January 16,2021
ใช้แอป‘ฮักอุบล’เช็คคนเข้าออก หมอทวีศิลป์’ชมปชช.ร่วมมือดี
เปิดใช้แอปพลิเคชัน ฮักอุบล Hug Ubon คัดกรองติดตามบุคคลเดินทางเข้าออกพื้นที่ เพื่อใช้ควบคุมโรค หลังพบผู้ป่วยโควิดรอบสองแล้ว ๓ คน หายแล้ว ๑ คน สั่งปิดตลาด ๔ แห่ง ด้าน หมอทวีศิลป์, ชื่นชมภาคประชาสังคมรอบโรงพยาบาลสนามอุบลฯ ร่วมมือดี
เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๔ ที่ห้องประชุมพรหมวรราช ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอบลราชธานี พร้อมด้วยผู้บริหารและอาจารย์สำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่าย สำนักวิทยบริการ คณะวิทยาศาสตร์ คณะศิลปประยุกต์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ งานสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดตัวแอปพลิเคชัน ฮักอุบล Hug Ubon ซึ่งมีระบบการทำงานคล้ายแอปไทยชนะ หรือหมอชนะ แต่มีระบบประมวลผลเป็นแอปเฉพาะจังหวัดฯ ใช้คัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานี เพิ่มเติมจากแอปทั้งสองแบบของส่วนกลางที่มีการใช้กันอยู่แล้ว ซึ่งผู้ที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดอุบลราชธานีในทุกช่องทาง ทั้งทางอากาศผ่านสนามบิน ทางบกตามสถานีขนส่งรถโดยสาร สถานีรถไฟ และรถส่วนตั วต้องเปิดใช้แอปพลิเคชันนี้ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๔
สำหรับการทำงานของแอปพลิเคชันฮักอุบล ใช้งานง่ายสะดวก ไม่ต้องดาวน์โหลดติดตั้งลงในโทรศัพท์มือถือ เพียงลงทะเบียนใส่ข้อมูลของบุคคลที่ใช้ครั้งแรกเพียงครั้งเดียว แล้วทำการสแกนคิวอาร์โค้ด เมื่อเดินทางไปที่ต่างในจังหวัด เบื้องต้นเน้นในเส้นทางรถยนต์ระหว่างอำเภอและตำบล ซึ่งจังหวัดจะมีการติดตั้งจุดให้ผู้ใช้งานสแกนคิวอาร์โค้ดตามจุดต่างๆ แต่หากประชาชนที่เดินทางเข้ามาไม่มีสมาร์ทโฟน ก็ใช้เพียงกระดาษที่ปริ้น QR Code หรือมีบัตรประชาชนไปติดต่อเจ้าหน้าที่ประจำอยู่จุดปลายทาง หรือ อสม.ก็นำไปสแกนยืนยันให้สอบสวนโรค หรือประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-๑๙ เพื่อช่วยประหยัดเวลาให้กับผู้ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด และต้องการไปยังที่ต่างๆ ของจังหวัดได้สะดวกรวดเร็ว
โดยแอปนี้ยังสามารถให้ข้อมูลกับผู้ที่มาจากต่างจังหวัดทราบว่า สถานการณ์ผู้ป่วยของจังหวัดมีจำนวนเท่าใด พบผู้ติดเชื้ออาศัยอยู่ ณ จุดใด และที่ใดเป็นจุดเสี่ยงก็จะแสดงผลให้ผู้ใช้แอปทราบ ตรงกันข้ามถ้าผู้ที่เดินทางเข้ามาในจังหวัด กลายเป็นผู้ป่วย หลังเข้ามาในจังหวัด หรือกลับออกจากจังหวัดไปแล้ว จังหวัดก็จะมีข้อมูลการเดินทางของบุคคลนั้น เพื่อตามสืบสวนโรคบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ยังอยู่ในจังหวัด เพื่อทำการสกัดกั้นกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในจังหวัดไม่เปิดโอกาสให้แพร่เชื้อต่อไปยังบุคคลอื่นได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน
สำหรับบรรยากาศหลังศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอสว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราช ธานี สั่งให้ชาวบ้านในชุมชนหนองแวง ต.สว่าง อ.สว่างวีระวงศ์ ซึ่งพบลุงขายผักอายุ ๖๒ ปี ติดเชื้อโควิด ๑๙ เมื่อวันก่อน พบว่าในหมู่บ้านเป็นไปด้วยความเงียบเหงา มีเพียงเจ้าหน้าที่ อสม. ขี่รถตระเวนตรวจสอบตามบ้านเรือน เพื่อทำการตรวจวัดไข้เช้าและเย็นในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงทั้งหมด
ส่วนชาวบ้านคนอื่นๆ ก็พักอยู่แต่ในบ้านของตนเอง ไม่ออกมาพบปะกันเหมือนช่วงปกติ ร้านขายของชำในหมู่บ้านมีคนเข้าไปซื้อของน้อยลง และร้านต้องระวังคนที่เข้ามาซื้อ หากไม่สวมหน้ากากก็ไม่ให้เข้าร้าน ส่วนวัดประจำหมู่บ้านก็ปิดประตูงดรับชาวบ้านเข้ามาทำบุญช่วงนี้ด้วย
