March 13,2021
รวมพลังสตรีเมืองย่าโม วิ่งหาเงินเพื่อจีโอพาร์ค รับการประเมินจากยูเนสโก
สมาคมโคราชจีโอพาร์ครวมพลังภาคีเครือข่าย แถลงจัดงาน “Khorat Geopark Lady Night Run” ครั้งที่ ๑ เพื่อหางบประมาณรับ การประเมินจากยูเนสโก ขับเคลื่อนสู่จีโอพาร์คโลก พร้อมส่งเสริมบทบาทสตรี เนื่องในวันสตรีสากลและวันฉลองชัยชนะ ท้าวสุรนารี
เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่โรงแรมสีมาธานี จังหวัดนครราชสีมาร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา สมาคมโคราชจีโอพาร์คและฟอสซิล และภาคีเครือข่าย ซึ่งนำโดยนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย ผศ.ดร.ประเทือง จินตกุล ผู้อำนวยการโคราชจีโอพาร์ค ในฐานะนายกสมาคมโคราชจีโอพาร์คและฟอสซิล ผศ.ดร.ทวี วัชระเกียรติศักดิ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นายเมธี กาญจนสุนทร นายอําเภอสีคิ้ว และนางอรวรรณ กอบวิทยา หัวหน้ากองเดินเครื่องโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ร่วมแถลงข่าวกิจกรรม “โคราชจีโอพาร์คกับการส่งเสริมบทบาทสตรี” และการวิ่งเพื่ออนุรักษ์ฟอสซิลและส่งเสริมโคราชจีโอพาร์คให้ก้าวสู่จีโอพาร์คโลก “Khorat Geopark Lady Night Run” ครั้งที่ ๑ โดยมีนางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี ผู้อํานวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ และกลุ่มสตรีในจังหวัดนครราชสีมา ร่วมรับฟังกว่า ๑๐๐ คน
นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวว่า “ที่ผ่านมาจังหวัดนครราชสีมาร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานโครงการจัดตั้งอุทยานธรณี (Geopark) ตามแนวทางของยูเนสโกมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ กระทั่งมีการประกาศจัดตั้งพื้นที่อุทยานธรณีระดับจังหวัด โดยการเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญของยูเนสโกเมื่อปี ๒๕๕๘ และผลการสนับสนุนงบประมาณในกิจกรรมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สินค้า และบริการ รวมทั้งบุคลากรที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ ทําให้คาดว่า ภายในปลายปีนี้ น่าจะได้รับการจัดตั้งเป็น National Geopark แห่งที่ ๒ ของประเทศไทย ต่อจากอุทยานธรณีสตูล (Satun Geopark) และภายในปี ๒๕๖๔ หากได้รับการจัดสรรงบประมาณตามโครงการนี้ คาดว่า โคราชจะมีความพร้อมในการรับการประเมินจากยูเนสโก เพื่อจัดตั้งเป็น UNESCO Global Geopark แห่งที่ ๖ ของอาเซียน หรือไม่เกินแห่งที่ ๑๓๔ ของโลก จากจํานวนไม่เกิน ๔๐ ประเทศ”
“ประเทศไทยโดยจังหวัดนครราชสีมา จะได้ชื่อว่า “The UNESCO Triple Crown” หรือดินแดนแห่ง ๓ มงกุฎของยูเนสโก ซึ่งเป็น ๑ ใน ๔ แห่งของโลก ต่อจากประเทศอิตาลี จีน และเกาหลีใต้ เพราะประเทศไทยมีโปรแกรมการอนุรักษ์ของยูเนสโกครบทั้ง ๓ โปรแกรมในพื้นที่จังหวัดเดียว เหมือนที่เกาะเชจู ประเทศเกาหลีใต้ กล่าวคือ โคราชมีมรดกโลก ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช และอุทยานธรณีโลก อุทยานธรณีโคราช ครอบคลุมพื้นที่ ๕ อําเภอใน ๓๒ อําเภอของจังหวัด คือ สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองนครราชสีมา และเฉลิมพระเกียรติ ที่สำคัญ คือ เป็นรูปแบบการอนุรักษ์ทรัพยากรธรณีวิทยา นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม โดยชุมชนท้องถิ่น ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยว ถือเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมชุมชนท้องถิ่นแนวใหม่ของยูเนสโก ที่เป็นรูปแบบการพัฒนายั่งยืน ซึ่งกําลังแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยปัจจุบันมี ๑๒๗ แห่งใน ๓๕ ประเทศ จากความโดดเด่นดังกล่าว โคราชจึงได้มีแนวทางและนโยบายที่ให้ความสําคัญกับอุทยานธรณีโคราชในทุกมิติ สําหรับการจัดงานโคราชจีโอพาร์คกับการส่งเสริมบทบาทสตรี จังหวัดนครราชสีมา และการวิ่งเพื่ออนุรักษ์ฟอสซิล และส่งเสริมโคราชจีโอพาร์คให้ก้าวสู่จีโอพาร์คโลก ยูเนสโก “Khorat Geopark Lady Night Run” ครั้งที่ ๑ ซึ่งจังหวัดเห็นว่า จะเป็นประโยชน์กับชาวโคราชอย่างมาก” นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว
หางบประเมินจีโอพาร์คโลก
ผศ.ดร.ประเทือง จินตกุล กล่าวว่า “สมาคมโคราชจีโอพาร์คและฟอสซิล เป็นสมาคมที่จังหวัดนครราชสีมาสนับสนุนให้เป็นองค์กรนิติบุคคล เป็นหน่วยบริหารจัดการและขับเคลื่อนโคราชจีโอพาร์คสู่จีโอพาร์คโลก และจังหวัดนครราชสีมาเป็นดินแดนแห่งสามมงกุฎของยูเนสโก หรือ “The UNESCO Triple Crown” เป็นประเทศที่ ๔ ของโลกต่อจากอิตาลี เกาหลีใต้ และจีน โดยการทํางานร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการทํากิจกรรมการอนุรักษ์ ศึกษา และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์หรือ Geotourism แต่เนื่องจากสมาคมโคราชจีโอพาร์คและฟอสซิล ยังไม่มีทุนในการดําเนินงาน กอปรกับโคราชจีโอพาร์คใกล้ถึงกําหนดเวลาการประเมินเป็นจีโอพาร์คโลกโดยยูเนสโกในช่วงกลางปี ๒๕๖๔”
“ดังนั้น เพื่อให้มีงบประมาณในการดําเนินการและเตรียมความพร้อมดังกล่าว รวมทั้งเพื่อส่งเสริมสนับสนุนบทบาทสตรีในโอกาสวันสตรีโลกหรือวันที่ ๘ มีนาคมของทุกปี เป็นเดือนแห่งการฉลองชัยชนะท้าวสุรนารี และสอดคล้องกับการให้ความสําคัญต่อผู้หญิงของยูเนสโก สมาคมและเครือข่ายจึงได้จัดกิจกรรมการวิ่งเพื่ออนุรักษ์ฟอสซิลและส่งเสริมโคราชจีโอพาร์ค ให้ก้าวสู่จีโอพาร์คโลกยูเนสโก เพื่อจัดกิจกรรมการวิ่งเพื่อสุขภาพและส่งเสริมบทบาทสตรีในจังหวัดนครราชสีมา ประชาสัมพันธ์สื่อสารภาพลักษณ์และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในจังหวัดนครราชสีมาและจากพื้นที่อื่นๆ ได้รู้จักโคราชจีโอพาร์ค จัดหารายได้ดําเนินกิจกรรมการอนุรักษ์ซากฟอสซิลและทรัพยากรธรณีในเขตพื้นที่โคราชจีโอพาร์คและพื้นที่เชื่อมโยง เพื่อสร้างเครือข่ายการทํางานของโคราชจีโอพาร์ค เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยว ส่งเสริมรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่โคราชจีโอพาร์ค โดยตั้งเป้าไว้ว่า จะมีผู้สมัครวิ่ง ๗๐๐ คน โดยวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๔ จะประชุมเพื่อคัดเลือกสตรีดีเด่นของโคราช จากนั้นวันเสาร์ที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๔ เป็นการวิ่ง Lady Run และการมอบรางวัลสตรีดีเด่นโคราช ซึ่งจัดขึ้นที่อ่างพักน้ำลําตะคอง โรงไฟฟ้าชลภาวัฒนา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (เขายายเที่ยง)” ผศ.ดร.ประเทือง กล่าว
