27thDecember

27thDecember

27thDecember

 

March 15,2021

อันเนื่องมาจาก วันทำศึกที่ทุ่งสัมฤทธิ์ (วันวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์)

อันเนื่องมาจาก ‘วันทำศึกที่ทุ่งสัมฤทธิ์’ (วันวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์)

เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๔ ผมเห็นข่าวเกี่ยวกับการรำลึกถึงวีรกรรมที่ทุ่งสัมฤทธิ์ว่าวันที่ ๔ มีนาคม ๒๓๖๙ เป็นวันที่กองทัพเมืองนครราชสีมาได้รับชัยชนะจากการต่อสู้กับกองทัพเวียงจันทน์ของเจ้าอนุวงศ์ ณ บริเวณทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองพิมาย จ.นครราชสีมา บ้างก็ถือเอาวันนี้เป็น “วันนางสาวบุญเหลือ” ที่สละชีวิตเพื่อชาติในเหตุการณ์ครั้งนี้

รู้สึกมึนงง

ในหนังสือประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครราชสีมา พุทธศักราช ๒๕๒๖ ได้กล่าวถึงวีรกรรมคุณหญิงโมไว้ว่า เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๓๖๙ ท่านเป็นหัวหน้ารวบรวมครัวชายหญิงชาวนครราชสีมา เข้าต่อสู้กับทหารลาว ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองนครราชสีมา ได้รับชัยชนะสามารถกอบกู้เมืองนครราชสีมาเอาไว้ได้

ดังนั้น การสู้รบของกองทัพเมืองนครราช สีมากับกองทัพเวียงจันทน์ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ครั้งนี้ จึงถือเป็นวันสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทยอีกหน้าหนึ่ง และรัฐบาลได้ถือเอาวันที่ ๔ มีนาคม ของทุกปี เป็น “วัน ทสปช. (ไทยอาสาป้องกันชาติ)” ซึ่ง ทสปช. เป็นกลุ่มพลังมวลชนที่ตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ในประเทศไทยในอดีต

จากปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นนี้ ก็เนื่องมาจากเห็นว่า วันที่ ๔ มีนาคม ๒๓๖๙ เป็นวันที่คุณหญิงโมและกรมการเมืองนำชาวเมืองนครราชสีมา ลุกขึ้นต่อสู้กับกองทัพเจ้าอนุวงศ์จนได้รับชัยชนะกองทัพลาวแตกพ่ายไป จึงถือเป็นนิมิตหมายมงคลที่ดีมีการนำไปตั้งเป็นวันสำคัญต่างๆ


ผมสนใจประวัติศาสตร์และเรื่องราวของเมืองนครราชสีมา เมื่อทราบเรื่องนี้แล้วมีความรู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะเชื่อ เพราะมันขัดแย้งกับสิ่งที่ได้ศึกษาค้นคว้า และอยากจะเรียนว่า วันที่ ๔ มีนาคม ๒๓๖๙ น่าจะไม่ใช่วันที่กองทัพเมืองนครราชสีมาต่อสู้กับกองทัพเวียงจันทน์ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ เพราะยังแย้งไม่ตรงกับพงศาวดาร ใบบอก ข้อค้นพบของนักวิชาการ ซึ่งจากการวิเคราะห์ปรากฏเป็นข้อเท็จจริงและอยากตั้งเป็นข้อสังเกตให้ท่านได้ร่วมพิจารณา ดังนี้

๑.จากใบคัดบอกในรัชกาลที่ ๓ เล่ม ๑๙ จ.ศ.๑๑๘๘ ใน จดหมายเหตุนครราชสีมา บันทึกว่าพระยาปลัด พระยายกกระบัตร หลวงพิชัย หลวงเมือง กรมการเมืองนครราชสีมา บอกลงมาว่า ณ วันเดือน ๔ แรม ๘ ค่ำ (วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๓๖๙) ครัวเมืองนครราชสีมาเดินทางถึงทุ่งสัมฤทธิ์ เจ้าอนุวงศ์ให้ยกกองทัพไปตีชิงเอาครัวเมือง พวกครัวเมืองรวมกำลังเข้าต่อสู้ตีกองทัพเจ้าอนุวงศ์แตกพ่ายยับเยิน