นางบังอร วงษ์สายตา อายุ ๘๓ ปี แม่ค้าขายของชำข้างตลาดต้นพอก ซึ่งอยู่ในตัวอำเภอสว่างวีระวงศ์ กล่าวว่า ตั้งแต่เมื่อวาน หลังอำเภอสั่งปิดตลาดทั้ง ๔ แห่งเป็นเวลา ๑๔ วัน เพื่อเฝ้าระวังการแพร่เชื้อจากลุงขายผัก ไม่มีคนเข้ามาหาซื้อของใช้แม้แต่รายเดียว จึงต้องเอาเงินเก่าที่เก็บไว้ออกมาใช้ เพื่อรอให้มีการเปิดตลาดใหม่อีกครั้ง แต่หากหน่วยงานอยากช่วยเหลือเอาข้าวเอาน้ำมาให้กินช่วงนี้ก็ดี เพราะอยู่ตัวคนเดียวไม่มีลูกหลาน
สำหรับการสืบสวนโรคจากผู้คนที่สัมผัสใกล้ชิดกับลุงขายผักวัย ๖๒ ปี ทั้งภรรยา ลูก และหลานที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน รวมทั้งกับลูกชาย ลูกสะใภ้และหลานที่เดินทางมาเยี่ยมช่วงปีใหม่ และเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับลุงรายนี้อีก ๒ คน ปรากฏไม่พบการติดเชื้อแม้แต่คนเดียว จึงต้องเฝ้าระวังในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำที่มีกลุ่มละเกือบ ๑๐๐ คน และจะทำการตรวจซ้ำคนกลุ่มเสี่ยงอีกครั้งใน ๕ วันข้างหน้า รวมทั้งได้ประกาศหาผู้ที่มาซื้อผักกับลุงรายนี้ ระหว่างวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๔ เพื่อให้เข้ามารับการประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้วย
ทางด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือ ศบค.และเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตตรวจสุขภาพที่ ๑๐ อุบลราชธานี ประชุมร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อและทีมแพทย์จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อติดตามสถานการณ์แนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด ๑๙ รอบที่สองของจังหวัดที่พบผู้ป่วยแล้วจำนวน ๓ ราย โดยผู้ป่วยหนึ่งในสามรายหายดีกลับไปกักตัวต่อที่บ้าน ๑๔ วัน อีกสองรายยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล และดูกระบวนการติดตามผู้ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด ซึ่งเจ้าหน้าที่มีการจดบันทึก ทำทะเบียนประวัติของผู้เดินทางเข้ามาในจังหวัดกว่า ๒๖,๐๐๐ คน
จากนั้น เดินทางไปตรวจเยี่ยมการ เตรียมความพร้อมโรงพยาบาลสนามขนาด ๑,๐๐๐ เตียง ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี วิทยาเขตบ้านยางน้อย อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ซึ่งพบว่า มีความพร้อมรองรับผู้ป่วยหากเกิดการระบาดของโรคเป็นวงกว้างได้เป็นอย่างดี โดยแยกการจัดการไว้ ๓ รูปแบบคือ กรณีผู้ป่วยไม่มีอาการในพื้นที่เดียวกันไม่เกิน ๘ คน จะให้รักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ระดับที่สองเป็นผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยเป็นกลุ่มก้อนมากกว่า ๘ รายแต่ไม่เกิน ๓๐ ราย ได้เตรียมโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กไว้รองรับจำนวน ๗ แห่ง สุดท้ายหากพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนมากกว่า ๑๐๐ ราย จะดำเนินการส่งมารักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี วิทยาเขตบ้านยางน้อย อ.เขื่องใน ซึ่งมีการแบ่งแยกโซนผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ไว้เป็นอย่างดีแล้ว
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.กล่าวชื่นชมความพร้อมและความร่วมมือของภาคประชาสังคมอุบลราชธานี ว่า จากการเข้าดูโรงพยาบาลสนามบ้านยางน้อย เป็นสถานที่เหมาะสม เนื่องจากอยู่ห่างจากชุมชน ๒-๓ กิโลเมตร พร้อมทั้งมีโครงสร้างใช้ติดตั้งเตียง อุปกรณ์ให้เป็นโรงพยาบาลสนามที่รองรับได้ถึง ๑,๐๐๐ เตียง แม้จะมีบางอย่างที่อาจต้องรับได้การสนับสนุนเพิ่มเติม แต่เมื่อดูจากความพร้อม และสมมติว่าเกิดเคสพรุ่งนี้จำนวนมากที่นี่ก็สามารถเรียกสรรพกำลังทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้ามาสนับสนุนร่วมมือกันได้ทันที ที่สำคัญคือ ภาคประชาสังคมรอบโรงพยาบาลสนาม ซึ่งจังหวัดอื่นอาจมีปัญหาการใช้สถานที่ แต่ที่นี่ไม่มีเรื่องนี้ เพราะประชาชนเข้าใจให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๖๒ วันพุธที่ ๑๓ - วันอังคารที่ ๑๙ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
89 1,650