอ่อน โดยผลการวิจัยพบว่า ข้าวหอมมะลิระยะเม่ามีปริมาณโฟแลตสูง เบต้าแคโรทีน วิตามินอี วิตามินบี ๑ วิตามินบี ๒ ไนอะซิน และมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค จากการทดลองใช้ข้าวหอมมะลิระยะเม่าเพื่อเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตทดแทนในการป้องกันการเกิดโรคทางเมตาบอลิกในหนูเมาซ์ที่ได้รับอาหารไขมันสูง พบว่า สามารถควบคุมระดับไขมันและระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ดีหรือกลุ่มโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหลอดเลือด และโรคความดันฯ รวมถึงยังมีปริมาณโฟเลตสูงช่วยบำรุงสมอง เหมาะสำหรับกลุ่มผู้ตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ เยาวชน หรือประชาชนที่ต้องการรักษาสุขภาพทั่วไปได้
จากผลงานวิจัยดังกล่าวนำมาสู่การพัฒนางานวิจัยต่อเนื่องในระยะที่ ๒ ในปี ๒๕๖๓ โครงการ “การสร้างและพัฒนาเครือข่ายการผลิตข้าวหอมมะลิระยะเม่าสู่ระบบเกษตรอัจฉริยะและสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ด้วยกลไกสหกรณ์การเกษตรประชารัฐ จังหวัดนครราชสีมา” โดย ผศ.ดร.วาสนา ภานุรักษ์ และคณะ เพื่อพัฒนานวัตกรรมกระบวนการผลิตและควบคุมการเขตกรรมข้าวหอมมะลิระยะเม่าให้ได้ข้าวเปลือกและข้าวสารระยะเม่าในสภาวะที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาสู่อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ได้ รวมทั้งสร้างและยกระดับการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิระยะเม่าสู่ Smart Farmer และ Smart Farming ตลอดห่วงโซ่การผลิต ขับเคลื่อนนโยบายภาคการเกษตรและยกระดับคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจฐานรากสู่เป้าการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจระดับประเทศ ด้วยกลไกสหกรณ์การเกษตรประชารัฐในจังหวัดนครราชสีมา โดยมีเป้าหมายสามารถลดปริมาณปัจจัยการผลิตได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕ ต่อปี และเกิดการ กระจายรายได้ของกลุ่มเกษตรกร/กลุ่มวิสาหกิจที่ร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า ๒๔๐,๐๐๐ บาทต่อครัวเรือนต่อปี นำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมตลอดไป
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๕๔ วันพุธที่ ๑๘ - วันอังคารที่ ๒๔ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๓
101 1,754