แต่จากคำให้การของขุนโอฐ เมืองนครราช สีมา ให้การว่า ณ วันเดือน ๔ แรม ๗ ค่ำ (วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๓๖๙) เจ้าอนุวงศ์ให้กองทหารลาวยกมาชิงเอาครัวเมืองนครราชสีมา พระยาปลัดกับชายฉกรรจ์ก็ยกกำลังเข้าต่อสู้จนทหารลาวพ่ายแพ้

๒.ศาสตราจารย์สุวิทย์ ธีรศาศวัต อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ศึกษาประวัติศาสตร์อีสาน ระหว่าง พ.ศ.๒๓๒๒-๒๔๘๘ กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ว่า ณ วันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๔ (วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๓๖๙ นับอย่างปัจจุบัน ๒๓๗๐) กองทัพเวียงจันทน์ยกมาไล่ตีชิงครัวเมืองนครราชสีมา

ข้อพิจารณา
จากข้อ ๑ และข้อ ๒ วันที่ชาวเมืองนครราชสีมาต่อสู้กับกองทัพเวียงจันทน์ที่ทุ่งสัมฤทธิ์นั้น มีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกัน แต่ก็อยู่ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันคือ วันที่ ๑๘, ๑๙ และ ๒๐ แต่ไม่ใช่วันที่ ๔ มีนาคม ๒๓๖๙ ตามที่ปรากฏในหนังสือประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครราชสีมา พุทธศักราช ๒๕๒๖ ซึ่งเป็นหลักฐานของจังหวัดนครราชสีมา และตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป

ข้อวิเคราะห์
๑.เจ้าอนุวงศ์ให้กวาดต้อนครัวเมืองออกเดินทางไปเวียงจันทน์วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๓๖๙ (วันเดือน ๓ แรม ๑๑ ค่ำ ปีจออัฐศก) ถ้าไปถึงทุ่งสัมฤทธิ์ วันที่ ๔ มีนาคม ๒๓๖๙ นับแล้วจะใช้เวลาประมาณ ๑๒ วัน ซึ่งน่าจะไม่ใช่ น่าจะใช้เวลามากกว่านั้น เพราะการเดินทางเป็นกองคาราวานยาวเหยียดนั้น มีทั้งเดินเท้า ขี่ม้า ขึ้นเกวียน แบกขนลากจูงสัมภาระต่างๆ อีกทั้งมีเด็ก ผู้หญิง และคนชรา ฯลฯ จึงน่าจะเป็นไปอย่างทุลักทุเลและเชื่องช้าแม้จะเร่งการเดินทางก็ตาม ดังนั้นเวลาเพียง ๑๒ วันยังคงไปไม่ถึงทุ่ง

กอปรกับพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ บันทึกว่าพวกครัวเมืองประวิงเวลาเดินทางอย่างช้าๆ แกล้งเจ็บป่วย เมื่อยล้า เท้าระบม แกล้งทำเป็นเกวียนหักแล้วถ่วงเวลาซ่อมแซม หรือแกล้งปล่อยม้าวัวควายหลุดเข้าป่าเพื่อให้เสียเวลาออกตามหา พวกครัวเมืองออกเดินทางไปได้แต่วันละเล็กละน้อย ทางวันหนึ่งก็เดินถึง ๓ วัน ๔ วัน เป็นการถ่วงเวลารอทัพหลวงยกมาช่วย
พระยาปลัด พระยาพรหมยกกระบัตร ออกอุบายว่า ถ้าจะเร่งเดินทางต่อไม่ให้หยุดพักกว่าจะไปถึงเมืองเวียงจันทน์พวกครัวและผู้หญิงไทยเมื่อยล้า เจ็บไข้ จะล้มตายกันมาก พวกทหารลาวซึ่งหลงใหลหญิงโคราชจึงยอมให้เดินทางตามสบายและหยุดพักเป็นระยะๆ วันแล้ววันเล่าก็ยังไม่ถึงทุ่งสัมฤทธิ์ (ค่าย มูลเค็ง) ตามที่เจ้าอนุวงศ์ต้องการ

