19thApril

19thApril

19thApril

 

December 30,2020

ขยายถนนหน้าตลาดเทิดไท รับจราจร ๔ หมื่นคัน/วัน

จัดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุง ผิวถนนเพื่อขยายช่องทางจราจรผ่านย่านชุมชน ถนนมิตรภาพ ช่วงตลาดเทิดไทถึงใต้สะพานห้วยยาง (หน้าเจ้าสัว) พร้อมติดตั้งป้ายอัจฉริยะ หวังเพิ่มความปลอดภัยให้ประชาชน รองรับปริมาณรถในช่วงเทศกาล 

เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่หอประชุม ๙๐ ปี โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย นายชนะ ธรณีทอง นายอำเภอเมืองนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน “กิจกรรมปรับปรุงทางหลวงผ่านชุมชน” ทางหลวงหมายเลข ๒ ถนนมิตรภาพ ตอนโคกกรวด-นครราชสีมา ระหว่าง กม.๑๓๗+๑๖๕ - กม.๑๓๘+๓๐๐ และ กม.๑๓๙+๐๐๐ - กม.๑๔๐+๐๐๐ โดยมีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้แทนส่วนราชการและประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมีนายชิตพล เหล่าอัน ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ เป็นผู้ชี้แจงข้อมูลการดำเนินโครงการและรับฟังข้อเสนอแนะรวมทั้งตอบข้อซักถามของประชาชน

ขยายช่องจราจร เพิ่มป้ายอัจฉริยะ

นายชิตพล เหล่าอัน ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ กล่าวว่า “กรมทางหลวง มีงานกิจกรรมปรับปรุงทางหลวงผ่านย่านชุมชน ทางหลวงหมายเลข ๒ ตอน โคกกรวด - นครราชสีมา ระหว่าง กม.๑๓๗+๑๖๕ - กม.๑๓๘+๓๐๐ และจัดทำป้ายอัจฉริยะที่ กม.๑๓๙+๐๐๐ - กม.๑๔๐+๐๐๐ ดังนั้นจึงต้องประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียจากการดำเนินกิจกรรมฯ ตลอดจนสาธารณชนที่สนใจได้รับรู้ข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลของการดำเนินกิจกรรมฯ อย่างถูกต้อง และชัดเจน รวมทั้งเข้าใจขั้นตอนการดำเนินการ และลำดับความสำคัญของการมีส่วนร่วมในกิจกรรมฯ ให้องค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนที่สนใจ ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานอันจะเป็นประโยชน์ต่อโครงการฯ ประเมินผลการรับรู้ความสนใจในการก่อสร้างการกำหนดแนวทางการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในขั้นตอนต่อไป จากการดำเนินการก่อสร้างดังกล่าว อาจมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม วิถีชุมชน หรือส่วนได้เสียอื่นใด ในพื้นที่บริเวณการก่อสร้างและเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนในท้องถิ่นที่มีส่วนได้เสียทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ได้มีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและให้ข้อสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อกิจกรรมฯ กรมทางหลวง ตระหนักถึงความสำคัญของการเผยแพร่ข้อมูล และการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง ในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงการดำเนินกิจกรรมปรับปรุงทางหลวงผ่านย่านชุมชน ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น จึงจัดประชุมการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนี้

ไม่กระทบประชาชนแน่นอน

นายชนะ ธรณีทอง นายอำเภอเมืองนครราชสีมา กล่าวว่า “โครงการนี้จะขยายถนนมิตรภาพเพิ่มอีก ๒ ช่องจราจร (เลน) ระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร พร้อมทั้งป้ายอัจฉริยะ เท่าที่ทราบไม่เกี่ยวกับบริเวณด้านขอบเส้นทางหน้าบ้านเรือน โดยจะขยายถนนบริเวณปีกขอบกลางให้เล็กลงข้างละ ๑ เลน ไม่กระทบกับประชาชนแน่นอน ไม่เหมือนกรณีทางข้ามหัวทะเลที่ประชาชนไม่ยอม เนื่องจากจะสร้างทางต่างระดับในชุมชน ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ซึ่งกรมทางหลวงก็เชิญประชาชนจำนวนมาก แต่ก็ไม่มากันเท่าที่ควร แต่ทราบอีกครั้งก็เกือบจะประชุมไม่สำเร็จ แต่ครั้งนี้ไม่กระทบกับประชาชนแน่นอน เพราะเป็นการเพิ่มเลน ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น อุบัติเหตุก็จะลดลง และการเพิ่มจุดกลับรถช่วงขาเข้าโคราช จะช่วยให้การจราจรคล่องตัวมากขึ้น ตำรวจทำงานน้อยลง” 

เพื่อรองรับโคราชเติบโต

นายชนะ ธรณีทอง กล่าวต่อไปว่า “โคราชกำลังจะมีรถไฟความเร็วสูง ระบบรางคู่ ท่าเรือบก และเป็นไมซ์ซิตี้ ที่นำความเจริญเติบโตเข้ามาเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งกำลังผลักดันอุทยานธรณีโคราชเป็นอุทยานธรณีโลกยูเนสโกแห่งที่ ๒ ทำให้ต้องขยายออกมาด้านนอก จึงต้องการให้ประชาชนช่วยกันคิดด้วยเหตุและผล เพื่อให้กรมทางหลวงนำข้อมูลไปปรับใช้ในการทำก่อสร้าง”

