January 30,2021
จัดแคมเปญ ๓๒ ทั้งเมือง ‘ผู้ว่าวิเชียร’พร้อมหนุนเต็มที่ แต่ไม่อนุมัติให้ใช้ ๘ พันล้าน
ภาคเอกชนโคราชเสนอจัดแคมเปญใหญ่ “โคราชรุ่งเรืองคนทั้งเมืองอุดหนุนกัน” นำตัวเลข ๓๒ มาเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด ไม่ว่าจะลดราคา หรือสร้างโปรโมชั่นอื่นๆ กระตุ้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างเม็ดเงินให้หมุนเวียนในจังหวัด ด้าน “ผู้ว่าวิเชียร” พร้อมสนับสนุนเต็มที่ ชี้นำเงินสะสมจังหวัดมาใช้ ต้องเสนอส่วนกลาง
ตามที่ เครือข่ายธุรกิจ Biz CLUB นครราชสีมา ร่วมกับมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล จัดเสวนาปัญหาเศรษฐกิจท้องถิ่นภายใต้การขับเคลื่อนแคมเปญ “โคราชรุ่งเรือง คนทั้งเมืองอุดหนุนกัน” ในหัวข้อ “ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม กับการประกอบการธุรกิจและมาตรการ และข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม กับการประกอบธุรกิจในจังหวัดนครราชสีมา” โดยมีตัวแทนจากกลุ่มธุรกิจต่างๆ เข้าร่วม และต่อมาวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๔ เข้าร่วมประชุมรับฟังปัญหาและแนวทางการปฎิบัติในการเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการ นักธุรกิจภายในจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ภาคเอกชนจัดแคมเปญ “โคราชรุ่งเรือง คนทั้งเมืองอุดหนุนกัน” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร และธุรกิจต่างๆ ภายในจังหวัดฯ ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๔ ที่ห้องประชุมคลังจังหวัดนครราชสีมา นายรังสรรค์ อินทรชาธร รองประธานมูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง (สว่างเมตตาธรรมสถาน) พร้อมด้วยนายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท นครชัย ๒๑ จำกัด และบริษัท นครชัยทัวร์ จำกัด นายธฤษณุ ขจรโกวิทย์ ประธานเครือข่ายธุรกิจ Biz Club จังหวัดนครราชสีมา และ ดร.กำปั่น นิธิวรไพบูลย์ ศิลปินพื้นบ้านเพลงโคราช นำคณะผู้ประกอบการเข้าร่วมประชุมและนำเสนอแคมเปญ “โคราชรุ่งเรือง คนทั้งเมืองอุดหนุนกัน” กับนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล และนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา โดยมีหัวหน้าส่วนราชการร่วมด้วย อาทิ นายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา นายธนิต จิตละมัย ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นางอรุณรัตน์ ชิงชนะ พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา และนางรุ่งทิพย์ บุกขุนทด ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานนครราชสีมา ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นวันสุดท้าย ก่อนย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน
โคราชรุ่งเรืองคนทั้งเมืองอุดหนุนกัน
นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ นำเสนอแคมเปญ “โคราชรุ่งเรือง คนทั้งเมืองอุดหนุนกัน” ว่า “ในการประชุมครั้งก่อน มีเรื่องหารืออยู่ ๒ ส่วน คือ ๑.การเสนอแนวคิดต่างๆ ไปยังส่วนกลาง ซึ่งส่วนกลางจะเห็นด้วยหรือไม่ เราก็ต้องรอคำตอบไปก่อน ๒.เรื่องที่อยู่ภายในจังหวัดนครราชสีมา โดยมีแนวคิดว่า จะทำอย่างไรให้เม็ดเงินหมุนเวียนในโคราช เพราะจะนำเงินจากภายนอกจังหวัดเข้ามาก็ยาก แต่ใช้จ่ายออกไปง่าย ทำให้คนโคราชไม่มีเงินหมุนเวียนภายในจังหวัด จึงเป็นที่มาของแคมเปญ “โคราชรุ่งเรือง คนทั้งเมืองอุดหนุนกัน” โดยจะใช้ตัวเลข ๓๒ มาสร้างแรงจูงใจให้ผู้คน ซึ่งจะนำมาใช้ในเชิงการตลาด เช่น ถ้าประชากรในจังหวัด จำนวน ๒.๖ ล้านคน ใช้จ่ายเงินวันละ ๓๒ บาท รวมแล้วจะมีเงินหมุนเวียนกว่า ๘๔ ล้านบาทต่อวัน รวมกว่า ๒,๕๐๐ ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งแท้จริงแล้วอาจจะใช้มากกว่านี้ แต่ต้องการที่จะให้เป็นตัวเลขที่สามารถนำมาใช้ได้ในทุกมิติของการตลาด โดยตัวเลข ๓๒ มีที่มาจากจำนวนของอำเภอภายในโคราช เป็นตัวเลขที่จดจำง่าย และผู้ประกอบสามารถนำไปใช้ได้ในทุกมิติ รวมทั้งเป็นตัวเลขที่ไม่สูงเกินไป ซึ่งแคมเปญนี้ไม่ใช่การตั้งตลาดขายสินค้า แต่ต้องการสร้างการกระตุ้นให้คนโคราชใช้ชีวิตแบบปกติ แต่ตระหนักถึงการใช้จ่ายเพื่ออุดหนุนคนในท้องถิ่น ให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนภายในจังหวัด โดยตั้งเป้าว่า จะต้องมีการหมุนเวียนของเงินประมาณ ๕ รอบ”
สร้างกลยุทธ์การขาย
“ในการทำแคมเปญโคราชรุ่งเรืองคนทั้งเมืองอุดหนุนกัน ผู้ประกอบการบางรายอาจจะเข้าใจว่า เป็นการลดแลกแจกแถม แต่แท้จริงเราต้องการให้ผู้ประกอบการเล่นแบบไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องลดราคาอย่างเดียว แต่จะทำอย่างไรกับตัวเลข ๓๒ แล้วมีลูกค้ามาอุดหนุนมากขึ้น เช่น ตลาดเซฟวัน อาจจะเปิดพื้นที่ขายให้พ่อค้าแม่ค้ามาขายของฟรี จำนวน ๓๒ ล็อก นี่ก็จะช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าที่ไม่มีเงินจ่ายค่าล็อก สามารถนำสินค้ามาขายได้ โดยจัดให้มีการหมุนเวียนทุกวัน และเมื่อผู้ประกอบการสนับสนุนตัวเลข ๓๒ ก็จะถูกนำเสนอลงภายในแฟนเพจ โคราชรุ่งเรือง พร้อมกับติดแฮชแท็ก #โคราชรุ่งเรืองคนทั้งเมืองอุดหนุนกัน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดกระแสต่อไป” นายชัยวัฒน์ กล่าว
กลุ่มเป้าหมายหลัก
นายชัยวัฒน์ นำเสนอต่อไปว่า “กลุ่มเป้าหมายของแคมเปญแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ ๑.ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็น SME หรือ SML ทำอย่างไรให้คนโคราชสามารถซื้อสินค้าในราคาที่ดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่การลดราคาเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะเป็นเรื่องอื่นๆ โดยจะมีการพูดคุยกับผู้ประกอบการโคราชในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์นี้ เพื่อจะบอกข้อมูลให้ทราบ และให้กลับไปคิดว่า จะจัดแคมเปญนี้ในรูปแบบใด ซึ่งแต่ละรายอาจจะมีความแตกต่างกันไป เช่น ร้านอาหารมีเมนู ๑๐๐ รายการ จัดเมนูส่วนหนึ่งจำหน่ายในราคา ๓๒ บาท แต่ละรายสามารถคิดได้หลากหลาย เพื่อสร้างกลยุทธ์ที่จะจูงใจคนโคราชให้ออกมาใช้จ่ายสินค้าในราคาที่ดีกว่าเดิม รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องการให้จัดซื้อจัดจ้างกับ ผู้ประกอบการด้วยกันภายในจังหวัดก่อน จากนั้นก็นำมาแชร์กันว่า ในโคราชมีร้านนี้ขายสิ่งนี้ ไม่จำเป็นต้องสั่งจากจังหวัดอื่นๆ เพื่อให้เงินหมุนเวียนภายในโคราช