๒.จากใบคัดบอกในรัชกาลที่ ๓ เล่ม ๑๙ จ.ศ.๑๑๘๘ ใน จดหมายเหตุนครราชสีมา บันทึกว่า วันเดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ (วันศุกร์ ๑๖ มีนาคม ๒๓๖๙) พระยาปลัดเร่งรีบกลับจากเมืองขุขันธ์แล้วเข้าหาเจ้าอนุวงศ์ที่ค่ายทะเลหญ้า (หัวทะเล) เจ้าอนุวงศ์บอกว่าพวกครัวเมืองยกไปเวียงจันทน์แล้ว ให้พระยาปลัดตามไปเถิด ซ้ำให้พระยาปลัดพร้อมด้วยพระยายกกระบัตรคุมครัวไปเวียงจันทน์

จากนั้น พระยาปลัดได้เร่งการเดินทางตามขบวนครัวเมือง และไปทันขบวนกองหนึ่งที่บ้านปราสาท (เขตอำเภอโนนสูง) ห่างจากเมืองนครราชสีมาใช้เวลาเดินเท้า ๑ วัน จากบันทึกในใบคัดบอกตอนนี้จะเห็นว่าถึงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๓๖๙ ขบวนครัวเมืองยังถึงแค่บ้านปราสาท ไปยังไม่ถึงทุ่งสัมฤทธิ์ ซึ่งสอดคล้องกับพงศาวดารที่ว่าทางวันหนึ่งก็เดินถึง ๓ วัน ๔ วัน ดังนั้นการที่จะชี้ว่า วันที่ ๔ มีนาคม ๒๓๖๙ เป็นวันที่เกิดการสู้รบกันที่ทุ่งสัมฤทธิ์จึงไม่น่าเป็นไปได้ และขัดแย้งกับคำให้การของพระยาปลัดและขุนโอฐซึ่งเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์จริง

๓.วิเคราะห์จากลำดับของเหตุการณ์ ที่ในภาษาปัจจุบันเรียกกันว่า ไทม์ไลน์ (Timeline) แปลไทยว่า เส้นทางเวลา นั้น มีข้อน่าพิจารณาดังนี้

๓.๑ วันเสาร์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์  ๒๓๖๙ (วันเดือน ๓ แรม ๖ ค่ำ ปีจออัฐศก) เจ้าอนุวงศ์ยกทัพมายึดเมืองนครราชสีมา

๓.๒ วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์  ๒๓๖๙ (วันเดือน ๓ แรม ๑๑ ค่ำ) ทหารลาวกวาดต้อนครัวเมืองนครราชสีมาออกเดินทางไปเวียงจันทน์ ซึ่งเจ้าอนุวงศ์เกรงว่ากองทัพกรุงเทพฯจะยกตามมา จึงรีบร้อนสั่งการในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๓๖๙ (วันเดือน ๓ แรม ๘ ค่ำ) ให้กวาดต้อนครัวเมืองไปเวียงจันทน์ให้เสร็จสิ้นภายใน ๔ วัน

๓.๓ วันศุกร์ ๑๖ มีนาคม ๒๓๖๙  (วันเดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ) ครัวเมืองขบวนหนึ่งเดินทางถึงบ้านปราสาท (เขตอำเภอโนนสูง) พระยาปลัดเร่งเดินทางติดตามครัวเมืองมาทันที่บ้านปราสาท

๓.๔ วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๓๖๙ (เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ) พระยาปลัดพร้อมด้วยพระยายกบัตร พระณรงค์เดชะ (พระณรงค์สงคราม) หลวงเมือง หลวงวัง หลวงนา หลวงนรา หมื่นศรีธนรัตน์ หลวงปลัดพิมาย รวมทั้งท่านผู้หญิงโม ได้แอบประชุมลับที่บ้านปราสาท

๓.๕ วันที่ ๑๙ มีนาคม  ๒๓๖๙ (วันเดือน ๔ แรม ๗ ค่ำ) ขบวนครัวเมืองนครราชสีมาเดินทางมาถึงทุ่งสัมฤทธิ์และพักค้างแรมที่นี่