แนะ’ประสานท้องถิ่นร่วมออกแบบ

“ทั้งนี้ กรมทางหลวงควรประสานงานกับหน่วยงานหรือท้องถิ่นก่อนออกสำรวจ ควรมีการประชุมกลุ่มย่อยก่อน เพื่อสอบถามถึงความต้องการของประชาชนโดยตรง ซึ่งหากประชาชนต้องการก็ต้องค้นหาปัญหาที่จะเกิดขึ้น จากนั้น ออกแบบและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีการประชุมก็จะนำปัญหาที่ร้องเรียนเพิ่มไปแก้ไขได้ จากนั้นเมื่อกลับมารับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้ง จะทำให้โครงการผ่านไปได้ด้วยดี และสามารถแก้ปัญหาได้ครบทุกด้าน จึงขอให้ทุกคนช่วยระดมความคิดเห็นพร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อกิจกรรมฯ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการฯ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน สภาพแวดล้อม และน้ำไปสู่การพัฒนาในภาพรวมต่อไป” นายชนะ กล่าว

รายละเอียดโครงการ

ต่อมา เป็นการนำเสนอรายละเอียดของโครงการ โดยวิทยากร ประกอบด้วย นายวรรณพงศ์ คล่องแคล่ว รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ ฝ่ายวิศวกรรม นายเอกลักษณ์ แสนหูม วิศวกรโยธา ส่วนสำรวจและออกแบบสำนักทางหลวงที่ ๑๐ และนายปิยะพงศ์ ปล้องพุดซา วิศวกรโยธา แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒  

นายวรรณพงศ์ คล่องแคล่ว รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ กล่าวว่า “ปัจจุบันทางหลวงหมายเลข ๒ ตอน โคกกรวด-นครราชสีมา มีปริมาณการจราจร ๔๒,๗๒๔ คันต่อวัน และรถบรรทุก ๑๖.๓๗% (ปี ๒๕๖๒) ประกอบกับเส้นทางช่วงบริเวณ กม.๑๓๗+๑๖๕ - กม.๑๓๘+๓๐๐ และ กม.๑๓๙+๐๐๐ - กม.๑๔๐+๐๐๐ เป็นทางขนาด ๒ ช่องจราจร ที่มีแหล่งท่องเที่ยวบริเวณโดยรอบ อีกทั้งยังเป็นแหล่งชุมชนสองข้างทางค่อนข้างหนาแน่นและมีผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก ซึ่งหากปรับปรุงสัญญาณไฟจราจรอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ประชาชนจะได้รับความสะดวก ปลอดภัย รวมทั้งช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนทางหลวง”

เพิ่ม ๒ ช่องจราจรหลัก

นายเอกลักษณ์ แสนหูม วิศวกรโยธา ส่วนสำรวจและออกแบบสำนักทางหลวงที่ ๑๐ กล่าวถึงรูปแบบของโครงการว่า “เป็นการขยายช่องทางจราจรหลักเป็น ๘ ช่องทางจราจร โดยเริ่มต้นที่ กม.๑๓๗+๑๖๕ สะพานกลับรถห้วยยาง (เจ้าสัว) ถึง กม.๑๓๘+๓๐๐ ตลาดเทิดไท (ตาลคู่) ที่กำลังก่อสร้างอยู่ และช่วงที่ ๒ กม.๑๓๙+๐๐๐ - กม.๑๔๐+๐๐๐ เป็นช่วงที่จะติดตั้งป้ายอัจฉริยะ ซึ่งเป็นป้ายต่อเนื่องตั้งแต่กลางดง ปากช่อง และสีคิ้ว โดยจะเฉลี่ยการปักป้ายประมาณ ๑ กิโลเมตร เพื่อป้องกันหากวางจุดไม่เหมาะสมให้สามารถปรับเลื่อนได้ โดยขยายจากเกาะกลางข้างละ ๒ เมตร รวมเป็น ๔ เมตร เพื่อเชื่อมต่อบริเวณใต้สะพานกลับรถห้วยยาง และโครงการก็จะเชื่อมกับบริเวณจุดกลับรถตลาดเทิดไท (ตาลคู่) ที่กำลังก่อสร้างอยู่ขณะนี้”

ทำป้ายอัจฉริยะแอลอีดี

นายปิยะพงศ์ ปล้องพุดซา วิศวกรโยธา แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ กล่าวว่า “สำหรับรูปแบบป้ายอัจฉริยะจะเป็นแบบแอลอีดี ขนาด ๗.๖๐x๒.๖๐ เมตร แสดงผลเป็นข้อความที่บ่งบอกถึงระยะทาง รวมทั้งสภาพการจราจร เพื่อคำนวณระยะเวลาในการเดินทางและเพิ่มความปลอดภัยของประชาชน หรือหากเกิดอุบัติเหตุสามารถแจ้งมาที่ส่วนกลางได้ เพื่อปรับเปลี่ยนข้อความให้ผู้ร่วมเดินทางสามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้อีกด้วย”