เขายายเที่ยงมีความพร้อม
นางอรวรรณ กอบวิทยา กล่าวว่า “โรงไฟฟ้าลำตะคองขลภาวัฒนา เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ มีลักษณะเป็นโรงไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรก และแห่งเดียวของประเทศไทย มีกําลังผลิตรวมทั้งสิ้น ๑,๐๐๐ เมกะวัตต์ สามารถสร้างกระแสไฟฟ้าให้กับคนโคราชและคนอีสานเป็นอย่างดี ภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่ใหญ่และมีประชากรมากที่สุดในประเทศไทย มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นทุกปี กฟผ.จึงพิจารณานําเทคโนโลยีที่ทันสมัย คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับมาสร้างเป็นโรงไฟฟ้าเป็นแห่งแรกของประเทศไทย โรงไฟฟ้าพลังน้ำลําตะคองฯ แบบสูบกลับ สร้างอยู่ใกล้กับเขื่อนลําตะคอง ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๗๐ กิโลเมตร ทํางานโดยการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำลําตะคอง ไปเก็บไว้ที่อ่างพักน้ำบนเขายายเที่ยง เมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันถึงค่ำ ระบบจะปล่อยน้ำลงมาเพื่อผลิตไฟฟ้า”
“โครงการนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี ๒๕๓๗ แล้วเสร็จในปี ๒๕๔๗ โดยในหลวงรัชกาลที่ ๙ มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับว่า “โรงไฟฟ้าลําตะคองชลภาวัฒนา” มีความหมายว่า โรงไฟฟ้าลําตะคองเป็นที่พัฒนาแสงไฟด้วยน้ำ เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๒ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดําเนินแทนพระองค์เปิดโรงไฟฟ้าลําตะคองชลภาวัฒนา เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๖ นับเป็นโรงไฟฟ้าแห่งสุดท้ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอันเป็นสิริมงคล”
“โดยอ่างพักน้ำบนเขายายเที่ยง สร้างแบบหินถมดาดด้วยยางมะตอย เพื่อป้องกันน้ำซึม เก็บกักน้ำได้ ๑๐.๓ ล้านลูกบาศก์เมตร ตัวอาคารโรงไฟฟ้าถูกสร้างไว้ใต้ระดับผิวดินลึกกว่า ๓๕๐ เมตร เพื่อเพิ่มระยะทางจากอ่างเก็บน้ำบนเขาถึงอาคารโรงไฟฟ้า เพื่อน้ำที่ไหลลงมามีกําลังแรงขึ้น โรงไฟฟ้าลําตะคองชลภาวัฒนา เป็นโรงไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอ่างพักน้ำตอนบน มีการจัดกิจกรรมสําหรับนักท่องเที่ยวมากมาย อาทิ การปั่นจักรยานเที่ยวชมความสวยงามของธรรมชาติ การชมวิวเขื่อนลําคะตอง การเดินป่า และการทํากิจกรรมร่วมกับชุมชน โดยทุกกิจกรรม กฟผ.ให้ความสําคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชน มีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนบนเขา อ่างเก็บน้ำนี้เป็นสถานที่ในการจัดงานวิ่งลอยฟ้า มาแล้ว ๙ ปี โดยจัดได้ว่าเป็นสนามแข่งขันการวิ่งที่ได้รับความนิยมมาก เพราะมีความสวยงาม อากาศดี โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว จะได้รับความนิยมอย่างมาก นอกจากนี้ กฟผ.ยังร่วมมือในการผลักดันและขับเคลื่อนโคราชจีโอพาร์ค ร่วมกับสมาคมโคราชจีโอพาร์คและฟอสซิล โดยในการจัดงานครั้งนี้ กฟผ.ยินดีเป็นเจ้าภาพร่วมและ พร้อมดูแลสถานที่ในการจัดงาน และยินดีต้อนรับนักวิ่งสตรีจากโคราชและทั่วสารทิศ” นางอรวรรณ กล่าว
ราชภัฏ’ผู้นําด้านธรณีวิทยา