ตกดึกราวประมาณ ๓ ยามเศษ (๒๔.๐๐ น. ศษ) ของวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๓๖๙ ได้โอกาสอันเป็นฤกษ์ดีต้องตามตำราพิชัยสงคราม และเมื่อทุกทัพพร้อมสรรพรออยู่แล้ว พระณรงค์สงครามจึงจุดพลุส่งสัญญาณ กองทัพเมืองนครราชสีมาลุกขึ้นต่อสู้ฆ่าฟันทหารลาว กองทัพลาวแตกพ่ายในที่สุด

๓.๖ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๓๖๙ (วันเดือน ๔ แรม ๘ ค่ำ) น่าจะเป็นวันที่เจ้าอนุวงศ์สั่งให้ตำรวจม้าประมาณ ๕๐ คน ไปสืบสวนความดูว่าแท้จริงเป็นเช่นไร (ตามพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓) เนื่องจากพวกทหารลาวที่รอดชีวิตหนีตายจากทุ่งสัมฤทธิ์มาได้ ก็รีบนำความรายงานต่อเจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุฟังความแล้วก็มีความฉงนสนเท่ห์ไม่มีเหตุใดที่จะเชื่อ เพราะครัวไทยมีชายฉกรรจ์เพียงหยิบมือ นอกนั้นก็เป็นแต่พวกผู้หญิง เด็ก และคนแก่เฒ่า จะอาจหาญมาสู้กับกองทัพเวียงจันทน์ที่ล้วนแต่ได้รับการฝึกปรือการรบมาเป็นอย่างดีได้ จึงได้สั่งให้ตำรวจม้าไปสืบสวนความดูว่าแท้จริงเป็นเช่นไร แต่ถูกพวกครัวเมืองนครราชสีมายิงปืนใส่ พวกตำรวจลาวล้มตายกันมากที่ไม่ตายก็แตกกระเจิง      

๓.๗ วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๓๖๙ (วันเดือน ๔ แรม ๙ ค่ำ) เจ้าอนุวงศ์ให้เจ้าสุทธิสาร (โป้) ราชบุตรคนโตยกกำลังไปปราบครัวเมืองนครราชสีมาเสียให้สิ้น แต่ทัพเจ้าสุทธิสาร (โป้) แพ้ราบคาบเป็นครั้งที่ ๒

๓.๘ สันนิษฐานว่าวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๓๖๙ (วันเดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ) ก่อนถอยทัพเจ้าอนุวงศ์สั่งให้เผาทำลายเมืองนครราชสีมาราบเป็นหน้ากลอง

๓.๙ วันศุกร์ที่ ๒๓ มีนาคม ๒๓๖๙ (วันเดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ) เจ้าอนุวงศ์ได้สั่งให้เร่งถอยทัพทุกกองออกจากเมืองนครราชสีมากลับเวียงจันทน์ในวันนี้ หาได้พวกครัวเมืองนครราชสีมาไปเป็นเชลยไม่

หากจะพิจารณาถึงลำดับของเหตุการณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การที่เห็นว่าวันที่ ๔ มีนาคม ๒๓๖๙ เป็นวันที่ชาวเมืองนครราชสีมาได้สร้างวีรกรรมที่ทุ่งสัมฤทธิ์ สามารถเอาชนะกองทัพเวียงจันทน์ของเจ้าอนุวงศ์ได้ และวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์พ่ายแพ้และถอยทัพกลับนั้น เมื่อวิเคราะห์ในประเด็นนี้แล้ว เส้นทางของเวลาหรือระยะเวลาจะห่างกันนานถึง ๒๐ วัน จะเป็นไปได้หรือที่เมื่อเจ้าอนุวงศ์พ่ายแพ้อย่างยับเยินเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๓๖๙ แล้วยังใจเย็นฟังเพลงโคราชมาถึงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๓๖๙ จึงถอยทัพ

ในข้อเท็จจริงตามหลักฐานในพงศาวดาร ใบบอก บันทึกโดยสรุปว่า เหตุที่เจ้าอนุวงศ์สั่งให้ถอยทัพทุกกองกลับนั้นเป็นไปด้วยความรีบร้อนเร่งด่วน ไม่คิดห่วงอะไรทั้งสิ้น จึงได้ทิ้งข้าวของ เสบียง ช้าง ม้า วัว ควาย ไว้เป็นอันมาก ด้วยสถานการณ์ที่กดดัน ดังนี้

