23rdNovember

23rdNovember

23rdNovember

 

November 28,2020

รถไฟ‘นครสวรรค์-บ้านไผ่’ ผ่าน‘บัวใหญ่’ถือว่าตอบโจทย์ เชื่อย่นระยะทางเชื่อมอีอีซี

ชาวบัวใหญ่ปลื้ม กรมขนส่งทางรางเห็นชอบรถไฟทางเดี่ยว‘นครสวรรค์-บ้านไผ่’ เชื่อมต่อทางรถไฟเดิมที่ กุดน้ำใส พร้อมปรับปรุงทางรถไฟช่วงกุดน้ำใส-จัตุรัส-บัวใหญ่ ระยะทาง ๖๖.๒ กิโลเมตร ด้าน “เจ้าสัวอรุณ อัครปรีดี” ประธานเครือข่าย ๘ อำเภอ เชื่อย่นระยะทางเชื่อมต่อ EEC กว่า ๑๐๐ กิโลเมตร

 

สืบเนื่องจาก การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ๒ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๑ มีมติเห็นชอบแนวทางและข้อสั่งการให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมตะวันออก-ตะวันตก สายนครสวรรค์-บ้านไผ่ เพื่อให้แผนการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใหม่จากแม่สอด-นครพนม ที่ใช้ขนาดทาง ๑ เมตร ให้มีโครงข่ายที่สมบูรณ์และสอดคล้องกับการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งสินค้า ผู้โดยสารและศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศ รวมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานและพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟ 

ต่อมา นายอรุณ อัครปรีดี ประธานเครือข่ายภาคประชาชนกลุ่ม ๘ อําเภอโซนบัวใหญ่ ได้ทำหนังสือถึงกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เพื่อผลักดันให้มีการปรับแนวเส้นทางรถไฟทางคู่สายนครสวรรค์-บ้านไผ่ โดยให้มีเส้นทางเพิ่มเติมจากอําเภอเมืองชัยภูมิ-บัวใหญ่ อีกเส้นทางหนึ่ง

จากนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม จึงว่าจ้างที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จํากัด บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จํากัด บริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จํากัด และบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จํากัด ให้ดําเนินงานศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ช่วงนครสวรรค์-บ้านไผ่ พร้อมจัดทํารายละเอียดเพิ่มเติมในรายงานศึกษาความเหมาะสมฯ ฉบับสมบูรณ์ ซึ่งดําเนินการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมถึงข้อเสนอแนะจากเครือข่ายภาคประชาชนกลุ่ม ๘ อําเภอโซนบัวใหญ่ โดยทําการกําหนดทางเลือกในการพัฒนาเพิ่มเติมเป็น ๔ กรณี และคํานึงถึงความสอดคล้องกับแผนการพัฒนาของการคมนาคมในระดับภูมิภาคอาเซียน และการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟที่มีอยู่ในปัจจุบัน และการเชื่อมต่อกับโครงข่ายใหม่ในอนาคต เพื่อเกิดการเชื่อมโยงของเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor EWEC) ซึ่งเป็นเหตุผลหลักของการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ

โดยรายละเอียดการศึกษาเพิ่มเติมมี ๔ กรณี ดังนี้ กรณีที่ ๑ (กรณีฐาน) แนวเส้นทางนครสวรรค์-กุดน้ำใส-ชัยภูมิ-บ้านไผ่ โดยแนวเส้นทางจะเป็นไปตามผลการศึกษาความเหมาะสม ซึ่งเป็นแนวเส้นทางใหม่ของโครงการทั้งหมด แนวสีเขียว ตั้งแต่จุดเริ่มต้นโครงการ สถานีชุมทางกุดน้ำใสระยะทาง ๑๘๑.๒๐๐ กม. แนวสีชมพู ตั้งแต่สถานีชุมทางกุดน้ำใส-สถานีชัยภูมิ ระยะทาง ๓๙.๑๐๐ กม. และแนวสีแดง ตั้งแต่สถานีชัยภูมิ-จุดสิ้นสุดโครงการสถานีบ้านไผ่ ระยะทาง ๘๔.๐๑๘ กม. ระยะทาง รวมทั้งสิ้น ๓๐๔.๓๑๘ กม. โดยประมาณค่าก่อสร้างรถไฟทางคู่เขตทาง ๕๐ เมตร ด้านวิศวกรรมโยธา ๔๙,๐๕๕ ล้านบาท ค่าชดเชยที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ๓,๓๐๔ ล้านบาท อัตราค่าจ้างที่ปรึกษา (งานขนส่งทางราง) ๓,๐๒๑ ล้านบาท รวมค่าก่อสร้างทั้งหมด ๕๕,๓๘๐ ล้านบาท และค่าก่อสร้างรถไฟทางเดี่ยวเขตทาง ๕๐ เมตร ด้านวิศวกรรมโยธา ๓๒,๐๒๒ ล้านบาท ค่าชดเชยที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ๓,๓๐๔ ล้านบาท อัตราค่าจ้างที่ปรึกษา (งานขนส่งทางราง) ๒,๑๗๓ ล้านบาท รวมค่าก่อสร้างทั้งหมด ๓๗,๔๙๙ ล้านบาท