๒.ประชาชนทั่วไป นักเรียน และนักศึกษา ซึ่งอาจจะรวมถึงทุกคนที่ใช้เงิน หรือเราจะบอกกับกลุ่มคนเหล่านี้ว่า คุณใช้เงินทุกวันอยู่แล้ว ไม่ต้องการให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ต้องการให้ซื้อสินค้าภายในท้องถิ่นหรือเพื่อนบ้านใกล้ๆ กัน เช่น จะซื้อของใช้ ก็ขอให้ซื้อจากร้านโชห่วยใกล้บ้าน อย่างน้อยก็สามารถช่วยให้คนในท้องถิ่นได้กำไรจากการขาย ไม่ใช่ไปซื้อที่ร้านสะดวกหรือแบรนด์ดังต่างๆ แล้วเงินก็ถูกนำออกไปนอกโคราช หรือออกนอกประเทศ
๓.ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานต่างๆ ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในภาวะเช่นนี้ จำนวนเงินของคน ๒ กลุ่มแรกมีน้อยลง แต่เงินที่ช่วยเติมเข้ามาในระบบและเกิดการหมุนเวียนมากขึ้น คือ เงินจากภาครัฐ ซึ่งข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานต่างๆ จะแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ
๑.ตัวบุคคลหรือข้าราชการที่รับเงินเดือน ซึ่งจะไปสอดคล้องกับกลุ่มที่ ๒ คือประชาชนทั่วไป มีการซื้อกินซื้อใช้เช่นเดียวกัน ๒.หน่วยงานราชการ ซึ่งมีงบประมาณจากนโยบายที่ผู้ว่าราชการจังหวัดผลักดันอยู่ เช่น สนับสนุนให้ใช้งบประมาณในการจัดประชุมนอกสถานที่มากขึ้น ในส่วนของงบประมาณประจำ ไม่ต้องคำนึงว่าจะมากหรือน้อย แต่เป็นงบประมาณที่หมุนเวียนเป็นประจำ เช่น ในการจัดประชุมของแต่ละหน่วยงาน ต้องมีการซื้อสินค้า อาหาร และเครื่องดื่ม ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะใช้จ่ายกับร้านค้าจากส่วนกลาง แต่ภายใต้แคมเปญนี้ อาจจะต้องอุดหนุนร้านค้าหรือร้านกาแฟในท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้เกิดภาพว่า หน่วยงานราชการในจังหวัด นำเงินงบประมาณลงไปช่วยท้องถิ่นจริงๆ และงบประมาณใหญ่ เป็นงบประมาณที่ภายในหนึ่งปีมีกรอบการจัดการอยู่แล้วว่า จะทำอะไรบ้าง จึงต้องการจะมองภาพว่า งบประมาณนี้สามารถกระจายและละเอียดขึ้นจากเดิม โดยเฉพาะการจัดประชุมสัมมนา การอบรม และการศึกษาดูงานต่างๆ จะสามารถแยกการใช้จ่ายออกเป็นหลายๆ แห่งได้หรือไม่ เช่น จัดประชุมที่โรงแรมนี้ แต่ซื้อสินค้าจากร้านภายนอก เพราะไม่ต้องการให้เงินไปอยู่กับคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องการให้กระจายไปหลายๆ ส่วน และ ๓.ภาคราชการ โดยใช้งบประมาณที่มีอยู่ กระจายลงไปสู่ท้องถิ่นภายใต้งานที่ต้องทำอยู่แล้ว โดยทำแล้วภาพแคมเปญจะถูกนำเสนอผ่านแฟนเพจโคราชรุ่งเรืองให้เห็นว่าภาคราชการก็สนับสนุนท้องถิ่นอย่างจริงจังเช่นกัน
คนโคราชขี้อวด
นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ นำเสนออีกว่า “สำหรับวิธีการดำเนินงาน แบ่งเป็น ๒ เฟส โดยเฟสที่ ๑ เรียกว่า ‘คนโคราชขี้อวด’ เรามีของดีก็ต้องอวด โดยเน้น ๓ ข้อหลัก คือ ๑.สร้างการรับรู้ โดยแคมเปญนี้ไม่ใช่การเปิดตลาดขายสินค้าให้คนมาร่วม แต่ให้ประชาชนใช้ชีวิตปกติ แต่เน้นย้ำให้ตระหนักถึงการใช้จ่ายเงิน เพื่อเกิดการหมุนเวียนภายในโคราช โดยกระบวนการทั้งหมด ถ้ามีคนตระหนักรับรู้ ลงมือทำ เราจะกระตุ้นการลงมือทำนั้นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม ๒.กระตุ้นการมีส่วนร่วม โดยใช้ระบบออนไลน์เป็นหลัก กระตุ้นให้ผู้ประกอบการจัดระบบการจำหน่ายสินค้าที่ดี ไม่ต้องเน้นเรื่องการลดราคา แต่ให้เน้นที่เพิ่มคุณภาพของสินค้าและบริการ ส่วนประชาชนก็กระตุ้นให้ออกมาใช้จ่ายมากขึ้น และภาครัฐ ขอให้มีส่วนร่วมในการกระจายงบประมาณลงไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งการมีส่วนร่วม อาจจะจัดให้มีกิจกรรมโรดโชว์ไปยังสถานศึกษาต่างๆ ในโคราช เพื่อไปบอกนักเรียนหรือนักศึกษาว่า ให้มาช่วยกันกระตุ้นการซื้อขาย นอกจากนี้อาจจะสร้างความมีส่วนร่วมด้วยการแข่งประกวดทำคลิปวิดีโอ เพื่อประชาสัมพันธ์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และ ๓.การจัดกิจกรรมคิกออฟ ซึ่งไม่ใช่การจัดแบบเดิมๆ ที่นำสินค้ามาจำหน่าย มาเปิดบูธต่างๆ แต่ครั้งนี้เป็นการคิกออฟ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจคำว่า โคราชรุ่งเรืองคนทั้งเมืองอุดหนุนกัน ต้องการให้เข้าใจแคมเปญนี้ และทุกคนสามารถช่วยอะไรได้บ้าง เมื่อทุกคนเข้าใจและกระจายเรื่องนี้ออกไป ก็จะเกิดกระบวนการที่ทุกคนเข้ามาอยู่ภายใต้แคมเปญ โดยจะจัดให้มีกิจกรรมคิกออฟในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์นี้ ที่ลานย่าโม”
“หลังจากกิจกรรมคิกออฟแล้ว ในเฟสที่ ๑ จะทำต่อเนื่อง ๖ เดือน ถึงเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔ โดยระหว่างที่ทำ อาจจะมีเฟสที่ ๑.๑ เข้ามา เป็นการลงลึกสินค้าของดีเมืองโคราช จากนั้นจะมีโครงการคืนชีวิตให้คลังพลาซ่า โดยการร่วมมือขอพื้นที่ให้นำของดีเมืองโคราชจาก ๓๒ อำเภอ ถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ ให้พ่อค้าแม่ค้านำเสนอกลยุทธ์การขายของตัวเอง ในขณะที่เฟส ๑.๑ กำลังทำงานไป ก็จะมีเฟสที่ ๒ เข้ามา เป็นการพัฒนาผู้ประกอบการ เช่น การสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถค้าขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ภายใต้ต้นทุนที่ต่ำ แต่ที่ผ่านมาพ่อค้าแม่ค้าขายสินค้าผ่านบริการเดลิเวอรี่ ก็จะพบการเก็บส่วนแบ่งร้อยละ ๓๐ ซึ่งเราจะพยายามสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จะช่วยพ่อค้าแม่ค้า สามารถจำหน่ายสินค้าในราคาเต็มเม็ดเต็มหน่วย และเป็นราคาที่ดีต่อผู้ซื้อด้วย ซึ่งทั้งหมดที่นำเสนอมา เป็นโครงสร้างของแคมเปญโคราชรุ่งเรืองคนทั้งเมืองอุดหนุนกัน โดยสรุปสั้นๆ ว่า ประชาชนกินใช้ ผู้ประกอบการใช้ตัวเลข ๓๒ เป็นกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อสร้างกระแส ผู้ประกอบการไม่ได้หาเงินเข้าอย่างเดียว ต้องอุดหนุนด้วยการซื้อวัตถุดิบจากผู้ประกอบในโคราชด้วย และภาครัฐจะเป็นส่วนเสริมให้โครงการแข็งแรงมากขึ้น” นายชัยวัฒน์ กล่าว