๑.ข่าวเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินท์) ยกทัพมาช่วย ในเรื่องนี้ในเอกสารเรื่องพื้นเวียง ซึ่งเอกสารของฝ่ายลาว บันทึกว่า หลังจากทัพเจ้าสุทธิสารถูกตีแตกได้ถอยทัพไปแจ้งเจ้าอนุพระบิดาว่า ครัวนครราชสีมาต่อสู้รบเข้มแข็งมีรี้พลมาก เห็นจะเป็นกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินท์) มาช่วย ข่าวนี้ทำให้ทหารลาวเกิดระส่ำระสาย

๒.ประจวบกับขุนพล (นายด่านชวน) ซึ่งเป็นนายทัพคุมกำลังจากแถบเมืองชัยภูมิมาช่วย รู้ว่าเมืองเวียงจันทน์กับเมืองเชียงใหม่เป็นศัตรูกัน จึงทำหนังสือมีเนื้อความขู่สำทับกองทัพเจ้าอนุวงศ์ให้ตกใจว่า “อ้ายเคอะมาหลงเซอะกวาดต้อนครัวโคราชอยู่ พวกเมืองเชียงใหม่เขายกไปกวาดครัวเมืองเวียงจันทน์ไปสิ้นแล้ว” ข่าวลวงนี้ทำให้กองทัพเวียงจันทน์เชื่ออย่างสนิทใจ ต่างตื่นตระหนกเป็นเหตุให้กองทัพเวียงจันทน์เกิดระส่ำระสายยิ่งขึ้น บ้างก็แอบหนีทัพกลับเวียงจันทน์กันก็หลาย

๓.อีกกระแสหนึ่งเมื่อเจ้าราชวงศ์ (เง่า) ราชบุตรเจ้าคนที่สองของเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งไปกวาด ต้อนครัวเมืองสระบุรีเดินทางกลับมาผ่านเมืองนครราชสีมา ได้แจ้งต่อเจ้าอนุวงศ์ว่าได้ข่าวทัพหลวงกำลังยกมาทุกทาง คือทางช่องดงพระยาไฟ ช่องดงพระยากลาง และทางปราจีนบุรีเข้าช่องเรือแตก (สะแกราช เมืองปักธงชัย) คาดว่าไม่ช้าก็จะบรรจบกันที่เมืองนครราชสีมา เป็นเหตุให้เจ้าอนุวงศ์ละล้าละลังหวั่นเกรงมาก เพราะหากเป็นจริงดังว่าตนเองจะตกอยู่ในที่ล้อมโดนกระหนาบทุกทิศ เห็นแต่กำลังข้าศึกเต็มไปหมด

๔.ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ บันทึกว่า เจ้าอนุวงศ์เป็นคนใจโลเล เป็นคนใจขลาด คิดการสิ่งไรก็มักจะถอยหน้าถอยหลัง ในลักษณะวนๆ เวียนๆ

กอปรกับกองทัพที่ยกมาในครั้งนี้ถูกฝึกฝนมาเป็นอย่างดี แต่กลับพ่ายแพ้แก่กองทัพประชาชนเมืองนครราชสีมา ที่มิใช่กองทัพไทยหรือทหารไทย ซึ่งพวกครัวเมืองมีกำลังชายฉกรรจ์กระจ้อยร่อยอยู่เพียงหยิบมือ นอกนั้นเป็นผู้หญิง เด็ก และคนชรา ยิ่งไปกว่านั้นก็คือได้สั่งให้เก็บศัตราวุธแม้แต่ชั้นมีดพร้าก็ไม่ให้มี เท่ากับครัวเมืองนครราชสีมาต่อสู้ด้วยมือเปล่า ยิ่งได้ล่วงรู้ว่ามีท่านผู้หญิงโมภรรยาปลัดเมืองซึ่งเป็นผู้หญิงเป็นผู้ร่วมวางแผน และนำกองทัพหญิงเป็นกองหนุนเข้าต่อสู้จนกองทัพเวียงจันทน์แตกพ่ายยับเยินติดๆ กันถึง ๒ ครั้ง ๒ ครา หลายเรื่องหลายกระแสมีส่วนกดดันให้เจ้าอนุวงศ์ตัดสินใจถอยทัพกลับโดยเร่งด่วน ซึ่งหากเห็นว่า เจ้าอนุวงศ์พ่ายแพ้ในวันที่ ๔ มีนาคม ๒๓๖๙ แล้วจึงคิดมาถอยทัพในวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๓๖๙ นั้น ดูจะขัดแย้งกับเหตุการณ์ที่กดดันให้ต้องเร่งถอยทัพดังกล่าว