กรณีที่ ๒ แนวเส้นทางนครสวรรค์-กุดน้ำใส-บัวใหญ่-บ้านไผ่ โดยแนวเส้นทางเป็นแนวเส้นทางใหม่จากนครสวรรค์-กุดน้ำใส และมาเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟเดิม และปรับปรุงแนวเส้นทางจากสถานีกุดน้ำใสไปสถานีชุมทางบัวใหญ่เป็นทางคู่ และเข้าสู่สถานีบ้านไผ่ แนวสีเขียว ตั้งแต่จุดเริ่มต้นโครงการ-ชุมทางกุดน้ำใสระยะทาง ๑๘๑.๒๐๐ กม. แนวสีเหลือง ตั้งแต่สถานีชุมทางกุดน้ำใส-สถานีชุมทางบัวใหญ่ ระยะทาง ๖๖.๒๐๐ กม. และแนวสีเหลืองเข้ม ตั้งแต่สถานีชุมทางบัวใหญ่ จุดสิ้นสุดโครงการสถานีบ้านไผ่ ระยะทาง ๖๒.๒๒๐ กม. ระยะทางรวมทั้งสิ้น ๓๐๔.๖๒๐ กม. โดยประมาณค่าก่อสร้างรถไฟทางคู่เขตทาง ๕๐ เมตร ด้านวิศวกรรมโยธา ๓๗,๘๔๙ ล้านบาท ค่าชดเชยที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ๑,๘๔๙ ล้านบาท อัตราค่าจ้างที่ปรึกษา (งานขนส่งทางราง) ๒,๕๒๒ ล้านบาท รวมค่าก่อสร้างทั้งหมด ๔๒,๒๒๐ ล้านบาท และค่าก่อสร้างรถไฟทางเดี่ยวเขตทาง ๕๐ เมตร ด้านวิศวกรรมโยธา ๒๔,๐๔๐ ล้านบาท ค่าชดเชยที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ๑,๘๔๙ ล้านบาท อัตราค่าจ้างที่ปรึกษา (งานขนส่งทางราง) ๑,๗๖๔ ล้านบาท รวมค่าก่อสร้างทั้งหมด ๒๗,๖๕๓ ล้านบาท

