November 28,2020
‘แหยง’ขอสู้ครั้งสุดท้าย ยอมรับเป็นรองเบอร์ ๒
อ้าง สมัครนายก อบจ.เป็นอิสระ ไม่มีพรรคการเมืองสนับสนุน พร้อมเป็นมิตรกับ ส.จ.ทุกคน ประกาศเป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้าย ไม่เล่นการเมืองก็ไม่เดือดร้อน แต่ต้องการทำ “สภาประชาชน” ให้สำเร็จ ยอมรับเบอร์ ๒ มีความพร้อมทุกด้าน
ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เสนอข่าวผู้สมัครสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา (ส.อบจ.นครราชสีมา) ตระกูล “ด่านกุล” ซึ่งสมัครในพื้นที่อำเภอด่านขุนทด เขต ๑, ๒ ทำหนังสือขออนุญาตจากพรรคเพื่อไทยลงสมัคร ส.อบจ.ในนามกลุ่มเพื่อไทย ประกอบด้วย นางวรรณศิริ ศิริพูล เขต ๑ และนายอภิรักษ์ ด่านกุล เขต ๒ ซึ่งในวันสมัครมีการจับมือกับผู้สมัครนายก อบจ.นครราชสีมา หมายเลข ๓ คือ นพ.สำเริง แหยงกระโทก หรือ “หมอแหยง” โดยนายรชตะ ด่านกุล อดีตส.อบจ. และอดีตผู้สมัครส.ส.พรรคเพื่อไทย นำมาโพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าให้การสนับสนุนหมอแหยง นอกจากนี้ ในส่วนของผู้สมัคร ๒ คนยังระบุว่าเป็นทีมหมอแหยงด้วย ซึ่งที่ผ่านมา นพ.สำเริง แหยงกระโทก ประกาศตัวลงสมัครในนามกลุ่มรักษ์โคราชนั้น
ยืนยันไม่มีพรรคสนับสนุน
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ นพ.สำเริง แหยงกระโทก เดินทางมาที่สำนักงานหนังสือพิมพ์โคราชคนอีสาน โดยชี้แจงในเรื่องนี้ว่า “ในการลงสมัครนายก อบจ.นครราชสีมา ผมประกาศตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้วว่า สมัครในนามอิสระ ชื่อว่ากลุ่มรักษ์โคราช เป็นกลุ่มที่อยู่มานาน ตั้งแต่สมัยผมเป็นนายก อบจ.ครั้งแรก และทำงานด้านจิตอาสามาโดยตลอด ในครั้งนี้จึงลงในนามกลุ่มรักษ์โคราชเช่นเดิม ซึ่งทางพรรคก็ไม่ได้ให้การสนับสนุน และการลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่นไม่จำเป็นที่จะต้องมีพรรคการเมืองเข้ามาสนับสนุน หรือนำชื่อพรรคการเมืองมาใช้ แต่ที่ผมทำก็เพราะต้องการจะพัฒนาโคราชและพัฒนาท้องถิ่น เมื่อลงสมัครนายก อบจ. จึงประกาศที่จะเป็นมิตรกับ ส.จ.ทุกคน และ ส.ส.ทุกพรรค ซึ่งที่ผ่านมาก็มี ส.จ.บางคนสอบถามว่า หากเขามาช่วยหาเสียงจะมีทุนให้เท่าไหร่ มีงบประมาณให้เท่าไหร่ ซึ่งต้องบอกไว้ก่อนว่า ผมไม่มีทุนให้ แต่ผมจะเป็นมิตรกับ ส.จ. และมั่นใจว่า หากได้เข้าไปเป็นนายก อบจ. จะสามารถบริหาร ส.จ.ทุกคนได้ ซึ่งในการประกาศเป็นมิตรกับ ส.จ.ทุกคนนั้น จะทำให้การดำเนินงานต่างๆ ง่ายขึ้น เมื่อต้องการจะพัฒนาโคราชในสิ่งที่เกินความสามารถของ อบจ. ก็จะทำให้ของบประมาณจากพรรคการเมืองใดก็ได้ที่เป็นรัฐบาลในขณะนั้น และ ส.จ.ที่เข้าไปก็เป็นฝ่ายที่คอยตรวจสอบการบริหารของนายก อบจ. หากการบริหารมีนโยบายที่ชัดเจน โดยเฉพาะสภาประชาชน ก็มั่นใจว่าจะบริหาร ส.จ.ได้”
เป็นมิตรกับ ส.จ.ทุกคน