เสนอใช้ไฟไฮแมสส่องสว่าง

จากนั้น ดร.ดิเรก แสสนธิ์ อาจารย์วิทยาลัยนครราชสีมา สอบถามว่า “กม.๑๓๘+๕๐๐ ดำเนินการก่อสร้างอะไร และไฟส่องสว่างเป็นไฟธรรมดาหรือ High Mast (ไฮแมส) เสนอให้ใช้ไฟไฮแมสได้หรือไม่ และต้องการเพิ่มไฟฟ้าให้มากขึ้น เพื่อสอดรับกับการพัฒนาของเมืองโคราชได้หรือไม่” ซึ่งนายวรรณพงศ์ ตอบว่า “ในจุดนี้จะทำจุดกลับรถแบบหยดน้ำ จะขยับจากจุดเดิมไปทางอ่างห้วยยางประมาณ ๗๐ เมตร เป็นจุดกลับรถที่สามารถกลับรถได้เลย เนื่องจากมีช่องจราจรเฉพาะ ไม่ตัดกระแสการจราจร เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในพื้นที่และปรับปรุงให้เหมาะสมกับผู้ใช้งาน การดำเนินการจะเสร็จสิ้นในเดือนมกราคม ๒๕๖๔ ส่วนไฟฟ้าจะเป็นรูปแบบไฟไฮแมส เพื่อเพิ่มแสงสว่างมากขึ้น ซึ่งได้รับงบประมาณปรับปรุงในปี ๒๕๖๕”

แก้ปัญหาน้ำท่วมและประชาสัมพันธ์

ร้อยตรีสุพรรณ ยินดีรัมย์ ประธานชุมชนเขียวใบหม่อน (หลังตลาดเทิดไท) เสนอว่า “บริเวณตลาดเทิดไทเป็นพื้นที่ต่ำทำให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งเทศบาลตำบลสุรนารีจะทำท่อระบายน้ำ ต้องการให้ปรับปรุงให้โครงการเหมาะสมมากขึ้น ต้องการให้เพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจและแก้ปัญหาของประชาชน” ซึ่งนายวรรณพงศ์ ตอบว่า “จะพิจารณากับท้องถิ่นในการแก้ไขและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจและแก้ปัญหาเพื่อประชาชนให้มากที่สุด”

แก้ปัญหาจราจรจากการก่อสร้าง

นายโรจน์ชานัน กุลินจิรโรจน์ ผู้แทนจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ ให้ความเห็นว่า “เห็นด้วยกับโครงการ แต่การจราจรหนาแน่นในหลายๆ จุด และมีการก่อสร้างในหลายจุด ทำให้มีการเปลี่ยนเลนและชะลอตัว ช่วงวันศุกร์และวันอาทิตย์ ต้องการให้ช่วยดูแลปัญหาการจราจรในจุดนี้ และแก้ปัญหาในด้านฝุ่นละอองด้วย” ซึ่งนายวรรณพงศ์ ตอบว่า “จะปรับปรุง เพิ่มป้ายเตือน และแก้ไขให้มีความปลอดภัย ส่วนเรื่องฝุ่นละอองจะคุมเข้ม และสร้างความปลอดภัยให้ประชาชน” 

เรื่องน้ำจะประสานท้องถิ่นให้มากขึ้น

นายชิตพล กล่าวท้ายสุดว่า “เรื่องน้ำท่วมเป็นปัญหาใหญ่ที่โคราชยังแก้ไม่ได้ ที่สำคัญ คือ ระบบระบายน้ำสาธารณะมีน้อย โดยเส้นสายหลักคือ ลำตะคอง กรมทางหลวงในฐานะผู้ดูแลเส้นทางให้การจราจรเป็นหลัก จึงตระหนักด้านระบบระบายน้ำร่วมด้วย ปัจจุบันเราเพิ่มระบบระบายน้ำเพื่อการระบายน้ำที่สะดวกมากขึ้น แต่มีปัญหาที่มีพื้นที่จำกัด ซึ่งถนนมิตรภาพกว้างเพียง ๘๐ เมตร จึงขยายเพื่อเพิ่มช่องการจราจรที่เพิ่มขึ้น ประมาณ ๖๐,๐๐๐ คันต่อวัน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลจะอยู่ที่ ๓๐๐,๐๐๐ คันต่อวัน ซึ่งโคราชเป็นประตูสู่อีสานของทั้ง ๒๐ จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ปัญหาจราจรอยู่ที่โคราชเป็นหลัก แต่ระบบระบายน้ำไม่ได้เชื่อมกับท้องถิ่นมากนัก อนาคตจะประสานงานกับท้องถิ่นให้มากขึ้น ส่วนเรื่องไฟฟ้ากำลังคำนวณงบประมาณปี ๒๕๖๕ เพื่อเปลี่ยนเป็นระบบไฮแมสทั้งหมด” 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๕๘ วันพุธที่ ๓๐ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓ - วันอังคารที่ ๕ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


998 1392