กรณีที่ ๓ แนวเส้นทางนครสวรรค์-กุดน้ำใส-บัวใหญ่-บ้านไผ่ และต่อขยายแนวเส้นทางไปจังหวัดชัยภูมิ แนวสีเขียว ตั้งแต่จุดเริ่มต้นโครงการ-ชุมทางกุดน้ำใสระยะทาง ๑๘๓.๒๐๐ กม. แนวสีชมพู ตั้งแต่สถานีชุมทาง กุดน้ำใส-สถานีชัยภูมิ ระยะทาง ๓๙.๑๐๐ กม. แนวสีเหลือง ตั้งแต่สถานีชุมทางกุดน้ำใส-สถานีชุมทางบัวใหญ่ ระยะทาง ๖๖.๒๐๐ กม. และแนวสีเหลืองเข้ม ตั้งแต่สถานีชุมทางบัวใหญ่-จุดสิ้นสุดโครงการสถานีบ้านไผ่ ระยะทาง ๖๒.๒๒๐ กม. ระยะทางรวมทั้งสิ้น ๓๔๘,๔๒๐ กม. โดยประมาณค่าก่อสร้างรถไฟทางคู่เขตทาง ๕๐ เมตร ด้านวิศวกรรมโยธา ๔๓,๑๔๔ ล้านบาท ค่าชดเชยที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ๒,๓๖๙ ล้านบาท อัตราค่าจ้างที่ปรึกษา (งานขนส่งทางราง) ๒,๙๑๘ ล้านบาท รวมค่าก่อสร้างทั้งหมด ๔๘,๔๓๑ ล้านบาท และค่าก่อสร้างรถไฟทางเดี่ยวเขตทาง ๕๐ เมตร ด้านวิศวกรรมโยธา ๒๗,๗๓๐ ล้านบาท ค่าชดเชยที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ๒,๓๖๙ ล้านบาท อัตราค่าจ้างที่ปรึกษา (งานขนส่งทางราง) ๒,๐๔๘ ล้านบาท รวมค่าก่อสร้างทั้งหมด ๓๒,๑๔๗ ล้านบาท

กรณีที่ ๔ แนวเส้นทางนครสวรรค์-กุดน้ำใส-ชัยภูมิ-บ้านไผ่ และรวมถึงเชื่อมต่อพร้อมปรับปรุงทาง รถไฟเดิมช่วงกุดน้ำใส-จัตุรัส-บัวใหญ่ (รวมเส้นทางกรณี ๑ และ ๒) แนวสีเขียว ตั้งแต่จุดเริ่มต้นโครงการ-สถานีชุมทาง กุดน้ำใสระยะทาง ๑๘๑.๒๐๐ กม. แนวสีชมพู ตั้งแต่สถานีชุมทางกุดน้ำใส-สถานีชัยภูมิ ระยะทาง ๓๙.๑๐๐ กม. แนวสีแดง ตั้งแต่สถานีชัยภูมิ-จุดสิ้นสุดโครงการสถานีบ้านไผ่ ระยะทาง ๘๔.๐๑๘ กม. แนวสีเหลือง ตั้งแต่สถานีชุมทางกุดน้ำใส-สถานีชุมทางบัวใหญ่ ระยะทาง ๖๖.๒๐๐ กม. และแนวสีเหลืองเข้ม ตั้งแต่สถานีชุมทางบัวใหญ่-จุดสิ้นสุด โครงการสถานีบ้านไผ่ ระยะทาง ๖๒.๒๒๐ กม. ระยะทางรวมทั้งสิ้น ๔๓๒.๗๓๘ กม. โดยประมาณค่าก่อสร้างรถไฟทางคู่เขตทาง ๕๐ เมตร ด้านวิศวกรรมโยธา ๕๔,๕๒๒ ล้านบาท ค่าชดเชยที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ๓,๕๓๑ ล้านบาท อัตราค่าจ้างที่ปรึกษา (งานขนส่งทางราง) ๓,๗๔๘ ล้านบาท รวมค่าก่อสร้างทั้งหมด ๖๑,๘๐๑ ล้านบาท และค่าก่อสร้างรถไฟทางเดี่ยวเขตทาง ๕๐ เมตร ด้านวิศวกรรมโยธา ๓๕,๖๕๘ ล้านบาท ค่าชดเชยที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ๓,๕๓๑ ล้านบาท อัตราค่าจ้างที่ปรึกษา (งานขนส่งทางราง) ๒,๖๖๐ ล้านบาท รวมค่าก่อสร้างทั้งหมด ๔๑,๘๔๙ ล้านบาท