หมอแหยง เปิดเผยอีกว่า “ตั้งแต่วันรับสมัครเลือกตั้งที่ผ่าน (๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓) ผมได้มีโอกาสพบกับ ส.จ. หรือ ส.ส.ที่มาเป็นพี่เลี้ยงให้อดีต ส.จ.ของเขา ผมก็ไปจับไม้จับมือกับทุกคน ทั้ง ส.จ.และ ส.ส.ในความเป็นเพื่อนหรือเป็นพี่น้อง ซึ่งไม่ได้มีความหมายว่า ผมจะไปอยู่พรรคเขา อย่างเช่น การจับมือกับนายรชตะ ด่านกุล ในวันสมัคร เพราะเคยทำงานร่วมกันมาก่อน และเมื่อมีการเผยแพร่ข่าวผ่าน ‘โคราชคนอีสาน’ ก็มี ส.จ.กว่า ๒๐ คน บอกว่าเห็นด้วยกับนโยบายของหมอแหยง เห็นด้วยกับสภาประชาชน และเห็นด้วยกับการบริหารงานอย่างโปร่งใส ก็ขอเข้ามาอยู่ด้วย ซึ่งผมได้บอกไปว่า การเข้ามาอยู่ด้วยกันนั้น ไม่มีปัญหาในเรื่องนโยบายหรือการเป็นพันธมิตรกัน แต่จะไม่มีเงินสนับสนุนให้ ไม่มีเงินทำป้ายให้ และไม่สามารถนำรูปขึ้นป้ายด้วยกันได้ แต่ถ้านำนโยบายผมไปสนับสนุน ขึ้นรูปว่าเห็นด้วยกับหมอแหยงในการสร้างสภาประชาชน ผมก็อนุญาตทำได้เต็มที่ ซึ่งนี่เป็นการขอสนับสนุนเป็นการส่วนตัว ไม่ใช่การนำพรรคการเมืองมาสนับสนุน เช่น นายรชตะ ด่านกุล ครั้งนี้ก็เป็นการสนับสนุนในนามส่วนตัว บางคนก็ขอใช้นโยบาย และมีหลายคนที่เห็นด้วย ถือเป็นน้ำใจที่ได้จาก ส.จ.หลายคน และ ส.ส.หลายคนในหลายพรรคการเมือง”
เบอร์ ๒ คู่แข่งคนสำคัญ
ต่อข้อถามว่า “ในบรรดาผู้สมัครนายก อบจ.อีก ๔ คน คิดว่าใครคือคู่แข่งที่สำคัญและต้องทำงานหนักมากกว่าเดิม” นพ.สำเริง แหยงกระโทก ตอบว่า “อาจจะเป็นเบอร์ ๒ ที่เขามีความพร้อม มีปัจจัย และพันธมิตรมาก ส่วนผมหรือเบอร์ ๑ ซึ่งมีนโยบายโปร่งใสเหมือนกัน อาจจะเป็นระดับรองลงมา ผมใช้ความคิด อุดมการณ์ และแนวทางเท่านั้นในการต่อสู้ จะไม่ใช้เงินหรือทำผิดระเบียบของ กกต.เด็ดขาด จึงทำให้เหน็ดเหนื่อยในการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ในเรื่องวัฒนธรรมเดิมๆ เหมือนคำที่ว่า เงินไม่มากาไม่เป็น และเมื่อรับเงินมาแล้วจะทำให้เป็นบาป ผมต้องเข้าไปแก้ความคิดเหล่านี้ และสร้างความเข้าใจว่า การรับเงินมาเท่านี้แลกกับการสูญเสียเงิน ๔,๐๐๐ ล้านบาท ๔ ปีก็ ๑๖,๐๐๐ ล้านบาท”
ขอสู้ครั้งสุดท้าย
เมื่อถามว่า “ในการต่อสู้ครั้งนี้ หนักหนาสาหัสกว่าครั้งที่ผ่านมาหรือไม่” นพ. สำเริง ตอบว่า “ครั้งนี้หนักหนากว่าทุกครั้ง และจะเป็นครั้งสุดท้ายของผมในการต่อสู้และทำเรื่องนี้ จะไม่มีครั้งที่ ๔ ถ้าชนะก็จะมีสภาประชาชนเกิดขึ้น แต่ถ้าแพ้ เชื่อว่า จะไม่มีสภาประชาชนเกิดขึ้นอีก คนที่จะทำเช่นนี้ได้ต้องเป็นนายก อบจ.มาก่อน เพราะรู้กฎหมาย รู้ระเบียบ และขั้นตอนในการสร้างสภาประชาชน มอบอำนาจให้สภาฯ เรื่องนี้มีขั้นตอน ดังนั้นคนที่สมัครใหม่ก็จะไม่กล้าพูดเรื่องเหล่านี้ เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร และนายก อบจ.คนอื่นๆ ถ้าไม่มีความคิดแบบผม ก็ไม่ทำสภาประชาชน ซึ่งสภาประชาชนจะเป็นการถอดอำนาจตัวเองให้กับสภาฯ เปิดทุกอย่างให้โปร่งใส”
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๕๕ วันพุธที่ ๒๕ เดือนพฤศจิกายน - วันอังคารที่ ๑ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓
85 1,669