๓๒ เลขมงคล
ด้าน ดร.กำปั่น นิธิวรไพบูลย์ กล่าวว่า “ก่อนเข้าร่วมประชุม ได้แวะรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นร้านค้าของคนโคราช ราคาประมาณ ๔๐-๕๐ บาท ซึ่งการเข้าร่วมแคมเปญนี้ อาจจะให้ร้านอาหารสร้างโปรโมชั่น ว่า ทานครบ ๒๐๐ บาท ลดราคา ๓๒ บาท หรือจะเป็นทานครบ ๕๐๐ บาท ลดราคา ๓๒ บาท เพราะถ้าจะให้พ่อค้าแม่ค้าลดราคาอาหารเหลือ ๓๒ บาท อาจจะเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ ขอชื่อชมทีมงานที่คิดแคมเปญนี้ขึ้นมา เพราะตัวเลข ๓๒ คือ จำนวนของอำเภอในโคราช และยังเป็นตัวเลขของร่างกายมนุษย์ เพราะเรามีร่างกาย ๓๒ ประการด้วยกัน ดังนั้น ๓๒ ถือเป็นตัวเลขมงคล”
เมื่อกล่าวจบ ดร.กำปั่นร้องเพลงโคราชชื่อ “โคราชรุ่งเรือง” โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา จะนำบทเพลงดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อไป
มุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ภายหลังการประชุมนำเสนอแคมเปญโคราชรุ่งเรืองฯ นายวิเชียร จันทรโณทัย ให้สัมภาษณ์ “โคราชคนอีสาน” ว่า “สืบเนื่องจากภาวะโควิด-๑๙ จังหวัดจึงรับฟังข้อคิดเห็นจากภาคเอกชนกับกลุ่มโคราชรุ่งเรือง เพื่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า ซึ่งมีข้อเสนอที่ประชุมไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๔ วันนี้จึงมาร่วมหารืออีกครั้ง เกี่ยวกับโครงการ “คนโคราชรุ่งเรือง คนทั้งเมืองอุดหนุนกัน” ที่ต้องการเชิญให้ชาวโคราชออกมาจับจ่ายใช้สอย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในโคราช ในขณะเดียวกันก็เชิญชวนผู้ประกอบการให้เข้ามามีส่วนร่วม สร้างแรงจูงใจ เช่น สถานประกอบการ ร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆ แม้กระทั่งตลาดสด ซึ่งประชุมและสรุปว่า วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ จะไปร่วมพูดคุยกับผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับรายละเอียดการเข้าร่วม ท้ายที่สุดคือการกำหนดคิกออฟในวันศุกร์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ หลังจากนั้นประมาณ ๑-๒ เดือน จะมีโครงการอื่นตามมา เช่น การอบรมออนไลน์ให้ผู้ประกอบการมีส่วนในการจับจ่ายใช้สอยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งกลุ่มโคราชคนรุ่งเรืองจะเข้ามาประสานกับจังหวัด ในขณะเดียวกันจังหวัดก็จัดประชุมกับกลุ่มอื่นๆ ในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ เช่นเดียวกัน ซึ่งกำหนดไว้แล้ว จะมีการรับฟังข้อคิดเห็นจากภาคเศรษฐกิจ และภาคอื่นๆ ที่จะให้จังหวัดช่วยแก้ปัญหา เช่น หนี้นอกระบบ การลดภาระหนี้ ลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคต่างๆ”
ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม
“ในส่วนของจังหวัดจะมีส่วนร่วมในแคมเปญนี้ โดยช่วยกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายงบประมาณส่วนต่างๆ กระตุ้นราชการให้ใช้จ่ายเงิน รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยว เน้นภายในจังหวัดนครราชสีมา การฝึกอบรมและสัมมนาก็จะให้ดำเนินการอย่างเร่งรัด ซึ่งผมได้เร่งรัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนราชการแล้วว่า การอบรมที่มีอยู่ ให้อบรมในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ๒๕๖๔ ให้เสร็จสิ้น แต่ไม่ให้ไปอบรมที่ใดที่หนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยแบ่งหลักสูตรเฉลี่ยกลุ่มละ ๑๐๐ คน เพื่อกระจายตามโรงแรมต่างๆ และอยู่ภายในจังหวัดนครราชสีมา เช่น อยู่อำเภอบัวใหญ่อาจจะไปอำเภอปากช่อง อยู่อำเภอปากช่องอาจจะไปอำเภอวังน้ำเขียว อีกทั้งเป็นการกระตุ้นผู้รับเหมาที่อยู่ในส่วนราชการให้มีการเร่งรัดเบิกจ่ายเงิน” นายวิเชียรฯ กล่าว
ใช้เงินสะสมไม่ได้
เมื่อถามว่า “การใช้เงินสะสมของจังหวัดจำนวน ๘,๐๐๐ ล้านบาท และโครงการคนละครึ่งของโคราชนั้นมีความเป็นไปได้จะเกิดขึ้นหรือไม่” นายวิเชียร ตอบว่า “เงินสะสมมีระเบียบค่อนข้างเคร่งครัดในการใช้จ่าย อาจจะทำเป็นข้อเสนอไปให้ส่วนกลาง เพื่อปลดล็อกนำเงินสะสมมาสนับสนุน เช่น การจัดหาวัคซีน หรือโครงการคนละครึ่ง น่าจะเป็นประโยชน์ ซึ่งคลังจังหวัดจะรวบรวมเสนอให้มีเงินซอฟต์โลนมาช่วยโดยไม่ผ่านระบบราชการ หรือการลดค่าใช้จ่ายเพื่อสาธารณูปโภคขององค์กรภาคเอกชน เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า หรืออื่นๆ รวมทั้งเรื่องการใช้จ่ายเงินสะสมในขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องเสนอส่วนกลางเท่านั้น”
“ต้องยอมรับว่า ได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ ทั้งประเทศ แม้ว่าโคราชจะมีนโยบายที่เข้มงวดในมาตรการป้องกัน แต่ไม่มีการล็อกเมืองหรือล็อกพื้นที่ โคราชผ่อนปรนเป็นจังหวัดแรกๆ จัดประชุมสัมมนา กิจกรรมจัดงานเลี้ยงประชุมต่างๆ ได้ แต่นักท่องเที่ยวไม่ได้เดินทางเข้ามา ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจขึ้น ฉะนั้นภาคเศรษฐกิจจึงได้รับผลกระทบมาก แต่อำเภอปากช่อง โดยเฉพาะแถวเขาใหญ่ ช่วงวันเสาร์และอาทิตย์คนเต็มตลอด แต่อย่างไรก็ตาม โคราชไม่ได้ล็อกเมือง สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ แต่ปัญหาคือคนไม่มา ฉะนั้นวันนี้ต้องมาช่วยกันกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเชิญชวนคนโคราชใช้จ่ายเงิน จัดประชุมสัมมนา ออกไปเดินทางท่องเที่ยว โดยให้อุดหนุนคนโคราชด้วยกันเอง เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการที่ประสบกับปัญหาความยากลำบากในการประคองธุรกิจ” นายวิเชียร กล่าวท้ายสุด
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๖๔ วันพุธที่ ๒๗ เดือนมกราคม - วันอังคารที่ ๒ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๔
59 1,680