ผมเชื่อในส่วนตัวและจากการศึกษาเอกสารพงศาวาดาร ใบบอกหรือใบคัดบอก ฯลฯ ซึ่งถือเป็นเอกสารชั้นต้น โดยเฉพาะคำให้การของพระยาปลัดและขุนโอฐ กรมการเมืองที่อยู่ในเหตุการณ์และได้รายงานเป็นใบบอกไปยังค่ายหลวงดังที่ได้กล่าว ว่า วันที่ ๔ มีนาคม ๒๓๖๙ น่าจะไม่ใช่เป็นวันที่กองทัพเมืองนครราชสีมาได้ต่อสู้กับกองทัพเวียงจันทน์ของเจ้าอนุวงศ์ ณ บริเวณทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองพิมาย จ.นครราชสีมา และได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน     

แต่ผมเชื่อว่า วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๓๖๙ (วันเดือน ๔ แรม ๗ ค่ำ ปีจออัฐศก) เป็นวันที่เกิดสงครามที่ทุ่งสัมฤทธิ์ เป็นวันสร้างประวัติศาสตร์ ที่กองทัพเมืองนครราชสีมาสามารถบดขยี้ขับไล่กองทัพเวียงจันทน์แตกกระเจิง ด้วยเหตุผลและการวิเคราะห์จากลำดับของเหตุการณ์ดังที่ได้กล่าวข้างต้น


ในเหตุการณ์ครั้งนี้ได้เกิดวีรสตรีคนหนึ่งที่เก่งกล้าชาญฉลาด คือ “ท่านผู้หญิงโม” ที่ได้นำการต่อสู้กับกองทัพเจ้าอนุวงศ์อย่างไม่คิดถึงชีวิตจนได้รับชัยชนะ สามารถป้องกันและรักษาเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของราชธานีไว้ได้ นับเป็นความองอาจกล้าหาญเด็ดเดี่ยวเกินกว่าสตรีทั่วไปไม่แพ้ผู้ชายอกสามศอก จนสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงยกย่องท่านผู้หญิงโมไว้ในพระนิพนธ์เรื่องตำนานเมืองนครราชสีมา ว่า “......คุณหญิงโม้เป็นหญิงที่กล้าหาญ และมีความสามารถ....ตัวคุณหญิงโม้คุมพลผู้หญิงยกออกตีกองทัพพวกชาวเวียงจันทน์แตกยับเยิน......”


ท่านจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ในสิ่งที่ผมนำเสนอก็ตาม หรือจะคิดว่า ผมมาเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์อะไรทำนองนี้ก็สุดแท้แต่

ในท้ายนี้ ผมได้เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนมาโดยตลอดว่า

ประวัติศาสตร์ของเมืองนครราชสีมา มีอยู่หลายเรื่องที่ยังเป็นข้อถกเถียงอันเนื่องจากมีความคิดเห็นและหลักฐานข้อมูลไม่ตรงกัน ควรจะมีการสังคายนาสะสางหาข้อยุติ เพื่อให้ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นเมืองนครราชสีมาถูกต้อง เช่น เรื่องอายุของเมืองนครราชสีมา ที่มาของชื่อประตูเมือง เป็นต้น ซึ่งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอาจเป็นกรมศิลปากรหรือจังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้ริเริ่มก็ล้วนเป็นการเริ่มต้นที่ดี.

.................................

เรียบเรียงโดย
• ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต
    - อาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
    - คณบดีคณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีพนมวันท์
    - เจ้าของผลงานพจนานุกรมภาษาโคราช
    -ผู้เรียบเรียง “ย้อนเรื่องเมืองโคราช”    

ตีพิมพ์ใน นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๗๐ วันพุธที่ ๑๐ - วันอังคารที่ ๑๖ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


158 2,301