ผศ.ดร.ทวี วัชระเกียรติศักดิ์ กล่าวว่า “ในนามของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และในฐานะผู้กํากับดูแลการดําเนินงานของสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ หรือ Khorat Fossil Museum มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏเพียงแห่งเดียวที่มีการ ดําเนินบทบาทที่โดดเด่น ในการเป็นผู้นําด้านบรรพชีวินและธรณีวิทยา และเป็นมหาวิทยาลัยอันที่เป็นที่พึ่งของสังคมในมิติของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรณี ทรัพยากรทางธรรมชาติ ที่เชื่อมโยงกับมิติของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในท้องถิ่นและชุมชน นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังทําหน้าที่หลักในเชิงวิชาการ ในการขับเคลื่อนโคราชจีโอพาร์คสู่จีโอพาร์คโลก มหาวิทยาลัยมีความพร้อมในการส่งเสริมงานด้านการอนุรักษ์ซากดึกดําบรรพ์ และทรัพยากรธรรมชาติของโคราช ตลอดจนการจัดงานในครั้งนี้”
“สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ถือได้ว่าเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ด้านบรรพชีวิน องค์ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติและวัฒนธรรม โดยสถาบันแห่งนี้มีพื้นที่ให้บริการทางวิชาการและการท่องเที่ยว ที่สําคัญ ได้แก่ ๑.พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ช้างดึกดําบรรพ์ และไดโนเสาร์ หรือ Khorat Fossil Museum ๒.อาคารวิจัย เป็นแหล่งที่จัดการบริการวิชาการการ เรียนรู้เรื่องซากดึกดําบรรพ์ และการเป็นนักบรรพชีวิน สามารถจัดบริการค่ายทางวิชาการเฉพาะด้าน รวมถึงค่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย ๓.หลุมขุดค้นไม้กลายเป็นหินฯ ป่า ๑๐ ไร่ และ ๔.ห้องประชุมและสถานที่ จัดงานพิเศษ สถาบันมีสถานที่สําหรับจัดการประชุมสําหรับผู้เข้าร่วมจํานวน ๑๐๐-๑๕๐ คน สําหรับการจัดงานส่งเสริมบทบาทสตรีในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมามีความพร้อม ทั้งคณาจารย์และนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา นิเทศศาสตร์ การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์ และสาขาคหกรรมศาสตร์ ตลอดจนที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้ทําหน้าที่ส่งเสริมบทบาทของพลเมืองในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนผู้สูงอายุ คนพิการ และสตรี ซึ่งมหาวิทยาลัยเห็นว่าทรัพยากรมนุษย์เป็นทรัพยากรที่สําคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป” ผศ.ดร.ทวี กล่าว
สีคิ้ว’ดันโคราชจีโอพาร์ค
นายเมธี กาญจนสุนทร กล่าวว่า อําเภอสีคิ้วเป็นหนึ่งใน ๕ อําเภอของโคราชจีโอพาร์คโดยอําเภอสีคิ้วมีนโยบายและแนวทางการส่งเสริมและผลักดันโคราชจีโอพาร์คสู่ยูเนสโก และร่วมมือกับจังหวัดนครราชสีมาอย่างเต็มที่มาตลอด โคราชจีโอพาร์คจะเป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่อําเภอสีคิ้วและจังหวัดนครราชสีมา รวมไปถึงจังหวัดใกล้เคียง ทั้งประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมาชาติและสิ่งแวดล้อม และยังสอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืน”