เพิ่มเส้นทางบัวใหญ่-ชัยภูมิ

ต่อมา กรมขนส่งทางราง (ขร.) ได้ส่งหนังสือที่ คค ๐๙๐๕.๒/๑๕๖๙ ลงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เรื่องความก้าวหน้าการศึกษาความเหมาะสมเพิ่มเติมกรณีแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ สายนครสวรรค์-บ้านไผ่ ถึงประธานเครือข่ายภาคประชาชนกลุ่ม ๘ อําเภอโซนบัวใหญ่ โดยมีรายละเอียดว่า ตามหนังสือที่อ้างถึงประธานเครือข่ายภาคประชาชนกลุ่ม ๘ อําเภอโซนบัวใหญ่ (นายอรุณ อัครปรีดี) มีหนังสือถึงกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เพื่อผลักดันให้มีการปรับแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ สายนครสวรรค์-บ้านไผ่ โดยให้มีเส้นทางเพิ่มเติมจากอําเภอเมืองชัยภูมิ-บัวใหญ่ อีกเส้นทางหนึ่ง โดย ขร. ได้ประสานหารือกับ รฟท. เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ และได้มีหนังสือตามที่อ้างถึงประธานเครือข่าย ภาคประชาชนฯ เพื่อแจ้งความก้าวหน้าในการประสานหารือกับ รฟท. กรณีการดําเนินการศึกษาความเหมาะสม เพิ่มเติมกรณีแนวเส้นทางรถไฟทางคู่สายนครสวรรค์-บ้านไผ่ ผ่านสถานีรถไฟชุมทางบัวใหญ่ โดย ขร.จะแจ้ง ผลการพิจารณาให้ประธานเครือข่ายภาค                        ประชาชนฯ ทราบต่อไป ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น

ขร.ได้รับหนังสือแจ้งความก้าวหน้าการศึกษาความเหมาะสมเพิ่มเติมกรณีแนวเส้นทาง รถไฟทางคู่ สายนครสวรรค์-บ้านไผ่ ผ่านสถานีรถไฟชุมทางบัวใหญ่แล้ว โดยผลการวิเคราะห์ความเหมาะสม เพิ่มเติมฯ พบว่า แนวเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดสําหรับการพัฒนาโครงการ คือ การพัฒนาทางรถไฟทางเดี่ยว บนเขตทาง ๕๐ เมตร โดยเริ่มต้นแนวเส้นทางจากนครสวรรค์-กุดน้ำใส-ชัยภูมิ-บ้านไผ่ ระยะทาง ๓๐๔.๓๑๘ กิโลเมตร และเชื่อมต่อทางรถไฟเดิมที่กุดน้ำใส พร้อมปรับปรุงทางรถไฟเดิม ช่วงกุดน้ำใส-จัตุรัส-บัวใหญ่ ระยะทาง ๖๖.๒๐๐ กิโลเมตร รวมถึงการเดินรถไฟจากบัวใหญ่ จุดสิ้นสุดโครงการที่บ้านไผ่ ระยะทาง ๖๒.๒๒๐ กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น ๔๓๒.๗๓๘ กิโลเมตร ทั้งนี้ ผลการศึกษาความเหมาะสมเพิ่มเติมๆ ที่ รฟท. ดําเนินการมีความสอดคล้องกับข้อสังเกตของ ขร. ในการประสานหารือร่วมกันเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 

๑.ขอให้พิจารณาศึกษาเพิ่มเติมความเหมาะสมของแนวเส้นทางนครสวรรค์-บ้านไผ่ และเชื่อมเส้นทางจากกุดน้ำใส-บัวใหญ่ อีกเส้นทางหนึ่ง ซึ่งการศึกษาความเหมาะสมเพิ่มเติมของ รฟท.ระบุว่า รฟท.แบ่งการพิจารณาแนวเส้นทางรถไฟโครงการเป็น ๔ แนว ได้แก่ เส้นทางนครสวรรค์-กุดน้ำใส-ชัยภูมิ-บ้านไผ่ เส้นทางนครสวรรค์-กุดน้ำใส-บัวใหญ่-บ้านไผ่ และปรับปรุงเส้นทางจากกุดน้ำใส-บัวใหญ่ เป็นทางคู่และเข้าบ้านไผ่ เส้นทางนครสวรรค์-กุดน้ำใส-บัวใหญ่-บ้านไผ่ และต่อขยายแนวเส้นทางไปจังหวัดชัยภูมิ และเส้นทางนครสวรรค์-กุดน้ำใส-ชัยภูมิ-บ้านไผ่ และเชื่อมต่อพร้อมปรับปรุงทางรถไฟเดิมช่วงกุดน้ำใส-จัตุรัส-บัวใหญ่

๒.ปัจจัยในการคัดเลือกแนวเส้นทางควรมี ๓ ด้าน ได้แก่ ด้านวิศวกรรมและการเดินรถ ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งการศึกษาความเหมาะสมเพิ่มเติมของ รฟท.ระบุว่า วิเคราะห์เพิ่มเติมเส้นทางใน ๔ ด้าน ดังนี้ ๑.การศึกษาผลอบแทนรายอำเภอของทางเลือกแต่ละกรณี ๒.สรุปการประเมินผลกระทบเบื้องต้นด้านสิ่งแวดล้อมของทางเลือกแต่ละกรณี ๓.ค่าลงทุนในการก่อสร้างโครงการแต่ละทางเลือก และ ๔.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและซ่อมบำรุงของแต่ละทางเลือก

๓.ศึกษาผลตอบแทนรายอำเภอเพิ่มเติม แนวเส้นทางจากกุดน้ำใส-บ้านไผ่ และบริเวณแนวเส้นทางจากกุดน้ำใส-บัวใหญ่ ซึ่งการศึกษาความเหมาะสมเพิ่มเติมของ รฟท.ระบุว่า ศึกษาเพิ่มเติมผลประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดที่มีการก่อสร้างตลอดอายุโครงการ ๓๐ ปี พบว่า แนวเส้นทางนครสวรรค์-บ้านไผ่ และปรับปรุงทางเดิมจากจัตุรัส-บัวใหญ่ สามารถสร้างผลประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดฯ และผลประโยชน์ในพื้นที่หลายอำเภอมากกว่าเส้นทางอื่น ทั้งนี้ การดำเนินโครงการจะเป็นการวางโครงข่ายคมนาคม เชื่อมโยงสู่เมืองหลักของภูมิภาคอย่างไร้รอยต่อ รวมทั้งเป็นการกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๘๐)

๔.เขตทางรถไฟปัจจุบันใช้เกณฑ์ ๘๐ เมตร สามารถปรับลดเหลือ ๕๐ เมตร ได้หรือไม่ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ค่าเวนคืน และค่าก่อสร้าง ซึ่งการศึกษาความเหมาะสมเพิ่มเติมของ รฟท.ระบุว่า ใช้เกณฑ์ทางรถไฟ ๕๐ เมตร เป็นเกณฑ์ในการศึกษาความเหมาะสมเพิ่มเติมฯ แทนเกณฑ์ทางรถไฟเดิม ๘๐ เมตร

ผ่านบัวใหญ่ถือว่าเหมาะสมแล้ว

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ นายอรุณ อัครปรีดี ประธานเครือข่ายภาคประชาชนกลุ่ม ๔ อําเภอโซนบัวใหญ่ เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ถึงกรณีดังกล่าวว่า “เดิมทีทางรถไฟสายร้อยเอ็ด-นครพนม ที่เชื่อมจากต่อบัวใหญ่ไป มีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติก่อสร้างตั้งแต่สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ต่อมาเมื่อรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เกิดโครงการใหม่ที่เชื่อมระหว่างตะวันออกไปตะวันตก ซึ่งภาครัฐไปรับฟังความคิดเห็นแค่ที่อำเภอบ้านไผ่ ไม่เคยมารับฟังที่อำเภอบัวใหญ่ ทั้งที่อำเภอบัวใหญ่เคยเป็นมติคณะรัฐมนตรีเดิม และทำเป็นโครงการจากบ้านไผ่-นครสวรรค์ แต่ถ้าทำเส้นทางนครสวรรค์-บัวใหญ่ เส้นนี้จะช่วยให้การเชื่อมต่อ EEC ย่นระยะได้มากถึง ๑๐๐ กิโลเมตร ดังนั้นการศึกษาเส้นทาง ไม่ใช่แค่ศึกษาเฉพาะการเชื่อมระหว่างตะวันออกไปตะวันตก แต่ควรศึกษาให้ครอบคลุมทั้งเครือข่าย แต่ที่ ขร.สรุปผลเส้นทางออกมาก็ถือว่าตอบโจทย์แล้ว”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๕๕ วันพุธที่ ๒๕ เดือนพฤศจิกายน - วันอังคารที่ ๑ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓


154 2,367