“เมื่อกล่าวถึงจีโอพาร์คของอําเภอสีคิ้ว ซึ่งมีความโดดเด่นทางทรัพยากร คือ เขาเควสตา หรือเขาอีโต้ ลักษณะภูมิสัณฐานนี้ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของขอบที่ราบสูงโคราช เขาที่มีรูปทรงด้านข้างแบบมีดอีโต้ โดยลักษณะสังเกต คือ มีผาชันด้านหนึ่ง และมีด้านลาดอีกด้าน รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของเขาเควสตาที่ทอดตัวออกไปทางด้านข้างต่อเนื่องตลอดขอบที่ราบสูงโคราช และตลอดแนวภูพาน รวมความยาวราว ๑,๗๔๐ กิโลเมตร ด้วยมุมลาดเอียงจากแนวระนาบน้อยกว่า ๒๐ องศา เป็นลักษณะของเควสตาที่แท้จริง เหมือนกับแหล่งที่เรียกชื่อครั้งแรกในประเทศสเปนด้วยภาษาสเปนว่า เควสตาที่แปลว่า ที่ลาดลงมาเหมือนไหล่ หากมองไปรอบด้านของพื้นที่สีคิ้ว ทั้งซ้ายและขวาของลําตะคอง จะเห็นความโดดเด่นที่สวยงามนี้ นอกจากนี้อําเภอสีคิ้วยังมีแหล่งจีโอพาร์คที่สําคัญอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ เขาจันทน์งาม ซึ่งมีวัดและภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์, ชุมชนไทยวน, ศูนย์เรียนรู้พันธุกรรมพืช, พิพิธภัณฑ์เควสตา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, จุดชมดาวบ้างคลองแจ้ง และเขาพริก นับเป็นพื้นที่ที่โดดเด่นในเรื่องของทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับโคราชจีโอพาร์คอย่างมาก สําหรับการจัดกิจกรรมของสมาคมโคราชจีโอพาร์คฯ “โคราชจีโอพาร์คกับการส่งเสริมบทบาทสตรี” และการวิ่งเพื่ออนุรักษ์ฟอสซิลและส่งเสริมโคราชจีโอพาร์คให้ก้าวสู่จีโอพาร์คโลก “Khorat Geopark Lady Night Run” ครั้งที่ ๑ นี้ กําหนดจัดที่อ่างเก็บน้ำตอนบนของโรงไฟฟ้าลําตะคองขลภาวัฒนา (เขายายเที่ยง) ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของอําเภอสีคิ้ว ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลพื้นที่ ต้องขอบคุณผู้จัดที่เลือกสถานที่แห่งนี้ในการจัดงาน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจภายในอำเภอต่อไป” นายเมธี กล่าว
ทั้งนี้ ภายหลังจากการแถลงข่าวเสร็จสิ้นแล้ว เนื่องในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๔ เป็นวันสตรีสากล จึงจัดให้มีการเสวนา ในหัวข้อ “บทบาทสตรียุคดิจิทัลกับการทํางานเพื่อสังคม” โดยมีนางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา นางเอมอร ศรีกงพาน ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา นางสุทิน ชาติพูดชา นายก อบต.หนองกระทุ่ม จังหวัดนครราชสีมา นางอรวรรณ มีใหม่ นายอําเภอขามทะเลสอ รศ.วัฒนาภรณ์ โชครัตนชัย อาจารย์ประจํามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา สาขาคหกรรมศาสตร์ และนางสาวพจนกร รัตนพงษ์วณิช เลขาธิการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทํางานให้กับสตรีชาวโคราช พร้อมทั้งให้กําลังใจสตรีในการทํางานต่างๆ
นอกจากนี้ ผู้ร่วมงานยังร่วมมอบดอกไม้ให้กำลังใจ นางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา ในโอกาสที่จะย้ายตามนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจะย้ายไปรับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๔
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๗๐ วันพุธที่ ๑๐ - วันอังคารที่ ๑๖ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
86 1,667